ผลงาน 100 วัน #ทีมชัชชาติ สอบได้ หรือ สอบตก

ทำงาน ทำงาน ทำงาน… สโลแกนสะท้อนบุคลิกประจำตัวของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับการออกตัวเริ่มต้นบทบาทใหม่ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างร้อนแรง จนทำให้คนเมืองเริ่มมีหวัง และรอติดตามว่าจะสามารถเดินไปสู่เป้าหมายทำให้กรุงเทพฯ เป็น ‘เมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน’ ได้มากน้อยแค่ไหน

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการแก้ปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ  แต่ด้วยชุดนโยบาย 215 ข้อ ในหัวข้อ ดี 9 ด้าน ทั้ง ปลอดภัยดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี บริหารจัดการดี เรียนดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี เป็นเหมือนกับโรดแมปที่พอจะบอกได้ว่า ชีวิตคนกรุงจะดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว  

ผ่านการทำงานมาครบ 100 วันอย่างเป็นทางการตั้งแต่รับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 65  หลายนโยบายเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง หลายเรื่องกำลังเริ่มต้น บางเรื่องยังไม่ได้ขยับ โอกาสนี้ ลองมามาสำรวจไปพร้อม ๆ กันว่ากว่า 3 เดือน ที่ผ่านมา #ทีมชัชชาติ สอบได้ หรือ สอบตก​

นโยบายไหนถูกพูดถึงกันบ้าง  (Social Listening) 

หนึ่งในจุดเด่นของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ คือ เรื่องของการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งการประชาสัมพันธ์นโยบาย แนวคิด วิสัยทัศน์ ไปจนถึงเรื่องมุมสบาย ๆ เรื่องส่วนตัว การใช้ชีวิตทั่วไป   

เสียงสะท้อนจากออนไลน์จึงเป็นอีกภาพใหญ่ที่แสดงให้เห็นความรู้สึกของพลเมืองเน็ตที่ต้องการให้ผู้ว่าฯ คนใหม่เข้ามาแก้ไขในประเด็นไหนอย่างไร   

จากการทำ Social Litstening ของสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส ตั้งแต่วันที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. จนถึง 25 ส.ค. ที่ผ่านมา มีหัวข้อที่โพสต์เกี่ยวข้องกับการบริหาร กทม. ในโลกโซเชียลทั้งหมด 86,461 โพสต์ โดยบางโพสต์อาจเกี่ยวข้องกับนโยบายมากกว่าหนึ่งนโยบาย 

หัวข้อที่มีการพูดถึงมากที่สุดสามอันดับแรก คือ 1. น้ำท่วม 18,625 โพสต์ คิดเป็น 21.5%  2. ความปลอดภัย 13,497 โพสต์ หรือ 15.6%  3. จราจร 12,095 โพสต์  หรือ 14%  

รองลงมาคือ การเดินทาง 9.4%  ความสะอาด 5.9%  สายไฟ 4.9%  ทางเท้า 4.4%  แสงสว่าง 3.5% คลอง 2.2% ท่อระบายน้ำ 2.1%  กีดขวาง 2%  ถนน 1.8% สะพาน 0.6%  สัตว์จรจัด 0.2% 

โดยเนื้อหาในแต่ละโพสต์ที่พูดถึงจะมีทั้งข้อความที่ทั้งเป็นบวก เป็นกลาง และ เป็นลบ ต่อนโยบายหรือปัญหาต่าง ๆ คละกันไป แต่ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงภาพที่ชาวเน็ตต้องการสะท้อนถึงปัญหาต่าง ๆ ใน กทม. ซึ่งต้องการให้นำไปสู่การแก้ไขโดยเร็ว

ผลงาน

แก้ปัญหาเร่งด่วนผ่าน  Traffy Fondue 

Traffy Fondue ถือเป็นอีกเครื่องมือแก้ไขปัญหาที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.- 28 ส.ค. มีเรื่องร้องเรียนที่แจ้งผ่านเข้ามาใน Traffy Fondue 157,756 ครั้ง  ในจำนวนนี้ ดำเนินการแก้ไขเสร็จสิ้น 88,852 เรื่อง คิดเป็น 56%  อยู่ระหว่างการดำเนินการ 57,338 เรื่อง คิดเป็น 36% อยู่ระหว่างรอรับเรื่อง 11,430 เรื่อง หรือ 7%  ไม่ระบุ 379 เรื่อง หรือ 1%   

