ท่ามกลางกระแสการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลที่อาจจะยังไม่มีข้อสรุป ว่าสุดท้ายแล้วเราจะมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือไม่ และนโยบายที่ถูกเสนอใน MOU ทั้ง 23 เรื่องจะถูกผลักดันต่อหรือต้องถูกพับไป แต่หากเอาปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้เป็นรัฐบาล นโยบายที่เสนอโดยภาคประชาชนย่อมถูกคาดหวังว่าจะได้รับการขับเคลื่อนต่อ
ที่สำคัญ การฟังเสียงของประชาชน เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่พยายามจะไปให้ถึง นโยบายที่ประชาชนเป็นคนกำหนด เพื่อเลือกอนาคตตัวเอง The Active รวบรวมเสียงสะท้อนจากประชาชนคนภาคอีสาน ในเวที Post Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง สรุปในรูปแบบ Visual note
Post Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชนภาคอีสาน เวทีที่ 4 จัดโดยไทยพีบีเอสและภาคีเครือข่าย ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 66 เวทีนี้เป็นการใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จากเครือข่ายคนที่ทำงานในประเด็นต่าง ๆ ในสังคม ไม่ต่ำกว่า 60 คน ครอบคลุมทุกกลุ่มทั้งเพศ วัย อาชีพ ระดับการศึกษา และรายได้ ผ่านรูปแบบคำถามที่ชวนให้ประชาชนเลือกภาพฝันของประเทศในอนาคตที่ตัวเองอยากเห็นหลังการเลือกตั้งในอีก 10 ปี ข้างหน้า หรือ ปี 2575 ในประเด็นเศรษฐกิจ รายได้, รัฐราชการความมั่นคง, การศึกษาทักษะ,สุขภาพสาธารณสุข, สังคม พื้นที่การใช้ชีวิต, และสิ่งแวดล้อมรวบรวมรายละเอียดการพูดคุยต่าง ๆ ที่สำคัญหรือมีความชัดเจน ทั้งจากในวงสนทนาวงใหญ่และวงย่อยข้อความบนเวิร์ดคลาวด์ และข้อความบน Post it Note รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อการนำเสนอภาพที่ชัดเจนขึ้นตามบริบทของพื้นที่ ได้แก่
ด้านการศึกษา
1. การศึกษาที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง มีวิชาที่หลากหลาย เน้นพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัดและความสนใจ เช่น การศึกษานอกห้องเรียน ไม่จำกัดในห้องสี่เหลี่ยม / เด็กหันมาสนใจอาชีพทางเลือก เช่น เป็นยูทูบเบอร์ หรือขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น / เด็กบางคนไม่มีวิชาที่ชอบแต่ชอบ K-Pop และต้องการที่จะมีพื้นที่ในการประกอบกิจกรรมและแสดงความสามารถ
2. ครูมีทักษะรอบด้าน สามารถออกแบบแผนการสอนที่พัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวม และยึดโยงภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมมือกับชุมชนได้อย่างครบวงจร เช่น คุณครูที่เก่งมักอยู่ในชุมชน/ ครูในชุมชนปัจจุบันสามารถนำเอาภูมิปัญญามาประกอบการสอนได้ เช่นวิชาการงาน ไม่ใช่แค่ทำขนมธรรมดาซ้ำ ๆ แต่เป็นสูตรที่พัฒนาเอง เป็นการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น / คุณครูและผู้บริหารควรสนับสนุนในการสร้างทักษะคิดวิเคราะห์
3. การศึกษาที่พัฒนาและเข้าใจข้อจำกัดตามบริบทของพื้นที่ แก้ปัญหาผู้เรียนจากครอบครัวแหว่งกลาง พัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้มีมาตรฐานเป็นสากล และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น มีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลาจะได้รู้เท่าทันโลก เช่น รู้ทันมิจฉาชีพที่สามารถมาหลอกเราได้แม้เวลานอนอยู่เฉย ๆ / ปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง ผู้สูงอายุเลี้ยงดูบุตรหลานเพียงลำพัง ปัญหาในครอบครัวนั้นส่งผลให้เด็กเล็กมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับการพัฒนาการ / เด็กอีสานมีปัญหาไอคิวต่ำเฉลี่ย 94
ด้านสังคม (พื้นที่ / การใช้ชีวิต)
1. สังคมที่มีความสุข สามัคคี ไม่เหลื่อมล้ำ เคารพซึ่งกันและกัน มีหลักประกันมั่นคง รัฐมีนโยบายที่สอดคล้องกับแนวทางการจัดการของชุมชน เช่น มีความสุข อยู่เย็นเป็นสุข ม่วนชื่น สุขสบาย ยิ้มได้ / เมื่อเท่าเทียมแล้วจะเกิดความสามัคคี / เมื่อสามัคคีแล้วรวมกลุ่มกันได้แนวทางชัดเจน รัฐจะได้เอานโยบายมาขายเรา / ทำหมู่บ้านให้เป็นนิติบุคคล เจ็ดหมื่นกว่าหมู่บ้านคือประเทศไทย
