จากการร่วมระดมไอเดียตลอด 48 ชั่วโมง ในภารกิจ Hack Thailand 2575 : 48 ชั่วโมงพลิกโฉมประเทศไทยสู่ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ของทั้ง 12 ทีม 12 ประเด็น นำมาสู่นโยบายสาธารณะเพื่ออนาคตของประเทศโดยภาคประชาชน ที่ผ่านกระบวนการ Hackathon ร่วมกันคิดบนฐานข้อมูลที่มาจากทุกภาคส่วน
มาสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือการเสนอให้พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคเพื่อชาติ, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทย พิจารณาเพื่อนำไปร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละพรรคให้ความสนใจกับนโยบายของภาคประชาชนและรับปากว่าจะนำไปใช้เป็นนโยบาย ตามรายละเอียดดังนี้
1. มิติสังคม: หยุดความรุนแรง แฝงเร้นในสังคมไทย
นโยบาย : รื้อระบบ เพื่อจบความรุนแรง
พรรคที่ซื้อ : ชาติไทยพัฒนา และเพื่อชาติ
ข้อมูลจากทีมที่มีการนำเสนอในครั้งนี้ระบุว่า ผู้หญิงไทย 1 ใน 2 คน เคยถูกกระทำความรุนแรงและมีผู้ที่เข้าสู่ระบบการให้บริการ การรักษาพยาบาลเฉลี่ย 15,000 คนต่อปี แต่สามารถเข้าสู่กระบวนการชั้นศาลมีเพียงแค่ 166 คดี (ในช่วงปี 2559 – 2561) ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อย ทำให้เห็นว่าหลายคนไม่สามารถที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าความรุนแรงทางเพศและครอบครัวเป็นภัยคุกคามของประเทศไทยมาโดยตลอด หรือกระทั่งระบบการให้บริการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงยังไม่เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของวงจรที่ทำให้ความรุนแรงซ้ำเติมผู้ที่ถูกกระทำ โดยเห็นว่าระบบในการให้ความช่วยเหลือทำงานแบบแยกส่วนขาดการประสานงาน ส่งต่อทำให้ผู้ที่ประสบปัญหา เมื่อต้องเข้ารับบริการอยู่บ่อยครั้ง
จากเหตุการณ์การถูกกระทำความรุนแรงซ้ำ ๆ ที่ผ่านมา ความรุนแรงในครอบครัวเน้นไปที่การไกลเกลี่ยยอมความผู้ประสบปัญหาจะถูกกระทำซ้ำความรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบทางจิตใจของผู้ที่ประสบปัญหา จนสุดท้ายส่งผลให้ผู้ที่ถูกกระทำไม่อยากเข้าสู่กระบวนการความช่วยเหลือ ทำให้เห็นว่ากลไกทางภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ที่จะช่วยแก้ปัญหา
จนนำไปสู่ข้อเสนอนโยบายระบบเพื่อจบความรุนแรง ดังนี้
- ทำระบบบันทึกข้อมูลที่เป็นแบบฟอร์มกลางเพื่อการประสานส่งต่อข้ามหน่วยงาน เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ข้อมูลกลาง ทำงานประสานกันได้ โดยจัดตั้งให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานกลางที่จะประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ทางด้านสุขภาพ สวัสดิการสังคมความยุติธรรม ร่วมกันออกแบบฐานข้อมูลกลาง ที่จะทำให้เห็นว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่จะช่วยประสานงานและจะช่วยแก้ปัญหานี้ อาจจะมีภาคประชาสังคมหรือหน่วยงานวิชาการที่ไปร่วมออกแบบข้อมูลได้
- นโยบายเชิงรุก ที่เป็นชุดกิจกรรมเชิงรณรงค์สร้างสังคมที่ปลอดภัยและไร้ความรุนแรง เพื่อแก้กฎหมายแล้วยกประเด็นเรื่องความรุนแรงให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง เข้าถึงระบบการให้ความช่วยเหลือที่เป็นมิตร และมีประสิทธิภาพ ผ่านการร่วมมือของภาครัฐและภาคประชาชน แม้จะมีเครื่องมือ แต่การรับรู้และการเข้าถึงของประชาชนไม่มากพอ ทำให้ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ กิจกรรมรณรงค์ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้นโยบายเข้าถึงทุกคนอย่างแท้จริง
