ตราบใดที่การจัดการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่แหล่งกำเนิดยังไม่สามารถเห็นผลทันการณ์ การถอยกลับมาตั้งรับเพื่อปกป้อง “เด็ก” ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงจะดีไหม?
การทำพื้นที่ปลอดภัย ปลอดฝุ่น ให้เด็ก ๆ สามารถใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตได้ โดยเริ่มต้นที่สถานศึกษา จึงเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่หลายภาคีเครือข่าย ที่ติดตามปัญหานี้ได้เห็นตรงกันว่าควรเดินหน้า
The Active ร่วมกับ มูลนิธิไทยพีบีเอส เริ่มต้นนำร่อง ให้กับโรงเรียนบ้านก้อจัดสรรค์ ต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน พร้อมเปิดเวทีสาธารณะ “SAFETY ZONE โรงเรียนปลอดฝุ่น” ชวนทุกฝ่ายระดมสมอง หาทางขับเคลื่อนผลักดันแนวคิดให้ขยายครอบคลุมในเชิงนโยบาย และการติดตามผลกระทบด้านสุขภาพของเด็ก ๆ ในพื้นที่ หลังผลการตรวจสมรรถภาพปอด พบว่าเด็ก ๆ ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบนและหากทิ้งไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษาหรือยังใช้ชีวิตอยู่เช่นนี้ พวกเขาจะมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคหอบหืดมากกว่าคนปกติ 5 เท่า และยังมีโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพองก่อนอายุ 40 ปี
อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ต่อเด็ก
นพ.เผ่าพงศ์ สุนทร ผอ.โรงพยาบาลลี้ ระบุว่า ข้อมูลผู้ป่วยของคนใน อ.ลี้ จ.ลำพูน ช่วงหมอกควัน กลุ่มเสี่ยงที่เจ็บป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด ระบบหัวใจหลอดเลือด เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสูงเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ
ตัวเลขปีล่าสุด มีถึง 11,000 ครั้ง แม้ว่าตัวเลขนี้จะเริ่มลดลงหลังจากที่มีการใส่หน้ากากอนามัย แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม สอดคล้องกับข้อมูลการตรวจสุขภาพของเด็ก ๆ ใน อ.ลี้ โดย ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรค หืดฯ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระบุว่าผลการตรวจเบื้องต้น พบกลุ่มตัวอย่างในจุดเอกซเรย์ปอดมีลักษณะเป็นฝ้าขาวเล็กน้อยจนถึงมาก บางรายมีผังผืด หินปูน เกาะที่ต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดับไฟป่าอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคจากการทำงาน แต่ยังต้องส่งต่อโรงพยาบาลเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง ขณะที่เกือบทั้งหมดมาด้วยอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ภูมิแพ้ ส่วนเด็ก ๆ มีอาการระบบทางเดินหายใจส่วนบน หากทิ้งไว้เวลานานไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดมากกว่าปกติ 5 เท่า และโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพองก่อนอายุ 40 ปี และหากสมรรถภาพปอดต่ำลงกว่าวัยอันควรก็เป็นสัญญาณของโรคระบบทางเดินหายใจ