จากข้อมูลของ Traffy Fondue  พบว่าเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือเรื่องถนน ที่ได้รับการแก้ไขไปแล้ว 30,936 เรื่อง หรือ คิดเป็น 24.3%  ทางเท้า 14,090 เรื่องหรือคิดเป็น 11.1%  จราจร 14,000  เรื่อง หรือ 11%  น้ำท่วม 11,225 เรื่อง หรือ 8.8%  ความปลอดภัย 10,843 เรื่อง หรือ 8.5% แสงสว่าง 9,268 เรื่อง หรือ 7.3% ความสะอาด 7,673 เรื่อง หรือ 6.0%

โดยหากเปรียบเทียบข้อมูลที่ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดีย กับ ข้อมูลจาก Traffy Fondue พบความสัมพันธ์ว่าเรื่องที่ถูกพูดถึงหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียนใน Traffy Fondue  ทั้งเรื่องทางเท้า น้ำท่วม ความปลอดภัย แสงสว่าง ความสะอาด สายไฟ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ 

แต่อีกด้านหนึ่ง Traffy Fondue ก็ยังมีมุมที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้เจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมาให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหา มากกว่าช่องทางการแจ้งเหตุในช่องทางปกติ จนหลายเรื่องไม่ได้รับการแก้ไขถ้าไม่ถูกร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue ที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงของผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ไม่มีความชำนาญในด้านเทคโนโลยี 

ชัชชาติ

แก้น้ำท่วม เริ่มให้ความสำคัญกับจุดเล็ก ๆ  

ปัญหาน้ำท่วมเป็นโจทย์ท้าทายของผู้ว่าฯ กทม. มาทุกยุคสมัย ซึ่งไม่ง่ายที่จะแก้ให้หมดไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ฝนตกหนักต่อเนื่องมีน้ำท่วมขังหลายจุด ที่ผ่านมา ชัชชาติ เคยออกมาแสดงความคิดเห็นถึงโครงสร้างขนาดใหญ่อย่าง ‘อุโมงค์ยักษ์’ ซึ่งอาจไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้มากนัก ทำให้หันมาให้ความสำคัญกับจุดเล็ก ๆ เช่น การลอกท่อระบายน้ำ มากยิ่งขึ้น 

ผลงานที่ผ่านมาจากท่อระบายน้ำใน กทม. กว่า 6,000 กิโลเมตร  ปัจจุบัน กทม. ลอกท่อไปแล้วประมาณ 2,800 กิโลเมตร โดยเพิ่มงบประมาณในส่วนของการจ้างนักโทษจากกรมราชทัณฑ์เพิ่มการลอกท่ออีก 500 กิโลเมตร ที่จะต้องเร่งรัดให้ทันช่วงหน้าฝนนี้ คู่ขนานไปกับการขุดลอกคลอง

นอกจากนี้ แนวทางการการแก้ปัญหาน้ำท่วมจะเน้น ไปที่การลดจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วม การเพิ่มแก้มลิงธรรมชาติ การทบทวนแผนการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ การเซนเซอร์สูบน้ำที่ไม่ต้องรอกุญแจ การปรับปรุงซ่อมแซม แก้ฟันหลอคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองสายหลัก  

โดยก้าวต่อไปการแก้ปัญหาน้ำท่วมจะเน้นไปยังระบบฐานข้อมูล ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา “ระบบเตือนภัยแบบครบวงจร” ของ กทม. ซึ่งจะเชื่อมข้อมูลทุกส่วนเข้าด้วยกันตั้งแต่สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา รวมกับเรดาร์ของ กทม. ที่สามารถพยากรฝนได้ล่วงหน้า 3 ชม. รวมกับข้อมูลน้ำในคลอง ข้อมูลพื้นที่จุดเสี่ยง ซึ่งจะนำมาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้รู้ข้อมูลและเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้า 

Sandbox ทลายข้อจำกัดระบบสุขภาพ กทม. 