2. มิติสังคม : Green Space เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ เพิ่มศักยภาพเมือง
นโยบาย : โอกาสสีเขียว : พื้นที่สร้างสรรค์โอกาสของทุกคน
พรรคที่ซื้อ : ประชาธิปัตย์, ไทยสร้างไทย
ทีมนี้นำเสนอข้อมูล ชี้เป้าปัญหามาจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ จำเป็นต้องเปลี่ยนอาคารร้าง ที่ไม่แบ่งปันของรัฐมาเป็นของเรา (ประชาชน) โดยข้อเสนอที่จะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างสุขภาพ สุขภาวะที่ดี เพิ่มมูลค่าทางเศรษกิจ และโอกาสที่ชุมชนร่วมออกแบบ โดยจะทำให้สำเร็จโดยมีระบบพื้นที่สีเขียวยั่งยืนด้วย 5 ฟันเฟือง 4 แรงขับเคลื่อน 3 กลไก
สำหรับ 5 ฟันเฟืองสำคัญ ตอบโจทย์ประชาชน ได้แก่ 1.หน่วยงานบริหารกลาง (สกส.) 2.กองทุนภาษีที่ดิน 3.สภาพลเมือง
4.ที่ดิน ทรัพยากร อาคารเดิม 5.แรงจูงใจ
4 แรงขับเคลื่อน สู่ประสิทธิภาพสูงสุด คือ Facility รัฐ เป็น เรา Activity ชุมชนคือศูนย์กลาง Economy เศรษฐกิจแบ่งปัน
Sustainability สร้างสรรค์ยั่งยืน
ขณะที่ 3.กลไก คือ กลไกเพิ่มประสิทธิภาพคนทำงาน ,กลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน, กลไกการจัดกิจกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เมื่อทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง จะนำไปสู่ 3 เป้าหมายหลักคือการใช้ภาษีประชาชนให้มีคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด, กระจายอำนาจให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจำกิจกรรมของตัวเอง และการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน
3. มิติเศรษฐกิจ : ปลดล็อกท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์
นโยบาย : 4 เปิด
พรรคที่ซื้อ : ก้าวไกล, ชาติไทยพัฒนา
เปิดแรก คือ เปิดรับฟังเสียงของประชาชน ทำความเข้าใจประชาชนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ให้ประชาชนเข้าถึงการออกแบบงบประมาณที่เข้าสู่ท้องถิ่นได้ ให้โอกาส sandbox พาชุมชนไทยสู่ตลาดสากล สนุบสนุนการเขียนโครงการสินค้าและบริการชุมชน
เปิดที่สอง คือการเปิดช่องทางการค้าการลงทุน สนับสนุนสินค้าในชุมชน ลดภาษี กระตุ้นเศรษฐกิจ ระดมทุนแบบ Crowdfunding หรือ การระดมทุนจากประชาชนหมู่มาก
เปิดที่สาม คือเปิดตลาด ชุมชนต้องมีข้อมูลทางการตลาด รู้ว่าตลาดต้องการอะไร เพื่อให้พัฒนาตรงตลาดโลก เปิดการเจรจาแบบรัฐต่อรัฐ สร้างการเรียนรู้ พัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืนด้านความรู้
และเปิดสุดท้ายคือ เปิดใจ เข้าถึงความแตกต่างของท้องถิ่น วัฒนธรรมที่ต่างกัน แก้กฎหมายปลดล็อกข้อจำกัดเพื่อส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง คนรุ่นใหม่อยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิด เพื่อดูแลท้องถิ่นดูแลพ่อแม่
4. มิติเศรษฐกิจ: แก้หนี้ แก้จน
นโยบาย : สถาบันบริหารจัดการการเงินภาคประชาชน
พรรคที่ซื้อ : ไทยสร้างไทย, ชาติพัฒนากล้า
