ในวันที่ก้าวเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ แสดงความเชื่อมั่นว่า
“การศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”
พร้อมยกตัวอย่างถึงตัวเอง ว่า เป็นหนึ่งในผลผลิตจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศ และคว้าทุนเรียนต่อต่างประเทศได้ ด้วยคะแนนที่เหนือกว่านักเรียนนานาชาติ จึงไม่เห็นด้วยว่าการศึกษาไทยด้อยกว่าประเทศอื่น

ถึงแม้ว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าว สะท้อนถึงความเชื่อมั่นส่วนบุคคลของผู้กุมบังเหียนนโยบายการศึกษาไทย แต่เมื่อพิจารณาในเชิงตรรกะ อาจเป็นการให้เหตุผลแบบอุปนัยที่บกพร่อง หรือ ตรรกะวิบัติ (Fallacy) อยู่หลายประการ เช่น
- การสรุปเหมารวม (Hasty Generalization) : การนำประสบการณ์ส่วนตัวเพียงกรณีมาสรุปภาพรวมของทั้งระบบการศึกษา ถือเป็นการอุปนัยที่บกพร่อง เพราะข้อมูลส่วนบุคคลไม่อาจสะท้อนสภาพของระบบทั้งหมดได้
- การใช้เรื่องเล่าส่วนตัวแทนข้อเท็จจริง (Anecdotal Fallacy) : การยึดประสบการณ์ของตนเป็นหลักฐาน โดยไม่พิจารณาข้อมูลเชิงระบบ สถิติ หรือการประเมินผลในภาพรวม ย่อมไม่อาจใช้แทนดัชนีวัดคุณภาพหรือความเท่าเทียมทางการศึกษาได้
- อคติจากการมองเฉพาะผู้รอดชีวิต (Survivorship Bias) : การหยิบยกตัวอย่างผู้ที่ “ผ่านระบบมาได้” โดยละเลยเสียงของผู้ที่หลุดออกจากระบบหรือไม่ได้รับโอกาส ย่อมไม่สะท้อนความเป็นจริง ที่ยังมีเด็กจำนวนมากอยู่นอกระบบการศึกษา และไม่อาจจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ได้
ถึงจะฟังแล้วไม่ขึ้นหูนัก ก็ไม่เป็นไร The Active ชวนคิดใหม่ ว่าประโยค “การศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” ที่ได้บอกไปอาจไม่ใช่ประโยคบอกเล่า แต่นี่อาจเป็นประโยคคำถาม ที่ต้องการคำตอบ
แท้จริงแล้ว การศึกษาของประเทศไทย เราไม่แพ้ใครบ้าง ? เพราะเราเชื่อว่าการศึกษาที่ดีที่สุดไม่มีอยู่จริง ไม่มีการศึกษาที่ชนะทุกคนไปตลอด มีแต่การศึกษาที่เราต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ และจะพัฒนาการศึกษาไปได้ ก็ต่อเมื่อยอมรับถึงปัญหา มองเห็นว่าศักยภาพของเราอยู่ ณ จุดใดบนเวทีโลก ไม่เช่นนั้น เราจะไม่อาจพาการศึกษาไทยไปสู่คุณภาพที่ดีขึ้นได้

PISA 2022 บอกว่า “แค่ชนะตัวเองยังทำไม่ได้”
ก่อนจะไปดูผลคะแนน PISA เราอยากชวนทำความเข้าใจว่า การสอบ PISA คืออะไร ?
