สำนึกเห็นอกเห็นใจ รับรู้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย(ส.ส.ท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้เพื่อต่อยอดจากงานวิจัยนในการสื่อสารสู่สังคมในหลากหลายรูปแบบ โดยครอบคลุมความเหลื่อมล้ำในทุกมิติอาทิ “เวทีคนจนเมือง” “เวทีปลดล็อคความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” “เวทีคนไร้สถานะ” “เวทีคนพิการยากจน” และ”เวทีผู้สูงอายุโดดเดี่ยว”
ศ. ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวสรุปงานเสวนา “เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ“ โดยชี้ให้เห็นว่า การเสวนาตลอดทั้งวันใน 5 ประเด็น คนจนเมือง คนแก่ คนพิการ เด็กหลุดออกจากระบบ และ คนไร้รัฐไร้สถานะ ล้วนเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันหมด หากมองแยกจากกันจะไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่กระทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงได้ นั่นก็คือโครงสร้างอำนาจรัฐ โครงสร้างเศรษฐกิจ และความคิดความรู้สึกของคนในสังคม ซึ่งเป็นโครงสร้างอำนาจทั้งสามที่บิดเบี้ยว
การปรับแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง สังคมจำเป็นต้องสร้าง Social Empathy สำนึกของความเห็นอกเห็นใจรับรู้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทำอยู่ เพื่อสร้างกระบวนการความหวังของสังคม ซึ่งจะมีโอกาสเปลี่ยนรัฐ และเกิดสำนึกความเกี่ยวข้อง เกิดความเข้าอกเข้าใจในเชิงสังคมไทยได้
“ปรับแก้โครงสร้างอำนาจรัฐ เปิดช่องเศรษฐกิจที่กดทับ เปิดช่องให้คนที่ถูกจัดลำดับไร้ศักยภาพ ส่งต่อข้อมูลที่ถูกกดทับไปยังสังคมไทย ชนชั้นกลาง สร้างความเห็นอกเห็นใจเชิงสังคมว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหาในระดับปัจเจก แต่มีกระบวนการกีดกัน จำกัดวง ทำให้คนอ่อนแอ การทำให้ปัญหานี้เป็นแค่เรื่องชะตากรรมขยับไม่ได้ สังคมไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว หากรัฐไม่เปลี่ยน จะนำมาสู่ภาวะตึงเครียด”
สำหรับ งานเปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ ในช่วง เวทีเสวนาเรื่อง ผู้สูงอายุ ศ. วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าสังคมสูงวัย มีความเหลื่อมล้ำ จาก 13 ปัจจัย เช่น ความแตกต่างเรื่องเพศ แบกกราวน์ชีวิต, การเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยหนุ่มสาว-การทำงานแตกต่างกัน, เงินออม-เงินลงทุนต่างๆ ถัดมา คือ เรื่องของรายได้จากลูกหลาน, เงินออมจากภาครัฐ ประเด็นสุดท้ายคือ สินทรัพย์หนี้สิน การลงทุนในอดีต, ความเจ็บป่วยภาวะพึ่งพิง
นอกจากนี้ยังมีความต่างกันของการเข้าถึงข้อมูลสาธารณสนเทศ, สภาพถิ่นที่อยู่อาศัย, การบริหารราชการแผ่นดินในท้องที่นั้น สังคมสูงวัยมีระบบบำนาญการดูแลระยะยาว เมื่อตกอยู่ในภาวะพึ่งพิง และสุดท้ายเกี่ยวกับ บทบาทรัฐ คือ บริการสาธารณะ เช่น การพัฒนาผู้สูงอายุ การฝึกอาชีพฝีมือแรงงาน รวมถึง อาชีพบริการทางสังคม ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคม ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่แตกต่างกัน