สถานการณ์ปัญหาในเวลานี้ ลูกหนี้ ขาดความรู้การเงินส่วนบุคคล ขาดคำแนะนำจากเจ้าหนี้ ขาดผู้ช่วยเหลือยามจำเป็น ขณะที่เจ้าหนี้ต้นทุนที่ให้สินเชื่อที่สูงขึ้น ภาพลักษณ์ที่ไม่ดีมากนักจากภาคประชาชน ส่วนสังคมโดยรวมขาดหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบแท้จริง ขาดการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ขาดผู้ที่สามารถช่วยเหลือได้แบบองค์รวม โดยหน่วยงานกำกับดูแลมีขอบเขตการทำงานที่จำกัด
สำหรับนโยบายนี้เน้นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อแก้หนี้จนข้ามรุ่น จนดักดาน โดยนโยบายต้นน้ำแก้ด้วย การสร้างบิ๊กเครดิตเดต้า ข้อมูลบุคคลอยู่ในกองกลาง เจ้าหนี้ สถาบันการเงิน ใช้ได้ สร้างความมั่นใจก่อนปล่อยสินเชื่อ
มีกฎหมายผลักดันส่งเสริมให้สินเชื่อที่รับผิดชอบให้เกิดขึ้นจริง แก้หนี้ที่ดักดาน ทำให้วงจรเบาบางในการเป็นหนี้ ลูกหนี้สามารถชำระหนี้แต่ต้องเหลือเงินพอดำรงชีวิต หนี้เสียต้องมีกระบวนการจัดตั้งบูรณาการแก้อย่างเบ็ดเสร็จ มีสถาบันบริหารหนี้ระดับชุมชน แก้หนี้ออนไลน์ด้วยแอปฯหมอเงิน เชื่อมต่อเครือข่ายเพื่อสร้างแหล่งเงินทุนให้เข้าถึงได้ มีหมอหนี้ส่วนตัว เจรจาไกล่เกลี่ย ให้คำปรึกษา สร้างแผนฟื้นฟูหนี้
5. มิติสาธารณสุข : wellness ยิ่งใหญ่ คนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้าเท่าเทียม
นโยบาย : แฮกกองทุนประกันสังคม ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อประชาชนทุกคน
พรรคที่ซื้อ : ประชาธิปัตย์, เพื่อไทย
ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ การเข้าถึงการรักษาที่ไม่เท่าเทียม เกิดจากการที่ประเทศไทยมีกองทุนสิทธิ์สุขภาพ จำนวน 3 กองทุน คือบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ โดยกลุ่มผู้ประกันตน ในกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องจ่ายเงินเพื่อสิทธิ์ในการรักษาสุขภาพ ขณะที่สิทธิ์บัตรทอง และข้าราชการไม่ต้องจ่ายเงิน ทำให้ผู้ใช้สิทธิ์รักษาสุขภาพในระบบประกันสังคม เสียเปรียบเมื่อเทียบกับผู้ใช้สิทธิ์การรักษาอื่น โดยเฉพาะบัตรทองซึ่งพัฒนาสิทธิประโยชน์ไปมากกว่าผู้ประกันตนแล้ว และมีข้อจำกัดในการรักษาน้อยกว่าประกันสังคมซึ่งต้องไปรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ์ ในขณะที่บัตรทองพัฒนาไปสู่การรักษาพยาบาลทุกที่
สำหรับแนวทางที่นำไปสู่การแฮกกองทุนประกันสังคม คือ 1. แก้กฎหมายประกันสังคม ดึงสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลมาอยู่กับบัตรทอง ส่วนงบฯ สมทบอาจลดลง หรือเท่าเดิม ที่คงสิทธิประโยชน์ชดเชยการว่างงาน และบำนาญหลังเกษียณมากขึ้น 2. เกลี่ยงบประมาณส่วนอื่น ๆ มาใช้กับการลงทุนด้านสุขภาพ เช่น งดซื้อเรือดำน้ำ อาวุธ เก็บภาษีสุขภาพ เงินจากกองทุนสลากกินแบ่ง และภาษีเหล้า บุหรี่ เป็นต้น 3. ปรับ สิทธิประโยชน์ และการจ่ายให้เท่าเทียม และ 4. เชื่อมระบบเวชระเบียน ข้อมูลสุขภาพออนไลน์ข้ามสังกัด คลินิก/โรงพยาบาล
6. มิติสาธารณสุข : Active Aging : Oldy Health Society
นโยบาย : สูงวัยใจสะออน Active Aging : Oldy Health Society
พรรคที่ซื้อ : ชาติพัฒนากล้า, ไทยสร้างไทย
