กทม. หาเงินจากไหน? แล้วมีผลต่อทิศทางนโยบายอย่างไรบ้าง…

BKK101 “โครงสร้างและงบประมาณ กทม.” EP.2

ท่ามกลางสารพัดนโยบายของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งพร้อมใจกันเปิดตัวออกมาในช่วงนี้ นำมาสู่คำถามว่า นโยบายทั้งหมดนี้จะต้องใช้งบประมาณมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญคือจะใช้เงินจากไหนมาปลุกปั้นให้นโยบายทั้งหลายเหล่านี้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้

The Active ชวนทุกคนมาร่วมกันหาคำตอบนี้ไปพร้อมกัน เริ่มตั้งแต่การสำรวจแหล่งที่มา “รายได้” ของกรุงเทพมหานครว่ามาจากที่ใดบ้าง ไปจนถึงทิศทางแนวโน้มรายได้ที่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และความเชื่อมโยงของที่มาของ “รายได้” กับ “นโยบาย” ในอดีตที่จะสะท้อนทิศทางในอนาคต

จนถึงข้อสังเกตสำคัญอย่าง “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ซึ่งมาจากการจับจ่ายของประชาชนทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพฯ และย้อนกลับมาเป็นงบฯก้อนโตบริหารเมืองกรุง แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของเมืองหลวงแห่งนี้อย่างที่ควรจะเป็น

กทม. หาเงินจากไหน

กทม. มั่งคั่ง หาเงินมาจากไหน?

หากพูดถึงรายได้ของ กทม. ต้องเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2479 ภายใต้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ทำให้กรุงเทพฯ มีรายได้โดยส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาล และส่วนหนึ่งมาจากการจัดเก็บรายได้ด้วยตนเอง ซึ่งในขณะนั้นนอกจากกรุงเทพฯ จะจัดตั้งเป็นจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ ทางพื้นที่ฝั่งธนฯ เองก็ได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลนครธนบุรีด้วย 

ต่อมาภายหลังมีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 24 และ 25 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2514 ให้รวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ก่อนจะมีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 ปี 2515 กำหนดให้เทศบาลนครกรุงเทพธนบุรี เปลี่ยนเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ พร้อมทั้งกำหนดให้รายได้และรายจ่ายของกรุงเทพมหานครเป็นไปตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 และ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

หากไล่ดูรายละเอียดจะพบว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีรายได้แบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่

