สังคมกำลังตื่นตระหนก “โควิด-19” ระดับสูง! “การสื่อสารในภาวะวิกฤต” จำเป็นแค่ไหน?

ดูผิวเผิน “การตื่นตระหนก” หรือที่เรียกว่าอาการ “แพนิค” (panic) อาจเป็นเรื่องการจัดการส่วนตัว ของใครของมัน ก็แน่หละ ใคร ๆ ก็รักและหวงแหนชีวิต

แต่แท้ที่จริงแล้ว ยังส่งผลเป็นวงกว้าง ทั้ง การกักตุนหน้ากากอนามัย การซื้อขายหน้ากากอนามัยราคาแพง หรือแม้แต่ความรุนแรงทางการแสดงออกต่อผู้ที่กลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 โดยปราศจากการคำนึงถึงมนุษยธรรม สะท้อนความตื่นตระหนก-เสียขวัญของประชาชน ที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ

‘รศ.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต’ นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คะแนนระดับความตื่นตระหนกของคนในสังคม 8 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพราะผู้คนกำลังแสดงพฤติกรรมตื่นตัวเกินปกติ เช่น การไปต่อแถวรับหน้ากากอนามัยตั้งแต่รุ่งสาง หรือการใช้หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพราะอันที่จริง หากอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งอากาศถ่ายเท และเว้นระยะจากคนอื่น ๆ ในพื้นที่สาธารณะประมาณ 1 เมตร ก็ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย แต่เพราะมีความต้องการหน้ากากอนามัยที่สูงมาก ทำให้เกิดการกักตุนหน้ากากอนามัย หรือโก่งราคามากขึ้นตามมา

รศ.สมโภชน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุของอาการตื่นตระหนกเกินความเป็นจริง มาจากการความรู้สึกกลัว ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตนเอง อันเนื่องมาจากการรับรู้ข่าวสารที่มีทั้งข่าวจริงและข่าวเท็จ ทำให้เกิดคำถามข้อสงสัย เช่น จำเป็นต้องใส่หน้ากากหรือไม่ หรือใช้หน้ากากอนามัยแบบไหน ประกอบกับความรู้สึกคับข้องใจในมาตรการจัดการของภาครัฐที่ไม่ชัดเจน ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกสับสน เช่น มาตรการจัดการกับประชากรกลุ่มเสี่ยง ซึ่งหากประเมินโดยภาพรวมแล้วเท่ากับว่าสังคมตื่นตัว คิดเป็นคะแนน 8 เต็ม 10 คะแนน

“ความหมายของมนุษย์ในเชิงทฤษฎีจิตวิทยามีสองมิติ คือ มิติของความจริง (ข้อเท็จจริง) กับมิติของการรับรู้ความเป็นจริง (สิ่งที่เห็น) สังคมทุกวันนี้ เราตื่นตระหนกเพราะเรารับรู้ความเป็นจริง เราไม่ได้ดูข้อมูลที่เป็นจริง แล้วพอรับรู้ความเป็นจริงแล้ว ไม่สนใจข้อมูลแล้ว เราก็เอาความรู้สึกเป็นตัวตัดสินทั้งสิ้น เพราะว่าแนวโน้มของมนุษย์มักมองสิ่งที่เลวร้ายมากกว่าสิ่งที่ดี ยิ่งไม่ศรัทธากับสิ่งที่รัฐทำแล้ว เมื่อเห็นข้อมูลที่ขัดแย้งกับรัฐ ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับความน่าเชื่อถือ ทั้งที่อาจไม่ใช่ความจริง”

การจะทำให้ความตื่นตระหนกลดระดับลงต้องอาศัยเวลา อย่างน้อย 3 เดือน โดยระหว่างนี้จะต้องรักษาสถานการณ์ระวังไม่ให้เกิดข่าวปลอม เพราะจะทำให้เกิดกระแสตื่นตระหนกเพิ่มขึ้น รัฐบาลเองก็จะต้องมีการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาและไขข้อข้องใจให้กับประชาชนได้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรัฐบาล เช่น กรณีข่าวการกักตุนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น ที่มีการพาดพิงว่าเชื่อมโยงกับหนึ่งในคณะทำงานของฝ่ายรัฐบาล รวมถึงการออกมาตรการเด็ดขาดชัดเจนในการรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต เช่น จะมีการจัดงานสงกรานต์หรือไม่ ไม่ใช่ยกให้เป็นการพิจารณาของแต่ละพื้นที่ เพื่อเรียกศรัทธาและความเชื่อถือกลับมาให้กับรัฐบาลด้วย

“การสื่อสารเพื่อรับรู้ความจริงหรือข้อเท็จจริง” และ “มาตรการรักษาความปลอดภัยของประชาชน” จึงถือเป็น 2 สิ่งสำคัญ ที่สัมพันธ์กับอาการตื่นตระหนกของประชาชน ซึ่งหากมีการสื่อสารที่ดี นโยบายที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น อาการตื่นตระหนกก็จะลดลงตามไปด้วย ไม่เกิดการแสดงพฤติกรรมที่ผิดวิสัย หรือเกิดปกติไปจากความเป็นจริง และเกิดความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชน

📌 ดูเพิ่ม
– ตื่นตระหนกเกินปกติ เพราะความคับข้องใจ : https://www.facebook.com/1PMThaiPBS/videos/1447986185379927/

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active