PISA คือ การสอบที่จำลองสถานการณ์จริง เพื่อวัดความสามารถของนักเรียนในการคิด วิเคราะห์ และประยุกต์ใช้ความรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง โดยจัดสอบในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากข้อสอบแล้ว PISA ยังสำรวจข้อมูลพื้นฐานของนักเรียน เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ สุขภาพกายและใจ ภาวะโภชนาการ ความสัมพันธ์ทางสังคม จำนวนชั่วโมงเรียน ตลอดจนสิทธิ เสรีภาพ และสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ภายในโรงเรียน ซึ่งล้วนมีผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งสิ้น
ข้อสอบ PISA จึงไม่ใช่ข้อสอบวัดความสามารถเด็ก
แต่เป็นข้อสอบวัดคุณภาพการศึกษา
ทว่า ผลการประเมิน PISA ในรอบล่าสุด คะแนนของเด็กไทยต่ำลงมากที่สุดในรอบ 20 ปี กล่าวคือ แค่เทียบคะแนนกับตัวเองก็พบแล้วว่า คุณภาพการศึกษาไม่ได้พัฒนาขึ้น โดยอยู่ในอันดับครึ่งล่างทั้งในระดับโลกและอาเซียน และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่ม OECD อย่างชัดเจน โดยคะแนนเฉลี่ยของไทย คือ การอ่าน 379 คะแนน (อันดับ 58 จาก 81), คณิตศาสตร์ 394 คะแนน (อันดับ 64), และวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน (อันดับ 58)
การวิเคราะห์เชิงลึก พบว่า การทดสอบ PISA ตั้งแต่ครั้งแรก (ปี 2000) จนถึงครั้งล่าสุด (ปี 2022) เด็กไทยส่วนใหญ่ ไม่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้ดีเท่าที่ควร สัดส่วนเด็กไทยที่ไม่สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่ซับซ้อนได้ (ระดับต่ำกว่า 2) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกินครึ่งของเด็กไทยทั้งหมด เช่น เด็กไทยถึง 68% ได้คะแนนคณิตศาสตร์ต่ำกว่า Level 2 (เทียบกับค่าเฉลี่ย OECD ที่ 31%) ขณะที่ด้านการอ่านมีถึง 65% และด้านวิทยาศาสตร์ 53% อยู่ต่ำกว่าระดับดังกล่าวเช่นกัน ขณะเดียวกันมีเพียงนักเรียนไทยส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถทำคะแนนในระดับสูงกว่า Level 5 สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำภายในระบบการศึกษา
นักเรียนไทย 1 ใน 3 (33%) อยู่ในกลุ่มที่ยากจนที่สุด และถือว่าเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดด้วยเมื่อเทียบกับระดับเศรษฐฐานะอื่น และนักเรียนกลุ่มนี้ได้คะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ยเพียง 375 คะแนน ต่ำกว่ากลุ่มเดียวกันในประเทศอย่างเวียดนามและตุรกีที่มีแนวโน้มได้คะแนนสูงกว่า
จากการวิเคราะห์ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อพิจารณาข้อมูลโรงเรียนไทยที่เข้าร่วมการสอบ PISA 2022 พบว่า โรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรมีแนวโน้มที่นักเรียนจะได้คะแนนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนที่มีครูไม่เพียงพอ หรือขาดอุปกรณ์การเรียนและสื่อการสอน ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนลดลงอย่างชัดเจน
นี่จึงกลายเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสำคัญจาก กสศ. ว่า หากต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรลงสู่ห้องเรียนและกระบวนการเรียนรู้ให้มากขึ้น โดยการเปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถทำได้จริง

PISA 2022 บอกว่า
“เด็กไทยพร้อมพัฒนามีมาก แต่ขึ้นอยู่กับการลงทุนของรัฐ”
