ย้อนรอยกฎหมายล้างผิด: เมืองไทยให้อภัยใครบ้าง?

นิรโทษกรรม” (Amnesty) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก “amnēstía” แปลว่า ลืมหรือปล่อยให้ผ่านไป โดยมีอีกคำศัพท์ที่คล้ายกันคือ “Amnesia” แปลว่า ภาวะเสียความจำ ในทางกฎหมายแล้ว กล่าวถึง การลบล้างการกระทำความผิดอาญาที่ผู้กระทำได้กระทำมาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกมาภายหลังการกระทำผิด กำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด เสมือนว่า ให้ลืมความผิดนั้นไปเสีย

แต่ก่อนเริ่มต้นกระบวนการนิรโทษกรรม “เพื่อจะลืม” ความผิดใดได้นั้น สังคมต้องมีกระบวนการ “พิสูจน์ความจริง” นั้นให้ได้เสียก่อน The Active รวบรวมข้อมูลความพยายามนิรโทษกรรมในประวัติศาสตร์การเมืองช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สู่ความพยายามในการยื่นกฎหมายนิรโทษกรรมไม่น้อยกว่า 14 ครั้ง จากทั้งฟากประชาชน ฟากกลุ่มการเมือง และขั้วอำนาจทหาร จะเห็นว่าไม่มีร่างกฎหมายใดประสบความสำเร็จ บ้างก็ถูกลืม บ้างก็ถูกต่อต้าน แต่มีอยู่เพียง 2 ครั้งที่สำเร็จอย่างราบรื่น คือการนิรโทษกรรมตัวเองโดยคณะรัฐประหารในปี 2549 และ ปี 2557 สะท้อนให้เห็นว่า คณะรัฐประหารได้รับ “อภิสิทธิ์” ปลอดความรับผิดในการก่อรัฐประหารมาโดยตลอด

ที่ผ่านมาเมืองไทยนิรโทษกรรมใคร(ได้)บ้าง?

นิรโทษกรรม

สาระสำคัญของทุกร่างกฎหมายล้างผิด แบ่งออกเป็น 5 ประเด็น ได้แก่ การล้างผิดคณะรัฐประหาร, ผู้ต้องหาคดีชุมนุมและการเมือง, ผู้ต้องหาคดีอาญาอันเกี่ยวเนื่องมาจากคดีการเมือง (เช่น การใช้อาวุธปราบปรามการชุมนุม), การคืนสิทธิผู้ถูกตัดสิทธิคดีการเมือง และผู้ต้องหาคดีมาตรา 112

จะเห็นได้ว่า สังคมมีขอบเขตของการให้อภัยในแต่ละความผิดที่แตกต่างกัน อย่างผู้ต้องหาคดีการเมืองและการชุมนุมนั้นอยู่ในทุกสาระสำคัญของทุกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม (ยกเว้นฉบับที่คณะรัฐประหารร่างขึ้นมาล้างผิดตัวเอง)

ขณะที่ความผิดในคดีอาญา คดีถูกตัดสิทธิทางการเมือง ตลอดจนคดีมาตรา 112 ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันไปมาในแต่ละฉบับ แต่จากสถิติแล้วจะพบพัฒนาการของ “ขีดจำกัดของการให้อภัย” ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความผิดในคดีอาญา นั้นเป็นเรื่องที่ดูจะ “ไม่ควรถูกลืม” มากขึ้นในช่วงปีล่าสุด นั่นอาจเป็นเพราะการตระหนักรู้ในประเด็นสิทธิ เสรีภาพของการชุมนุมของผู้ชุมนุม และการเผยแพร่มาตรฐานการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐตามหลักสากล

กลับกัน ความผิดฐานมาตรา 112 ยังเป็นประเด็นที่ไม่มีความชัดเจนมากนักว่าขอบเขตของการล้างผิดควรไปถึงจุดไหน เพราะที่ผ่านมาในช่วง 2555 – 2556 ที่มีจำนวนการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมมากที่สุด แต่แทบทุกฉบับไม่ได้มีการระบุในเนื้อหาว่าควรล้างผิดฐานมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะมองว่าความผิดมาตรา 112 เป็นความผิดสถานเดียวกับคดีการเมืองและการชุมนุมหรือไม่

จุดที่น่าสนใจคือ ในอดีตที่ผ่านมา มีกฎหมายเพียงฉบับเดียวที่มีการกำหนดอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรให้มี “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด” ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ ปี 2556 ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากหลายฝ่าย เพื่อร่วมกันพิสูจน์ความจริง ก่อนจะวินิจฉัยว่าความผิดของใครบ้างที่ควรจะถูกล้างผิด

ท่ามกลางความชุลมุนของสภาฯ ในช่วงปี 2555 – 2556 มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อกฎหมายล้างผิดเป็นจำนวนมาก และยังมีนักโทษการเมืองจำนวนมากที่ยังถูกคุมขังและดำเนินคดี ท้ายที่สุด ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น (ฉบับของวรชัย เหมะ) โดยมีเนื้อหาล้างผิดทุกฝ่าย ไม่เว้นแกนนำ เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ และขอบเขตนี้อาจลากไปจนถึงคนไกลอย่างทักษิณด้วย ขณะที่คนเสื้อแดงบางส่วนมองว่า กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการ “เหยียบศพ” คนเสื้อแดงที่สูญเสียไปในการสลายการชุมนุม ปี 2553

ล่าสุด ในปี 2566 มีความพยายามผลักดันจากกลุ่มการเมือง มี สส. พรรคพลังธรรมใหม่ เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ซึ่งร่างฉบับนี้จะยกเว้นความผิดให้กับผู้ชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ 2549 – 2565 แต่ พลเอก ประยุทธ์ และ คณะรัฐมนตรี ออกมายืนยันว่า ไม่ได้มีความพยายามจะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมแต่อย่างใด แม้ทางพลเอก ประยุทธ์ จะร่างกฎหมายยกเว้นความผิดตัวเองในการบริหารราชการแผ่นดินไปแล้วอย่างน้อย 8 ครั้งแล้วก็ตาม

จำนวนจำเลยในคดีชุมนุมทางการเมือง

กฎหมาย

5 ตุลาคม 2566 พรรคก้าวไกลยื่น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง จากการรายงานของ BBC ระบุว่า กลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายได้รับอานิสงส์จากกฎหมายนี้คือ แกนนำและแนวร่วมชุมนุมทางการเมืองกลุ่มสำคัญ ๆ อาทิ กลุ่ม พันธมิตรฯ, นปช., กปปส., ขบวนการนักศึกษาและประชาชนฝ่ายต่อต้าน คสช. และกลุ่มคณะราษฎร

หากนับเฉพาะการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ร่างกฎหมายนี้จะมีจำนวนของจำเลยที่เกี่ยวข้องในแต่ละคดีการชุมนุมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 2,500 ราย (ทั้งที่คดีสิ้นสุดแล้วและยังไม่สิ้นสุด) โดยเฉพาะในช่วงการชุมนุมเมื่อปี 2563 – 2566 มีจำนวนของจำเลยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากรูปแบบการชุมนุมที่เน้นปริมาณ กระจายตัวตามจังหวัดต่าง ๆ ประกอบกับการใช้กฎหมายที่เข้มงวดของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์​ ซึ่งขณะนี้ (25 ต.ค. 2566) ยังมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 25 คน และเป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 10 คน

จากการรายงานของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,928 คน ในจำนวน 1,249 คดี และในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 216 คดี หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,922 ครั้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยจำนวนจำเลยในรอบการชุมนุมล่าสุด ทำให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมดูให้น้ำหนักไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมในปี 2563 – 2566 มากกว่าครั้งไหน ๆ นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังตั้งข้อสังเกตว่า การนิรโทษกรรมนี้จะ “ทะลุซอย” ไปถึงการล้างผิดมาตรา 112 ที่เป็นประเด็นแหลมคมอยู่ ณ​ ขณะนี้ด้วยหรือไม่ ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า การวินิจฉัยเพื่อล้างผิดใด ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการชี้ขาด

“ตอนที่นิรโทษกรรมให้กับเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็เป็นเรื่องความผิดมาตรา 112 เป็นหลัก และยังมีคดีกบฏล้มล้างการปกครอง เปิดให้คนที่เข้าร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธ เราสามารถที่จะอภัยเพื่อทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปได้ จึงคิดว่าหากไม่มีอคติจนเกินไป ทุกฝ่ายควรจะร่วมกัน” 

ชัยธวัช ตุลาธน

อ้างอิง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์