ถอดบทเรียนรอบด้าน เหตุเยาวชนวัย 14 ปี สู่ข้อเสนอสร้างระบบนิเวศสุขภาพจิต

เหตุเด็กวัย 14 ปี ก่อเหตุยิงภายในห้างสรรพสินค้า ย่านปทุมวัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 5 คน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.66 เป็นอีกครั้งที่สังคมต้องอยู่ท่ามกลางความกังวลต่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว รวมถึงสุขภาพจิตของคนไทยเวลานี้ มีกลไกป้องกันมากพอแค่ไหน ที่จะไม่ทำให้คน ๆ หนึ่งลุกขึ้นมาก่อเหตุความรุนแรงซ้ำอีก

เวที Policy Forum ครั้งที่ 2: นโยบายสุขภาพจิต : Mental Health Policy Ecosystem เริ่มต้นถอดบทเรียนด้วยการชวนมองสาเหตุที่ต่างออกไป นอกจาก เลียนแบบเกม หรือโรคจิตเวช ตามที่ได้มีการเผยแพร่ออกไป เช่น  การศึกษา สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดู ข้อมูลเหล่านี้กลับไม่ค่อยถูกนำมาพูดถึงในวงถอดบทเรียนกันอย่างกว้างขวาง ทำให้เมื่อเกิดเหตุซ้ำมาตรการในการรับมือจึงยังอยู่กับที่ เช่น การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคคลของผู้ก่อเหตุและผู้สูญเสีย ตัดโอกาสผู้ก่อเหตุกลับคืนสู่สังคม การวิเคราะห์โดยขาดฐานข้อมูลด้านจิตเวช 

หากจะป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นซ้ำ หรือมีแนวทางรับมือที่ต่างออกไป สังคมอาจจะต้องพูดถึงการส่งเสริม ป้องกัน ในอนาคตว่าปัญหาเกิดอะไร และไม่ใช่เรื่องของปัจเจก จำเป็นที่จะต้องจับมือหน่วยงานอื่น ๆ มาทำงานร่วมกันในเรื่องนี้

ร่วมสร้างระบบนิเวศสุขภาพจิต เริ่มต้นที่กำหนดสุขภาพจิตเป็นโยบายสาธารณะ

ในวงเสวนามีข้อเสนอในการผลักดันให้ “ระบบนิเวศสุขภาพจิต“ อยู่ในนโยบายสาธารณะ โดยมีองค์ความรู้จากหน่วยงานภาครัฐทุกสังกัด เอกชน และภาคประชาสังคม ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการส่งเสริม ป้องกัน หรือมีภูมิคุ้มกันทางใจเพื่อรับมือกับสภาวะด้านลบ โดยจะต้องประกอบไปด้วย

  • การสร้างพื้นที่รับฟังให้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับชุมชน เพื่อเป็นการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นระหว่างรอคิวการรักษาที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ  เช่น SATI APP ที่เป็นการขับเคลื่อนโดยภาคประชาชน
  • เปิดพื้นที่ให้นักจิตวิทยาการปรึกษา ฯลฯ ที่มีอยู่จำนวนมากได้อยู่ในระบบของรัฐ เช่น โรงเรียน สถานประกอบการต่างๆ หน่วยงานของรัฐ ซึ่งถือเป็นบุคลากรสำคัญในระบบนิเวศสุขภาพจิต ส่งเสริมให้ผู้คนมองโลกความเป็นจริงโดยไม่ทิ้งคุณค่าในตัวเอง 
  • ต้องเป็นนโยบายสาธารณะ ที่ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม 

ผลักดัน “ระบบนิเวศสุขภาพจิต” เป็นวาระแห่งชาติ เสริมภูมิคุ้มกันสังคมก่อนป่วยทางใจ

ในเวทียังเห็นร่วมกันว่า ที่ผ่านมาภาครัฐมีความพยายามในการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิต แต่ยังเป็นการทำงานแบบแยกส่วน ไม่บูรณาการร่วมกัน ซึ่งปัญด้านสุขภาพจิต ภาวะความเครียด ไร้ที่พึ่งทางใจ  ไม่ควรเป็นเรื่องของระดับปัจเจกอีกต่อไป จึงเสนอให้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายสาธาณะ สนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และรวบรวมข้อเสนอต่าง ๆ ในเวทีครั้งนี้จากภาคประชาชน เพื่อร่วมกำหนด “ระบบนิเวศสุขภาพจิต” ใน 4 เรื่อง ดังนี้

1. ส่งเสริมบทบาทและทรัพยากรสนับสนุนแก่นักวิชาชีพจิตวิทยาสาขาต่าง ๆ อย่างชัดเจนและเพียงพอ

2. สร้างความร่วมมือและส่งเสริมความเข้มแข็งอาสาสมัครและนักดูแลสุขภาพใจในชุมชน

3. พัฒนาระบบและการศึกษาด้านสุขภาพจิตในสถานศึกษาและสถานประกอบการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

4. สนับสนุนการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสุขภาพจิตที่กระจายอย่างทั่วถึง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง