ในสังคมประชาธิปไตย ‘พรรคการเมือง’ มีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นกระจกสะท้อนอุดมการณ์ของประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย สินค้าที่เรียกว่า ‘พรรคการเมือง’ จึงควรแข่งขันกันได้อย่างยุติธรรม เพื่อแข่งกันสร้างนโยบายคุณภาพ แข่งกันทำผลงาน ให้ผู้คนจับจ่ายเลือกซื้อ ‘พรรค’ ได้โดยอิสระ ไม่มีการผูกขาดจากกลุ่มอำนาจหรือกลุ่มทุนใหญ่ และจะต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นหลัก
‘การยุบพรรคการเมือง’ จึงเป็นการใช้อำนาจตุลาการ เพื่อกำหนดว่าพรรคการเมืองใดบ้างที่ไม่คู่ควรกับสังคมไทย การยุบพรรคการเมืองยังถูกมองว่าเป็นการปฏิเสธเสียงของประชาชนที่เลือกตัวแทนของพวกเขาที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภา เป็นการทำลายอำนาจในการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีที่มาโดยตรงจากประชาชน ดังนั้น การจะยุบพรรคจึงไม่ควรหยิบใช้โดยทั่วไป ควรกระทำโดยระมัดระวัง และควรมองเป็น ‘มาตรการสุดท้าย‘ ที่จะใช้พิพากษาอำนาจของประชาชน
แม้การยุบพรรคจะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการเมืองไทย แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 มีพรรคการเมืองถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วทั้งสิ้น 110 พรรค และมีกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ไปอย่างน้อย 270 คน และหากผลการวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกลที่จะประกาศในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 มีผลให้ยุบพรรค นี่ก็จะเป็นพรรคที่ 111 ที่ถูกยุบลงในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
‘การยุบพรรค’ อาจทำให้พรรคการเมืองหนึ่งหมดสภาพและสิ้นอำนาจทางการเมือง แต่นี่จะเป็นวิธีหยุด ‘เจตจำนง’ ของพรรคการเมืองได้หรือไม่? The Active รวบรวมข้อมูลของบรรดาพรรคการเมืองที่ถูกยุบ และบทบาทในปัจจุบันของอดีตกรรมการบริหารพรรคที่เคยถูกตัดสิทธิ์ไป ว่ายังว่ายเวียนอยู่ในวัฏสงสารการเมืองไทยอยู่หรือไม่ ? และเมื่อไหร่พรรคการเมืองจะเป็นสถาบันทางการเมือง เป็นเสาหลักให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยเบ่งบาน ทัดเทียมนานาอารยประเทศได้จริง
ตั้งแต่ปี 2541 ถูกยุบไปแล้ว 110 พรรค:
คดีล้มล้างการปกครอง ‘มีสัดส่วน’ เพิ่มขึ้น
ข้อมูลจาก รายงานการศึกษาวิจัย ‘การยุบพรรคการเมืองโดยองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ’ โดย ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล หัวหน้าคณะผู้วิจัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประมวลข้อมูลในราชกิจจานุเบกษาเพิ่มเติมจาก WeViz พบว่า ตั้งแต่ปี 2541 มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้วทั้งสิ้น 110 พรรค โดยเหตุแห่งการยุบพรรคที่ปรากฏมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ ‘จำนวนคนไม่ถึงเกณฑ์’ 43 พรรค อันดับ 2 คือ ‘ไม่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคหรือรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคให้ถูกต้อง’ 39 พรรค
จะพบว่าเหตุแห่งการยุบพรรคราว 35% เป็นเรื่องการดำเนินธุรการที่ไม่ถูกต้อง เอกสารตกหล่น ไม่ครบถ้วน หรือส่งเอกสารล่าช้าจนนำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับพรรคเล็ก ๆ ในช่วงที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2541 (2541 – 2550) ขณะที่เหตุยุบพรรคอีก 39% เป็นเรื่องขนาดพรรคที่เล็กเกินไป ด้วยข้อกำหนดเหล่านี้ทำให้พรรคการเมืองส่วนใหญ่เติบโตได้ยากลำบาก เพราะไม่มีทุนมากพอทั้งในแง่สมาชิกและทุนประเดิม ทั้งยังติดข้อกำหนดในการหารายได้อีกด้วย ทำให้พรรคส่วนใหญ่จะอยู่รอดได้ต้องมีกลุ่มทุนหนุนหลัง ไม่เป็นอิสระทางอำนาจ
