Soft Power ไทย ใต้รัฐบาลใหม่ เอาไงต่อ…

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ Soft Power อีกหนึ่งจุดขายของนโยบายการหาเสียง ของหลายพรรคการเมืองที่มีมูลค่ามหาศาลถึง 1.45 ล้านล้านบาทต่อปี จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2023 จัดทำโดย Brand Finance บริษัทจัดการกลยุทธ์เกี่ยวกับ Brand Positioning ได้จัดอันดับ ประเทศที่มี Soft Power ทรงพลังที่สุดในโลกทุกปี  ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 41 ของโลก ตกลงจากเดิมซึ่งได้ที่ 35 ในปี 2022 ถึง 6 อันดับ สะท้อนว่าแม้ไทยจะมีความโดดเด่นเรื่องอาหาร วัฒนธรรม มรดกทางประวัติศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนอัธยาศัยดี มีศิลปะการต่อสู้เลื่องชื่ออย่างมวยไทย แต่ก็มีจุดอ่อนในเรื่องการเมืองการปกครองและกฎหมาย

Brand Finance ให้คำจำกัดความ Soft Power ว่าหมายถึงความสามารถของแต่ละประเทศในการสร้างความพึงพอใจและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้อื่น แนวคิดนี้เน้นย้ำความสำคัญของการสร้างศักยภาพในการพิชิตใจผู้อื่น และเอาชนะด้วยการทำให้รัก เป็นผลให้ฝ่ายที่ถูกกระทำยอมมอบสิ่งต่าง ๆ ให้อย่างเต็มใจ ไม่ใช่ใช้กำลังบังคับ การสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลประกอบไปด้วย 8 ด้าน คือ 1. ด้านธุรกิจและการค้า 2. การเมืองการปกครอง 3. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 4. วัฒนธรรมและมรดก 5. สื่อและการสื่อสาร 6. การศึกษาและวิทยาศาสตร์ 7. ผู้คนและค่านิยม 8. อนาคตที่ยั่งยืน

Soft Power

ทั้งนี้ หากลองสำรวจนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของแต่ละพรรคการเมืองในช่วงการหาเสียงที่ผ่านมา แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงในประเด็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์รวมกว่า 25 ข้อ ครอบคลุม 13 ด้าน  (ข้อมูลที่พรรคการเมืองแจ้งกับ กกต.) โดยจะเห็นว่า นโยบายส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่เรื่องงบประมาณสนับสนุน และ อิสระ อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ อีกทั้ง นโยบายที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power กว่า ร้อยละ 64 กลับอยู่ที่ พรรคร่วมฝ่ายค้าน ขณะที่อีก 36 % เป็นนโยบาย Soft Power จากพรรคร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หากมองเฉพาะนโยบายของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะพบว่ามีนโยบายด้านนี้ 4 ประเด็น คือ

  • ส่งเสริมเทศกาลระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก
  • เทศกาล Pride ระดับโลก ไทยศูนย์กลาง LGBTQ+
  • กรุงเทพเมืองแฟชั่น
  • คุ้มครองสวัสดิภาพ สิทธิคนทํางานในกองถ่าย-แรงงานในธุรกิจสร้างสรรค์

ภายหลังการจัดวาง ครม. นโยบายเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับ 2 กระทรวง คือ กระทรวงวัฒนธรรม ที่มี เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ที่รัฐมนตรีว่าการ และ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ที่วางตัว สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล มานั่งเป็นเจ้ากระทรวง

ล่าสุด เสริมศักดิ์ ออกมาส่งสัญญาณเตรียมเดินหน้า นโยบาย One Family One Soft Power(OFOS) ที่จะยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้ให้แต่ละครอบครัว 20,000 บาท

นโยบายนี้เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยวางควบคู่ไปกับ THACCA ( Thailand Creative Content Agency ) ที่เป็นการสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่มี KOCCA โดยประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ฯ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 8 ด้าน คือ อาหาร, ดนตรี, ภาพยนตร์, หนังสือ, ศิลปะ, การออกแบบ/แฟชั่น, กีฬา และการท่องเที่ยว ด้วยการรื้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปลดปล่อยเสรีภาพทางความคิด สนับสนุนเงินทุนผ่านกองทุนรวม Soft Power ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

THACCA (ทักก้า) คืออะไร ผลักดัน Soft Power ไทยอย่างไรได้บ้าง?