2. สังคมที่มีคนรุ่นใหม่เป็นผู้นำ ให้อำนาจคนรุ่นใหม่ได้ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยี กลับมาพัฒนาบ้านเกิดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เช่น คนรุ่นใหม่ทันเทคโนโลยี /คนรุ่นใหม่มักมีศักยภาพ เป็นนักคิด และกำลังมองหาโอกาสในการลงมือทำ / คนรุ่นใหม่เป็นเมล็ดพันธุ์ / คนสูงวัยมีคนรุ่นใหม่เป็นความหวัง
3. สังคมที่ตื่นรู้ ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดและติดตามนโยบายต่าง ๆ เท่าทันโลก มีความรู้และความเข้าใจเรื่องสิทธิหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง เช่น ชุมชนเปิดกว้าง / ติดตามนโยบายว่าทำได้จริงไหม / สมาชิกมีความรู้ว่าการกระจายอำนาจดีอย่างไร
ด้านเศรษฐกิจ
1. รัฐบริหารจัดการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและตรงจุด เกิดการกระจายรายได้ ลดปัญหาหนี้สินภาษีได้รับการบริหารจัดการอย่างเป็นธรรม สามารถนำมาแก้ปัญหาได้จริง เช่น มีการจัดการปัญหาให้ฟื้นตัว เช่น การฟื้นจากเศรษฐกิจช่วงโควิด / สถิติและตัวเลขต่าง ๆ จัดเก็บเพื่อให้นำไปสู่การแก้ปัญหาและใช้ได้จริงในแต่ละส่วน ไม่ใช่แค่การหาค่าเฉลี่ย / พัฒนาด้าน GDP และอัตราส่วนรายได้ต่อหนี้สิน / ผู้นำกล้าแก้ปัญหา / ความเหลื่อมล้ำช่วงต้มยำกุ้ง 40 ทำให้นักธุรกิจรายย่อยล้ม รายใหญ่ทำกำไร กระจุกตัวอยู่กับคนฝั่งเดียว หากแก้ไม่ได้ประเทศจะล้มละลาย และคน 90% จะมีหนี้
2. ท้องถิ่นมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีจัดการตนเอง เกิดโมเดลธุรกิจชุมชน ผลิตสินค้าและบริการมาตรฐานสากล ผ่านกลไกลทางการตลาดที่หลากหลาย โดยรัฐช่วยผลักดันนำแนวทางที่สำเร็จไปปรับใช้ และสนับสนุนงบประมาณต่อยอด เช่น โมเดลธุรกิจท้องถิ่น / เศรษฐกิจพึ่งตนเอง / ประชาชนได้ผลประโยชน์จากการเกษตร / ชุมชนมีการรวมตัวกันผลิตสินค้าทางการเกษตรเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอความช่วยเหลือ / ทำให้ผลผลิตมีมาตรฐานรองรับ สามารถสู้กับผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างชาติได้
3. ประชาชนมีความรู้และพื้นฐานทางการบริหารจัดการทางการเงินและการลงทุน ผู้คนมองเห็นโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจและอาชีพ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน เช่น มีการวางรากฐานด้านเศรษฐกิจให้ตั้งแต่วัยเยาว์ เยาวชน ครอบคลุมรอบด้าน ไม่ใช่แค่การอดออม แต่ต่อยอดไปถึงการลงทุนด้วย ชี้ให้ประชาชนเห็นโอกาสในการลงทุน จนสามารถวางแผนการเงินให้ตนเองยั่งยืนได้จนถึงช่วงชีวิตบั้นปลาย คนสูงวัยในวงนี้ เช่นผู้ใหญ่บ้าน มีแนวโน้มที่จะสิ้นหวังเมื่อเห็นตัวเลข Facts ด้านเศรษฐกิจในพื้นที่
ด้านความมั่นคงของรัฐ (รัฐ / ราชการ / ความมั่นคง)
เน้นการพูดถึงการกระจายอำนาจสู่คนท้องถิ่น คนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง โดยอาศัยความเข้าใจที่มีต่อบริบทท้องถิ่น เป็นส่วนที่เน้นย้ำบ่อยที่สุด ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบายทั้ง 3 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่
1. รัฐกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ภาษีท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะจุดได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งส่วนกลาง โดยมีผู้นำเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง เช่น เมื่อท้องถิ่นเรียนรู้ว่าประชาธิปไตยทำให้ท้องถิ่นดี เขาจะมองกว้างไปถึงระดับประเทศ/ มีการแบ่งสรรปันส่วนภาษีท้องถิ่นให้ถูกนำมาใช้พัฒนาท้องที่จริง ๆ / ท้องถิ่นมีงบประมาณในการดูแลตนเองไม่ต้องไปหารัฐกลาง เมื่อมีปัญหาสามารถติดต่อหน่วยงานท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ได้เลย / ชุมชนได้เทคแอคชั่นจริง ๆ เช่น การเก็บภาษีและการวางแนวทางนโยบายท้องถิ่น / ผู้นำชุมชนไม่ใช่แค่ผู้ส่งต่อข่าวสารของรัฐ แต่เป็นตัวแทนของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
