“ลองมาใช้ชีวิต 1 วัน ด้วยเงิน 100 บาท
แล้วดูว่าคุณจะทำได้แค่ไหน อยู่ได้จนหมดวันไหมนะ”
หากเลือกได้ คงไม่มีใครอยากเป็นคนจน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีสิทธิ์เลือก…ในปี 2566 ประชากรไทยกว่า 70 ล้านคน มีกว่า 7.17 ล้านคน ที่เลือกไม่ได้และตกอยู่ในสถานะคนจน ไม่ใช่แค่จนด้าน ตัวเงิน เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบความจนอีกหลายมิติ ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมคนเสี่ยงจน ที่มีอีกกว่า 24.3 ล้านคน รวม ๆ กัน 2 กลุ่มนี้ก็คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรไทยแล้ว
ไม่ว่าเราจะเลือกได้หรือไม่ ? แต่การเรียนรู้ และพยายามทำความเข้าใจ อาจเป็นประตูบานแรก ที่อาจทำให้ใครหลาย ๆ คนได้ตระหนักถึงความยากลำบากของคนจนมากขึ้น
นี่จึงเป็นที่มาของกิจกรรม #100บาทChallenge ใช้เงินหนึ่งแบงค์แดงใน 1 วัน เพื่อสะท้อนว่า แม้มีเงินร้อยเท่ากันเป็นตัวตั้ง แต่เงื่อนไขชีวิตของแต่ละคน ก็อาจทำให้ “เงินของเรา…ไม่เท่ากัน” ก็ได้

The Active ชวนหาบทสรุปชาเลนจ์นี้ ทำไม ? ต้องเป็นเงินร้อย และสิ่งที่ถูกบอกเล่าจากผู้ร่วมกิจกรรมสะท้อนอะไร ? ขณะเดียวกันความจนที่เราเห็นมีมากกว่าแค่เงินไม่พอใช้…จริงหรือ ? สิ่งนี้จึงอาจเป็นแค่บางส่วนของความพยายามทำความเข้าใจความจน ก่อนถึงงาน “เท่าหรือเทียม” เส้นทางความเหลื่อมล้ำคนจนเมือง ที่ The Active และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 15 – 27 ก.ค. นี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
ทำไม ? ต้อง 100 บาท/วัน
คงต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไปของชาเลนจ์ใช้ชีวิต 1 วันด้วยเงิน 100 บาท กันก่อน แล้วร้อยบาทนี้กำหนดขึ้นจากอะไร ?
เฉลยแบบเร็ว ๆ คือ มาจาก เส้นความยากจน (Poverty Line) ซึ่งถูกกำหนดโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สะท้อนมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำ เพื่อวัดระดับความยากจน ตามแนวคิดพื้นฐานจากทฤษฎี อรรถประโยชน์นิยม (Utility Theory) หากใครมีอรรถประโยชน์น้อยกว่ามาตรฐานค่าครองชีพขั้นต่ำ จะถือว่าเป็นคนจนนั่นเอง
โดยคำนวณจากเส้นความยากจนด้านอาหาร (กำหนดโดยต้นทุนสารอาหารและต้นทุนโปรตีน) และเส้นความยากจนหมวดที่ไม่ใช่อาหาร (เช่น ค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า การรักษาพยาบาล การเดินทางและสื่อสาร การศึกษา ฯลฯ)
หรือสรุปอย่างง่ายคือ ใครที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนนี้ ก็จะถือว่าอยู่ในเกณฑ์ยากจนนั่นเอง
ในปี 2566 สภาพัฒน์ กำหนดเส้นความยากจนทั่วประเทศอยู่ที่ 3,043 บาทต่อคนต่อเดือน มีจำนวนคนจนตามเกณฑ์นี้ 2.39 ล้านคน (แบ่งเป็นคนจนตัวเงินอย่างเดียว 1.04 ล้านคน และคนจนทั้งตัวเงินและหลายมิติ 1.35 ล้านคน) ซึ่งในปี 2567 และ 2568 นี้ สภาพัฒน์ ยังไม่ได้มีการประกาศปรับเพิ่มเส้นความยากจนแต่อย่างใด
หากคำนวณให้เห็นภาพชัดขึ้น จำนวนเงิน 3,043 บาทต่อคนต่อเดือน จะคิดเป็นประมาณ 101 บาทต่อคนต่อวัน ดังนั้น ตัวเลขประมาณ 100 บาทจึงเป็นเงินสูงสุดที่ผู้อยู่ในเกณฑ์ยากจนจะมีใช้ได้ต่อวัน
อย่างไรก็ตาม เส้นความยากจนอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีเส้นความยากจนสูงสุดอยู่ที่ 3,616 บาทต่อคนต่อเดือน (ประมาณ 121 บาทต่อคนต่อวัน) หรือจังหวัดที่มีเส้นความยากจนต่ำที่สุดอย่างเพชรบูรณ์ ก็อยู่ที่เพียง 2,546 บาทต่อคนต่อเดือน (85 บาทต่อคนต่อวัน) เท่านั้น

เห็นอะไรบ้างใน #100บาทChallenge ?