ข่าวดีคือ แม้เด็กไทยจำนวนไม่น้อยจะเติบโตท่ามกลางเงื่อนไขชีวิตที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ผลการประเมิน PISA 2022 กลับพบว่า มีเด็กด้อยโอกาสถึง 15% ที่สามารถทำคะแนนด้านคณิตศาสตร์ได้ในระดับท็อป ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD และอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก
เด็กกลุ่มนี้ได้รับการขนานนามว่า ‘เด็กช้างเผือก’ หรือในทางวิชาการเรียกว่า Resilient Students ขณะที่ PISA Thailand ให้นิยามไว้ว่า ‘นักเรียนที่ไม่ย่อท้อทางการศึกษา’ จุดร่วมสำคัญที่พวกเขามีคือ กรอบความคิดแบบเติบโต หรือ Growth Mindset ที่เด่นชัดกว่านักเรียนที่มีฐานะดีกว่า สะท้อนถึงความพยายาม ความเชื่อมั่นในศักยภาพตนเอง และความไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยกลับต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา หลังจบชั้น ม.3 ด้วยข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์
ผลการประเมิน PISA รอบล่าสุด ยังชี้ว่า ระบบการศึกษาไทยสามารถพัฒนาเด็กในระดับสูงได้ หากมีนโยบายที่เหมาะสม เพราะโรงเรียนวิทยาศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตบางแห่งสามารถทำคะแนนได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ขณะที่กลุ่มโรงเรียนทั่วไปยังคงมีคะแนนต่ำกว่า
กล่าวคือ เด็กไทยสามารถไปไกลกว่านี้ได้ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยรัฐมีหน้าที่ยกระดับคุณภาพและความเท่าเทียมของการศึกษาทั่วประเทศ ถ้าทำได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้แข่งขันได้ในระดับสากล
เด็กช้างเผือกบางคนมีผลการเรียนเฉลี่ยสูงกว่าเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ดีที่สุดของประเทศเสียอีก หากเด็กกลุ่มนี้ได้รับโอกาสในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น พวกเขาย่อมมีศักยภาพที่จะพาครอบครัวหลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้ภายในชั่วรุ่นเดียว
ด้วยเหตุนี้ เราไม่สามารถทำแค่รอให้เด็กเหล่านี้ก้าวเข้ามาในระบบ แต่ต้องเป็นฝ่ายออกไป ‘ค้นหา’ ให้พบ พร้อมออกแบบระบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น และตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะตัวของพวกเขาอย่างแท้จริง เพราะในบริบทที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะที่อัตราการเกิดลดลงทุกปี การไม่ใช้ศักยภาพของเด็กทุกคนอย่างเต็มที่ คือ การสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อย่างน่าเสียดาย

PISA 2022 บอกว่า
“การใช้เงินมากกว่าใคร ไม่ได้นำไปสู่การศึกษาที่มีคุณภาพเสมอไป”
เพื่อสะท้อนผลลัพธ์การวัดผล PISA ในปี 2022 (ปี 2565) ชวนย้อนมองรายงานสถานการณ์รายจ่ายด้านการศึกษาไทยในช่วงปี 2551 – 2561 พบว่า ประเทศไทยได้เพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีการลงทุนสูงถึง 8 แสนล้านบาท คิดเป็น 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่ม OECD ที่อยู่ที่ 4.9% ของ GDP นอกจากนี้ งบฯ การศึกษายังคิดเป็นกว่า 20% ของงบประมาณแผ่นดินต่อปี และเป็นสัดส่วนสูงสุดมาตลอดนับตั้งแต่เริ่มแผนปฏิรูปการศึกษาในปี 2542
