เริ่มต้นศักราชใหม่ ปัญหาเดิม ๆ ที่ยังวนเวียนมากวนใจคนไทยทุกปี คงหนีไม่พ้น ปัญหาฝุ่น PM2.5 นั่นทำให้ตลอดช่วง ปี 2567 กลไกการแก้ปัญหาที่หลายฝ่ายมองว่ามีความจำเป็นต้องเร่งผลักดันอย่างเร่งด่วน คือ ร่างกฎหมายอากาศสะอาด ถูกจับตาอย่างมาก
ผ่านไป 1 ปีเต็ม ๆ หลัง ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ) ทั้ง 7 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมาธิการชุดใหญ่ และ อนุกรรมาธิการ 2 ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบคิด หลักการสำคัญ และโครงสร้างการบริหาร และ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาความรับผิดทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งประชุมกันไปแล้วเกือบ 200 ครั้ง
ก้าวเข้าสู่ปี 2568 แล้ว จากนี้ยังต้องรออีกนานไหม ? กว่าที่คนไทยจะมีความหวังกับมาตรการ กำกับ ควบคุม มลพิษจากต้นกำเนิด ยังมีอะไรที่ต้องจับตา The Active สรุปเส้นทางการทำงาน ความคืบหน้า มองไปถึงปัญหาอุปสรรคของการออกกฎหมายที่เชื่อกันว่า จะมีส่วนสำคัญช่วยให้คนไทยได้รับสิทธิหายใจด้วยอากาศสะอาด จริง ๆ สักที
1 ปี ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ อยู่ตรงไหน ?
17 มกราคม 2567 นับเป็นก้าวสำคัญ หลังที่ประชุม สภาฯ มีมติเอกฉันท์ 433 เสียง รับหลักการร่างกฎหมาย 7 ฉบับ ประกอบด้วย
- ร่าง พ.ร.บ. กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. เสนอโดย คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม (ประชาชน 22,251 รายชื่อ)
- ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. เสนอโดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ (พรรคเพื่อไทย)
- ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดย อนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ (พรรคภูมิใจไทย)
- ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. เสนอโดย สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) (รัฐบาล)
- ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. เสนอโดย ตรีนุช เทียนทอง และคณะ (พรรคพลังประชารัฐ)
- ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. …. เสนอโดย วทันยา บุนนาค และคณะ (พรรคประชาธิปัตย์)
- ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. .… เสนอโดย ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ และคณะ (พรรคก้าวไกล)
ต่อมาในการประชุม กมธ. ครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาฯ ทั้งหมด 39 คน เพื่อแปรญัตติ และลงรายละเอียดของเนื้อหา
อ่านเพิ่ม : พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
การประชุม กมธ.อากาสสะอาดฯ ในช่วงแรกมีขึ้นในทุก ๆ วันศุกร์ โดยแนวทางการพิจารณาร่างกฎหมาย จะยึดร่างของรัฐบาลเป็นหลักและมีการพิจารณารายมาตรา โดย กมธ. จะร่วมแปรญัติลงรายละเอียดซึ่งจะเป็นการประกอบร่างกฎหมายทุกฉบับเข้าด้วยกัน เพื่อให้มีความรอบรอบ รักกุม และเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
16 กุมภาพันธ์ 2567 มติแต่งตั้ง อนุกรรมาธิการพิจารณากรอบหลักคิด หลักการสำคัญและโครงสร้างการบริหารโครงสร้าง ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ โดยมี บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เป็นประธาน หน้าที่สำคัญ คือ พิจารณาโครงร่างหลักการของกฎหมาย ในแต่ละหมวดและมาตรา โดยเน้นให้เป็นไปตามหลักการสำคัญที่ทุกฝ่ายตกลงร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกฎหมายนี้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งในมิติของสิทธิ และการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ อย่างบูรณาการ รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจากคณะกรรมาธิการชุดใหญ่