ระบบสุขภาพของ กทม. มีจุดอ่อนสำคัญอยู่ที่ระบบการแพทย์ปฐมภูมิ  แม้จะมีมีศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 69 แห่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอรองรับกับความต้องการ ทำให้ประชาชนหันไปใช้บริการในโรงพยาบาลทุติยภูมิ และตติยภูมิ นำมาสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาเริ่มจากการทำพื้นที่นำร่องพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิ ต่อเนื่องถึงระบบการส่งต่อผู้ป่วย 

ความคืบหน้าที่ชัดเจนที่สุดคือการทำ Sandbox ระบบสุขภาพ กทม. 2 พื้นที่ คือ ‘ดุสิตโมเดล’ และ ‘ราชพิพัฒน์แซนด์บอกซ์’ โดยในส่วนของ ‘ดุสิตโมเดล’ มีโรงพยาบาลวชิรพยาบาลเป็นแม่ข่าย เชื่อมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง ครอบคลุม 4 เขตฝั่งพระนคร ได้แก่ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตบางซื่อ และเขตบางพลัด ซึ่งเปิดดำเนินการไปเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา  

โครงข่ายนี้จะเชื่อมต่อนโยบายนำระบบสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์และโทรเวชกรรม ผ่านแอปพลิเคชัน Vajira@home ดูแลสุขภาพที่บ้านจากโรงพยาบาลสู่บ้านคุณVajira@home ดูแลสุขภาพที่บ้านจากโรงพยาบาลสู่บ้านคุณ, ระบบส่งต่อผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์ จากหน่วยปฐมภูมิ​ สู่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล (V-refer) ร่วมกับระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินอิเล็กทรอนิกส์ V-EMS นอกจากนี้ ยังมีระบบคลินิกเสมือน ณ หน่วยปฐมภูมิ (Virtual Desktop Infrastructure) เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในบริการสุขภาพที่ได้รับเสมือนได้เข้ารับบริการจากโรงพยาบาลวชิรพยาบาลเอง  

สำหรับ ราชพิพัฒน์แซนด์บอกซ์ ครอบคลุม 5 เขต ทวีวัฒนา บางแค หนองแขม ภาษีเจริญ และตลิ่งชัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการทำฐาน Data เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพและการใช้งบประมาณ โดยการเก็บข้อมูลชุมชนเป็นอีกกลไกสำคัญในการออกแบบวางระบบพัฒนาคุณภาพชีวิต

ทั้งหมดสอดรับกับแนว ‘นโยบายสุขภาพดี’ ซึ่งครอบคลุมนโยบาย ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร, หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine, ส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดี ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ และ การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อด้วยการบูรณาการข้อมูล  

ชัชชาติ

เดินหน้าสู่เป้าหมาย มหานครสีเขียว 

อีกหนึ่งในนโยบายสำคัญที่หลายคนให้ความสนใจคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ โดยเฉพาะนโยบาย ข้อ 49 ‘ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง’ ที่มีผู้สนใจร่วมลงทะเบียนปลูกต้นไม้กับ กทม. เป็นจำนวนมาก สอดรับกับการที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ส่งคำท้าไปถึงสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ให้ออกมาร่วมกันปลูกต้นไม้ ปลุกให้กระแสตื่นตัวเรื่องการปลูกต้นไม้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง

จากข้อมูลรายงานนโยบายต้นไม้ 1 ล้านต้น จากเว็บไซต์ https://www.bkk1milliontrees.com/  ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2565  พบว่าได้ปลูกต้นไม้แล้วทั้งหมด 111,785 ต้น  จากยอดจองปลูกต้นไม้ 1.64 ล้านต้น  โดยเป็นต้นไม้พุ่ม 55,232 ต้น ไม้ยืนต้น 42,268 ต้น ไม้เลื้อย 14,285 ต้น 

โดยสัดส่วนความร่วมมือในการปลูกต้นไม้แบ่งเป็น สำนักงานเขต 81,663 ต้น สำนักสิ่งแวดล้อม 23,789 ต้น ภาคเอกชนรัฐวิสาหกิจ  6,543 ต้น  