การก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุไทยอย่างมีคุณภาพในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยาก ทั้งเงินจากเบี้ยยังคนชรา การอาศัยอย่างโดดเดี่ยวในที่อาศัย ความปลอดภัย การเดินทาง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ไทยเข้าสูงสังคมสูงวัยสมบูรณ์ เท่ากับ 1 ใน 5 ของประชากรไทยกำลังจะอยู่ในความเสี่ยงแก่ จน เจ็บ ใน 4 ด้าน เศรษฐกิจ – กองทุนการออมส่วนบุคคลสำหรับสูงวัย (Elderly Future Fund : EFF) – มีรูปแบบการออมมาจากประชาชนใช้จ่าย 3% รัฐบาลสมทบ 3% เริ่มจ่าย 20 ใช้ 60 ปี เป็นทุนส่วนตัวไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและบริการทางสังคม สุขภาพ OTODS (One Tambon One Day Service) – หนึ่งตำบล หนึ่งหน่วยบริการ โดยอาศัยระบบบริการสุขภาพที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เพิ่มศักยภาพเป็นผู้ดูแลก่อนป่วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุโดดเดี่ยว สังคม PA (Personal Assistance) – ผู้ช่วยผู้สูงอายุ จัดตั้งหน่วยจัดการผู้ช่วยผู้สูงอายุ เพื่อฝึกงาน หารายได้ให้กับผู้สูงอายุ และสภาพแวดล้อม Aging in Place – ส่งเสริมสุขภาพดี ปลอดภัย อยู่ได้ด้วยตัวเอง ทั้งในบ้าน นอกบ้าน โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่
7. มิติสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด หยุด PM 2.5
นโยบาย : พื้นที่ปลอดภัยเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ป้องกันปากท้อง สุขภาพ
พรรคที่ซื้อ : ชาติไทยพัฒนา, เพื่อชาติ
วันนี้ลมหายใจอยู่ในเกณฑ์อันตรายมากจากฝุ่น PM 2.5 องค์การอนามัยโลกรายงานประมาณกว่า 7 ล้านคนที่กลายเป็นผู้ป่วยจากปัญหานี้ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข เพิ่งรายงานปีนี้ ภาคเหนือของไทยมีผู้ป่วย 1.5 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 แล้วถ้าประเมินในอนาคตเขาจะกลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง ในโลกอนาคต 5-10 ปี ที่เราต้องจ่ายค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลประมาณ 2 ล้านบาทต่อคน หรืองบประมาณมากถึง 3 แสนล้านบาท รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย และทำไมปัญหานี้ยังคงอยู่ รุนแรง เรื้อรังเพราะรัฐรวมศูนย์ ที่สำคัญคือรัฐไม่มีการกระจายอำนาจ แล้วไม่แตกประเด็นปัญหา ไม่เกาะติดสถานการณ์ ไม่พยายามให้มันเป็นการเกาะติดสถานการณ์ต่อเนื่อง มีแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไล่แจกหน้ากากอนามัย ประกาศปิดโรงเรียนในช่วงค่าฝุ่นสูง ไม่มีการวางแผนระยะยาว ไม่ประเมินความเสียหายทางสาธารณะสุขอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งเหล่านี้เราจึงอยากให้เรื่องราวการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญของคนรุ่นใหม่ด้วยเหมือนกัน
กลยุทธ์ที่เสนอ คือ 50/50 คือทุกคนปรารถนาให้ค่าคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายวันของประเทศทุกจังหวัดอยู่ที่ ค่าเฉลี่ย 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุก ๆ วัน แล้ว 50 ต่อไป คือ ค่าพื้นที่เผาไหม้ จะต้องลดลง 50% ในปีปัจจุบัน เพราะตอนนี้เราอยู่กับค่าคุณภาพอากาศเป็นสีแดงเกือบตลอดเวลาตลอดทั้งปี ถ้าเราพูดถึงขณะนี้ทุกภูมิภาคต่างเผชิญปัญหานี้ เพียงแต่แหล่งกำเนิดต่างกันเท่านั้น