20 กุมภาพันธ์ 2567 โลกออนไลน์ แชร์คลิปนักเรียน จ.ลพบุรี วิ่งหนีควันจากการเผาอ้อยใกล้โรงเรียน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ กมธ. กำลังเดินหน้า พิจารณากฎหมาย เหตุการณ์นี้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับมาตรการแก้ปัญหา โดย จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธาน กมธ. ชี้ว่า หากมีกฎหมายนี้ “ภาษีบาป” จะ “จัดการผู้ก่อมลพิษ”
อ่านเพิ่ม :
- เด็กวิ่งหนีควันเผาอ้อย ตอกย้ำทำไมต้องมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด
- เชื่อ ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ บีบคนไม่กล้าเผา ฝ่าฝืนโดนเก็บภาษีบาป
จากนั้น 24 พฤษภาคม 2567 ภาคประชาสังคมที่ติดตามการทำงานของ กมธ. มีความกังวล ต่อบทบาทของที่ปรึกษา กมธ. ที่มาจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงการคัดค้านการจัดตั้ง “กองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” ที่ต้องจัดเก็บรายได้เข้าสู่กองทุนนำไปใช้ในการบริหารจัดการอากาศสะอาดให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม
31 พฤษภาคม 2567 ประธาน กมธ. อากาศสะอาดฯ ได้รับทราบข้อเรียกร้อง พร้อมเชิญตัวแทนภาคประชาชนมารับฟังข้อมูล โดย ประธาน กมธ. ย้ำว่า พร้อมรับฟังเสียงทุกฝ่าย และให้ความสำคัญ 7 ร่างกฎหมายอากาศสะอาดฯ เท่ากัน
อ่านเพิ่ม :
- กังวลกลุ่มทุน แทรกแซง กมธ. ค้านตั้ง ‘กองทุนอากาศสะอาด’
- ‘จักรพล’ ยืนยัน ฟังเสียงทุกฝ่าย ให้ความสำคัญ 7 ร่าง กม.อากาศสะอาดฯ เท่ากัน
14 มิถุนายน 2567 กมธ. มติแต่งตั้ง คณะอนุกรรมาธิการอีกชุด คือ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาความรับผิดทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย โดยมี รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม เป็นประธาน ที่จะศึกษาดูแลในส่วนของ การกำหนดความรับผิดทางกฎหมาย โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายใน 2 มิติ คือ มลพิษจากแหล่งกำเนิดภายในประเทศ และ มลพิษข้ามแดน
โดยได้วางมาตรการให้มีการกำหนดผู้รับผิดชอบชัดเจนครอบคลุมตั้งแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง แหล่งกำเนิดมลพิษ รวมถึงขยายขอบเขตความเสียหายให้ครอบคลุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ และเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังได้วางแนวทางในการลดภาระการพิสูจน์ของผู้เสียหาย รวมถึงกำหนด ให้ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดทั้งในส่วนของการชดใช้ค่าเสียหายและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
5 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมครั้งที่ 22 กมธ. มีมติเพิ่มเติม โดยระบุ หน้าที่ของรัฐ ในมาตรา 9 โดย “ให้รัฐเคารพ ปกป้อง ทำให้สิทธิในอากาศสะอาดเกิดขึ้นจริง”
ต่อมา 19 กรกฎาคม 2567 การประชุมครั้งที่ 24 กมธ. มีมติเห็นชอบแก้ไข มาตรา 10 ให้มี คณะกรรมการนโยบายร่วมเพื่ออากาศสะอาด ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
14 สิงหาคม 2567 The Active สัมภาษณ์พิเศษ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ถึง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ระบุว่า อยากให้มีการกระจายอำนาจ และงบประมาณ แก้ฝุ่น PM 2.5 สู่ท้องถิ่น โดยสะท้อนว่าการควบคุมมลพิษจากการขนส่ง ทำได้ยาก เพราะท้องถิ่นไม่มีอำนาจ
อ่านเพิ่ม : ‘ชัชชาติ’ อยากเห็น กม.อากาศสะอาดฯ กระจายอำนาจและงบฯ แก้ฝุ่นสู่ท้องถิ่น
16 สิงหาคม 2567 ในการประชุมครั้งที่ 28 อนุกรรมาธิการพิจารณากรอบหลักคิด หลักการสำคัญและโครงสร้างการบริหารโครงสร้างอากาศสะอาด ได้เสนอกรอบโครงสร้างกฎหมายกำหนดแก้ฝุ่นจากแหล่งกำเนิด 6 ภาค ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม, ภาคป่าไม้, ภาคอุตสาหกรรม, ภาคคมนาคม, ภาคฝุ่นควันข้ามแดน และภาคเมือง พร้อมกำหนดเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการปัญหา
อ่านเพิ่ม: เปิดโครงสร้าง ‘บ้านหลังใหม่’ จัดการอากาศสะอาด
8 กันยายน 2567 เครือข่ายอากาศสะอาด Thailand Can จัดงาน “วันอากาศสะอาดโลก” Unmask the Future ที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ เนื่องในวันอากาศสะอาดโลก ตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น วันอากาศสะอาดสากล หรือ International day of clean air หวังกระตุ้นสังคมภาครัฐเห็นความสำคัญอากาศสะอาดในทุกมิติ โดยมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมจัดนิทรรศกาล กิจกรรม ร้อยเรียงเรื่องราวสู่อนาคต เพื่อให้ทุกคนมีอากาศที่ดี
รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย และรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ย้ำว่า การจัดงานครั้งนี้เนื่องจากต้องการให้เกิดความตื่นรู้ในประชาชน และอัพเดทให้เห็นว่ากระบวนการของการมีอากาศสะอาดอยู่ในการจับตามองของภาคประชาชน ซึ่งคนที่ทำร่างกฎหมายต้องตระหนักรู้ด้วยเช่นกันว่าประชาชนรออยู่และพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไร นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงออกถึง “พลังของพลเมือง” ว่าเขามีความเข้าใจในประเด็นเรื่องอากาศสะอาดมิติต่าง ๆ อย่างไร และจะสะท้อนไปถึงว่ามิติต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถ ไปปรากฏอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ได้หรือไม่
อ่านเพิ่ม : ชวนพลเมืองตื่นรู้! ‘อากาศสะอาด’ เพื่ออนาคตลมหายใจ ไม่จำเป็นต้องรอกฎหมาย
30 ตุลาคม 2567 กมธ. อากาศสะอาดฯ รายงานความคืบหน้าในการพิจารณากฎหมาย หลังจากผ่านสภาวาระหนึ่ง และเริ่มทำการศึกษาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 หลังจากการศึกษา รวม 7 ฉบับ ทั้งของ ครม. พรรคการเมือง และฉบับประชาชน เป็นร่างเดียว เตรียมเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นกลางเดือนธันวาคม 2567 ย้ำกฎหมายนี้เป็นการตอกหมุดครั้งใหญ่ จัดการผู้ก่อมลพิษ
อ่านเพิ่ม:
- ‘กฎหมายอากาศสะอาดฯ’ เตรียมเข้าสภาฯ วาระ 2 ปลาย ธ.ค. นี้ คาดประกาศใช้ ปี 68
- นับถอยหลังร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด คาดประกาศใช้ปี 68
11 พฤศจิกายน 2567 ประชุมครั้งที่ 40 กมธ. ได้มีการพิจารณา หมวด 6 เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ถกเข้ม “เก็บภาษี ค่าธรรมเนียม” ผู้ก่อมลพิษ กมธ. เผย กังวล วาระ 2 “ถูกถอดเขี้ยวเล็บ” วอนยึด ประชาชนเป็นที่ตั้ง
อ่านเพิ่ม : โค้งสุดท้าย กม.อากาศสะอาดฯ ลุย “เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์” จัดการผู้ก่อฝุ่น
12 ธันวาคม 2567 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลงาน 3 เดือนและมอบนโยบาย ปี 2568 ระบุถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 การลดพื้นที่การเผา ควบคุมสินค้าที่มาจากการเผา แต่กลับลืม พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ซึ่งภายหลังจากการแถลงข่าวมีการเปิดเผยรายละเอียดถ้อยคำแถลงต่อสาธารณะ ซึ่งมีการระบุเกี่ยวกับการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่กลับพบว่าในเวทีแถลงไม่ได้กล่าวถึงแต่อย่างใด
อ่านเพิ่ม : ติง นายกฯ โชว์ผลงาน จัดการ ‘ภัยพิบัติ-ฝุ่น’ ยังไม่ตรงจุด ลืม พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อการพิจารณาของ กมธ. เสร็จสมบูรณ์ทุกมาตรา จะมีการเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์รัฐสภา โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2568 และจะเสนอร่างกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อทำการลงมติในวาระ 2 และ 3 ต่อไป จากนั้นจะนำร่างกฎหมายส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาวาระ 1-3 หากขึ้นตอนทั้งหมดเสร็จสิ้น จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
‘กฎหมายอากาศสะอาดฯ’ ปี 2568 คนไทยจะได้เห็นอะไร ?