อย่างไรก็ตาม รายงานจาก PISA ชี้ชัดว่า การลงทุนด้านการศึกษา ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป สำหรับประเทศที่ใช้งบประมาณสะสมด้านการศึกษาต่อเด็กแต่ละคนตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.3 น้อยกว่า 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มว่า ยิ่งใช้เงินมาก คะแนน PISA ด้านคณิตศาสตร์ก็ยิ่งดีขึ้น แต่ในกลุ่มประเทศที่ใช้งบมากกว่า 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ พบว่า วิธีการใช้เงินสำคัญกว่าปริมาณเงินที่ลงทุน กล่าวคือ รัฐต้องใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพถึงจะส่งผลต่อคุณภาพนักเรียน
แม้จำนวนนักเรียนไทยจะลดลงจากปัญหาอัตราการเกิดต่ำ ขณะที่จำนวนบัณฑิตครูจบใหม่เพิ่มขึ้น แต่ PISA 2022 กลับพบว่า 43% ของนักเรียนไทย ยังเรียนอยู่ในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู และอีก 16% อยู่ในโรงเรียนที่ครูไม่มีคุณภาพหรือคุณสมบัติไม่เหมาะสม ซึ่งตัวเลขเหล่านี้แย่ลงเมื่อเทียบกับปี 2018 ส่วนหนึ่งของปัญหานี้มาจากเกณฑ์กำหนดอัตรากำลังครูของ ก.ค.ศ. เช่น อัตราส่วนครู 1 คนต่อนักเรียน 25 คน ในระดับประถม สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนเกิน 121 คน ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ความเป็นจริงในพื้นที่บางแห่ง ขณะที่ข้อมูลจากหลายประเทศยังชี้ว่า นักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนซึ่งมีปัญหาครูไม่พอ มักได้คะแนนคณิตศาสตร์ต่ำกว่านักเรียนที่มีครูครบถ้วน
แม้กระทรวงศึกษาธิการจะได้รับงบประมาณสูงสุดเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่น ๆ แต่เมื่อดูในรายละเอียด กลับพบว่า เม็ดเงินกว่า 80% ถูกใช้ไปกับเงินเดือนบุคลากรและการจ้างครู ส่วนงบฯ ที่ตกถึงตัวผู้เรียนโดยตรงมีอยู่น้อยมาก ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กมากกว่า 10,000 แห่ง หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโรงเรียนทั้งหมด ที่ยังเผชิญปัญหาไม่มีครูสอนประจำชั้น ขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ ทำให้โรงเรียนเหล่านี้ไม่สามารถทำหน้าที่พัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างเต็มที่
นอกจากเรื่องงบประมาณ ยังมีมิติด้านการบริหารจัดการที่ต้องพูดถึง จากข้อมูลบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษา พบว่า ประเทศไทยกระจายอำนาจด้านงบประมาณไปยังท้องถิ่นเพียง 16% ขณะที่หลายประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดี เช่น ฟินแลนด์ และสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนการกระจายงบให้ท้องถิ่นมากถึง 40% ซึ่งช่วยให้การบริหารการศึกษาในพื้นที่ตอบโจทย์ปัญหาเฉพาะถิ่นได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มที่มีการกระจายทรัพยากรการศึกษาน้อยมาก ใกล้เคียงกับประเทศในละตินอเมริกา ต่างจากเวียดนาม สิงคโปร์ หรือประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ที่กระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง จนทำให้โรงเรียนใกล้บ้านมีคุณภาพไม่ต่างกัน ไม่จำเป็นต้องย้ายโรงเรียนเพื่อหาคุณภาพที่ดีกว่า หากประเทศไทยต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษา จำเป็นต้องเร่งปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรและกระจายอำนาจให้มากขึ้น เพื่อให้ทุกพื้นที่สามารถบริหารจัดการและพัฒนาการศึกษาได้ตรงตามบริบทของตนเอง

“การศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”
PISA 2022 ไม่ได้บอก!!