“จากการสัมภาษณ์เราได้รู้ว่าประชาชนคิดว่าการไอ จามเป็นเรื่องปกติ หรือหลายรายไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปีเลย สิ่งนี้สำคัญอย่างมากต่อผู้ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่มลพิษเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ง่ายจากโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ฯลฯ หรือแม้แต่เด็ก ๆ ที่ส่งผลระยะยาว เช่น ติดเชื้อทางเดินหายใจ หอบหืด ส่งผลต่อพัฒนาการ การตรวจพบแบบกลุ่มใหญ่ก็อาจจะทำให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวกับเรื่องนี้”
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงมีทั้ง อ้วน บุหรี่ วัย มลพิษทางอากาศ และหากทิ้งอาการเหล่านี้ไว้นาน ๆ เด็ก ๆ จะนอนกรน ถ้านอนไม่ดี ไม่ลึก ง่วง หลับ ความจำไม่ดี สมองขาดออกซิเจน เรียนไม่ค่อยดี ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและสติปัญญา
ป้องกันดูแลตัวเองและชุมชน อย่างไร
ดวงใจ ดวงทิพย์ ผอ.ส่วนส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ระบุว่า ข้อมูลปี 63-64 พบการเกิดจุดความร้อน ลดลงร้อยละ 50 แต่จำนวนวันที่มีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานไม่ได้ลดลงในภาพรวม และการเกิดฝุ่นก็มีหลายปัจจัยไม่ใช่แค่เผาป่าอย่างเดียว จังหวัดลำพูนมีสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ เพียง 1 จุด คือในอำเภอเมือง ไม่สามารถเป็นตัวแทนให้รอบนอกได้ แต่หากจะกระจายทั่วถึงติดขัดงบประมาณซึ่งเครื่องมีมูลค่าที่สูง จึงใช้เครื่องมือของเครือข่ายภาคประชาชน “Dust boy” เพื่อใช้เฝ้าระวังแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งที่นี่มีปริมาณฝุ่นที่สูงกว่าในตัวเมือง 2-3 เท่า
“เน้นการสื่อสารกับกลุ่มเสี่ยงให้ได้รับข้อมูลในการเฝ้าระวัง เด็กได้รับรู้วางแผนป้องกันตัวเอง หาแนวทางลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิด เน้นเฝ้าระวังตัวเองในพื้นที่ และสร้างการรับรู้ในการทำงานร่วมกันในพื้นที่”
ด้าน วิทยา ครองทรัพย์ สภาลมหายใจภาคเหนือ บอกว่า มีการสร้างเครือข่ายขึ้นมา 8 จังหวัด ติดตามและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและเริ่มต้นจากปัญหาสุขภาพที่คนในพื้นที่เผชิญทุกปี แต่แนวโน้มปีนี้ไม่มีฝนมาช่วยเหมือนปีที่แล้วคาดจะหนัก เพราะการบังคับใช้อำนาจกฎหมายไม่ทั่วถึง กำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ กลไกที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศใช้ 9 มาตรการ ถ้าไม่มีฝน มาตรการนี้ก็ช่วยไม่ได้ เช่นเดียวกับ นคร อุนจะนำ สภาลมหายใจลำพูน จึงเสนอให้เน้นการทำงานกับเครือข่ายที่มีในพื้นที่ เช่นสภาเด็กและเยาวชน กลุ่มป่าชุมชน 172 ป่าชุมชน
ด้าน ว่าที่ ร.ต. ปฏิภาณ อินทเนตร ผอ.โรงเรียนชุมชนบ้านแม่หละป่าป๋วย จ.แพร่ เห็นด้วยว่าการเริ่มต้นที่ตัวเด็ก ๆ ในการสร้างแนวทางดูแลสุขภาพของตัวเองควรเริ่มที่สถานศึกษา ซึ่งตอนนี้ทางโรงเรียนได้เริ่มหลักสูตรห้องเรียนสู้ฝุ่น โดยได้รับการสนุบสนุนงบฯ จาก สสส. และนักวิชาการที่เข้ามาจัดทำหลักสูตรในช่วงชั่วโมงเรียนเสริม ตลอด 1 ปี ที่เริ่มมีการปลูกฝัง เด็ก ๆ ตื่นตัวในการดูแลตัวเอง เฝ้าระวังช่วงมีฝุ่น และยังเป็นตัวกลางประสานกับผู้ปกครองในการทำความเข้าใจเรื่องเผา