ขณะที่เหตุแห่งการยุบพรรคอันดับที่ 3 คือ ‘อาจเป็นปฏิปักษ์หรือล้มล้างการปกครอง’ จำนวน 8 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (2550) พรรคไทยรักไทย (2550) พรรคพัฒนาชาติไทย (2550) พรรคแผ่นดินไทย (2550) พรรคชาติไทย (2551) พรรคพลังประชาชน (2551) พรรคมัชฌิมาธิปไตย (2551) และพรรคไทยรักษาชาติ (2562) ซึ่งพรรคการเมืองที่ถูกยุบเหล่านี้ประกอบไปด้วยกรรมการบริหารพรรคที่มีบทบาทยึดโยงการเมืองไทย อย่างเครือข่ายบ้านใหญ่ เครือข่ายการเมืองท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ ‘บ้านเลขที่ 111’ และ ‘บ้านเลขที่ 109’ ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่หลังม่านการเมืองในปัจจุบัน
แม้จำนวนพรรคที่ถูกยุบจะลดน้อยลงในช่วงปี 2551 เป็นต้นมา เนื่องจากไม่ค่อยมีพรรคการเมืองที่ถูกยุบด้วยเหตุทางธุรการหรือขนาดของพรรคเหมือนช่วง 2541 – 2550 ที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนแล้วพบว่า คดีพรรคการเมืองอาจเป็นปฏิปักษ์หรือล้มล้างการปกครอง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 4.35% (4 ใน 92 พรรค) ในช่วง พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2541 เพิ่มเป็น 18.75% (3 ใน 16 พรรค) ในช่วง พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2551 และเพิ่มเป็น 50% (1 ใน 2 พรรค) ในช่วงที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 และหากศาลมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 67% (2 ใน 3 พรรค) ทันที
ลดจำนวนกรรมการบริหาร
‘ทางหนีตาย’ จากคดียุบพรรคซ้ำซาก
ภายหลังศาลฯ ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยในปี 2549 นำไปสู่การตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ของกรรมการบริหารพรรค 111 คน (เป็นที่มาของ ‘บ้านเลขที่ 111’) จากทั้งหมด 119 คน ผลพวงของคำพิพากษาในครั้งนั้น นำไปสู่การพยายาม ‘ตัดช่องน้อยแต่พอตัว’ ของพรรคการเมืองไทยเพื่อลดผลกระทบที่ตามมาหากถูกตัดสิทธิทางการเมืองยกแผง
ต่อมาในปี 2551 อดีตพรรคไทยรักไทยได้พาสมาชิกและก๊กก๊วนที่เหลืออยู่ย้ายเข้าบ้านใหม่ในชื่อพรรค ‘พลังประชาชน’ ซึ่งลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคเหลือเพียง 39 คนเท่านั้น ก่อนจะมีคำสั่งยุบพรรคซ้ำอีกด้วยเรื่องคล้ายเดิม และกลายเป็นพรรค ‘เพื่อไทย’ ในปัจจุบัน ที่มีจำนวนกรรมการบริหารพรรคเพียง 23 คน หรือหดตัวลงจากปี 2549 ถึง 79% ซึ่งสวนทางกับจำนวน สส. ภายในพรรคและบรรดาสมาชิกพรรคที่มีอยู่เกือบครึ่งแสน
เช่นเดียวกันกับพรรคอื่นอย่าง พรรค ‘ชาติไทย’ ที่เคยมีจำนวนกรรมการบริหารพรรคถึง 42 คนในปี 2551 ก่อนจะถูกยุบพรรคด้วยคำวินิจฉัยคล้ายกันกับพรรคไทยรักไทย (เป็น 1 ใน 3 พรรคของกลุ่มบ้านเลขที่ 109) จนกลายมาเป็นพรรค ‘ชาติไทยพัฒนา’ ในปัจจุบัน ที่มีกรรมการบริหารพรรคเหลือเพียง 21 คน หรือหดตัวลงครึ่งหนึ่ง
ขณะที่พรรค ‘ประชาธิปัตย์’ ในช่วงปี 2549 ที่จริง ๆ ก็ถูกร้องให้ยุบพรรคด้วยเช่นเดียวกัน แต่ศาลวินิจฉัยไม่ยุบพรรค ถึงอย่างนั้นก็มีความพยายามลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคจาก 49 คน (2549) เหลือเพียง 19 คน (2552) แต่ปัจจุบันได้ขยายตัวมากขึ้นเป็น 38 คน แต่ก็ยังหดตัวลงจากปี 2549 ถึง 22%
สำหรับพรรค ‘อนาคตใหม่’ มีจำนวนกรรมการบริหารพรรคที่น้อยอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เพียง 16 คนเท่านั้น แต่ภายหลังถูกตัดสิทธิทางการเมืองยกแผง 10 ปี เข้ายุคสมัยของพรรค ‘ก้าวไกล’ จึงเหลือเพียง 10 คน และภายหลัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล พ้นปมคดีหุ้นสื่อไอทีวี กรรมการบริหารพรรคก้าวไกลก็ลดจำนวนเหลือแค่ 8 คนเท่านั้น ซึ่งหดตัวจากช่วงก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ถึง 50% ซึ่งส่วนทางกับจำนวนสมาชิกกว่าครึ่งแสน
คนการเมืองที่เคยถูกตัดสิทธิ์
47% ยังมีบทบาทกับการเมืองไทย
รายงานการศึกษาวิจัย ‘การยุบพรรคการเมืองโดยองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ’ ยังวิเคราะห์ไว้ว่า การยุบพรรคการเมืองสะท้อนถึงความอ่อนแอของระบบพรรคการเมืองไทย ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถพัฒนาไปสู่สถาบันการเมืองได้อย่างแท้จริง เพราะการยุบพรรคไม่ได้ยับยั้งบทบาททางการเมือง การสืบทอดตำแหน่งภายในพรรคการเมืองผ่านเครือญาติ คู่สมรส ลูกหลาน กลับมีพบให้เห็นมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพของนักการเมืองลดลง และส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมในประเทศที่ไม่แข็งแรง