ไม่ว่าการศึกษาไทยจะแพ้หรือชนะใครบนเวทีโลก อาจไม่ใช่คำถามสำคัญที่สุดในเวลานี้ เพราะความเป็นจริงตรงหน้าคือ เด็กและเยาวชนไทยกว่า 880,000 คนหลุดออกจากระบบการศึกษา, หลายคนไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรหรือประกอบอาชีพแบบไหน, เด็กกว่า 1.3 ล้านคน ยังใช้ชีวิตอยู่ในภาวะ “ยากจนพิเศษ” มีรายได้เฉลี่ยเพียง วันละ 37 บาท, และมีนักเรียนยากจนเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้น ที่สามารถเรียนต่อถึงระดับอุดมศึกษาได้
นี่คือความจริงที่ปรากฎตามตัวเลขสถิติของ กสศ. ซึ่งไม่ได้อ้างอิงตามกรอบประสบการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ที่ผ่านมา รัฐไทยยังคงเวียนวนกับการเชิดชูเด็กเรียนเก่ง มากกว่าให้ความสำคัญกับเด็กเรียนอ่อน เรายังคงติดหล่มอยู่กับกับดักของความภูมิใจในความสำเร็จของเด็กเพียงไม่กี่คนในชาติที่เอาไปอวดนานาประเทศได้ และหลงลืมเด็กอีกเกือบล้านที่พยายามดิ้นรนให้ตัวเองและครอบครัวได้มีชีวิตที่ดีกว่า
ถ้าการศึกษาที่ไม่แพ้ใครในโลก ทิ้งให้ผู้แพ้จากระบบการศึกษาอยู่เบื้องหลัง เช่นนั้นแล้ว เราจะมีระบบการศึกษาเช่นนี้ไปเพื่ออะไร ?
การวัดผลคุณภาพการศึกษาของ PISA จึงเป็นการมองภาพรวม นำบริบทปูมหลังของนักเรียนทุกเศรษฐฐานะมาคำนวณ เพื่อตอกย้ำว่า ระบบการศึกษาที่ดี ไม่ใช่การที่เด็กคนหนึ่งในโรงเรียนดังสอบได้คะแนนดี แต่ระบบการศึกษาที่ดี คือระบบที่ทำให้เด็กที่ยากจนตกขอบล่างสุดของสังคม ก็มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและช่วยส่งเขาเดินไปสู่ความฝันเท่าที่เขาจะจินตนาการได้ และการส่งเสริมให้ทุกฝันของเยาวชนเป็นจริงได้ คือหน้าที่ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งปวง
ตลอด 2 ปีภายใต้รัฐบาลสลายขั้ว
- การปฏิรูปการศึกษากลับชะงักงัน
- ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ยังไม่ถูกเสนอเข้าสภาฯ
- นโยบายลดภาระครู กลายเป็นคำสั่งให้ครูเขียนรายงานการลดภาระของตัวเอง
- การปฏิรูปหลักสูตรใหม่ยังเต็มไปด้วยความลังเลและคลุมเครือ
- สิทธิและความปลอดภัยของนักเรียนก็ยังถูกละเมิดอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผม การแต่งกาย หรือแม้กระทั่งความปลอดภัยในการเดินทางไปทัศนศึกษา
ทั้งหมดนี้เป็นแค่บางส่วน ที่สะท้อนผลพวงจากโครงสร้างนโยบายการศึกษาที่ไม่เคยถูกปฏิรูปจริงจัง เป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้น และถูกทิ้งไว้ โดยรัฐมนตรีแต่ละคนที่มาแล้วก็จากไป

การเชื่อว่า “การศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” ไม่ใช่เรื่องผิด ใคร ๆ ก็ต่างปรารถนาเห็นการศึกษาไทยที่ดีขึ้น แต่ความเชื่อที่มีผลกระทบต่อสังคมเช่นนี้ จำเป็นต้องมีความสมเหตุสมผล และอิงตามความเป็นจริงในภาพรวมมารองรับ
หากนโยบายด้านการศึกษาถูกกำหนดขึ้นจากความเชื่อที่ขาดตรรกะ อาจสะท้อนว่า ผู้กำหนดนโยบายมีความเข้าใจสภาพปัญหาการศึกษาไทยที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริงหรือไม่ ?
แล้วปัญหาการศึกษาที่แท้จริง จะได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดได้อย่างไร ?
ภายใต้การนำของ ‘เสมา 1’ ป้ายแดง นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการศึกษาไทยจากนี้ จะถูกขีดเส้น กำหนดทิศทางไปตรงไหนกันแน่ ?