รศ.คนึงนิจ ยอมรับว่า จากการทำงานมาตลอด 1 ปี ยืนยันว่า กฎหมายไม่ล่าช้า เนื่องจากเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต้องใช้ ความรอบคอบ โดยเกือบ 1 ปีที่กฎหมายเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ในชั้น กมธ. มีความคืบหน้าในการรวมร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ เป็นร่างที่ 8 ซึ่งขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จ และมีความคืบหน้าไปแล้ว 90 % ส่วนอีก 10 % เป็นการปรับทบทวนบางประเด็น เช่น เรื่องกองทุนอากาศสะอาดฯ เรื่องความรับผิดทางแพ่ง อาญา ปรับทางพินัย แต่ยังไม่เสร็จพร้อมส่งกลับสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากต้องทวนถึงความสอดคล้อง เรื่องบทนิยาม บทเฉพาะกาล ความสอดคล้องระหว่างหมวดต่าง ๆ ทั้งฉบับ ซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อความรอบคอบและความถูกต้อง คาดว่าจะเสนอกลับไปได้อย่างเร็วสุดก็คือ กุมภาพันธ์ หรืออย่างช้าต้องไม่เกิน มีนาคม 2568
เมื่อถามว่า 1 ปีในชั้น กมธ. สำหรับกฎหมายฉบับนี้ถือว่านานหรือไม่ ? รศ.คนึงนิจ ยืนยันว่า ไม่ช้า และอาจจะเร็วจนน่ากลัวว่า “จะถูกคว่ำหรือไม่” และปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาโครงสร้างที่ซับซ้อน
“เราไม่มีวันรู้เลยว่าระหว่างทาง ใครจะเห็นแย้ง เห็นต่างอะไร ให้มันชักช้า จนกระทั่งปิดสมัยประชุม ต้นเมษายน แล้วมันต้องทอดยาวไปกว่านั้นไหม เพราะปิดประชุมสมัยหน้าก็จะ 2 เดือน มันก็จะล่าช้าไหม อยู่ที่นักการเมืองแล้วล่ะ กรรมาธิการก็ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว เนื้อหาก็สุด ๆ ”
รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม
นิศานาถ รัตนนาคินทร์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. บอกว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ เป็นเครื่องมือที่มีมาเพื่อใช้ดูแลปกป้องประชาชนทั้งประเทศ มนุษย์ทุกคนต้องหายใจและต้องการอากาศที่สะอาดและชีวิตที่ดีขึ้นจากสภาพที่เราต้องจำทนจำยอมมาตลอด ซึ่ง การทำงานใน กมธ. เริ่มต้นด้วยความต้องสร้างความเข้าใจ เพราะจาก 7 ร่าง ที่เข้ามา มีเบื้องหลังภูมิหลังความรู้ที่แตกต่างกัน ในส่วนของภาคประชาชนเราก็ได้มีความร่วมมือจากทั้งคุณหมอ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
