นายกฯ ไทย อยู่หรือไป…เพราะ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ?

เส้นทางนายกรัฐมนตรีของ แพทองธาร ชินวัตร จะสิ้นสุดลงเพราะกรณีคลิปเสียงสนทนากับ สมเด็จฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา หรือไม่ ? คงต้องขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยสุดท้ายของศาลรัฐธรรมนูญ

หลายฝ่ายประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 เดือน ภายหลังจากที่วันนี้ (1 ก.ค. 68) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้อง 36 สว. ขอให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรี เพราะฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ จากปมคลิปเสียง พร้อมทั้งมีมติ 7 : 2 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด

นี่เป็นอีกครั้งที่กลไกองค์กรอิสระอย่าง ศาลรัฐธรรมนูญ เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการชี้เป็นชี้ตายทางการเมืองไทย The Active ชวนย้อนดูว่า หลังมีรัฐธรรมนูญ 2560 ศาลรัฐธรรมนูญ มีส่วนแค่ไหนกับการจะอยู่หรือไปในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ (1 ก.ค. 68)

นายกฯ ที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 60
ทุกคนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย!

นายกฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 มี 3 คน ได้แก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เศรษฐา ทวีสิน และ แพทองธาร ชินวัตร ทั้ง 3 คนล้วนแต่ถูกส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้งสิ้น

โดยเฉพาะ พล.อ. ประยุทธ์ ที่โดนคดีถึง 5 คดี และมี 3 คดีที่ศาลรับคำร้อง แต่ก็รอดมาได้ทุกครั้ง ได้แก่

คดีเจ้าหน้าที่รัฐ
พล.อ. ประยุทธ์…รอด เอกฉันท์!

  • 26 มิ.ย. 2562 สส. ฝ่ายค้าน 57 คน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ว่า มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หรือไม่ เหตุเพราะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

  • 5 ก.ค. 2562 เลขานุการประธานสภาฯ ระบุว่า ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยแล้ว

  • 19 ก.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง แต่ไม่ได้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

  • 18 ก.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9:0 วินิจฉัยความเป็นนายกฯ ของ พล.อ. ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

คดีดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี หรือไม่ ?
พล.อ. ประยุทธ์…รอด!

  • 17 ส.ค. 2565 สส. ฝ่ายค้าน 172 คน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ. ประยุทธ์ ว่าครบ 8 ปี แล้วหรือไม่

  • 22 ส.ค. 2565 คำร้องส่งถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

  • 24 ส.ค. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 9:0 รับคำร้อง และมีมติ 5:4 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ชั่วคราว ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2565 เป็นต้นไปจนกว่าศาลจะมีคำตัดสิน ส่งผลให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ทำหน้าที่รักษาราชการแทน

  • 30 ก.ย. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6:3 วินิจฉัยความเป็นนายกฯ ของ พล.อ. ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง

ในขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย หลังการเลือกตั้งปี 2566 เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ กลับไม่ได้ “โชคดี” เหมือนพล.อ. ประยุทธ์ เนื่องจากนายกฯ เศรษฐา พ้นตำแหน่งเพราะการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

คดีแต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็น รมต.
เศรษฐา…ไม่รอด!

  • 15 พ.ค. 2567 สว. 40 คน ยื่นต่อ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาสภา เพื่อพิจารณาส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการใช้อำนาจนายกฯ แต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ซึ่งขาดคุณสมบัติ ระบุขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

  • 16 พ.ค. 2567 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องในทางธุรการ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

  • 23 พ.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6:3 รับคำร้อง แต่มีมติ 5:4 ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

  • 14 ส.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5:4 วินิจฉัยความเป็นนายกฯ ของ เศรษฐา สิ้นสุดลง เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

เมื่อเศรษฐา พ้นตำแหน่งนายกฯ ได้มีการส่งต่อและเปลี่ยนมือ ให้ แพทองธาร ชินวัตร มาเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์คลิปเสียงฮุนเซนขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้กลับมามีบทบาทในการตัดสินชะตาของนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง 

คดีคลิปเสียงสนทนา ‘ฮุนเซน’
แพทองธาร…จะรอด หรือไม่ ?