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวเพิ่มเติมในรายการ Flash Talk โดยระบุว่า อีกผลพวงสำคัญของการยุบพรรคและการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคการเมือง คือ การส่งผลโดยตรงต่อสถานะของรัฐบาล ยกตัวอย่างกรณี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ที่เมื่อมีคำสั่งยุบพรรค ทำให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชาชนล้มลงไปด้วย ส่งผลต่อแนวทางการวางโครงสร้างพรรคการเมืองในเวลาต่อมา คือ ผู้นำตัวจริงไม่มีตำแหน่งบริหารในพรรค ไม่เอื้อต่อกลไกการตรวจสอบพรรคการเมือง อีกทั้งจำนวนของกรรมการบริหารพรรคที่น้อยเกินไป ไม่สะท้อนการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น
The Active รวบรวมรายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง จากกลุ่มบ้านเลขที่ 111 (พรรคไทยรักไทย รวมกับพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย), บ้านเลขที่ 109 (พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย), พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งสิ้น 270 คน เพื่อดูว่าบุคคลเหล่านี้ยังเคลื่อนไหวหรือมีบทบาททางการเมืองในปัจจุบันอยู่หรือไม่?
อ่านข้อมูลดิบเพิ่มเติมได้ที่:
https://docs.google.com/spreadsheets/d/1679ugZqo8G9njM1BTjkUeezd2LDUvvrkHFd_BMjqS-g/edit?usp=sharing
จากการสืบค้นพบว่าบรรดาอดีตกรรมการบริหารพรรคที่เคยถูกตัดสิทธิ์กว่า 47.7% ยังคงมีบทบาททางการเมืองไทยในยุคสมัยรัฐบาลเศรษฐา 1 (พ.ค. 2566 – ส.ค. 2567) โดยแบ่งเป็น 32.5% ยังมีบทบาทในการเมืองภาพใหญ่ เช่น เป็นคณะรัฐมนตรี, เป็นสมาชิกสภาฯ, นั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการ เป็นต้น, 8.5% ยังมีบทบาทในการเมืองท้องถิ่น เช่น เป็นสมาชิก อบจ., เครือข่ายบ้านใหญ่, ทำงานเคลื่อนไหวประเด็นท้องถิ่น เป็นต้น และอีก 6.7% มีทายาททางการเมือง หรือสนับสนุนเครือญาติเข้าไปมีบทบาทในการเมือง
ส่วนที่เหลือพบว่า 28.5% ไม่พบการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน, 6.6% เสียชีวิตแล้ว, 6.6% ประกอบธุรกิจหรือเป็นเจ้าของกลุ่มทุน, 1.8 อยู่ในวงการกีฬา และอื่น ๆ อีก 8.8% โดยจำแนกตามกลุ่มการเมือง ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (บ้านเลขที่ 111) และพรรคที่เกี่ยวโยงอีก 2 พรรค ได้แก่ พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย จำนวนทั้งสิ้น 133 คน
แม้ในอดีตกลุ่มบ้านเลขที่ 111 จะเป็นพลพรรคของ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และเป็นที่มาของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน แต่บรรดาสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ยังแทรกซึมอยู่ตามพรรคอื่น ๆ เช่น อนุชา นาคาศัย สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ, พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา เป็นต้น และยังมีบุคคลที่มีบทบาททางการเมืองไทยที่น่าสนใจ เช่น- ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย มีทายาททางการเมืองมาถึงปัจจุบัน
- คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย
- จาตุรนต์ ฉายแสง สส.พรรคเพื่อไทย อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
- วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา
- สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข
- สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม
- อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย
- ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย
- ปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี
- กลุ่มที่ 2 กรรมการบริหารพรรคพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย (บ้านเลขที่ 109) จำนวนทั้งสิ้น 109 ราย