5 ประเด็นสำคัญของการแก้ปัญหาเหล่านี้ คือ
- ระบบการคุ้มครองทางสังคมของประเทศ เช่น การออม บำนาญชราภาพ การดูแลผู้สูงอายุที่ตกอยู่ในภาวะพึ่งพิง ระบบเหล่านี้รัฐบาลหลายชุดเตรียมงานเรื่องนี้ไว้ แต่คำถาม คือ มีพลังพอไหม ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุดีขึ้นมาได้
- ระบบการคลังท้องถิ่น พื้นที่ ที่ผ่านมากรมการปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทขับเคลื่อนมากขึ้น เช่น การมี พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ บางอย่างมีการถ่ายโอนภารกิจจกรัฐบาลกลาง ไปสู่ ท้องถิ่น และปล่อยให้ท้องถิ่นทำ อบจ. อบต. ร่วมกันทำเพื่อผู้สูงอายุ โดยในอนาคต เราไม่เลี่ยงการใช้ระบบการคลังท้องถิ่นได้ เป็นคำถามต่อว่า ระบบการบริหารจัดการมีความพร้อมหรือไม่
- เราต้องมองในมุมใหม่ ต้องพึ่งพาพลัง “Active Aging กระบวนการ สู่ สูงวัยที่ประสบความสำเร็จ” ให้ผู้สูงวัยไม่เข้าสู่ภาวะพึ่งพิงเร็วจนเกินไป เช่น การฝึกอาชีพ ทักษะฝึมือ อย่างในเกาหลี ญี่ปุ่น ระบบบริการที่จำเป็น
- ต้องมีเงินสนับสนุนการดูแลผู้สูงวัย การใช้ระบบประกันสังคม วิธีการหาเงิน ไฟแนนซิ่งที่ต้องมาดูแลสังคมสูงวัย รัฐปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องหาเงินมาทำสิ่งเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- การมองปัญหาเชิงระบบ คือ ตลาดแรงงาน ซึ่งเราพยายามจะส่งเสริมผู้สูงอายุ แต่ค่อนช้างทำได้อย่างจำกัด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการประกอบอาชีพอิสระ ส่วนหนึ่งมาจากตลาดแรงงาน ปรับตัว ในเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุอาจจะผลักดันได้ยาก
ต้องไม่ลืมว่าสังคมสูงวัยมีหลากหลาย รัฐต้องเตรียมรองรับความหลากหลาย จึงจำเป็นต้องมีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรัฐ
รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน สถาบันวิจัยประชากร และสงคมมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้สูงอายุโดดเดี่ยว มีหลายมิติ ในทางวิชาการ นักประชากร มองว่า โดดเดี่ยว คือการอยู่อาศัย แต่อย่างไรก็ตามการที่อาศัยกับคนอื่นยังรู้สึกโดดเดี่ยวได้เช่นกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ตามคนเดียว จะนิยามผู้สูงอายุกลุ่มนี้ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง
เพราะพออยู่คนเดียวแล้วแน่นอนว่า ไม่มีคนดูแล ต้องมองไปข้าง ๆ ว่า ลูกหลานอยู่ไหน ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวแล้วลูกหลานอยู่ใกล้หรือไม่ หรือ อยู่คนเดียวโดยไร้ญาติขาดมิตร ถ้าลงในพื้นที่จะ พบว่า ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวหลักๆ คือ การเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล รู้สึกเหงา เศร้า โดดเดี่ยว ลงพื้นที่ไปก็พบว่า จริง ๆ แล้วไม่ได้อยากอยู่คนเดียว สาเหตุที่ต้องอยู่คนเดียวเกิดได้ทั้งในเมืองและชนบท เพราะลูกหลานย้ายไปสร้างครอบครัวใหม่