“เราสร้างแกนนำขึ้นมา บทบาทแกนนำให้ความรู้เด็ก ๆ เด็กที่เสี่ยงจำเป็นต้องให้อาวุธ คือความรู้ ในการปรับตัวอยู่กับสภาพอากาศให้ได้ กิจกรรมเสริมหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ 10 กิจกรรม ต่อยอด บูรณาการกิจกรรม องค์ความรู้ ต่อยอดพัฒนาตามบริบท กิจกรรมยอดนิยม คือ เรื่องการอ่านค่าฝุ่นยักษ์ขาว กับธงสี เพราะว่าเด็กต้องปฏิบัติเอง พอได้องค์ความรู้ครูปรับเปลี่ยนแผน พฤติกรรม แผนการจัดกิจกรรมของโรงเรียน เช่น ลูกเสือให้เด็กทำกิจกรรมช่วงอากาศดี แต่เราไม่มีห้องปลอดฝุ่น มีห้องพยาบาลที่ปิดพัดลมดูดอากาศแก้ปัญหาเฉพาะหน้า”
จีรพงษ์ สนิท ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านก้อจัดสรรค์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มูลนิธิไทยพีบีเอสนำร่องสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่นให้ 2 ห้อง บอกว่า โรงเรียนมีเด็กทั้งหมด 249 คน แต่ห้องที่มีรองรับได้เพียง 40 คน มีห้อง 11 ห้อง จึงอยากขอระดมทรัพยากรจากทุกหน่วยงานในการติดตั้งสร้างห้องที่มีมาตรฐานเพิ่ม เนื่องจากเด็ก ๆ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเหมือนกัน และการหยุดโรงเรียนช่วงฝุ่นตามมาตรการภาครัฐ ในพื้นที่ไม่สามารถทำได้ เพราะชุมชนและโรงเรียนสภาพอากาศไม่ต่างกัน ด้าน ผอ.ส่วนส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เสนอให้โรงเรียนใช้ค่าฝุ่นรายชั่วโมงมาประกอบการทำกิจกรรมหลีกเลี่ยงช่วงที่ฝุ่นสูง ส่วน ห้องปลอดภัยสามารถใช้สเปรย์ไอน้ำ พัดลมดูดอากาศ ปิดหน้าต่าง ซึ่งเป็นห้องอย่างง่ายที่อาจทำได้เลย
5 ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหา ดูแลเด็ก ๆ ให้ปลอดภัยจากฝุ่น
ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล เสนอ ให้กระทรวงศึกษาธิการสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพให้อยู่ในบทเรียนตั้งแต่อนุบาลเป็นวิชาบังคับ ให้สอดแทรกอยู่ในหลักสูตร รวมถึงครู ครอบครัว และจะติดตามผลกระทบด้านสุขภาพของเด็ก ๆ ในพื้นที่ร่วมกับโรงพยาบาลลี้เป็นต้นแบบทำให้เห็นข้อมูลในเชิงประจักษ์
“ความยั่งยืนคือการปลูกฝัง ให้เขาดูแลตัวเองได้ เน้นการป้องกันสุขภาพ ไม่ใช่แคการใส่หน้ากากแต่รวมถึง อาหาร ออกกำลังกาย สิ่งแวดล้อม จิตใจ”
ผศ.นิอร สิริมงคลเลิศกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนาวิทยาเขตเชียงราย เสนอให้มีห้องเรียนสู้ฝุ่นทุกพื้นที่ ทุกโรงเรียน มีห้องปลอดภัยอย่างน้อย 1 ห้อง สอดคล้องกับ ว่าที่ ร.ต.ปฏิภาณ อินทเนตร ที่เห็นว่าควรทำให้หลักสูตรเปลี่ยนจากเสริมเป็นหลักสูตรหลัก กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
“โรงเรียนต้องการงบประมาณผลักดัน ถ้าอาศัยแค่เครือข่าย สสส. คงไม่ไหว ถ้ากระทรวงศึกษาฯ มีการบรรจุแผนปฏิบัติการ ผลักดันโรงเรียนแกนนำ เกิดความต่อเนื่องเห็นภาพชัดเจน รวมถึงโรงเรียนที่อยากแก้ไขปัญหานี้ด้วย”