  1. THACCA ดูทั้งระบบ จบที่เดียว เป็นเจ้าภาพหลัก ดูทั้งระบบเบ็ดเสร็จองค์กรเดียว ไม่ต้องประสานงานวิ่งหลายหน่วยงาน
  2. กองทุนรวมซอฟต์พาวเวอร์ รวมกองทุนที่กระจัดกระจายในหลายหน่วยงานให้อยู่ภายใต้การดูแลของ THACCA และเติมทุนให้ทุกสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ลดหย่อนภาษีสร้างแต้มต่อให้รายเล็กและรายใหม่
  3. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขยาย TCDC ครบทุกจังหวัด เพิ่ม Co-Working Space สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวด้วยระบบขนส่งมวลชน และลงทุนถนน ราง เรือ ขยายสนามบิน
  4. ยกระดับคนทำงานด้วย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) สร้างศูนย์บ่มเพาะเพื่อยกระดับศักยภาพสร้างสรรค์ทุกพื้นที่ เรียนฟรีมีเงินเดือนผ่านการเรียนไปทำงานไป สนับสนุนให้ตั้งสหภาพคนทำงานในทุกสาขา เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจ้างงานและคุ้มครองสวัสดิการ 
  5. รื้อกฎหมาย ทลายอุปสรรค เลิกงานเอกสาร ลดขั้นตอน ลัดเวลา ในการประสานงานและขอใบอนุญาตทุกฉบับ แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปลดล็อกสุราเสรี ปลดล็อกเวลาเปิดปิดธุรกิจกลางคืน กวาดล้างขบวนการรีดไถ่จ่ายส่วนให้หมดไป
  6. ปลดปล่อยเสรีภาพในการแสดงออก เลิกเซ็นเซอร์ เปิดพื้นที่แสดงออก ไม่ตีกรอบความคิดสร้างสรรค์
  7. เร่งผลักดัน 8 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป้าหมาย เร่งส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ เจรจาเปิดตลาดใหม่ ขยายขนาดอุตสาหกรรม สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วย Soft Power เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ว่าด้วย Soft Power ของประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในคณะกรรมการชุดนี้และมี  อุ๊งอิ๊ง-แพรทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน พร้อมด้วย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษา และมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นกรรมการ

ก่อนที่ อุ๊งอิ๊ง จะโพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า “ขอร่วมเป็นหนึ่งในทีม ที่จะปลดล็อกศักยภาพคนไทย ใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ความคิดสร้างสรรค์ และนโยบายจากรัฐร่วมกับภาคเอกชนเข้าไปช่วยกันผลักดันไปสู่เวทีโลก พาประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูงค่ะ”

ย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมา เสริมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ย้ำว่ากระทรวงวัฒนธรรมจะเน้นไปที่นโยบาย Soft Power เป็นนโยบายหลักที่จะแก้จนให้พี่น้องประชาชน เดิมทีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเรื่องของสังคม แต่ตอนนี้ต้องทำให้กระทรวงวัฒนธรรมมาเน้นในเรื่องเศรษฐกิจ ฉะนั้นจึงเป็นนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทยที่ระบุว่า ‘One Family One Soft Power’ ทำหน้าที่ควบคู่ไปกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเติมเงินในกระเป๋าให้แต่ละครอบครัวมีรายได้ถึง 20,000 บาท

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์และคำถามที่หลายคนสงสัยว่า แท้ที่จริงแล้วรัฐบาลเข้าใจ Soft Power ดีพอจริงหรือ ?

ด้าน รศ.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าแท้จริงแล้วคนไทยยังไม่รู้ว่าจริง ๆ Soft Power คืออะไร  ยังสบสนกับคำว่า Soft Power กับความภาคภูมิใจของชาติอยู่ อีกทั้งรัฐบาลพยายามนำเสนอความเป็นไทย โดยไม่คิดเลยว่า ลูกค้า ต้องการความเป็นไทยแบบนั้นไหม หรือเขาอยากได้ความเป็นไทยที่ป๊อปมากขึ้น ความเป็นไทยที่กินง่าย ย่อยง่ายมาก เราอาจจะต้องพูดถึง เอกลักษณ์ มากกว่า อัตลักษณ์

แต่การผลักดัน Soft Power  เริ่มได้จากทุกคนอย่าพุ่งเป้าเพียงแค่รัฐบาลทำเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเกิดว่าหวังพึ่งรัฐอย่างเดียว ปีงบประมาณหมด ซึ่งเราไม่รู้ว่างบประมาณปีหน้าจะต่อเนื่องหรือเปล่า? หรือเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จะสานต่อหรือไม่?