“ในปีใหม่นี้ เป็นปีที่ 8 ที่ภาคประชาชนเราทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้มา จากการศึกษาเอกสาร หลักฐาน งานวิจัย และข้อมูลทั้งหมด รวมถึงกฎหมายจากต่างประเทศ อย่าง สิงคโปร์ ยุโรป สหรัฐอเมริกา ล้วนแต่เป็นข้อมูลความรู้ที่สำคัญ ที่เราจะมาทำให้บ้านเราดีขึ้น”
นิศานาถ รัตนนาคินทร์
สำหรับกฎหมายฉบับนี้ จะเริ่มตั้งแต่เรื่องของ สิทธิในการที่จะมีอากาศสะอาด กระบวนการมีส่วนร่วม ของภาคประชาชน กลไกเครื่องมือสำคัญทางด้านเศรษฐศาสตร์และกองทุน ซึ่งเป็นส่วนที่มีอยู่ในร่างของพภาคประชาชน และได้มีการรวมร่างมาเป็นฉบับที่ 8 ซึ่ง กมธ.ต้องทำความเข้าใจให้ตกผลึก ซึ่งมีความยากพอสมควร
“มันก็จะมีข้อคําถาม ข้อแย้งอะไรเยอะ เราก็ต้องใช้ทั้งหมดมาอธิบายว่า เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เราไม่ได้ใช้ One for all เราไม่ได้ใช้หนึ่งเครื่องมือสำหรับคนทุกคน และเราไม่ได้ใช้เครื่องมือ 20 เครื่องมือสำหรับคนหนึ่งคน เรามี Specific การดูแลและวิเคราะห์ว่า ตรงนี้ต้องใช้อะไร แต่ถ้าคนที่ไม่ได้ติดตามอาจไม่เข้าใจ จะตกใจ นึกว่าออกมาตรการหลายอย่างมาใช้กับเขาคนเดียวอันนี้ต้องบอกว่าไม่ใช่”
นิศานาถ รัตนนาคินทร์
ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. คนที่ 6 ย้ำว่า กรรมาธิการชุดนี้ทั้งฝั่งพรรคการเมือง และฝั่งภาคประชาชนทำงานร่วมกันด้วยความทุ่มเท เสียสละ และลงรายละเอียดจนถือว่าเป็นต้นแบบของการร่างกฎหมาย โดยฝ่ายของภาคประชาชนมีทั้งผู้ที่เชี่ยวชาญและมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ ส่วนฝ่ายการเมืองก็ให้ความสนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องของความเป็นไปได้จะได้ไม่ติดขัดในเมื่อเข้าสภาฯ หรือวุฒิสภา ซึ่งในแต่ละมาตรา มีความคิดครบถ้วน เพื่อให้บังคับใช้ได้ ที่สำคัญคือ คิดถึงผลกระทบประชาชน ผู้ประกอบการ ต่างประเทศ
“มันเป็นกฎหมายที่ยิ่งทำยิ่งสนุก แต่ต้องใช้พลังเยอะ เพราะหนึ่งปีมานี่ประชุมกันเยอะมาก แต่ทุกคนทุ่มเท สำหรับผม โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก็ถือว่าได้ให้ข้อมูล และนําเสนอกรรมาธิการด้วยความภาคภูมิใจ ก็ถือว่าเราเป็นหนึ่งในเจ้าของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ด้วย ก็อยากให้เสร็จแล้วก็ ได้มีการรับรองประกาศใช้โดยเร็วนะครับ”
ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
และ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ….
