6 เหตุการณ์ดัง กระทบสุขภาพ มีคนเจ็บ-คนตาย
ยังต้องลุ้นทุกวันว่าจะเจออะไรอีก!
อาจเรียกได้ว่าเป็นปีมังกรดุ เพราะตั้งแต่ต้นปี 2567 มาจนถึงเดือนเมษายน เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนซึ่งไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติหรือโรคระบาด แต่เกิดจากกระทำของมนุษย์โดยตรง จากการประกอบกิจการของภาคอุตสาหกรรมและเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐที่ไม่สามารถทำหน้าที่ในการปกป้องประชาชนได้ดีพอ อีกทั้งยังถูกตั้งคำถามว่า เป็นการเอื้อต่อประโยชน์แก่บางกลุ่มหรือไม่
มกราคม 2567
- โรงงานพลุระเบิด จ.สุพรรณบุรี
เหตุโรงงานพลุระเบิด ต.ศาลาขาว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ทำให้อาคารโรงงานพังราบเป็นหน้ากลอง เหลือให้เห็นเพียงกลุ่มควันสีดำ แม้จุดเกิดเหตุจะอยู่กลางทุ่งนา ไม่มีบ้านพักอาศัยอยู่ใกล้เคียง แต่กลับเกิดความสูญเสียที่ค่อนข้างรุนแรง
เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 คน โดยพลุเป็นสารเคมีที่มีความไวไฟมาก การจะติดไฟได้จะต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ 1. ความร้อน 2. เชื้อเพลิง และ 3. ออกซิเจน ฉะนั้น ประกายไฟ แรงกระแทก การเสียดสี ที่จะสามารถทำให้เกิดการจุดปะทุก็ทำให้เกิดการระเบิดได้เช่นกัน
มีข้อสังเกตว่าโรงงานผลิตพลุแห่งนี้เคยเกิดเหตุระเบิดจนมีคนเสียชีวิตไปแล้วเมื่อมี 2565 แต่ทำไมสามารถกลับมาเปิดใหม่ได้อีกครั้ง ขณะที่พบช่องโหว่ทางกฎหมาย เนื่องจากสถานที่ผลิตพลุไม่ถูกนับเป็น “โรงงาน”
กุมภาพันธ์ 2567
- ไฟไหม้บ่อขยะหลายจุด
เกิดไฟไหม้บ่อขยะหลายจังหวัดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ อำนาจเจริญ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต และปราจีนบุรี กรมอนามัย ต้องจัดตั้งทีมเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
โดยบ่อขยะที่ไฟไหม้มีลักษณะแบบเทกอง พื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีผู้ดูแล ไม่มีระบบป้องกัน และระบบแจ้งเตือนภัยความปลอดภัยที่ดี ไฟจึงลุกลามอย่างรวดเร็วยากต่อการเข้าถึงและดับไฟได้ จนส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยโดยรอบมีภาวะเสี่ยงและมีผลกระทบทางสุขภาพจากการสูดดมรับควันไฟ เขม่า เถ้า และฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้ หายใจไม่ออก กลิ่นเหม็นรำคาญ บางรายมีอาการไอ แสบจมูก ตา และเป็นผื่นคัน
ไฟไหม้บ่อขยะเกิดซ้ำหลายพื้นที่ ตอกย้ำให้ท้องถิ่นเร่งออกมาตรการป้องกัน โดยเบื้องต้นควรมีการสำรวจข้อมูลบ่อขยะ ลักษณะหรือรูปแบบของบ่อขยะที่มีในพื้นที่ให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้เห็นถึงขอบเขต และแผนที่ความเสี่ยงสุขภาพจากปัญหาบ่อขยะในพื้นที่ จากนั้นให้มีการบังคับใช้กฎหมายในการดูแลสุขลักษณะและจัดการบ่อขยะตามมาตรฐานให้เป็นไปตามกฎหมาย และเพิ่มมาตรการเสริมเพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้
มีนาคม 2567
- เผาป่า หมอกควันข้ามแดน PM2.5 ภาคเหนือ
จังหวัดเชียงใหม่ ติดอันดับเมืองที่ค่ามลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลกต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งเดือนมีนาคม 2567 ขณะที่จังหวักแม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่น PM2.5 บางวันพุ่งไปถึง 1,000 มคก./ ลบ.ม. สูงกว่าจังหวัดเชียงใหม่ และติดอันดับ 1 จังหวัดที่มีค่าฝุ่นสูงสุดในประเทศไทย