“อย่างกรณี มิลลิ (ดนุภา คณาธีรกุล) ที่สามารถขึ้นเวทีคอนเสิร์ตระดับโลกอย่าง Coachella 2022 ได้ และพยายามเอาความเป็นไทยร่วมสมัยอย่างข้าวเหนียวมะม่วงเข้าไป เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมาก แต่ว่าไม่ใช่ Soft Power นั่นคือปรากฏการณ์ที่คนแว๊บขึ้นมา คนอาจจะสนใจอยู่สัก 3-4 วันแล้วก็จบ การจะมี Soft Power ได้ จะต้องมียุทธศาสตร์ การจะมียุทธศาสตร์ได้ ต้องชัดว่าอะไรคือเป้าหมาย เราต้องการอะไรกันแน่ วิธีการดำเนินยุทธศาสตร์ ขั้นตอนเรียงลำดับ 1-2-3-4-5″ 

รศ.ปิติ ศรีแสงนาม

รศ.ดำรงค์ ฐานดี นักวิชาการอิสระ สาขาเกาหลีศึกษา มองว่า นโยบาย Soft Power ที่ออกมามีความหวังแน่นอน แต่การที่เราจะเรียก Soft Power แท้ที่จริงแล้วเจ้าของทฤษฎีอย่าง  โจเซฟ เอส นาย (Joseph S. Nye) พยายามที่จะขยายความ มองแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เป็นวัฒนธรรม ใช้สิ่งแวดล้อมอื่นๆนอกเหนือกำลัง  เช่น สหรัฐอยากให้เราเห็นดีงามก็ให้ทุน ส่งเงินให้ไปเรียน สุดท้าย หากสหรัฐฯ ต้องการอะไร เราอาจจะบอกว่า เห็นดีด้วยเพราะได้รับการช่วยเหลือ หรือได้รับการติดต่อด้วยวัฒนธรรม

แต่การแปลความหมายของคนบางกลุ่ม นักวิชาการ คิดว่า ภาพยนตร์ ละคร วัฒนธรรม ก็เป็น Soft Power ทั้งหมด โจเซฟ เอส นาย ไม่ได้ใช้คำว่าธุรกิจทางวัฒนธรรม  แต่คนอื่นมักเรียกอย่างเกาหลีใต้ที่ทำให้คนรัก-รู้จักเกาหลีใต้มากขึ้น นั่นทำให้ Soft Power ของเกาหลีใต้ มีผล มีอิทธิพลต่อประเทศไทย ยิ่งประเทศไทย อะไร ๆ ก็เกาหลี แล้วทำไมเราไม่ทำอย่างนี้บ้าง หันกลับมาประเทศไทยแท้จริงเราก็ส่งออกไปตั้งเยอะ แต่ว่ารัฐบาลเราอาจจะให้ความสำคัญน้อยไปและไม่ต่อเนื่อง เกาหลีใต้ให้ความสำคัญออกสื่อตลอดเวลา ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม เขาส่งออกให้เป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม 

“รัฐบาลไทยส่งเสริม Soft Power แต่ไม่มากเพราะมัวแต่ทะเลาะกันอยู่ ใครจะเป็นนายกฯ ใครนั่งตำแหน่งรัฐมนตรี มากกว่าจะเห็นคุณงามความดีของคนที่หาเงินเข้าประเทศ หรือคนสร้างชื่อเสียง สร้างภาพพจน์ให้กับประเทศ”

แม้อาหารไทยจะไปสร้างชื่อเสียง แต่ข่าวการเมืองดันกลบไปหมด สื่อมวลชนก็เขียนแต่ข่าวการเมือง ข่าวความขัดแย้ง เกาหลีใต้ ข่าวความขัดแย้งก็มี แต่จะมีข่าวความสำเร็จในประเทศเสมอ เมืองไทยมีศักยภาพไม่น้อยกว่าประเทศอื่น  แต่ต้องช่วยกัน ในอดีตตอนเกาหลีใต้ส่งซีรีส์มาที่ไทย เกาหลีใต้ส่งเงินให้ ทำสำรวจให้ช่วยปรับปรุง นักการทูตดูการเข้าถึง คนเกาหลีทุกคนชวนดูซีรีส์เสมอ  ทำให้ Soft Power เกาหลีโดดเด่น  มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยดึงเอาชาวต่างชาติเข้ามาร่วม เช่น การมี ลิซ่า  นอกจากจะได้ทั้งตลาด ทั้งเม็ดเงิน เป็นวาระแห่งชาติ แต่ไทยไม่มีวาระแห่งชาติในเรื่องนี้  เช่น กระทรวงวัฒนธรรมบอกว่าจะทำให้ Soft Power เอาเงินทุ่มทุนสร้างหนัง แม้จะได้รับความสำเร็จแต่การพูดถึงในหน่วยงานต่าง ๆ กลับไม่ค่อยมี  