  1. รายได้ที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเอง ได้แก่
    • ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บจากผู้ที่ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งห้องชุด บ้าน โรงเรือน อาคาร ตึก ตึกแถว หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย หรือปล่อยเช่า โดยเป็นภาษีที่เพิ่มจะมีการตัดเก็บในปี 2563 ตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 โดยจะมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันมากขึ้น 
    • ภาษีบำรุงท้องที่ แม้จะถูกยกเลิกโดยการจัดเก็บภาษีใหม่คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ก็ยังมีรายได้จากการตกค้าง
    • ภาษีโรงเรือนและที่ดิน แม้จะถูกยกเลิกโดยการจัดเก็บภาษีใหม่คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ก็ยังมีรายได้จากการตกค้าง
    • ภาษีป้าย ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายโฆษณาเพื่อการค้า
    • ภาษีบำรุง กทม. สำหรับน้ำมัน เริ่มจัดเก็บในปี 2559 โดยเก็บจากผู้ประกอบการค้าปลีกขายน้ำมัน
    • ภาษีการพนัน โดยปกติเป็นภาษีในส่วนที่ราชการอื่นจัดเก็บให้ แต่ย้ายมาเป็น กทม. จัดเก็บเอง ตั้งแต่ปี 2563 โดยเก็บจากสนามแข่งม้า ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงแห่งเดียวคือ สมาคมราชกรีฑาสโมสร 
    • อากรฆ่าสัตว์ เก็บจากโรงฆ่าสัตว์
    • ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่ารับและค่าบริการ เก็บจากงานบริการต่าง ๆ ของ กทม. เช่น ค่าเก็บขยะ ค่าทำบัตรประชาชน ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายควบคุมอาคาร
    • รายได้จากทรัพย์สิน เก็บจากค่าเช่าอาคารสถานที่ที่ กทม. เป็นเจ้าของ
    • รายได้จากสาธารณูปโภค การพาณิชย์และกิจกรรมอื่น ๆ เก็บจากโรงรับจำนำและตลาดที่เป็นของ กทม. 
    • รายได้เบ็ดเตล็ด เป็นรายได้อื่น ๆ ของ กทม. และเงินเหลือจ่ายจากปีที่ผ่านมาที่ส่งคืน 
  2. รายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้
    • ภาษีมูลค่าเพิ่ม เก็บจากการซื้อสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นใน กทม.
    • ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน เป็นภาษีที่กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บจากภาษีรถยนต์และอื่น ๆ และจัดสรรให้กับ กทม. 
    • ภาษีสุรา เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดสรรเงินภาษีสุรา พ.ศ. 2527 ส่งผลให้ไม่มีการจัดเก็บภาษีสุราตั้งแต่เดือนกันยายน 2560
    • ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าและการบริการบางประเภทโดยกรมสรรพสามิต เช่น สุรา โดยคำนวณตามสัดส่วนจานวนประชากรตามหลักฐานทะเบียนราษฎร และจัดสรรให้ในแต่ละท้องถิ่น
    • ภาษีและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ/นิติธรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เป็นภาษีที่กรมที่ดินจัดเก็บได้ โดยมาจากการภาษีและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน/นิติกรรมอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน คอนโดมิเนียม 
    • ภาษีธุรกิจเฉพาะ เก็บจากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ทำธุรกิจ ดังเช่น ธุรกิจเครดิต  เงินทุน หลักทรัพย์ ประกันชีวิต รับจำนำ ขายค้ากำไรอสังหาริมทรัพย์ ขายหลักทรัพย์ ฯลฯ 
    • ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา เป็นภาษีที่เพิ่งจะมีการจัดเก็บในปี 2562 โดยเก็บจากการร้านค้าขายส่ง ขายปลีก และร้านค้าทั่วไป
    • ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเล่นการพนัน เป็นภาษีที่เพิ่งจะมีการจัดเก็บในปี 2562 โดยเก็บจากการขออนุญาตเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันประเภทใดประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติการพนัน เช่น ขายสลากกินแบ่ง แข่งม้า มวย หรือการต่อสู้ของสัตว์ 
    • ค่าปรับผู้ละเมิดกฎจราจร เป็นภาษีที่เพิ่งจะมีการจัดเก็บในปี 2562 โดยจัดเก็บจากผู้ที่ละเมิดกฎจราจรโดยสานักงานตำรวจแห่งชาติและแบ่งให้แก่กรุงเทพมหานคร ในอัตราร้อยละ 50 ของจำนวนเงินค่าปรับ 
กทม. หาเงินจากไหน

รายได้ กทม. ส่วนที่จัดเก็บเอง

ในปี 2564 กรุงเทพมหานคร จัดเก็บรายได้ได้ 69,728.57 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่เก็บได้ 67,555.62 ล้านบาท แต่หากเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่กรุงเทพมหานคร ยังคงเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่อยู่ จะพบว่าในปีดังกล่าวสามารถรายได้สูงถึง 83,338.64 ล้านบาท แต่หลังจากการยกเลิกการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ และเปลี่ยนมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562  ทำให้ปี 2563 กรุงเทพมหานครมีรายได้ลดลงเกือบ 2 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

ในขณะที่ภาพรวมรายได้หลักของกรุงเทพฯ นั้นมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% รองลงมาคือภาษีโรงเรือนและที่ดินเกือบ 20% ตามมาด้วยภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน และภาษีและค่าธรรมเนียมกรจดทะเบียนสิทธิ/นิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

กทม. รายได้วูบหลังเปลี่ยนภาษีโรงเรือนและที่ดิน

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่ารายได้ของ กทม. ประมาณ 1 ใน 3 มาจากรายได้ที่ กทม. จัดเก็บเอง และในส่วนของรายได้ที่ กทม. จัดเก็บเองนั้น รายได้หลักมาจาก ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ของรายได้ทั้งหมดในส่วนที่ กทม. จัดเก็บเอง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 โดย ยกเลิกภาษีภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ 