และปัญหาเหล่านี้อยู่ที่เศรษฐกิจ ถ้าหาทางออกทางเลือกแก้เศรษฐกิจได้ถูกต้อง ผลักดันปัญหานายทุน การศึกษา และกฎหมาย และทำให้เกิดการมีส่วนร่วมคือสิ่งสำคัญ เพราะไม่สามารถที่จะใช้แผนจากส่วนกลางหรือท๊อปดาวน์ได้ แต่ต้องมาจากการแก้ไขปัญหาจากพื้นที่พื้นถิ่น และการแก้ปัญหาฝุ่นข้างพรมแดนจะทำอย่างไรในกลุ่มอาเซียน จะทำอย่างไรไม่ใช่การเจรจาแค่เจรจา แต่ต้องเป็นรูปธรรมการปฏิบัติงาน จุดความร้อนมากที่สุดคือป่า เผาเกษตร เหล่านี้จะแก้อย่างไร
ทั้งนี้จึงเสนอกฎหมายอากาศสะอาดโดยอยากฝากทุกพรรคให้ผลักดัน ข้อเสนอนโยบายพื้นที่ปลอดภัยเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงแบ่งเป็นระยะสั้น กลาง ยาว ทั้งต้นทางและปลายทาง โดย “ต้นทาง” ระยะสั้น คือการจัดตั้งคณะทำงานการควบคุมตลอดทั้งปี เปลี่ยนพื้นที่เกษตรให้มีรายได้สูงขึ้น ผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด ให้ผู้ก่อมลพิษชดเชยใช้งบประมาณมาสนับสนุนเพื่อลดการเผา และลดไฟป่าในพื้นที่ต้นแบบ เพื่อเป็นแนวทางในพื้นที่อื่นต่อ ระยะยาว คือการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ลดฝุ่นข้ามพรมแดน สร้างกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ แก้ไขที่ทำกิน จัดตั้งสถาบันไฟป่า
สำหรับปลายทาง ระยะสั้น คือ ออกมาตรการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเร่งด่วน แก้ปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน การอุดหนุนเงินให้ประชาชนซื้ออุปกรณ์อยู่ในห้องปลอดฝุ่น ระยะกลาง ลงทุนด้านสุขภาพ ตรวจสุขภาพ ให้ประชาชนเช็คสุขภาพปอด ระยะยาว กระตุ้นให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ การเก็บภาษีการปล่อยมลพิษ ที่ก่อมลพิษสูง
8. มิติสิ่งแวดล้อม : เศรษฐกิจขยะ (Circular Economy)
นโยบาย : Thailand Zero Waste
พรรคที่ซื้อ : ไทยสร้างไทยสนใจ แต่โควต้าการซื้อตัวเองหมด นโยบายนี้เลยไม่มีคนซื้อ
Download เอกสารนำเสนอ
ประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นต่อปีไม่ต่ำกว่า ปีละ 25 ล้านตัน สามารถนำกลับเข้าสู่การจัดการหรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธีไม่ถึง 10 ล้านตันต่อปี และต้องใช้งบประมาณจัดการขยะถึงปีละ 2หมื่นล้านบาท จะทำอย่างไรให้นโยบายการจัดการขยะเป็นจริงไม่ใช่เพียงแค่การขายฝัน ทีมนี้จึงเสนอนโยบายผ่านแนวคิด 3 ประการ สร้างอาชีพ จ้างงาน ช่วยกันเก็บแยก ขายขยะ เอกชนร่วมรับผิดชอบเพื่อเปลี่ยนจากกำจัดเป็นการใช้ประโยชน์ ลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่กระบวนการผลิต ป้องกันการสร้างขยะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง เพิ่มการมีบทบาทของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่อยู่ในระบบหมุนเวียนจัดการขยะ ใครทิ้งขยะมากจ่ายมาก พร้อมกับให้ความรู้ความเข้าใจผลกระทบจากขยะ และส่งเสริมการนำขยะอินทรีย์ไปผลิตก๊าซธรรมชาติ ขณะเดียวกันให้รัฐกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติม บังคับไม่ใช้วัสดุฟุ่มเฟื่อย ส่งเสริมการใช้วัสดุรีไซเคิล ควบคู่กับการออกมาตรการจูงใจทางภาษี ลดภาษีให้ผู้ที่ออกแบบ ผู้ผลิตที่ยืดอายุการใช้งาน การใช้ซ้ำก่อนรีไซเคิล
9. มิติด้านการศึกษา : คนไทย 3 ภาษา