ผู้เข้าร่วม Challenge นี้หลายคน ได้แบ่งปันเรื่องราวการเอาชีวิตรอดผ่าน #100บาทChallenge ทำให้เราเห็นอะไรหลายอย่าง มีทั้งคนที่ทำภารกิจสำเร็จ บางคนพยายามแล้วก็ยังไม่สำเร็จ หรือบางคนรู้ว่าทำยังไงก็ไม่สำเร็จแน่ ๆ ด้วยข้อจำกัดของชีวิต อย่างไรก็ตามไม่ว่าผลลัพธ์ปลายทางจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เราก็เห็นอะไรบางอย่างจากคลิปของผู้เข้าร่วม Challenge นี้
เห็นวิธีลดรายจ่าย
เนื่องจากการมีเงินใช้อย่างจำกัดแค่วันละ 100 บาท เราจึงได้เห็นวิธีลดรายจ่ายที่หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น
- อดกินบางอย่างเพื่อมีเงินซื้อบางอย่าง เช่น อดกาแฟเพื่อซื้อข้าว หรือในทางกลับกัน อดข้าวเช้าเพื่อซื้อกาแฟ (ขึ้นอยู่กับว่าให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่า)
- ต่อรองราคา-ขอส่วนลด เช่น ต่อรองค่าวินมอเตอร์ไซต์จาก 15 บาทเหลือ 10 บาท
- กิน ใช้ หรือขอของฟรี โดยเฉพาะน้ำเปล่าจากตู้กดน้ำในออฟฟิศ รวมถึงของฟรีอื่น ๆ เช่น ข้าวฟรี (จากการประชุม หรือเพื่อนเลี้ยง) ขนมฟรี ผลไม้ฟรี
- เดินเท้ามาทำงาน บางคนเลือกที่จะเดินในระยะที่สามารถเดินได้ เพื่อให้มีเงินเหลือไว้กิน เช่น เดินเท้า 1 กิโลเมตร จากสถานีรถไฟมาที่ทำงาน
- ทำกับข้าวกินเอง เป็นการลดรายจ่าย เนื่องจากราคาวัตถุดิบถูกกว่าซื้อกิน
อย่างไรก็ตาม บางวิธีอาจมองว่าเป็นการลดรายจ่าย แต่หากพิจารณาก็จะพบว่ายังมีรายจ่ายแฝงอยู่ แค่ไม่ได้เอามานับรวมในเงิน 100 บาทที่ใช้เท่านั้น
- ทำกับข้าวกินเอง เป็นการลดรายจ่าย เนื่องจากวัตถุดิบซื้อมาในราคาถูก หรือใช้ของเหลือในตู้เย็น (ไม่ได้คิดค่าวัตถุดิบที่เหลือ)
- ขับรถเอง (ไม่ได้คิดค่าน้ำมัน)
นอกจากนี้ยังมีวิธีหารายได้เพิ่ม เช่น การขายของให้เพื่อนร่วมงาน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการเพิ่มรายได้ให้มีเงินใช้มากกว่า 100 บาท/วัน
เห็นรายจ่ายที่สูง
การใช้เงินอย่างจำกัดทำให้เห็นด้วยว่าใช้จ่ายหมดไปกับอะไร และมีค่าอะไรบ้าง ที่พอใช้ทีเงินร้อยในมือก็แทบไม่เหลือแล้ว
- ค่าเดินทาง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าซึ่งเป็นขนส่งสาธารณะ ที่หากเดินทางไกล ๆ ก็อาจหมดไปแล้วเกินครึ่งของแบงค์แดง
- ค่าอาหาร สำหรับบางคน 100 บาทอาจพอเป็นค่าอาหารมื้อเดียว เนื่องจากราคาอาหารที่สูง
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในการวางแผนไว้ เช่น ค่ารักษาพยาบาลแมวป่วย 2,000 บาท สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีการวางแผนที่ดีแค่ไหน ก็อาจจะเจอเหตุการณ์นอกเหนือจากที่วางไว้ และทำให้เห็นว่าเงิน 100 บาทต่อวันนั้นไม่พอใช้
แม้บางคนอาจจะใช้ไม่ถึง 100 บาทต่อวันก็จริง แต่ก็พบว่า แทบไม่เหลือเงินออม หรืออาจเหลือเงินออมในหลักหน่วยบาทเท่านั้น
เห็นเสียงสะท้อน
การมีเงินใช้เพียง 100 บาท ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าใจข้อจำกัดในชีวิตของคนจนมากขึ้น
- เงิน 100 บาท ไม่พอใช้
- เงิน 100 บาท ทำให้ซื้ออาหารได้น้อย ไม่พอกิน และไม่อยู่ท้องในแต่ละวัน
- เงิน 100 บาท อาจเป็นทั้งหมดที่เขามี
- อาจเพียงพอหรืออยู่ได้ ถ้ามี ตัวช่วย อื่น ๆ เช่น มีคนมารับ มีคนเลี้ยงข้าว แต่ก็มีการพูดถึงว่า ไม่ใช่ทุกคนที่มีตัวช่วยเหล่านี้
- เป็นไปได้ยากหากใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ที่มีค่าครองชีพที่สูง (หากเป็นต่างจังหวัดอาจทำได้)
มีความจนอื่นที่(ยัง)มองไม่เห็น
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าใน #100บาทChallenge เราอาจไม่เห็นรายจ่ายอื่น ๆ ที่เป็นรายจ่ายแฝงนอกเหนือจากรายจ่ายในแต่ละวัน เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าวัตถุดิบเหลือ รวมไปถึง ค่าที่พัก ค่าน้ำ-ไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าชำระหนี้ต่าง ๆ