ที่สำคัญ สภาพความเป็นเมือง เทียบชนบท ถูกแวดล้อมไปด้วย สภาพตัวใคร ตัวมัน หรือ ลักษณะของคนโดมีเนียม การจะไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นยากเข้าไปอีก ในเมืองจึงเหลื่อมล้ำมากกว่า ความโดดเดี่ยว ยังหมายถึงการเข้าถึงบริการต่างๆ ยิ่งผู้สูงอายุที่ไม่สามารถจะไปได้เพราะไม่มีคนพาไป เราน่าจะมีระบบอะไรก็แล้วแต่ ในการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะน่าจะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น
ถ้าเราต้องการศึกษาผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว กลุ่มคนผู้สูงอายุจะถูกมองภาพรวม ไม่โฟกัสคนสูงวัยที่เหลื่อมล้ำ มุมมองของผู้สูงอายุ ตกหล่น และไม่ถูกรวมว่าต้องเฝ้าระวัง เราจะต้องถามว่าเขาต้องการอะไร บางคนอยากที่จะหาคนคุยด้วย บางคนอยากให้ทำความสะอาดบ้าน เนื่องจากว่าผู้สูงอายุแต่ละคนมีความต่างกัน กว่าจะเข้าถึงใจผู้สูงอายุ กว่าจะยอมรับและเข้าใจได้ว่าทำอะไร การดำรงชีวิต เป็นสิ่งหนึ่งที่เชิงระบบการดูแลช่วยเหลือจะทำเป็นลักษณะบูรณาการให้ครบวงจรได้ไหม
การมีระบบการดูแลในชุมชน ระบบเพื่อนบ้าน มีความสำคัญเช่นเดียวกัน การดูแลโดยชุมชน ชุมชนทุกคนต้องช่วยเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับตัวผู้สูงอายุ มีผู้นำประจำซอย คอยช่วยดูแลในแต่ละยูนิต แต่ละซอย ไม่ได้เป็นภาพใหญ่จนเกินไป ดำเนินการจัดการได้ง่ายขึ้น เราใช้คนในชุมชน ระบบอาสาสมัคร พอเรามองสังคมสูงวัย เราต้องมองคนกลุ่มอื่นด้วย วัยแรงงานบางกลุ่มกลับบ้าน เราต้องพยายามลองดูว่ามีงานตรงไหนที่ช่วยรองรับ มีวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจสูงวัยให้เข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ ตอบโจทย์โดยชุมชน ใช้คนรุ่นใหม่ให้เป็นประโยชน์
ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า มีสัดส่วนคนจนเมืองในกรุงเทพฯ ประมาณร้อยละ 20 คนไม่มีเงินซื้อบ้านมากขึ้น คนเช่ามากขึ้น คนที่ประกอบอาชีพหาบเร่แผงลอย ทำมาหากินยากขึ้น เนื่องจากนโยบายการจัดการเมืองมีความยืดหยุ่นน้อยลง ตั้งแต่ ปี 2557 ทุกวันนี้คนจนเมืองใช้ชีวิตอยู่ได้เพราะอยู่ใกล้แหล่งงาน ซึ่งยอมแลกกับคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
“ทำให้ต้นทุนที่อยู่อาศัยถูกลงและได้อยู่ใกล้แหล่งงาน มองให้ครอบคลุมคนเช่าบ้านที่เพิ่มมากขึ้น”
ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า เข้าใจและมองเห็นปัญหาของคนจนเมืองหลายนโยบายพยายามที่จะช่วยลดภาระต้นทุนของการใช้ชีวิต และสร้างโอกาส แต่หลายเรื่องยอมรับว่า กทม. ไม่มีอำนาจ เป็นเพียงผู้ประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก 40-50 ปีที่ผ่านมา แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ถดถอย ซึ่งเกิดจากสองปัจจัย คือ เทคโนโลยีและโลกาภิวัฒน์ ที่ยิ่งเพิ่มการผูกขาดของธุรกิจข้ามชาติ และในประเทศ การต่อรองของอำนาจทุนเปลี่ยนแปลงไป แรงงานถูกลดบทบาท นายทุนมีโอกาสวิ่งไปหาแรงงานที่ถูกกว่า ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ลดสัดส่วนแรงงาน แข่งขันกันลดภาษีเพื่อหนุนการลงทุน สังคมสูงวัยจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเหลื่อมล้ำ อายุ40 จะเริ่มเข้าสู่วัยเกษียณไม่มีเงินออม โลกร้อนซ้ำเติมส่งผลกระทบภาคการเกษตร ไม่มีกำลังในการประกันภัย
