ลมหนาว พัดผ่าน เย็นสะท้านทั่วกรุง หลายคนที่ใช้ชีวิตในเมืองหลวง อาจจะรอคอยให้ฤดูกาลนี้มาถึง
แต่… ลมหนาวที่มาพร้อมกับฝุ่นควัน โดยเฉพาะเมื่อเรารับรู้กันดีอยู่แล้วว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือเจ้า “PM 2.5” นั้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพอย่างไร
อากาศดี ๆ ยามเช้าหรือยามเย็น ที่ควรจะสูดอากาศให้ชื่นใจ กลับกลายเป็นฝุ่นพิษที่ต้องหายใจเข้า-ออกผ่านหน้ากากอนามัย
The Active รวบรวมข้อมูลสัดส่วนการปล่อยมลพิษในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เห็นสาเหตุที่แท้จริง และร่วมกันคิดว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้าง ก่อนที่ค่ามลพิษทางอากาศจะพุ่งสูงสุดในช่วงเดือนมกราคม หากเป็นไปตามคาดการณ์
เปิดสัดส่วนการปล่อยมลพิษใน กทม.
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558 จนถึง กุมภาพันธ์ 2563 พบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี กับปลายปี คือ ตั้งแต่เดือน พ.ย – ก.พ. ติดต่อกัน 4 เดือน ในระดับที่เกินค่ามาตรฐานระหว่าง 50-97 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยปี 2562 มีถึง 33 จังหวัด ที่ค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน และมีเพียง 3 จังหวัดที่ค่าฝุ่นไม่เกินค่ามาตรฐาน
ฝุ่น กทม. มาจากการจราจรขนส่งทางบกมากที่สุด ร้อยละ 72.5
รถบรรทุกมีสัดส่วนการปล่อยมากที่สุด ซึ่งมีอยู่จำนวน 144,630 คัน รองลงมา คือ รถกระบะหรือรถพิกอัป 99,652 คัน รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถบัส รถจักรยานยนต์และรถตู้ ตามลำดับ หากดูสัดส่วนจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนทั่วประเทศรวม 40.7 ล้านคัน ขณะที่รถยนต์จดทะเบียน กทม. 10.7 ล้านคัน และมีรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้น 1% จากรถยนต์ทั้งหมด
ฝุ่น PM 2.5 ใน กทม. มาจากรถยนต์ที่เผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ หากดูสัดส่วนของการจำหน่ายน้ำมัน ในปี 2562 มียอดการจำหน่ายน้ำมันทั่วประเทศ ดีเซล 67.4 ล้านลิตร เบนซิล 32.2 ล้านลิตร
หากดูเฉพาะในเขต กทม. พบว่า มียอดการจำหน่ายน้ำมัน ดีเซล 14.3 ล้านลิตร เบนซิล 8.1 ล้านลิตร
เปิดทางเลือกแก้ฝุ่น กทม.
การใช้ขนส่งสาธารณะ เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ภาครัฐพยายามส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อลดปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เช่น การใช้รถไฟฟ้า เป็นระบบขนส่งมวลชนที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเข้ามาตอบโจทย์วิถีชีวิตคนเมืองมากขึ้น แต่จากการที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่า รถไฟฟ้าก็มีปัญหาในตัวเอง เช่น ราคาแพง การไม่เชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะในระบบอื่น ๆ และหากดูจากแผนการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จ 80% ในปี 2564 แต่หากจะให้เสร็จทุกสายพร้อมกัน ต้องรออีกอย่างต่ำ 9 ปี หรือปี 2572
- การปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันและยานยนต์ จากยูโร 4 เป็นยูโร 5
- การยกเลิกการใช้รถยนต์เก่า ที่มีอายุเกิน 10 ปี ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หรือว่า EV
มาตรการเหล่านี้ เป็นแผนระยะยาวที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งในความเป็นจริงต้องรออีกนานตามแผน เพราะว่าไม่ใช่เพียงแค่การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความพร้อมของประชาชนด้วย เพราะการปรับคุณภาพน้ำมัน คุณภาพยานยนต์ หรือการยกเลิกรถยนต์เก่า ย่อมส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและช่วงแรก ๆ มักจะมีราคาสูงตามกลไกตลาด กระทบกับประชาชนโดยตรง
ระยะการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้จึงมีความสำคัญว่า รัฐบาลวางมาตรการสนับสนุนรองรับมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสำคัญพอ ๆ กับการเดินหน้าผลักดันมาตรการเหล่านี้ เพราะคงไม่อาจปฏิเสธว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแล้ว และมีแนวโน้มทั่วโลกจะพัฒนาไปในทิศทางนี้
ดูเหมือนมาตรการที่ผ่านการพิสูจน์แล้วช่วงล็อกดาวน์คุมโรคระบาดโควิด-19 คือ การทำงานที่บ้าน กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ฝุ่น กทม. ในช่วงนั้นลดลงถึงร้อยละ 20
แต่…ย้ำอีกครั้งว่า มาตรการนี้ควรเริ่มต้นจากหน่วยงานที่พร้อม ลักษณะงานที่ทำได้ อย่างน้อย ๆ ก็ช่วงวิกฤตฤดูฝุ่น 4 เดือน ตั้งแต่ พ.ย. – ก.พ.