ความเป็นจริง เงิน 100 บาทต่อวัน ตามเส้นความยากจน อาจสะท้อนความจนได้ในระดับหนึ่ง แต่ชีวิตจริง ความจนไม่ได้มีแค่มิติของเรื่องการเงินอย่างเดียว แต่ยังมีคนจนที่ครอบคลุมถึงมิติอื่น ๆ ที่ เช่น ด้านที่อยู่อาศัย ด้านการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ด้านความเป็นอยู่
โดยปี 2566 มีคนจนหลายมิติประมาณ 6.14 ล้านคน (แบ่งเป็นคนจนหลายมิติอย่างเดียว 4.78 ล้านคน และคนจนทั้งตัวเงินและหลายมิติ 1.35 ล้านคน) หรือคิดเป็น 8.76%
TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) คือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า ใช้เพื่อระบุความยากจนในระดับต่าง ๆ ได้ โดยแบ่งปัญหาที่คนจนต้องเผชิญออกเป็น 5 มิติ นำมาใช้เป็นดัชนีในคำนวณความยากจนหลายมิติ (Multi-dimensional Poverty Index: MPI) ได้แก่
- ด้านสุขภาพ เช่น เด็กได้รับการดูแลและมีพัฒนาการเหมาะสม, ครัวเรือนสามารถดูแลสมาชิกเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น, คนในครอบครัวมีประกันสุขภาพ-สิทธิการรักษาพยาบาล, กินอาหารถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน, คนอายุ 35 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี
- ด้านความเป็นอยู่ เช่น ที่อยู่อาศัยมีความมั่นคง ปลอดภัย จัดการขยะมูลฝอยถูกสุขลักษณะ เข้าถึงไฟฟ้า น้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค อินเตอร์เน็ต บริการขนส่งสาธารณะ
- ด้านการศึกษา เช่น การเข้าถึงการศึกษา เช่น มีพัฒนาการด้านสุขภาพ การเรียนรู้และบุคลิกภาพตามวัย, ได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี (ป.1 – ม.3), อ่านและเขียนภาษาไทย อังกฤษ หรือภาษาที่สาม และคิดเลขอย่างง่าย
- ด้านรายได้ เช่น คนอายุ 15 – 59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป มีอาชีพและรายได้, มีการเก็บออมเงิน
- ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ เช่น ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี ได้รับเงินอุดหนุน-สวัสดิการจากรัฐ, กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน รัฐ หรือเอกชน
ใน รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 ของสภาพัฒน์ ยังได้แบ่งมิติความยากจนออกเป็น 4 มิติ ใน 12 ตัวชี้วัด ซึ่งสอดคล้องกับการแบ่งตาม TPMAP ได้แก่
- มิติการศึกษา มีตัวชี้วัด ได้แก่ จำนวนปีที่ได้รับการศึกษา, การเข้าเรียนล่าช้า และการอยู่อาศัยร่วมกันพ่อแม่
- มิติการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ มีตัวชี้วัด ได้แก่ น้ำดื่ม, การดูแลตัวเอง และความขัดสนด้านอาหาร
- มิติความเป็นอยู่ มีตัวชี้วัด ได้แก่ การกำจัดขยะ, การใช้อินเทอร์เน็ต และการถือครองทรัพย์สิน
- มิติความมั่นคงทางการเงิน มีตัวชี้วัด ได้แก่ การออม, ภาระทางการเงิน และบำเหน็จ-บำนาญ
โดยพบว่า มิติความเป็นอยู่ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความยากจนหลากมิติของคนไทยมากที่สุด โดยตัวชี้วัดที่คนจนหลายมิติเผชิญกับความขัดสนมากที่สุดคือ บำเหน็จ-บำนาญ, การถือครองทรัพย์สิน และการกำจัดขยะ ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนเสี่ยงจนหลายมิติ อีกกว่า 24.3 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีความขัดสนในด้านบำเหน็จ-บำนาญมากที่สุดเช่นกัน ส่งผลให้อาจมีความเสี่ยงที่จะไม่มีหลักประกันยามเกษียณ
อ้างอิง
- Thai People Map and Analytics Platform – TPM★P
- คนจนจะหมดไป…
- ความจริงของคนจน : นโยบายแก้จน 5 ทศวรรษ | The Active
- เผยดัชนีความจนหลายมิติ (MPI) คนไทยจน-เสี่ยงจนเกือบครึ่งประเทศ
- มิติความยากจนของประเทศไทย | National Assembly Library of Thailand
- รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566
- ภาวะสังคมไทย ไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2567