ส่วนใหญ่กระจายตัวตามพรรคการเมืองต่าง ๆ ในปัจจุบัน และเป็นกลุ่มตระกูลบ้านใหญ่ในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น จองชัย เที่ยงธรรม บ้านใหญ่สุพรรณบุรี, เอกพจน์ ปานแย้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองคลองหลวง, สุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น และยังมีบุคคลที่มีบทบาททางการเมืองไทยที่น่าสนใจ เช่น- บรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยและอดีตนายกรัฐมนตรี (เสียชีวิต)
- ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
- วราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- สมัคร สุนทรเวช อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและอดีตนายกรัฐมนตรี (เสียชีวิต)
- สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้สมัคร สว. และอดีตนายกรัฐมนตรี
- สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คณะกรรมการ Soft Power
- สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม
- ธนพร ศรียากูล ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย
- สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการและโฆษก ศธ.
- กลุ่มที่ 3 กรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ 13 ราย ได้ชื่อว่าเป็นพรรคที่เกิดจากยุทธการ ‘แตกแบงก์พัน’ ของพรรคเพื่อไทย เพื่อหวังเก็บคะแนนที่ตกหล่นเพื่อไปคำนวณเป็น สส.บัญชีรายชื่อ แต่แล้วยุทธศาสตร์นี้ต้องจบลง เพราะการเสนอพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เข้าข่ายผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2561 มาตรา 92(2) อาจเป็น “ปฏิปักษ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยปัจจุบัน กรรมการบริหารพรรคก็ยังคงมีบทบาทในหลายวงการ
- ฤภพ ชินวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE Village Bangkok
- ปรีชาพล พงษ์พานิช คกก.การกีฬาแห่งประเทศไทย และกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- พฤฒิชัย วิริยะโรจน์ คณะอนุกรรมาธิการการเงินฯ
- วิม รุ่งวัฒนจินดา กรรมการบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ ผู้ประกาศข่าว Thairath TV
- ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ที่ปรึกษา รมว.ต่างประเทศ
- กลุ่มที่ 4 กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ 16 ราย ภายหลังถูกตัดสินยุบพรรคเหตุรับบริจาคทรัพย์สินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทางพรรคได้ประกาศแน่ชัดว่าจะพา 12 กรรมการบริหารพรรคตั้งคณะก้าวหน้า มุ่งทำงานทางการเมืองท้องถิ่นคู่ขนานไปกับการเมืองภาพใหญ่สภา ซึ่งส่งไม้ต่อให้กับพรรคก้าวไกล
ทั้งนี้ คณะก้าวหน้ายังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้พรรคก้าวไกล จนได้คะแนนเสียงมากที่สุดเป็นพรรคอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ปัจจุบันกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่ยังทำงานคณะก้าวหน้า ขณะที่บางส่วนได้ร่วมกับพรรคอื่น และส่วนหนึ่งได้หยุดทำงานการเมืองไปแล้ว เช่น- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า
- กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า
- พงศกร รอดชมภู รองประธานกรรมการคณะก้าวหน้า
- ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า
- พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า
- นิรามาน สุไลมาน ไม่พบการเคลื่อนไหว
- จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กมธ. งบฯ ปี 2567 โควตาพรรครวมไทยสร้างชาติ
‘เกิดง่าย อยู่ได้ ตายยาก’
เปิด 10 ข้อเสนอจาก กมธ. พัฒนาการเมืองฯ
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ซึ่งเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายพรรคการเมืองให้ “เกิดง่าย อยู่ได้ ตายยาก” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พรรคการเมืองมีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น
พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ย้ำว่า พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในสังคมประชาธิปไตย โดยเปรียบพรรคการเมืองเป็นสินค้าที่ต้องแข่งขันอย่างยุติธรรม เพื่อให้ได้นโยบายที่มีคุณภาพ ไม่มีการผูกขาด และต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่จากกลุ่มทุนใหญ่
โดยพริษฐ์ ได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ง่ายขึ้น โดยลดอุปสรรคและเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ลดจำนวนผู้ร่วมจัดตั้ง ลดทุนประเดิม และปรับปรุงระบบเอกสารให้สามารถดำเนินการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เป็นต้น ภายหลังการหารือในชั้นอนุกรรมาธิการกับบรรดาพรรคการเมือง นักวิชาการ เจ้าหน้าที่การเมือง และ กกต. จึงออกมาเป็นข้อเสนอ 10 ข้อ ดังนี้
- ลดเงื่อนไขในการตั้งพรรค เช่น จำนวนผู้จัดตั้ง ทุนประเดิม เอกสารที่เกินจำเป็น
- เปิดให้พรรคการเมืองมีความหลากหลายได้มากขึ้น เช่น เชิงประเด็น เชิงภูมิภาค
- อำนวยความสะดวกในการสมัครสมาชิก เช่น หยุดบังคับพรรคเรื่องค่าสมาชิก
- ปลดล็อกให้ระดุมทุนจากประชาชนได้ง่ายขึ้น เช่น ขายสินค้าพรรคออนไลน์ได้
- ป้องกันการครอบงำโดยทุนใหญ่ และป้องกันการบริจาคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- ลดเงื่อนไขที่เพิ่มค่าใช้จ่ายทางธุรการ เช่น เปิดให้ทำธุรการออนไลน์ได้
- เพิ่มความคล่องตัวในการใช้จ่าย เช่น ส่งเงินที่อุดหนุนผ่านภาษีมาที่พรรคโดยตรง
- ปรับมาตรการที่มีสภาพบังคับมาเป็นการจูงใจ เช่น ข้อกำหนดเรื่องจำนวนสมาชิก
- ทบทวนเงื่อนไขยุบพรรคให้สอดคล้องหลักสากล และหลักการ “พรรคใหญ่กว่าคน”
- ยกเลิกโทษเรื่องการเพิกถอนสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
บททิ้งท้าย:
การยุบพรรคต้องเป็น ‘มาตรการสุดท้าย’ และไม่ทำลาย ‘เจตจำนงของประชาชน’
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ยังให้ความเห็นต่อโทษการยุบพรรคไว้ว่า การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ต้องไม่ทำลายเจตจำนงของประชาชนในการก่อตั้งพรรคการเมือง (เว้นแต่มีความจำเป็น เช่น พรรคการเมืองนั้นกระทำหรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรง ตั้งกองกำลังปลุกระดมล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ) ส่วนพรรคที่เสนอเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดย ‘สันติวิธี’ อย่างการทำประชามติ การเสนอกฎหมายผ่านกลไกนิติบัญญัติ ไม่ควรถูกยุบ
ท้ายที่สุด การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นมาตรการสุดท้าย สุดท้ายที่หมายถึงพิจารณาใช้มาตรการอื่นแล้วอย่างเป็นลำดับ เช่น ตักเตือน การปรับ การลงโทษเฉพาะสมาชิกบางราย ฯลฯ เพื่อให้เหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วน เพราะการยุบพรรคมีผลกระทบวงกว้าง ทำลายเจตนารมณ์ของปวงชน และการยุบพรรคต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอว่าพรรคกระทำผิดร้ายแรงอย่างยิ่ง เช่น การใช้ความรุนแรงหรือก่อการร้าย
“ไม่เกี่ยวว่าพรรคที่ถูกยุบคือพรรคไหน มาตรการยุบพรรคต้องเป็นมาตรการท้ายสุด ไม่ใช่แรกสุด และถึงยุบพรรคไป เขาก็ตั้งพรรคใหม่ได้ คนที่ถูกตัดสิทธิก็ไม่ใช่ตัวจริงของพรรค สุดท้ายคนที่ซวยคือประชาชน”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ผศ.ปริญญา ย้ำว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะเป็นก้าวไกลหรือพรรคใดก็ตาม ก็ไม่ควรถูกยุบไปเสียง่าย ๆ เพราะการทำลายพรรคพร่ำเพรื่อ นำไปสู่วัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นพิษ ทั้งการพยายามลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคอย่างไม่สอดคล้องกับจำนวนสมาชิก การเลี่ยงไม่ให้บุคคลสำคัญทางการเมืองดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ตลอดจนการสร้างการเมืองเครือญาติที่ทำให้ผู้แทนของประชาชนไม่มีความหลากหลาย เมื่อโครงสร้างพรรคการเมืองอ่อนแอ อำนาจของประชาชนก็ไร้พลังไปด้วยเช่นกัน