วงจรของคนแต่ละคน มี สองปัจจัยพื้นฐานคือ เรื่องสุขภาพ การศึกษา ตัวนี้จะกำหนดการประกอบอาชีพนำมาสู่รายได้ รายได้หักรายจ่ายกลายเป็นความมั่งคั่ง แต่รายได้ไม่สะท้อนความเหลื่อมล้ำแต่ความมั่งคั่ง ที่แตกต่างกันจึงทำให้คนที่มีมากต่างกับคนที่ไม่มี
“รายได้ไม่ได้สะท้อนความเหลื่อมล้ำ แต่ความมั่งคั่งต่างหาก ยิ่งการแข่งขันไม่เป็นธรรม เริ่มต้นไม่เท่ากัน การศึกษา อาชีพ รายได้ สุขภาพก็ไม่เท่ากัน เสนอให้เปลี่ยนตัวชี้วัดการพัฒนา เพราะจีดีพีโตทุกปี แต่รายได้คนส่วนใหญ่ไม่เพิ่มขึ้น ลดลง เปลี่ยนระบบการประเมินนโยบายสาธารณะ สวัสดิการ ปฏิรูประบบภาษีให้กลับมาเป็นระบบที่ก้าวหน้า“
วรภพ วิริยะโรจน์ โฆษกคณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า การเมืองเป็นกลไกสำคัญจัดสรรอำนาจ ทรัพยากร เช่น เรื่องการหลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำในโอกาส สถิติ 20% บนสามารถเรียนจบได้ถึง 75% เรียนปริญญาตรีเหลือแค่ 10% มิติเศรษฐกิจก็มีเรื่องการผูกขาด ภาคการเงิน ธนาคาร ที่ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าไม่ถึงการลงทุน การแข่งขันสนามเดียวกับทุนใหญ่ ภาคการเงินก็แข่งกันปล่อยกู้ให้แหล่งทุนใหญ่ ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ สุราผูกขาด เป็นอุปสรรคการเกิดชนชั้นกลางใหม่ขึ้นมา และเป็นเรื่องเศรษฐกิจ
ต่อมาคือ ความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ เกิดจากราชการรวมศูนย์ สะท้อนถึงการบริการภาครัฐ เราต้องแก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐาน ก้าวข้ามสวัสดิการสงเคราะห์ อีกมิติคือ ความยั่งยืนของสวัสดิการ ถ้าเราให้เฉพาะคนมีรายได้น้อยจะเกิดคำถามไม่รู้จบ การเสียภาษีไปไม่ได้รับอะไรกลับมา เป็นแรงต้านสำคัญ
“การเมืองเป็นกลไกสำคัญจัดสรร อำนาจ และทรัพยากร เช่น มิติเศรษฐกิจ ภาคการเงิน การธนาคาร ที่มีการผูกขาด ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าไม่ถึงการลงทุน เมื่อต้องแข่งขันสนามเดียวกันทุนใหญ่ ชัดที่สุด คือ ปัญหาการผูกขาดสุรา เป็นอุปสรรคการเกิดชนชั้นกลางใหม่ขึ้นมา.. การเก็บภาษีทรัพย์สิน ความมั่งคั่ง เป็นการปลดล็อกประตูด่านแรกของความเหลื่อมล้ำ”
อิศเรศ ดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นทั้งนายทุน แรงงาน ผู้ค้า และผู้กำหนดราคา ดังนั้น การจะก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำอยู่ที่การเปลี่ยนกรอบความคิด ทุกคนเห็นปัญหา และโอกาสที่จะก้าวข้ามไปด้วยกัน โดยมองว่า การเอา GDP เป็นตัววัดผิดตั้งแต่ต้น เหตุใดถึงไม่มีดัชนีชี้วัดความสุข แต่ควรยึดเอาประโยชน์สูงสุดซึ่งจะช่วยทำให้ อุปสงค์-อุปทานพอดีกัน อีกทั้ง ควรเปลี่ยนแนวคิดจากสังคมแข่งขัน เป็นแบ่งปัน คนมีมากให้คนมีน้อย นำไปสู่กรอบแนวคิดการทำงานของภาคอุตสาหกรรม