สาเหตุเกิดจากการเผาป่า เพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ และให้เห็ดออกดอกรอเก็บขายในช่วงฤดูฝน รวมทั้งการเผาไร่เพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะไร่ข้าวโพด ไม่เพียงในพื้นที่ของไทย แต่รวมถึงการเผาไร่ในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เป็นที่มาของ “หมอกควันข้ามแดน”
กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าภาคเหนือพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรายใหม่เฉลี่ยปีละ 2,487 คน/ปี หรือประมาณวันละ 7 คน และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเฉลี่ยปีละ 1,800 คน/ปี หรือประมาณวันละ 5 คน
แพทย์ยอมรับว่า มลภาวะทางอากาศฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด นอกเหนือไปจากทั้งปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรม การสูบบุหรี่และควันบุหรี่มือสอง โดยสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency for Research on Cancer หรือ IARC) กำหนดให้มลภาวะทางอากาศเป็นสารก่อมะเร็ง กลุ่มที่ 1 มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ถึงปัจจัยเสี่ยงสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม การผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด” เป็นความหวังว่าจะแก้ปัญหา PM2.5 ในเชิงโครงสร้าง โดยจะใช้เป็นเครื่องมือให้การประกาศห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ถูกเผาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย
เมษายน 2567
- ลักลอบขนแร่แคดเมียม จ.ตาก จ.สมุทรสาคร จ.ชลบุรี และ กทม
วันที่ 4 เมษายน 2567 เป็นวันแรกที่เจ้าหน้าที่พบถุงบิ๊กแบ็กกว่า 1,000 ถุงบรรจุกากสังกะสีและแคดเมียมน้ำหนักรวม 2,440 ตัน ภายในโรงงานของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ในพื้นที่ ต.บางน้ำจืด จ.สมุทรสาคร เป็นจุดแรก ก่อนทยอยตรวจพบอีก 2 จังหวัด คือที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
การตรวจค้นเกิดขึ้นหลังกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังมีผู้ร้องเรียนว่ามีการขุดกากแคดเมียมที่ถูกฝังกลบไปแล้วในพื้นที่ จ.ตาก ขึ้นมาโดยอ้างว่านายทุนจีนซื้อในราคาตันละประมาณ 8,250 บาท จึงขายต่อให้โรงหลอม แต่ไทยยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถหลอมแคดเมียมได้อย่างปลอดภัย 100% จึงเสี่ยงมากที่จะเกิดการปนเปื้อนและกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
หากกากแคดเมียมปนเปื้อนลงสู่ธรรมชาติ หรือ แหล่งน้ำ ก็จะกระทบกับห่วงโซ่อาหาร หากกินเข้าไป อาจนำไปสู่การเป็นโรค อิไตอิไต เกิดอาการตับวาย ร่างกายเจ็บปวด จนถึงขั้นพิการได้
ผลการการตรวจร่างกายคนงานในโรงงานที่ตรวจเจอกากแคดเมียม และชาวบ้านรอบโรงงานเฉพาะที่ จ.สมุทรสาคร จำนวน 70 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 เม.ย. 2567) พบระดับแคดเมียมสูงผิดปกติ 31 คน แบ่งเป็นคนงาน 14 คน และชาวบ้านใกล้โรงงาน 17 คน ส่วนการตรวจพืช ผักสวนครัวใกล้โรงงานจำนวน 22 ตัวอย่าง พบแคดเมียมเกินเกณฑ์ถึง 17 ตัวอย่าง
