วิเคราะห์นโยบายเมืองปลอดภัย โดย ผศ.ทวิดา กมลเวชช คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เกิดขึ้นในงาน Bangkok Active Forum: ฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “เมืองปลอดภัย” ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดย เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ เพื่อออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย ส่งถึงมือผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.
The Active และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วมสรุปเนื้อหาในรูปแบบ Visual Note
ผศ.ทวิดา อธิบายว่า ความปลอดภัยเป็นเรื่องเดียวกันกับการพัฒนา สภาวะทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ การดำรงชีวิตของประชาชน
สำหรับกรุงเทพฯ เมืองที่มีประชากรหนาแน่น แม้จะไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) หรือโรคระบาด แต่ความวุ่นวายของคนในเมือง ก็สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงได้ในหลายมิติ ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤตเศรษฐกิจ และการผ่อนคลายทางสาธารณสุข คือโอกาสที่จะต้องเร่งพัฒนาเมือง บริหารจัดการให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติให้ได้มากที่สุด
ที่ผ่านมาจุดเน้นของการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยของ กทม. มักไม่ใช่เรื่องของการพยายามเข้าใจความเสี่ยงของภัยพิบัติอย่างถูกต้อง แต่เป็นปฏิบัติการในเชิงรับ เช่น เน้นการป้องกันเหตุอัคคีภัย หรือไฟไหม้
“สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาความปลอดภัยและการเป็นเมืองหยุ่นตัวต่อวิกฤตการณ์ ที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปี ระบุรายละเอียดหน้าที่ผู้ว่าฯ ชัดเจน ต่อให้มีผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่เข้ามา ก็จะต้องเอาแผนยุทธศาสตร์นี้มาใช้ เพราะครอบคลุมถึงปี 2580 และประชาชนจำเป็นต้องรู้จักแผนพัฒนากับยุทธศาสตร์เรื่องนี้ เพื่อคอยติดตามดูว่า ผู้ว่าฯ คนใหม่ที่ได้ดำรงตำแหน่ง ทำงานตามที่แผนกำหนดไว้หรือไม่”
ผศ.ทวิดา อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นใน กทม. หลายเรื่องไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. ที่จะต้องจัดการก็จริง แต่คิดว่าการรับบทเป็นผู้ประสานงานยังมีอุปสรรคหลายเรื่อง ดังจะเห็นได้จาก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มีการปรับปรุงแล้ว แต่เนื้อความใหญ่ยังไม่ได้ถูกปรับ ทำให้การใช้อำนาจของเทศบัญญัติยังไม่อยู่ในอำนาจเต็ม ต้องอาศัยการปลดล็อกอำนาจเพื่อให้การทำงานที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นได้
“การเป็นผู้ประสานงานไม่ใช่แค่นั้น ต้องเอาแผนการทำงานของหน่วยงานใน กทม. ทั้งหมดมาเปิดดู ต้องวางแผนปฏิบัติงานร่วมกัน ทั้งสำนักงานเขต ผู้อำนวยการเขต ต้องรู้ว่าพื้นที่ของตัวเองเป็นอย่างไร แล้วจะทำอะไรได้บ้าง”
ยุทธศาสตร์การสร้างเมืองปลอดภัยและหยุ่นตัวต่อวิกฤตการณ์ ประกอบไปด้วย การปลอดอาชญากรรมและยาเสพติด ปลอดอุบัติเหตุ และสร้างความปลอดภัยทางถนน ปลอดอุบัติภัยจากสิ่งก่อสร้าง และการเป็นเมืองสุขภาพดี
สำหรับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็จะต้องมีความเข้าใจด้านประชากรศาสตร์ ความแตกต่างของกลุ่มคน ธรรมชาติการทำงานทางการเมือง การบริหารจัดหารที่แท้จริง คนกรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีผู้ว่าฯ ที่พร้อมจะทำงาน และเริ่มต้นได้เลย เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ และบริหารจัดการยาก ผู้ว่าฯ เองต้องมีทีมงานที่ทำงานอย่างรวดเร็ว และทำทุกเรื่องพร้อมกันได้
“ย้ำว่า ผู้ว่าฯ กทม. ต้องรู้ทุกซอกทุกมุมของกรุงเทพฯ”