นโยบาย : พลิกไทย คนไทย 2+ หลายภาษา
พรรคที่ซื้อ : ก้าวไกล, เพื่อไทย
60% ของเด็กไทยอายุ 15 ปีมีปัญหาด้านการอ่านและความเข้าใจในภาษาไทย ขณะที่ไทยมีจำนวนภาษาชาติพันธ์ุที่ใช้อยู่ในประเทศขณะนี้มากถึง 70 ภาษา ส่วน 17% ของเด็กไทย ไม่ได้ใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษาแม่ และไทยอยู่ลำดับที่ 97 ของประเทศที่มีความสามารถทักษะภาษาอังกฤษจาก 111 ประเทศทั่วโลกที่ใช้ไม่ใช่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก
โดยเสนอนโยบาย “พลิกไทย คนไทย 2+ หลายภาษา” โดยเปลี่ยนการนิยาม 3 ภาษา จากภาษาอังกฤษ ภาษาจีนเป็น ภาษาแรกคือภาษาแม่ ภาษาที่สองทุกคนควรมีสิทธินิยามเองว่าเขาต้องการให้ภาษาอะไรเป็นภาษาสากลางสำหรับเขา และภาษาที่สามคือภาษาที่เขาสามารถนำไปทำหากินได้ โดยการส่งเสริมสนับสนุนนโยบายให้เกิดขึ้นได้ ผ่านกลไก ต่าง ๆ เช่น ให้มีศูนย์การเรียนรู้ – Support Learning City , Lifelong learner ความร่วมมือกับภาคเอกชน – Volunteer for Language & Culture,
หลักสูตรตรงกับอาชีพ ปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่น – ยืดหยุ่น+ออกแบบร่วมกับท้องถิ่น, พหุภาษา (Non native) ครู – เพิ่มจำนวน เพิ่มองค์ความรู้ครู upskill ครู, เพิ่มผลตอบแทนครู ค่าตอบแทน วิทยฐานะพิเศษ คูปองภาษา – เพิ่มโอกาสเข้าถึงภาษาทุกวัย, เชื่อมต่อสถาบันการศึกษา เมือง ท้องถิ่น เทียบโอนหน่วยกิต – ครูดูแลเด็กทั่วถึง, เด็กมีเวลาค้นหาตนเองมากขึ้น ,วัยทำงาน Upskill ระบบประเมินตรงกับบริบท – ต้นทุนต่ำ มีความแม่นยำ, ดึงเทคนิคเข้ามาช่วย ศูนย์เด็กเล็ก/อนุบาล 2 ภาษา – ยืดหยุ่น ออกแบบร่วมกับท้องถิ่น, พหุภาษา (Non native)
10. มิติ การศึกษา : ติดปีกครูไทย
นโยบาย : ตั้งสภาติดปีกครูไทย ปรับระบบ เปลี่ยนโรงเรียน
พรรคที่ซื้อ : ก้าวไกล, ชาติพัฒนากล้า
ปัจจุบันเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษามากกว่า 6.6 ล้านคน ไม่ได้รับโอกาสที่จะมีห้องเรียน ในปัจจุบันครูไทยถึง 94.6 % ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากการที่ซ้ำซ้อนการจัดการที่ไม่เป็นระบบ 59.7 % สอนมากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต่างพื้นที่ต่างพนักงานแต่เงินเดือนเท่ากัน และ 58 % ทำงานอื่นนอกเหนือจากการสอนมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งสิ่งนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าระบบและกลไกไม่เอื้อต่อการทำงานของครู
นอกเหนือจากนี้ครูต้องทำงานอื่นที่ซ้ำซ้อน เป็นงานที่อาจจะถูกส่งต่อมาจากกระทรวงแต่เป็นนโยบายที่ไม่เกิดผลประโยชน์ต่อผู้เรียน จึงนำไปสู่ข้อเสนอที่ให้เกิดขึ้น คือการปรับสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเพื่อให้เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงานของครูอย่างแท้จริง คาดว่าจะต้องอาศัยสามอย่างคือการ “ตั้ง ปรับ และ เปลี่ยน”
ตั้งสภาติดปีกครูไทย หรือการตั้งองค์กรขึ้นมา ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับทางด้านนี้หรือแม้กระทั่งหน่วยงานที่ทำเรื่องการศึกษาอยู่แล้ว และดึงภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องและให้องค์กรนี้ เป็นส่วนช่วยในการผลักดันนโยบายและผลักดันให้เกิดการกระจายไปสู่การจัดการระบบได้จริง ปรับระบบกระจายอำนาจสู่โรงเรียนจะต้องปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการออกแบบให้ตอบโจทย์ต่อสิ่งที่พื้นที่ต้องการอย่างแท้จริงเพื่อให้ครูเป็นครูอย่างแท้จริง