รศ.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. บอกว่า 1 ปีผ่านมา กมธ. ทำงานกันอย่างหนักแน่น จากที่มีการประชุมทุก ๆ วันศุกร์ ก็มีการขยานเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 วัน รวมไปถึงคณะอนุกรรมาธิการที่ประชุมอีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทำงานกันอย่างเข้มข้น
ส่วนอากาศสะอาดจะเป็นของขวัญปีใหม่หรือไม่นั้น รศ.วิษณุ ยอมรับว่า อาจจะไม่ใช่ช่วงปีใหม่ เพราะคาดว่าตัวร่างกฎหมาย จะเสร็จประมาณช่วงกุมภาพันธ์ หรือ มีนาคม
“ช่วงเปิดสมัยประชุม ที่เราคิดไว้ก็คือในการดันเข้าไปในช่วงนี้ ที่เป็นช่วงที่มีสถานการณ์ฝุ่น ก็น่าจะได้รับความความช่วยเหลือ หรือเสียงสนับสนุนจากทางผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย เราก็อยากจะดันให้มันผ่าน เราก็มีความกังวลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเช่นกันว่าของวันปีใหม่ เราส่งร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าทางสภาผู้แทนราษฎร แต่ขั้นตอนมันก็ยังไม่ได้จบ ในเนื้อหาต่าง ๆ ที่เราเสนอมันก็อาจจะถูกดึงออก หรืออาจจะถูกดัดแปลงแก้ไขต่อ ซึ่งก็เป็นความคิดเห็นที่จะมาถกกันในสภาผู้แทนราษฎร แล้วหลังจากเสร็จนี่ก็ต้องส่งไปที่สภาวุฒิสภา เพื่อที่จะกลั่นกรองอีกรอบหนึ่ง เพราะระหว่างขั้นตอนตรงนี้ ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าสาระสำคัญที่เราอยากจะให้ใส่เข้าไป เช่น กองทุนอากาศสะอาด หรือเครื่องมืออากาศสะอาด จะยังอยู่ในรูปแบบเดิมไหม หรือมันจะถูกถอดออก”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
รศ.วิษณุ ยังย้ำถึงข้อกังวลในประเด็นเรื่องของผู้เสียประโยชน์ ที่อาจจะพยายามล็อบบี้ ให้มาตรการต่าง ๆ ในกฎหมายเกิดขึ้นได้ยาก และสิ่งหนึ่งที่อยากสื่อสาร คือ นอกจากการทำงานอย่างเข้มข้น คือการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกฎหมายออกแบบในรูปแบบที่เป็นนวัตกรรม เครื่องมือต่าง ๆ เช่น เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เป็นอะไรที่กฎหมายไทยยังไม่เคยใช้มาก่อน เพราะฉะนั้นความรู้ความเข้าใจของหน่วยงาน ภาคการเมือง ข้าราชการ อาจจะยังไม่เข้าใจเครื่องมือเหล่านี้ และการจะก้าวข้ามกรอบเดิมมาสู่กรอบใหม่ต้องใช้วิธีการสื่อสารทำความเข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมาพยายามให้ความรู้ในเชิงวิชาการ เพื่ออธิบายว่ามาตรการนี้มีข้อดีอย่างไร แก้ไขได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน
ขณะที่ บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการและประธานอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบแนวคิด หลักการสำคัญ และโครงสร้างการบริหารจัดการ ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ระบุว่า กมธ. คาดหวัง ตั้งใจให้เสร็จทันปิดสมัยประชุมช่วงต้นเดือนเมษายน 2568 ขณะเดียวกันได้เตรียมกฎหมายลำดับรองที่จะต้องทยอยออกมา หลัง พ.ร.บ.อากาศสะอาดบังคับใช้ นอกจากนี้ยังมีการทำงานในระดับพื้นที่เป้าหมาย โดยเริ่มที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งเป็นโครงการที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุน เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพในพื้นที่ ด้วยกฎกติการะดับจังหวัด เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในปี 2568 ซึ่งเป็นการนำเอาสิ่งที่กฎหมายมีไปใช้งานในพื้นที่ที่มีความจำเป็นอันดับต้น ๆ ก่อน
“อย่างที่ จ.เชียงใหม่ ทำได้ดี จากนี้จะทำงานใน 7 จังหวัด อย่างที่ ม.เชียงใหม่ มีความเข้มแข็งในการออกแบบเครื่องมือทำงานกับชุมชน ซึ่งจะขยายโมเดลลักษณะนี้ไปยังพื้นที่ 7 จังหวัดที่เหลือ โดยเลือก จ.ที่เร่งด่วนในการแก้ปัญหา เช่น ที่ จ.แม่ฮ่องสอน”
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ….