นอกจากนี้ กทม. ยังมีรูปแบบการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการเริ่มต้นดำเนินการ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สีเขียวตามโครงการ Green Bangkok 2030 โดยภาคประชาชนเจ้าของพื้นที่  12 แห่ง เตรียมพัฒนาพื้นที่สีเขียวกับ กทม. รวมพื้นที่ 148  ไร่

อีกด้านหนึ่งยังเตรียมพัฒนาสวน 15 นาที ทั่วกรุง ด้วยแนวคิดให้ประชาชนเข้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในระยะ 800 เมตร ใกล้บ้าน ที่อยู่ระหว่างการเริ่มต้นดำเนินการ เช่น คลองสาน พ็อกเกตพาร์ค สวนสุขเวชชวนารมย์ เขตราษฎร์บูรณะ คลองเป้ง เขตวัฒนา

ผลงาน

สร้างจุดสมดุล จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย 

หาบเร่แผงลอยเป็นอีกปัญหา ที่ทางออกของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ต้องหาจุดสมดุลระหว่างเศรษฐกิจปากท้อง ความสะดวก และความสะอาดของคนเดินถนน เพื่อให้ทุกคนสามารถร่วมกันใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม

ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 95 จุด ผู้ค้ารวม 5,939 ราย เป็นจุดที่ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานครแล้ว จำนวน 55 จุด อยู่ระหว่างลงนาม จำนวน 31 จุด และมี 9 จุด กำลังทบทวนส่งให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พิจารณาอีกครั้ง ใน 9 จุด ​โดยขั้นตอนการพิจารณาเป็นไปตามตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ปี 2535 มาตรา 20 โดยการจะทำการค้าบนทางเท้าได้ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งกรุงเทพมหานครมีคณะกรรมการระดับเขต และคณะกรรมการกรุงเทพมหานครพิจารณาตามหลักเกณฑ์ส่งไปให้ บช.น. อนุมัติ โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ขณะนี้กำหนดขึ้นเมื่อปี 2563 

ทั้งนี้ เกณฑ์การแบ่งพื้นที่ให้ค้าขาย จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ที่สาธารณะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด มีการเก็บค่าธรรมเนียมปีละ 500 บาท และที่เอกชน ค่าเช่าอาจแพงหรือถูก หรือที่ราชการบางแห่งอาจฟรี ซึ่งระหว่างนี้ก็จะประสานหาพื้นที่ที่เหมาะสม  รวมทั้งอีกทั้ง มีแผนทำ Hawker Center ซึ่งกำลังเจรจาพื้นที่ใต้ทางด่วน และพื้นที่ว่างของเอกชน เพื่อจะนำหาบเร่แผงลอยเข้าไปขาย  

ที่สำคัญคือการตั้ง คณะกรรมการดูแลเป็นรายจุด ที่ไม่ใช่รายเขต ให้พ่อค้าแม่ขาย คนเดินถนน ที่อยู่ในพื้นที่ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด ตักเตือนกันเอง ใช้พลังของคนในการกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่ดูแลกันเองแทนเทศกิจ อีกด้านหนึ่งยังเพิ่มความโปร่งใสในการเก็บค่าบำรุง ค่าปรับที่ต้องมีหลักฐานชัดเจน ไม่เลือกปฏิบัติ  

นอกจากนี้ ยังเตรียมเริ่มต้นโครงการ Bangkok Safety Street Food พัฒนา ​ทั้ง 1. หาบเร่แผงลอยตลาดชุมชน ที่อยู่มานานหลายสิบปี  2. ตลาดในเมืองสำหรับคนทำงานออฟฟิศต่าง ๆ ​3. ตลาดนักท่องเที่ยว โดยช่วงแรกจะเน้นตลาดในเมืองและตลาดนักท่องเที่ยว ซึ่งเตรียมนำร่องยกระดับคุณภาพอาหาร 2 โซน คือ ย่านสุขุมวิท และ สีลม ทำให้ทุกร้านมีมาตรฐานตามที่กำหนด ถูกสุขอนามัย  