•Reduced Workload ลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนมากเกินควร ปรับให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
•Proper Pay การจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการทำงานของครู
•Counselling Service การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของครู
•Data Centric การมีแหล่งรวมข้อมูลที่จะสามารถนำมาต่อยอดวิเคราะห์
และสุดท้าย เปลี่ยนโรงเรียน (School Tranformation )ให้โรงเรียนมีอิสระสามารถคิดและสร้างกระบวนการและหลักสูตรของตัวเองได้ Collective Vision นำวิสัยทัศน์ของครู นักเรียน และผู้บริหาร มารวมกันเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นกลางและเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่จะสามารถนำกระบวนการไปใช้ได้ นำวิสัยทัศน์ของครูนักเรียนและผู้บริหาร
EdTech นวัตกรรมทางการศึกษาสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้ก้าวหน้า และกระบวนการสอนของครู ที่จะสร้างผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงกระบวนการจากนักวิจัย นักพัฒนาที่สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นกระบวนการให้ครูและโรงเรียนได้นำเอาสิ่งที่ได้จากแหล่งข้อมูลไปใช้ได้จริง
11. มิติด้านรัฐ ระบบราชการ : รัฐของกลุ่มคนที่หลากหลาย
นโยบาย : สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติ
พรรคที่ซื้อ : พรรคเพื่อชาติ เพื่อไทย
ประเทศไทยมีคนพิการ 2 ล้านคน ผู้มีความหลากหลายทางเพศ 6 ล้านคน และกลุ่มชาติพันธุ์ 7 ล้านคน รวมประชากร 25 % ของประเทศ แต่กลับถูกมองเป็นคนอื่น เป็นภาระ ทั้งที่ความจริงแล้ว ความหลากหลายเป็นศักยภาพ แต่เรากลับไม่ได้รับความเท่าเทียม สำคัญจึงต้องตั้งสภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติเพื่อทุกคน
ทางกลุ่มเห็นว่า ทุกอัตลักษณ์ที่หลากหลายได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และมีอำนาจในการร่วมกำหนดนโยบายและงบประมาณแผ่นดิน จะได้เป็นพลเมืองเท่ากัน ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมและเป็นธรรม
โดยข้อเสนอคือ มี “สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติ” ต้องมีตัวแทนเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมี ส.ว.ที่มาจากคนกลุ่มหลากหลายโดยวิธีประชาธิปไตย และกำหนดให้สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ (เช่นเดียวกับ กสทช.) มีบทบัญญัติว่าหากหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามมติของสภาฯ จะต้องรับผิดชอบทางการเมือง เช่น การถอดออกจากตำแหน่งทางการเมือง หรือส่งให้ปปช.ตรวจสอบและส่งฟ้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
โดยในส่วนของกิจกรรม เสนอเรื่องที่จำเป็นต้องมีดังนี้
- ต้องมีการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่อง “สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติ”
- ส่งคนเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.