สอดคล้องกับ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. บอกว่า ในปี 2568 ร่างกฎหมายจะต้องออกจากห้อง กมธ. เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภาฯ ซึ่งความความหวัง คือเข้าสภาฯ ทันในสมัยประชุมนี้ แต่เมื่อเข้าสู่สภาฯ แล้วจะออกมาเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับกระบวนการในรัฐสภา ขณะเดียวกันก็จะมีสิ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกัน คือ ทีมเครือข่ายอากาศสะอาด จะทำในงานที่เรียกว่า อากาศสะอาดศึกษาเพื่อเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมให้เข้าใจ ทำไมจะต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาทางอากาศสะอาด ซึ่งกระบวนการอากาศสะอาดศึกษาเป็นการสื่อสารทางสังคมที่ต้องอาศัยเครือข่ายในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน
“เพื่อจะเรียกว่าเป็นแรงจากนอกสภาฯ ให้แต่ละเรื่องที่เขามีความมั่นใจว่าจะตัดมันออก มันสำคัญอย่างไร เพราะฉะนั้นในปี 2568 นั้นสิ่งที่จะได้เห็นก็คือการเคลื่อนไหวสังคมภายนอก นอกจากกระบวนการในสภาฯ การเคลื่อนไหวในสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจ แล้วก็สร้างการเรียกร้องของประชาชนที่จะให้กฎหมายที่ออกมามีองค์ประกอบที่เพียงพอสำหรับการจัดการอากาศ”
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท
นพ.วิรุฬ ยังกล่าวถึง สิ่งที่จะเห็นในกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ จะมีอยู่หลายจุด ตั้งแต่แนวคิดของกฎหมายที่จะเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพมาประกอบกัน โดยเงื่อนไขกฎหมายคือ เป็นเครื่องมมือการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ส่วนที่สอง คือ สิทธิและมาตรฐาน สิทธิที่จะรู้ของประชาชน ทำให้มีมาตรฐานสองประเภท ประเภทหนึ่ง คือ มาตรฐานเพื่อสุขภาพของประชาชน ที่มีหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดกว่ามาตรฐานอีกชุดที่เรียกว่า มาตรฐานเพื่อสวัสดิภาพที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ให้กับการทำธุรกิจการทำอุตสาหกรรม
“จากเดิมเรามองแต่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก เกี่ยวกับสุขภาพเป็นรอง ตอนนี้มีความสำคัญเท่ากัน อีกส่วนก็คือ เรื่องเกี่ยวกับกองทุน ซึ่งกำลังศึกษาว่าเงินกองทุนที่จะใช้ในด้านสุขภาพ ทั้งด้านการป้องกัน การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา เพื่อให้สามารถป้องกันสุขภาพของประชาชนได้ดีขึ้นตัวอย่างที่เราเห็นชัดเจน เรื่องของกองทุนต่างประเทศในสหรัฐอเมริกาในด้านสิ่งแวดล้อม เขาให้ทุนวิจัยต่อเนื่องประมาณเกือบ 20 ปี จนค้นพบว่า PM2.5 เป็นมลพิษที่สร้างที่ส่งผลกระทบสุขภาพของประชาชน เพราะฉะนั้น ณ ปัจจุบันถ้าเรามีการศึกษาวิจัย ติดตามปัญหา เราอาจจะค้นพบว่าสิ่งที่อยู่ในอากาศยังไม่สะอาด นอกจาก PM 2.5 มันจะมีอย่างอื่นที่เราจะต้องรับมือ ปกป้องประชาชนมากขึ้น”
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท
ถึงตรงนี้ ถ้านับเฉพาะคำยืนยันของกรรมาธิการฯ ต่างก็ตั้งเป้าไปในทิศทางตรงกันว่า จะเห็นความหน้าของร่างกฎหมายอากาศสะอาด ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2568 แต่จะเป็นไปตามที่กรรมาธิการฯ คาดหวังไว้หรือไม่ ? คงต้องขึ้นอยู่กับภาคการเมืองแล้วว่า จะแสดงความจริงใจ มีส่วนร่วมผลักดันกลไก เพื่อทำให้คนไทยเข้าถึงสิทธิการได้หายใจด้วยอากาศสะอาด แค่ไหน…?