อิศเรศ ยกตัวอย่าง ภาคเกษตรกรรมของไทยที่ค่อนข้างมีความหลากหลาย ซึ่งควรผลักดันให้เกิดกระบวนการผลิต และสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรอย่างเป็นธรรม ยกตัวอย่าง พืชอ้อย ที่เป็นได้ทั้งน้ำตาล พลังงาน อาหาร (Bioeconomy:เศรษฐกิจชีวภาพ) ชานอ้อยที่เหลือ นำมาทำกากน้ำตาล และปุ๋ย (Biomass ชีวมวล) ซึ่งมูลค่าสินค้าที่สูง ทำให้เกิดระบบการแบ่งปัน โดยโมเดลนี้ แบ่งให้เกษตรกร 70% โรงงานน้ำตาล 30% ซึ่งกลไกเหล่านี้จะมี 3 หน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม เกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพานิชย์ รวมถึงชาวไร่อ้อย เกษตรกร ก็ต้องเข้ามาร่วมด้วยซึ่งเป็นโมเดลที่เหมาะสม ในขณะที่พืชตัวอื่นยังน่าเป็นห่วง ถ้าสินค้าแปรรูปได้ดูแลเป็นโมเดลเหมือนอ้อย เชื่อว่าเกษตรกรไทยจะดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการขยายโมเดลมาบตาพุด และชุมชน ที่ดินพอ แต่มลพิษ มีการตั้งกรรมการสี่ฝ่าย ภาครัฐบาล NGO นักวิชาการ ชุมชน เอกชน และอุตสาหกรรม จนตกผลึกการอยู่ร่วมกัน การทำงานของภาคเอกชน อุตสาหกรรมจะอยู่ได้ ถ้าเราทำ CSR อย่างจริงใจต่อชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่ดีที่สุดคือ โมเดลที่เกิดขึ้นแล้วที่มาบตาพุด
ศ. ดร.พิรงรอง รามสูตร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เสนอให้ลดความเหลื่อมล้ำด้วย การเข้าถึงพื้นที่สื่อสาธารณะ การปฏิรูปสื่อไม่ใช่แค่เนื้อหา แต่เป็นการเข้าถึงการใช้ประโยชน์ จากที่องค์กรภาครัฐเป็นคนครอบงำในการถือครอง แต่ปัจจุบันการกระตุ้นความชัดเจนน้อยลงเรื่อย ๆ ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงคลื่นความถี่ได้มากขึ้น แต่กิจการบริการชุมชนยังไม่เกิดขึ้นเลย ต่อสู้มาสิบปีแต่ยังไม่ได้ใบอนุญาต ในกระบวนการดำเนินการไม่เกิดขึ้น ที่เห็นชัดเจนคือ ตอนเกิดโรคระบาดโควิด แม้สื่อหลักจะทำหน้าที่ได้ดี แต่ไม่ตอบโจทย์กับชุมชน ความรู้ที่ ข้อมูลที่พวกเขาต้องการ คือในระดับพื้นที่ ทีวีพะเยาตอบโจทย์เขาทำให้รู้ว่าต้องปฏิบัติหรือทำอย่างไรเมื่อติดโควิด19 นี่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในมิตินี้มีอยู่ การปฏิรูปสื่อในเชิงโครงสร้างเกิดขึ้นแล้ว ปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ในทางปฏิบัติไม่เกิดขึ้นจริง หากจะแก้เรื่องนี้ต้องมีเจตจำนงที่แท้จริง ในการกระจายอำนาจ
“ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น เข้าถึงพื้นที่การใช้ประโยชน์สาธารณะได้ ให้คนที่ไม่ได้รับการยอมรับมีพื้นที่สามารถสื่อสารเรื่องราวของเขาได้ ความเหลื่อมล้ำมิตินี้ยังถูกซ้อนทับในเชิงมิติเศรษฐกิจ สื่อจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่การปฏิรูปเนื้อหา แต่ยังหมายถึงความถี่ของการเข้าถึง”