ในปี 2563 เป็นปีแรกที่มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจัดเก็บได้รวม 1,255.63 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ ที่ตั้งไว้ 14,000 ล้านบาท หรือจัดเก็บได้เพียง 8.96% เท่านั้น และ ในปี 2564 จัดเก็บได้เพียง 1,802.42 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณการ ที่ตั้งไว้ 5,115.00 ล้านบาท หรือเก็บได้เพียง 35.24% เท่านั้น

ทั้งนี้ เป็นผลจากการขยายเวลาการจ่ายไปอีก 4 เดือน และยังปรับลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยหรือให้เช่า เหลือเพียง 0.02% นอกจากนี้ ยังมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ลดจํานวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสูงถึง 90% จากจำนวนภาษีที่คํานวณได้ เพื่อบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ของเชื้อโควิด–19 ในขณะที่ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังมีการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่ กรุงเทพมหานคร มีรายได้จากภาษีในส่วนนี้ถึง 15,159.12 ล้านบาท                                   

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีอุ้มคนรวย?

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอย่างมาก ไม่เพียงแค่กรุงเทพมหานครเอง แต่รวมไปถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศอีกด้วย เพราะไม่ใช่เพียงแค่การลดลงของการจัดเก็บรายได้ แต่ยังรวมไปถึงข้อสังเกตที่มองว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ถือเป็นการอุ้มคนรวยหรือไม่

แต่เดิมภาษีโรงเรือนและที่ดิน เช่น อาคาร ตึกแถว โรงแรม จะจัดเก็บจะประเมินตามรายได้  หากทำรายได้เท่าไหร่จะคิดตามอัตราส่วนของแต่ละแห่งต่างกันไป แต่ปัจจุบันเรียกว่าเมื่อเปลี่ยนเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะยึดตามราคาของราคาที่ดินหรืออาคารที่ถือครอง รวมถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า 

สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดช่องว่างที่เอื้อต่อนายทุนและคนรวยในขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปกลับอาจต้องรับภาระทางภาษีที่มากขึ้น เช่น ในส่วนของที่ดินว่างเปล่า จากที่เคยเสียตามอัตราภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งไม่สูงมาก เมื่อเปลี่ยนมาเป็นระบบใหม่ก็จะเสียภาษีอัตราภาษีร้อยละ 0.3% ตามราคาประเมิน จริงอยู่ที่วิธีการดังกล่าวจะทำให้ท้องที่จัดเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่และมีทุนทรัพย์ก็จะเปลี่ยนที่ดินรกร้างว่างเปล่าไปปลูกกล้วย มะนาว ฯลฯ เพื่อให้เป็นที่ดินเกษตรกรรมเพื่อที่จะได้เสียภาษีถูกลงในอัตรา 0.1% ในขณะที่ประชาชนที่ถือครองที่ดินไม่มากนั้น และอาจไม่มีทุนทรัพย์ในการเปลี่ยนที่รกร้างว่างเปล่าไปเป็นที่ดินเกษตรกรรมก็จะเสียภาษีมากขึ้นตามระบบใหม่นี้

ประการต่อมาก็คือในเรื่องของอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เมื่อพิจารณาในแง่ห้างสรรพสินค้าซึ่งในระบบเดิมเสียภาษีค่อนข้างสูง แต่เมื่อใช้ระบบภาษีใหม่ คำนวณราคาจากทรัพย์สินคืออาคารและที่ดิน จึงทำให้เสียภาษีน้อยลง ในขณะที่ร้านค้าขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่มากกลับต้องเสียภาษีมากขึ้น เนื่องจากราคาประเมินทรัพย์สินที่ดินและอาคาร โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ นั้นสูง เท่ากับว่าระบบใหม่นั้นเอื้อต่อนายทุนห้างสรรพสินค้าแต่กลับทำให้รายย่อยนั้นต้องแบกรับภาษีมากขึ้น 