ขณะที่การนำกากแคดเมียมกลับมาฝังกลบที่เดิมใน จ.ตาก ก็ถูกชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน โดยต้องการให้นำไปแปรรูป กำจัด หรือนำออกนอกประเทศ เพราะที่ผ่านมา ศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี เคยมีการสำรวจปัสสาวะของประชาชนในพื้นที่ จ.ตาก พบการทำงานของร่างกายผิดปกติที่เกิดจากแคดเมียมบ้าง แต่โรคที่เป็นพิษจากแคดเมียมโดยตรงเลยยังไม่มี
กรณีนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมร้องเอาผิดกับผู้ครอบครองกากแคดเมียมทั้งหมด พร้อมกับย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดตากออกจากพื้นที่เข้ามาช่วยราชการระหว่างที่มีการสอบสวน
- กรดซัลฟิวริกรั่วไหล ลงแม่น้ำโขง
วันที่ 5 เมษายน 2567 เกิดเหตุการณ์รถบรรทุกกรดซัลฟิวริกพลิกคว่ำ และเกิดการรั่วไหลลงสู่แม่น้ำคาน ในแขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว ส่งผลให้อาจมีน้ำปนเปื้อนกรดซัลฟิวริกไหลมายังลุ่มน้ำโขง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงได้ประกาศพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
กรมอนามัย ลงตรวจคุณภาพน้ำ ประปาชุมชนและประปาหมู่บ้านในจังหวัดเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง หลังคาดการณ์กระแสน้ำจะพัดพากรดซัลฟิวริกจากประเทศลาวเข้ามายังแม่น้ำโขงของประเทศไทย ในวันที่ 6 เมษายน
จากการเก็บตัวอย่างจากน้ำประปา อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ พบค่า PH อยู่ในช่วง 7-8 ซึ่งถือว่าเป็นปกติไม่มีการปนเปื้อน แต่ได้สื่อสารให้ประชาชนทราบถึงอันตราย หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ หรือใช้น้ำจากแม่น้ำโขงโดยไม่มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำมาใช้ในบ้านเรือน และยังคงเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาชุมชน และประปาหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง
- โรงงานน้ำแข็งแอมโมเนียรั่ว จ.ชลบุรี
วันที่ 17 เมษายน 2567 เกิดเหตุแอมโมเนียรั่ว ที่โรงน้ำแข็งราชา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พบกลุ่มควันสีขาวลอยฟุ้งพร้อมกลิ่นแอมโมเนียกระจายไปในรัศมีกว่า 1 กิโลเมตร มีคนงานในโรงน้ำแข็งและชาวบ้านใกล้เคียงได้รับผลกระทบรวม 155 คน ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 38 คน ในจำนวนนี้อาการรุนแรง 9 คน ส่วนใหญ่มีอาการแสบคอ หายใจไม่ออก และแสบตาอย่างมาก บางรายอาเจียนออกมาเป็นเลือด น้ำลายฟูมปาก
หลังเกิดเหตุ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี (สสจ.ชลบุรี) ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรีเข้าตรวจสอบสถานที่ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ พบว่า ผลการตรวจโรงงานไม่ผ่านตามเกณฑ์ GMP ปล่อยโรงงานสกปรก ไม่ดูแลให้ถูกสุขลักษณะ ขาดการดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือเครื่องจักรที่น่าจะเป็นสาเหตุของแก๊สแอมโมเนียรั่ว
สสจ.ชลบุรี ได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมสั่งให้โรงงานหยุดการผลิตน้ำแข็งจนกว่าจะแก้ไขโรงงานให้ถูกสุขลักษณะ เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำแข็งส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ชลบุรี หากพบไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือพบสารอันตรายปนเปื้อนจะดำเนินคดีเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน อย. แจ้ง สสจ. ทั่วประเทศ ตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำแข็งทุกแห่งว่า สถานที่ผลิตถูกสุขลักษณะเป็นไปตามมาตรฐาน GMP หรือไม่ โดยเฉพาะระบบทำความเย็น ท่อแก๊สแอมโมเนีย มีการตรวจสอบบำรุงรักษาประจำปีหรือไม่ หากตรวจพบโรงงานใดปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
- ไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมี จ.ระยอง
วันที่ 22 เม.ย. 2567 เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีและกากอุตสาหกรรม ในพื้นที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เป็นโรงงานที่ประกอบกิจการรีไซเคิลและรับกำจัดกากของเสีย ซึ่งถูกยกเลิกใบอนุญาต อยู่ระหว่างดำเนินคดีและพิทักษ์ทรัพย์ พบกลุ่มควันสีดำ พัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 หมู่บ้าน คือ ม.8 ต.บางบุตร และ ม.11 ต.หนองบัว
เหตุการณ์นี้พบผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คนเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัย มีอาการแสบตาหลังเข้าไปดับเพลิง และมีผู้ป่วยติดเตียง/ติดบ้าน จำนวน 2 คน จึงอพยพมายังวัดหนองพะวา ส่วนจุดอพยพที่ อบต.หนองบัว มีประชาชนใน ม.11 อพยพเข้ามาประมาณ 35 คน พบมีอาการผื่นคันทั่วตัว 1 ราย นำส่งรักษาโรงพยาบาลบ้านค่าย
ทำไมเหตุถี่ ผิดปกติ?
ย้ำว่านี่ยังไม่ถึงครึ่งปี แต่คนไทยต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดความสูญเสียต่อชีวิต มีทั้งผู้บาดเจ็บเฉียบพลัน ล้มตาย และอาจต้องป่วยเรื้อรังร่วมกว่าร้อยชีวิต สิ่งนี้ตอกย้ำว่า “ปัญหาสุขภาพ“ ในยุคปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดเท่านั้น แต่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งสามารถป้องกันได้ แต่ไม่แน่ว่าหลังจากนี้ก็อาจเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ซ้ำอีก ดังนั้นคำถามก็คือ “รัฐมีหน้าที่โดยตรงในการปกป้องประชาชน แต่รัฐได้ทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง?”
ทุกเหตุการณ์ มีความไม่ชอบมาพากลซ่อนอยู่ ทำให้เกิดข้อกังวลถึงมาตรฐานความปลอดภัยและความเข้มงวดในการตรวจสอบและเฝ้าระวังของหน่วยงานรัฐในเรื่องสารเคมีอันตราย ทั้งที่บางกรณีมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้วเช่น “พ.ร.บ.โรงงานฯ” แต่ก็พบช่องโหว่อย่างกรณีโรงงานผลิตพลุระเบิด ไม่เข้าข่ายโรงงาน เพราะกำลังแรงม้าเครื่องจักรไม่ถึง จึงทำให้เกิดความย่อหย่อนในการตรวจสอบมาตรฐาน
บางกรณีเป็นหน้าที่โดยตรงของท้องถิ่น อย่างการจัดการบ่อขยะ แต่ บ่อขยะกลับไม่ได้ถูกจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายที่กำหนด จนทำให้เกิดไฟไหม้ซ้ำซาก
ขณะที่อีกหลายกรณีมีความซับซ้อนเพราะมลพิษไม่ได้เกิดในดินแดนไทย แต่เป็นมลพิษข้ามแดนอย่างฝุ่น PM2.5 หรือกรดซัลฟิวริกรั่วไหลลงแม่น้ำโขง ซึ่งในระดับภูมิภาคก็มีคณะกรรมการระหว่างประเทศในการควบคุมดูแล แต่ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ในการปกป้องประชาชนได้
รวมไปถึงประเด็นใหญ่ อย่างการครอบครอง ขนย้าย และใช้สารพิษสารเคมีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แคดเมียม แอมโมเนีย และกากอุตสาหกรรม ที่จำเป็นต้องมี ”กฎหมายการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม” หรือ PRTR ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนพยายามผลักดันมาอย่างน้อย 3-4 ปี แต่ยังไปไม่ถึงฝัน