2. รัฐมีนโยบายที่มุ่งเน้นชุมชนเข้มแข็งอย่างแท้จริง มีอุดมการณ์และกำหนดทิศทางในการพัฒนา ที่เน้นจัดการและป้องกันปัญหามากกว่าแก้ที่ปลายเหตุ มีความต่อเนื่อง วางโครงสร้างระยะยาว มีรายละเอียดการดำเนินการชัดเจน โดยสามารถปรับแผนให้เหมาะสมเท่าทันอยู่เสมอ เช่น การดำเนินการต่าง ๆ โปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่ใช่ใช้เพียงข้อมูลด้านตัวเลข / นโยบายไม่ผิวเผิน
3. รัฐมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดระบบอุปถัมภ์ โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบต้องทำงานเชิงรุกอย่างจริงจังและเป็นธรรม เช่น มีการตรวจสอบ เปิดโปง คอร์รัปชันอย่างจริงจัง / ฝ่ายปกครองถูกจัดตั้งด้วยความชอบธรรม สมาชิกเคารพความชอบธรรม / คนที่มีอำนาจไม่ได้เข้ามาด้วยเส้นสายหรือนามสกุล / ป้องกันคอร์รัปชัน เช่น หากฝ่ายปกครองเข้ามาด้วยการแจกเงิน เมื่อถึงเวลาทำงานเขาจะมุ่งถอนทุนคืนแก่ตนเอง และทำให้การพัฒนาไม่คืบหน้า
ด้านสุขภาพและสาธารณสุข
1. นโยบายที่เน้นการดูแลสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมสุขภาวะอย่างยั่งยืนตอบโจทย์กับบริบทในพื้นที่ เช่น คนเราเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องปกติ ทำอย่างไรจึงจะอยู่ได้? / ไม่เจ็บ ไม่จนอยู่ดีมีแฮง / นโยบายใส่ใจ Well-Being อย่างยั่งยืน / นโยบายเหมาะสมกับคนและพื้นที่นั้น ๆ
2. ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการงบประมาณด้วยตนเอง เพื่อกระจายสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม เช่น มีการวางโครงสร้างงบประมาณ มีหลักประกันว่าจะจัดงบประมาณให้ทุกปี ขณะที่ปัจจุบันได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างมีเงื่อนไข ยังไม่กระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่น
3. ชุมชนมีโครงสร้างและการจัดการชุมชนสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย มีการเตรียมพร้อมสำหรับ สังคมสูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพเช่น ปัจจุบันมีการสร้างชุมชนให้มาร่วมกันทำกิจกรรมแล้ว แต่อยากให้มันอยู่ในระดับโครงสร้างท้องถิ่น หมู่บ้าน เช่น กลุ่มคนมีปัญหาโรคประจำตัวเรื้อรัง
ด้านสิ่งแวดล้อม
1. มีการบริหารจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ และการรับมือแก้ปัญหาภัยพิบัติและมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ ปัญหาน้ำท่วม ฝุ่นควัน เน้นป้องกัน จากต้นเหตุ ผู้นำและเจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง เช่น การจัดการเรื่องน้ำที่ดี ซึ่งในปี 62-65 เสียหายมาก กระทบนาข้าวจึงอยากได้การป้องกันปัญหาไม่ใช่แก้ปัญหาปลายเหตุ / คนในพื้นที่เข้าใจปัญหาในระดับพื้นที่ดีที่สุด เช่น การก่อสร้างถนนที่ไม่ซ้ำเติมปัญหาน้ำท่วม นอกจากนั้นชาวบ้านยังมีการรับมือปัญหา เช่นถ่ายทอดสดสถานการณ์ที่โรงเรียน จนข่าวสารกระจายออกไปและได้รับความช่วยเหลือ อยากมีสื่อของประชาชนในพื้นที่
2. มีการจัดการทรัพยากรและที่ดินทำกินอย่างเป็นธรรม ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างทั่วถึงเท่าเทียม
เช่น เรา “รู้” อยู่แล้วว่าน้ำมันจะท่วม เพราะส่วนที่ท่วมเป็นฟลัดแอเรีย แต่ก็จำเป็นต้องมาอาศัยอยู่แถวนี้เพราะไม่อย่างนั้นจะมีที่ดินทำกิน มันเป็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำ / ต้องการให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรอย่างทั่วถึง
3. สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในพื้นที่ได้รับการดูแลและพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ
เช่น เมืองเป็นชายขอบแม่น้ำมูนเป็นฟลัดเวย์ ดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาบริหารจัดการปัญหาต้องมีความเข้าใจในภูมิประเทศ ขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในวงนี้คือปัญหาน้ำท่วม