ทั้งหมดนี้ อาจทำให้ท้องถิ่นรวมไปถึงกรุงเทพฯ เองจัดเก็บภาษีในส่วนที่เคยได้สูงสุดในหมวดของการจัดเก็บเองนั้นลดลง แต่ในขณะเดียวกันประเด็นนี้ถือว่าเป็นนโยบายจากส่วนกลาง โดยที่ท้องถิ่นไม่สามารถทัดทานได้ ซึ่งทำให้เห็นถึงปัญหาของโครงสร้างการปกครองที่แม้ท้องถิ่นจะมีความสามารถในการจัดเก็บรายได้และอำนาจในการใช้รายได้นั้นในการพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันท้องถิ่นรวมถึงกรุงเทพฯ เอง ก็อยู่ภายใต้อำนาจกฎหมายหลายฉบับที่ต้องกระทำตาม ดังเช่นเรื่องการจัดเก็บภาษีนี้ ที่ทำให้มองเห็นว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริงตามหลักการกระจายอำนาจการปกครอง

ศึกษาภาษีรูปแบบใหม่รองรับแนวโน้มรายได้ลด

ไม่เพียงแค่เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น แต่ในส่วนรายได้ที่ กทม. จัดเก็บเองยังแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ในหมวดหมู่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีการพนันที่ปัจจุบันเหลือเพียงสมาคมราชกรีฑาสโมสรเพียงแห่งเดียว ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ากำลังมีการศึกษาการเปิดบ่อนคาสิโนถูกกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นการนำรายได้ภาษีหมวดนี้กลับเข้าสู่ท้องถิ่นได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีอากรฆ่าสัตว์ที่จำนวนโรงฆ่าสัตว์ลดลงเรื่อย ๆ ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่ารับและค่าบริการ รายได้จากการพาณิชย์หรือกิจการของกรุงเทพมหานครเอง ซึ่งมีเข้ามาไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของตลาดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงการลงทุนในการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานครที่ควรจะขยายตัว แต่กลับยังคงประสบปัญหาเรื่อยมา  

แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะได้เห็นการพยายามจัดเก็บภาษีแบบใหม่ ๆ ทั้งภาษีบำรุง กทม. สำหรับน้ำมัน หรือแม้แต่ในร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ก็มีการนำเสนอการจัดเก็บภาษีอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ภาษีโรงแรม แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นคำถามที่น่าสนใจว่าในหมวดหมู่ภาษีจากการบริการ ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และในขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อไรนั้น กรุงเทพฯ และผู้ว่าฯ คนต่อไปจะวางแผนอย่างไรในเรื่องการจัดเก็บภาษีเพื่อให้กรุงเทพฯ มีรายได้เพื่อที่จะนำมาพัฒนาเมืองในอนาคตต่อไป

กทม. หาเงินจากไหน

กทม. มั่งคั่งจาก ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ ที่ทุกคนจ่าย แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีสิทธิกำหนดอนาคตกรุงเทพฯ

ในส่วนของรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้นั้น จากข้อมูลจะพบว่า รายได้ภาษีที่สูงที่สุดในหมวดนี้ก็คือภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสูงถึงเกือบ 50% ของรายได้ในหมวดหมู่อื่น ๆ ในส่วนที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ และสูงที่สุดในบรรดารายได้ของกรุงเทพฯ และสูงกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ในระบบเดิม) อันเป็นรายได้ที่สูงเป็นอันดับหนึ่งในส่วนที่ กทม.จัดเก็บเองเกือบเท่าตัว 

ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้ได้มาจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการทั้งหมดบนพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีประชากรตามทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่  5,527,994 คน แต่ประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จริง ๆ นั้น รวมถึงผู้ที่ไม่ได้มีชื่อในทะเบียนราษฎรของกรุงเทพมหานคร ที่เข้ามาอาศัยในเมืองหลวงด้วยการย้ายเข้ามาทำงาน เรียนหนังสือ หรือแม้กระทั่งเข้ามาใช้ชีวิตเป็นประชากรแฝงในช่วงกลางวันหรือกลางคืน มีรวมกันแล้วมากกว่า 8.3 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรตามทะเบียนราษฎรกว่า 2 ล้านคน 

ประชากรกว่า 2 ล้านคนเหล่านี้คือผู้ที่มีส่วนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กลายมาเป็นรายได้เข้าสู่กรุงเทพมานคร ในการนำไปใช้พัฒนาเมืองหลวงแห่งนี้ คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วผู้ที่มีส่วนในการนำรายได้มาให้กรุงเทพฯ กว่า 2 ล้านคนนี้ พวกเขาจะมีส่วนในการกำหนดแนวทางการเติบโตพัฒนากรุงเทพมหานครได้อย่างไร นอกเหนือไปจากการเลือกผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ที่เขาไม่มีสิทธิได้หย่อนบัตร 

เมื่อรายได้จากภาษีอาจเป็นปัจจัยกำหนดนโยบาย

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน ที่สูงเป็นอันดับสองของรายได้ของ กทม.ในส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ซึ่งก็คือกรมขนส่งทางบก จากข้อมูลจะเห็นได้ว่ารายได้ในส่วนนี้มีความขึ้นลงเพียงเล็กน้อยตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และถือเป็นรายได้หลักอีกส่วนของของ กทม.ก็ว่าได้ ดังนั้นการที่ กทม. ต้องพึ่งพารายได้ในส่วนนี้สูง อาจส่งผลกระทบต่อการจะออกนโยบายใด ๆ ที่จะทำให้การใช้ยวดยานพาหนะลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของ กทม. อีกที 

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจำกัดจำนวนยวดยานพาหนะใน กทม. หรือการจะขึ้นภาษีรถยนต์ให้สูงมาก ๆ หรือมีกฎหมายจำกัดการครอบครองยานพาหนะต่อครัวเรือนหรือตามจำนวนที่จอดในบ้านดังเช่นในต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหารถติดหรือมลพิษทางอากาศนั้น จะสามารถทำได้หรือไม่ ในเมื่อทางหนึ่ง กทม. เองก็พึ่งพารายได้จากหมวดนี้ แต่ในขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการจราจรหรือมลพิษก็เป็นปัญหาเรื้อรังมานานของ กทม. เช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เห็นได้จากแผนพัฒนากรุงเทพมหานครที่ผ่านมา ที่แก้ปัญหาการจราจรด้วยการตัดถนนเพิ่ม ทำสะพาน ทางยกระดับ เชื่อมซอยให้ถึงกัน การใช้เทคโนโลยีควบคุมไฟจราจร หรือในเรื่องมลพิษก็จะเป็นเพียงการแก้ปัญหาทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัด รายงานค่ามลพิษ หรือปลูกต้นไม้เพียงนั้นเอง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดเสียที

อีกหนึ่งความท้าทายของการหารายได้ของ กทม. ก็คือ การที่ประชากรในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลง อันเป็นไปตามแนวโน้มของโลกที่ประชากรเกิดใหม่ลดลง ทำให้การจัดเก็บภาษีในหลาย ๆ หมวดที่ต้องพึ่งพากำลังซื้อของประชากรนั้นได้รับผลกระทบไปด้วย อย่างเช่น ภาษี/ค่าจดทะเบียนสิทธิอสังหาริมทรัพย์ที่ในปี 2564 ลดลงอย่างมาก อันเป็นผลมาจากความซบเซาของเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ด้วย รวมไปถึงราคาของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่ถีบตัวสูงขึ้นจนทำให้ประชาชนไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ ก็จะส่งผลให้รายได้ในส่วนนี้มีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคตเช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าเรื่องรายได้ของ กทม. นั้นมีทั้งปัญหาที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง อย่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือปัญหาที่กรุงเทพฯ ต้องจัดการแก้ไขด้วยตัวเอง เช่น รายได้จากการพาณิชย์ต่างๆ ของ กทม. เอง ทั้งหมดจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่และคนต่อ ๆ ไป ที่ต้องหาทางออกไม่เพียงแค่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ แต่ยังต้องมองมายังการจัดเก็บรายได้ของกรุงเทพฯ ด้วย เพราะหากกรุงเทพฯ มีรายได้ลดลง นั่นก็กับว่าปัญหาต่าง ๆ ก็จะได้รับการแก้ไขน้อยลง หรือการพัฒนาเมืองก็จะเติบโตช้าลงด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาล้วนก็ต้องใช้งบประมาณแทบทั้งสิ้น


ซีรีส์ชุด BKK101 “โครงสร้างและงบประมาณ กทม.”

ซีรีส์ชุด BKK101 "โครงสร้างและงบประมาณ กทม." เป็นความร่วมมือทางด้านข้อมูล ระหว่าง The Active และ Rocket Media Lab 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active