ด้าน ดวงใจ ดวงทิพย์ เสนอ ให้เน้นไปที่โรงเรียน 9 จังหวัด ที่เป็นปัญหา เป็นพื้นที่เสี่ยงก่อนเพราะมีข้อมูลอยู่แล้ว ให้ความสำคัญเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม อื่น ๆ ด้วย เช่นเรื่องขยะ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เด็กสู่ชุมชน สอดคล้องกับข้อเสนอของ วิทยา ครองทรัพย์ เขาเห็นว่าควรเน้นเด็ก ๆ เป็นสื่อกลางเหมือนห้องเรียนสู้ฝุ่น ไปคุยกับผู้ปกครอง ส่วนการทำห้องปลอดฝุ่นเห็นว่าอาจใช้ต้นทุนสูง จึงเสนอให้ใช้หน้ากากอนามัยแทน “ทำหน้ากากง่าย ๆ ลดต้นทุน ซักได้” ด้านแพทย์แนะนำว่าการใช้หน้ากากอนามัย เด็กต่ำกว่า 2 ปี องค์การอนามัยโลก แนะนำว่าไม่ควรให้ใส่หน้ากาก เด็กเล็ก กลุ่มเสี่ยงก็พอ ที่สำคัญหน้ากากที่ดีต้องใส่แนบหน้า ใส่สบาย และควรเป็นหน้ากากที่มีวาล์วระบายอากาศออก
คืนอากาศสะอาดให้เด็ก ๆ ได้ใช้ชีวิตและมีพัฒนาการตามวัย
ภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานยุทธศาสตร์นโยบาย กระทรวงศึกษาธิการ มองเห็นโอกาสขยับให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ ครม. รัฐบาล ทุกกระทรวงและกรม ต้องให้ความสำคัญ เตรียมจะขยายให้เป็นรูปธรรม 8 จังหวัด
“เราจะกลับไปอธิบายให้นโยบาย กำกับสภาการศึกษาและต้องใส่ไว้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แต่ต้อง รอ พ.ร.บ. ออกกลางปีหน้า สิ่งที่ทำเลย คือ นัดกับเครือข่าย 100 โรงเรียน หรือมากกว่านั้น เชิญคนกลุ่มนี้ให้ข้อมูล ที่ส่วนกลาง อธิบายให้ฝ่ายบริหาร เลขา สพฐ. ที่มีอำนาจแอคชันเชื่อมไปให้ยั่งยืน จะทำให้มันเกิดขึ้น ทำให้เป็นวาระแห่งชาติ และจะประกาศเรื่องนี้ในวันเด็กแห่งชาติปีหน้า”
ภูมิสรรค์เพิ่มเติมว่า 3-4 ข้อเสนอจากเวทีเป็นเรื่องที่เคยหารือกับเครือข่ายคนที่ทำงานมาก่อนแล้ว เช่น หลักสูตรห้องเรียนปลอดฝุ่น ซึ่งทำออกมาดีมากเป็น Project-Based ที่จะไปสู่ฐานสมรรถนะ แต่การที่จะเป็นหลักสูตรหลักหรือไม่ เห็นว่าอาจใช้ในวิชาหลักที่สาระตรงกัน ที่สำคัญขึ้นอยู่กับวิธีการสอน ควรปรับเปลี่ยนตามท้องถิ่นหรือสภาพปัญหา และพร้อมที่จะเชื่อมโยงกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 9 จังหวัด รวมถึงผู้ว่ากรุงเทพมหานครในการผลักดันหลักสูตรนี้เช่นกัน
ส่วนห้องปลอดฝุ่น อาจใช้ห้องที่สามารถใช้ร่วมกันทั้งโรงเรียนได้ เช่น ห้องพละ เป็นต้น เพราะการทำทุกห้องอาจใช้งบประมาณสูง และคาดว่ารัฐบาลอาจต้องใช้งบฯ กับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 แต่เห็นตรงกันว่าควรเริ่มทำในพื้นที่ 9 จังหวัด เป็นต้นแบบและยกเป็นวาระแห่งชาติในการขับเคลื่อนเช่นกัน
ด้าน นคร อุนจะนำ สภาลมหายใจลำพูนและหอการค้าลำพูน ซึ่งเป็นหน่วยงานและเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ เห็นว่า ด้านงบประมาณในการขับเคลื่อนการทำห้องเรียนปลอดฝุ่น สามารถทำเรื่องเสนอไปยังนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้ เนื่องจากมีโรงงานอยู่จำนวนมากไม่ต่ำกว่า 100 บริษัท อาจทำในรูปแบบของ CSR และเตรียมนำเรื่องนี้หารือกับภาคเอกชน ในการสนับสนุนอาจใช้วิธีการจับคู่เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม
ข้อเสนอที่ได้จากการหารือของทุกฝ่ายครั้งนี้ มี 5 แนวทางที่จะเริ่มผลักดันและขับเคลื่อนต่อให้เกิดเป็นรูปธรรมเร่งด่วน ได้แก่ หลักสูตรการเรียนรู้เรื่องสุขภาพและหลักสูตรห้องเรียนสู้ฝุ่น การติดตามสุขภาพระยะยาว การป้องกันสุขภาพของเด็ก เช่น ห้องปลอดฝุ่น หน้ากากอนามัย การสนับสนุนงบฯ และสุดท้ายคือการจัดการปัญหากับแหล่งกำเนิด เพื่อที่จะคืนอากาศสะอาดให้เด็กได้ใช้ชีวิตตามวัย