สางปมยุ่งเหยิง จัดระเบียบสายไฟ สายสื่อสาร 

สายไฟฟ้า สายสื่อสารที่ยุ่งเหยิง ไม่เพียงแค่มีผลต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองเท่านั้น แต่ยังมีส่วนที่เป็นชนวนนำไปสู่การเกิดอัคคีภัย สร้างความเสียหายตามมา ทำให้ กทม. พยายามประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เร่งแก้ปัญหายุ่งเหยิงนี้

จากที่ กทม. ได้ร่วมประชุมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มี 3 ส่วน คือ กฟน. ได้เอาสายไฟฟ้าลงดินแล้ว 62 กิโลเมตร จากนั้นจะทำเพิ่มอีก 12 กิโลเมตร จากทั้งหมด 236 กิโลเมตร ในปีนี้ และสุดท้าย กฟน. อยู่ระหว่างเสนอ ครม. อีก 77 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2570

ส่วนแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารของสำนักงาน กสทช. ในปี 2565 มีดังนี้ 1. แผนการจัดระเบียบสายสื่อสาร ในพื้นที่ กฟน. กลุ่มเร่งด่วน รวมระยะทางประมาณ 400 กม. แบ่งเป็น กลุ่มย่อยที่ 1 จำนวน 39 เส้นทาง ระยะทาง 104.83 กม. (แผนของ กฟน. และ สำนักงาน กสทช.) และกลุ่มย่อยที่ 2 จำนวน 169 เส้นทาง ระยะทาง 306.46 กม. (แผนของ สำนักงาน กสทช.) 2. แผนการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารตามแผนจัดระเบียบสายสื่อสารประจำปีของ กฟน. นอกเหนือจากกลุ่มเร่งด่วน จำนวน 38 เส้นทาง ระยะทาง 346.59 กม. (แผนของ กฟน. และ สำนักงาน กสทช.)  

ทั้งหมดเป็นแค่เพียงบางส่วนของผลงานจากการปฏิบัติหน้าที่ 100 วัน ของ #ทีมชัชชาติ ที่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง ส่วนจะได้ผลเป็นที่พอใจมากน้อยแค่ไหน ย่อมต้องขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนที่จะประเมินให้คะแนนกันเอาเอง 

สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ว่า การทำงานในช่วง 100 วันแรกของ ‘ทีมชัชชาติ’ ทำได้ดีในแง่ของการตอบสนองต่อปัญหา และความต้องการของประชาชนอย่างทันท่วงที มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันทันด่วนมากกว่าผู้บริหารหลายชุดที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากการตอบสนองที่ดีนี้ ตามมาด้วยผลลัพธ์การแก้ปัญหาที่วัดได้ด้วย จะทำให้การทำหน้าที่สมบูรณ์มากขึ้น

นอกจากนั้น สติธร มองว่าวันนี้ทีมชัชชาติให้ความสำคัญกับ 200 กว่านโยบายของตนเองมาก โดยอาจมองว่าเป็นสิ่งที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน เป็นสัญญาประชาคมที่ต้องทำออกมากให้ดี ในแง่ของการเมืองที่ตอบสนองฐานเสียงที่เลือกตนเข้ามา ถือว่า “ตอบโจทย์” แต่การทำงานจริง ในฐานะตัวแทนประชาชน ยังจำเป็นต้องรวมเอาข้อเสนอที่กลุ่มอื่น ซึ่งอาจไม่ใช่ฐานเสียงของตนเอง ที่มีความคาดหวังเช่นกันในเรื่องอื่น ๆ มาผนวกไว้ในการบ้านของตนเองด้วย จะยิ่งทำให้มีเครือข่ายในการร่วมสร้าง ร่วมพัฒนามากขึ้น

“กรุงเทพฯ มีปัญหามากมายที่เกินมือ กทม. ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้คนกรุงเทพฯ เกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ทำทั้งหมดไม่ได้เกิดจากทีมชัชชาติเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเป็นความร่วมมือของคนกรุงเทพฯ จึงอยากเห็นพื้นที่ของการมีส่วนร่วมที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น…”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active