- ยกเลิก ทบทวน กฎหมายที่กีดกันและกดทับคนหลากหลาย
- ออกกฎหมายที่ส่งเสริมความหลากหลาย
ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยกลไกของเครือข่ายความหลากหลาย กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เครือข่ายนักวิชาการ และพรรคการเมือง โดยมีเงื่อนไขดังนี้ – เกิดการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม – การจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งต้องเป็นไปตามหลักการที่ได้รับการยอมรับโดยสากล – เพื่อให้มีกระบวนการตรวจสอบนโยบายจากภาคประชาชน ต้องมีการทบทวน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน, พ.ร.บ.คอมฯ โดยยกเลิกเนื้อหาที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
12. โครงสร้างรัฐ ระบบราชการ – หัวข้อ “รัฐทันสมัย โปร่งใส ไร้คอร์รัปชัน”
นโยบาย : หยุดผลาญงบประมาณชาติ เปิดพรมเก็บกวาด ประชาชนมีส่วนร่วม (Teranspirency & efficiency)
พรรคที่ซื้อ : ทุกพรรค
Download เอกสารนำเสนอ
ปัญหาที่เกิดขึ้น 1. การคอร์รัปชัน การผูกขาด การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง 2.งบประมาณรัฐถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ 3. หวงแหนอำนาจ ขาดการกระจายอำนาจ 4. ประชาชนขาดการทีส่วนร่วม ในการเสนอ ติดตาม ตรวจสอบ 5. การบริการประชาชนเชื่องช้า ซ้ำซ้อน จำกัดเวลา 6. ขาดการกำกับดูแลภาพรวม ในการขับเคลื่อน e-Governance 7. ขาดเครื่องมือประเมิน ค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐที่เหมาะสม 8. ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าที่จะต่อรองกับอำนาจรัฐ 9. ความเคยชิน “ใคร ๆ เขาก็ทำกัน” “เขาก็ทำกันแบบนี้” ก็ทำตามกันเป็นระเบียบปฏิบัติ
สิ่งที่อยากเห็น ใช้กลไกรัฐสภาในการอภิปรายว่าที่รัฐมนตรี ก่อนเข้ารับตำแหน่ง, ผู้บริหารการเปลี่ยนแปลง ระดับรองนายกฯ CIO/CDO/CTO, White Paper + checklist + Bookmark, เพิ่มทักษะ service mind /digital literacy ให้แก่ภาคประชาชน และบุคคลากรรัฐ, ปลูกฝังค่าสำนึก สร้างบทบาทประชาชน ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดี, สร้างเครื่องมือ ประเมินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐให้เหมาะสม
เปลี่ยนรัฐ 8/5 เป็น รัฐ 24/7 ปรับกระบวนการทำงานให้ทันสมัย โปร่งใส มีประสิทธิภาพ e-Governance, ขยายเวลาการให้บริการของภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน, มีช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่าน gov-touchpoint, สร้างบริการที่อำนวยความสะดวก รวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่าย, มีการออกแบบบริการภาครัฐ UC/UI แห่งชาติ, ประชาชนสามารถ เสนอแนะ ร้องเรียน ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลได้
ชม Hack Thailand 2575 ปฏิบัติการ 48 ชม. พลิกโฉมประเทศไทย หลังเลือกตั้ง | 20 เม.ย. 66