สถานบริการยุติตั้งครรภ์ปลอดภัย 110 แห่ง อยู่ที่ไหนบ้าง

ยิ่งช้า ยิ่งไม่ปลอดภัย
แม้กฎหมายอนุญาตทำแท้งได้
…แต่ยังพบการถูกปฏิเสธ

เกือบ 2 ปีที่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานทำแท้งที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ให้หญิงตั้งครรภ์สามารถทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดอื่น ๆ  เอื้อประโยชน์ให้หญิงตั้งครรภ์สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัย โดยหญิงตั้งครรภ์และแพทย์ไม่มีความผิดตามกฎหมาย

ปัจจุบันมีสถานบริการสุขภาพทั้งรัฐและเอกชน 110 แห่ง ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศไทย ที่รับยุติการตั้งครรภ์แบบปลอดภัย โดยภาคใต้มีสถานบริการครอบคลุมมากที่สุดเกือบครบทุกจังหวัด

ในจำนวน 110 แห่งนี้ เป็นโรงพยาบาลรัฐมากที่สุด คือ 68 แห่ง รองลงมา คือ คลินิกเอกชน 32 แห่ง, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 6 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 4 แห่ง

หลายแห่งยังเป็นแบบมีเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเอง คือ แต่ละสถานบริการรับข้อบ่งชี้ตามกฎหมายทำแท้งไม่ครบทุกข้อ เช่น รับเฉพาะปัญหาสุขภาพกาย ตัวอ่อนในครรภ์พิการ การตั้งครรภ์จากความผิดทางเพศ หรือข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมาจากตัดสินใจของบุคลากรแต่ละแห่งเพื่อลดแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากทัศนคติของบุคลากรในโรงพยาบาล รวมถึงการงดส่งต่อข้ามเขต กรณีสถานบริการไม่ครอบคลุม และมีเพียง 24 แห่งเท่านั้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ โดยเกือบทั้งหมดเป็นคลินิก และมีโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ไม่สะดวกใจที่จะประชาสัมพันธ์บริการ เนื่องจากไม่ต้องการได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลทำแท้ง

สำหรับเงื่อนไขการให้บริการยุติตั้งครรภ์ในสถานบริการเหล่านี้ พบว่าส่วนใหญ่ให้บริการในอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ให้บริการให้อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และมีเพียง 7 แห่งที่รับได้ถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์

เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม พบกรณีหญิงถูกปฏิเสธเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์แบบปลอดภัย ตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้จนถึงเดือน ก.ค. 2565  ทั้งหมด 7 กรณี ในจำนวนนี้มี 3-4 กรณีที่เสี่ยงสูงจะได้รับอันตรายถึงชีวิต พร้อมยกตัวอย่างปัญหาและความทุกข์ใจของผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมคนหนึ่ง 

หญิงตั้งครรภ์คนนี้ โทรปรึกษา สายด่วน 1663 เพื่อต้องการยุติตั้งครรภ์ เนื่องจากฉีดยาคุมกำเนิดแต่ไม่ต่อเนื่อง มีบุตรมาแล้ว 2 คน เดิมทีเธอมีความคิดว่าจะตั้งครรภ์ต่อ แต่เมื่อพบว่าสามีไปมีหญิงอื่น จึงคิดว่าไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ประกอบกับแม่ของเธอเป็นผู้ป่วยฟอกไต ตนจึงต้องทำงานรับจ้างทุกอย่าง กรณีนี้ สายด่วน 1663 แนะนำให้เธอเข้ารับการอัลตราซาวนด์เพื่อทราบอายุครรภ์ ก่อนส่งต่อสถานบริการใกล้เคียง เนื่องจากในจังหวัดของเธอไม่มีสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ แต่โรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสุขภาพไม่รับอัลตราซาวนด์ให้ และไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงพอจะไปคลินิกเอกชน

เมื่อผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวไปราวครึ่งเดือน ยังไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงพอไปคลินิกเอกชน สายด่วน 1663 จึงประสานโรงพยาบาลในจังหวัดเดียวกัน ที่มีพยาบาลเครือข่ายอาสา RSA (Referral system for Safe abortion) พร้อมชำระค่าใช้จ่ายสำหรับทำอัลตราซาวนด์ไปก่อน 450 บาท ก็เมื่อพบว่าอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ จึงต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทั้งหมด ต้องขอสนับสนุนจากกองทุนเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม

“นี่เป็นเหตุผลที่หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมผู้หญิงหลายคนท้องไม่พร้อมแล้วไม่รีบ เพราะสถานบริการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ยังไม่ครอบคลุม หรือไม่ให้บริการตามสิทธิ จึงทำให้ผู้หญิงหลายคนถูกปฏิเสธ เมื่อเข้ารับบริการช้า เท่ากับอายุครรภ์ก็เพิ่มมากขึ้น หาสถานที่ยากขึ้น และใช้เงินมากขึ้น ซึ่งไม่ง่ายเลยกับผู้หญิงตัวคนเดียวในสถานการณ์แบบนี้”

วันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล (Safe Abortion Day) 28 ก.ย. 2565 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม และภาคีเครือข่ายมากกว่า 60 องค์กร ร่วมจัดกิจกรรมเสวนา พร้อมรณรงค์ภายใต้หัวข้อ ProVoice 9 : Abortion Rights, Health Rights, Human Rights and Democracy ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 20 – 28 ก.ย. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์