  • 19 มิ.ย. 2568 สว. 36 คน นำโดย พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การทหารและความมั่นคง วุฒิสภา ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้แพทองธารลาออกจากการเป็นนายกฯ และยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที ชี้ว่าไม่อาจปล่อยให้ “บุคคลที่เป็นฝั่งตรงข้ามกับประเทศไทย” บริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้แม้แต่วินาทีเดียว และยื่นต่อประธานวุฒิสภาสภา เพื่อพิจารณาส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องคลิปเสียง “ฮุนเซน” หลุด เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

  • 20 มิ.ย. 2568 มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ลงนามและส่งหนังสือ 2 ฉบับไปถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

  • 1 ก.ค. 2568 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 9:0 รับคำร้อง และมีมติ 7:2 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ชั่วคราว ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2568 เป็นต้นไปจนกว่าศาลจะมีคำตัดสิน

ด้าน นายกฯ แพทองธาร น้อมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จากนี้จะหยุดปฏิบัติหน้าที่ และมีเวลา 15 วันในการส่งเอกสารชี้แจง เพื่อชี้แจงถึงกรณีคลิปเสียงพูดคุยกับ ฮุน เซน โดยยังยืนยันว่ามีเจตนาทำเพื่อประเทศชาติ รักษาอธิปไตย รักษาชีวิตของกองทัพและทหารทุกคน รวมทั้งเพื่อสันติภาพ แต่วิธีการที่ทำอาจทำให้หลายคนไม่ถูกใจ

9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เป็นใคร ? มาจากไหน ? โหวตอะไร ?

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คนในชุดปัจจุบัน ล้วนถูกตั้งคำถามถึงมีที่มาที่ไปจากผลพวงของการรัฐประหาร ปี 2557 มาจากการแต่งตั้งโดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. 2 คน ได้แก่

  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน)
  • ปัญญา อุดชาชน

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2568 ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน (ที่หลายคนอาจเรียกว่า “สว. สีน้ำเงิน”) มีมติไม่เห็นชอบ ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงศุล และอดีตเอกอัครราชทูต ประจำกรุงเฮก ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ ปัญญา อุดชาชน ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่เข้ามารับหน้าที่แทน แม้ทั้งคู่จะกำหนดครบวาระดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2567

และมาจากการเห็นชอบของ สว. เฉพาะกาล (ซึ่งถูกแต่งตั้งโดย คสช. เช่นกัน) จำนวน 7 คน ได้แก่

  • อุดม สิทธิวิรัชธรรม
  • วิรุฬห์ แสงเทียน
  • จิรนิติ หะวานนท์
  • นภดล เทพพิทักษ์
  • บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
  • อุดม รัฐอมฤต
  • สุเมธ รอยกุลเจริญ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ยังมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 2 คน ที่อยู่มาก่อนการรัฐประหารปี 2557 ซึ่งหมดวาระเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่

  • ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ (หมดวาระ แทนด้วย อุดม รัฐอมฤต)
  • วรวิทย์ กังศศิเทียม (หมดวาระ แทนด้วย สุเมธ รอยกุลเจริญ)

หากพิจารณา คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คน ที่ได้มีส่วนในการตัดสินทั้งคดีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคดีของ เศรษฐา ทวีสิน (ซึ่งคือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ยกเว้น อุดม รัฐอมฤต และ สุเมธ รอยกุลเจริญ เนื่องจากในตอนนั้นยังไม่ถูกแต่งตั้ง) มีผลการลงมติ ดังนี้

การตัดสินคดีนายกฯ 8 ปี และคดีตั้ง “พิชิต”รายชื่อ
ติดสินให้ พล.อ. ประยุทธ์ (รอด) / ให้เศรษฐา (ไม่รอด)ปัญญา อุดชาชน,
อุดม สิทธิวิรัชธรรม,
วิรุฬห์ แสงเทียน,
จิรนิติ หะวานนท์
ตัดสินให้ พล.อ. ประยุทธ์ (ไม่รอด) / ให้เศรษฐา (รอด)นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ตัดสินให้ พล.อ. ประยุทธ์ และเศรษฐา (รอดทั้งคู่)บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
ตัดสินให้ พล.อ. ประยุทธ์ และเศรษฐา (ไม่รอดทั้งคู่)นภดล เทพพิทักษ์

ต้องจับตากันต่อไปว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเดียวกันที่ทำให้เศรษฐา พ้นนายกฯ ก่อนหน้านี้ จะทำให้ แพทองธาร มีชะตากรรมเช่นเดียวกันหรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไงก็อยู่ได้