นิสัยคนไทยส่วนหนึ่งก็คืออิจฉา ไม่สนับสนุนกัน นอกจากนี้ เงินงบประมาณที่ให้ไปผลิตได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่? งานจากหน่วยงานราชการมักจะมีการหักภาษี หักหัวคิว ว่าง่าย ๆ คนที่ทำลายการกระจาย Soft Power คือราชการ ตัวนักการเมืองเอง ไม่สนับสนุนแล้วยังหาผลประโยชน์ มองเพียงแต่ว่าตัวเองจะได้ผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างไร

“Soft Power ไทยทำได้ อาหารไทยมีชื่อเสียง นโยบายของรัฐบาลไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ดีหมด แต่เวลา ทำจริง งบประมาณเต็มเม็ดเต็มหน่วยไหม? ส่งเสริมจริงจังไหม? การสนับสนุนของรัฐบาล ปากพูดได้ นโยบายเขียนไว้อย่างสวยหรู ไม่ใช่แค่เพื่อไทย หรือพรรคร่วมรัฐบาลนี้ แต่ที่ผ่านมาทำได้ผลไหม? ถ้ารัฐบาลไม่ทำอาจก้าวหน้ากว่านี้ก็ได้” 

รศ.ดำรงค์ ฐานดี

ทำไม Soft Power ไทย ไปไม่ไกล เท่าเกาหลี

เทียบกับประเทศเกาหลีใต้ ฝ่ายการเมืองเปลี่ยน แต่ Soft Power ก็เดินหน้าต่อเนื่อง !

เกาหลีใต้ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พัคจุงฮี ในปี 1961 จนถึงตอนนี้ นโยบายคือทำอะไรก็ได้ให้ได้เงินเข้าประเทศ ฉะนั้นเขาก็จะใช้นโยบายการส่งออกเป็นหลัก ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะเป็นรัฐบาลอนุรักษ์นิยมหรือรัฐบาลเสรีนิยม แม้จะทะเลาะกัน การสร้างชื่อเสียง หาเงินตราเข้าประเทศ ถือเป็นหัวใจหลักของสังคม แม้ว่าจะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลไหน นโยบายเหล่านี้ก็จะไม่เปลี่ยน แต่ประเทศไทย รัฐบาลทหารจะสละความเจริญก้าวหน้าทางการค้าเพื่อความมั่นคง(ที่ไม่รู้เป็นของใคร)

นโยบาย Soft Power ที่ออกมา สะเปะสะปะ ?

ไม่สะเปะสะปะหรอก  อันนี้ก็ลอกเขามาเหมือนกัน แต่จะลอกหรือไม่ลอกไม่สำคัญ เกาหลีใต้ทำทุกอย่างเพื่อขาย ของเราแม้จะทำทุกอย่างเพื่อขาย แต่เราขายแล้วเงินหายไปไหน?  หลายคนมองว่ารัฐบาลไม่เข้าใจ Soft Power เพราะอยากให้การผลิตสื่อได้อย่างอิสระ แต่ติดปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์ แต่กองกองเซ็นเซอร์จำเป็นต้องมี  ต้องมีกรอบ เพื่อผลประโยชน์ ทางด้านวัฒนธรรม ศีลธรรม

จริง ๆ รัฐบาลไม่รู้เรื่อง Soft Power มากเท่าไหร่หรอก แค่เห่อตาม เราจะทำตามเกาหลีใต้ ประกาศเป็นนโยบายออกมา แต่พอทำก็ไม่ได้สนับสนุนจริงจัง 

รศ.ดำรงค์ ฐานดี

ทำยังไงให้ Soft Power ไทย ไปไกลได้กว่านี้

“รัฐบาลยุ่งเกี่ยวให้น้อยที่สุด ปล่อยให้เอกชนทำ ถ้าจะหนุน เน้นกองทุน ให้คนที่เป็นกลางหรือคนที่ไม่มีผลประโยชน์เข้ามาตัดสิน เข้ามาดูแล”

รศ.ดำรงค์ ฐานดี

อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์