แพทย์และนักระบาดวิทยา คิดอะไร ? ในวันที่นักคลื่นนักท่องเที่ยวจีนเตรียมเข้าไทย

หนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีนคือไทย ก่อนสถานการณ์ โควิด-19 ปี 2562 ไทยมีนักท่องเที่ยวจีนถึง 11 ล้านคน ขณะที่ในปี 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าที่จะมีนักท่องเที่ยวจีนถึง 5 ล้านคนต่อปี

ขณะที่สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในจีนมีผู้ติดเชื้อสะสมเฉลี่ยรายวัน 1 ล้านคน นำมาสู่ความกังวลของคนไทยว่าการไหลบ่าของนักท่องเที่ยวจีน จะทำให้โควิด-19 กลับมาระบาดขึ้นอีกระลอกหรือไม่ และระบบสาธารณสุขจะเตรียมพร้อมรองรับอย่างไร?

The Active ชวนอ่านความคิดเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และนักระบาดวิทยา ประเมินสถานการณ์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 8 มกราคม 2566 เมื่อจีนเปิดประเทศ 

ระบาด

“ปลัด สธ.” ขออย่ากังวล 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่อยากให้มีการตั้งข้อรังเกียจ หรือสงสัย เพราะการปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยก็จะเหมือนกัน ไม่ว่าจะเดินทางมาจากฝั่งตะวันตก หรือเดินทางมาจากประเทศในเอเชียก็ตาม สิ่งสำคัญคือคนไทยจะต้องรับวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค และยังคงต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ที่แออัด หรือมีผู้คนหนาแน่น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ใกล้จะเหมือนไข้หวัดทั่วไปแล้วโดยพบว่าการติดเชื้อในรอบสองอาการรุนแรงน้อยลง เหมือนกับไข้หวัดตามฤดูกาล เบื้องต้นพบว่าอาการไม่รุนแรง และอาการค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการติดเชื้อในรอบแรก

“หมอมนูญ”​ ชี้ถึงเวลาเลิกกลัวโควิด 

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า ข่าวดีรัฐบาลจีนผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 จีนยกเลิกมาตรการกักตัวนักเดินทาง เชื่อว่าอีกไม่นานจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาประเทศไทยเป็นหลักล้านคน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย

คนไทยไม่ต้องตื่นกลัวข่าวที่อาจมีเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ เกิดในประเทศจีน แล้วคนจีนเอาเชื้อมาแพร่กระจายในประเทศไทย เชื้อไวรัสโควิดมีการกลายพันธ์ุต่อเนื่อง เพื่อความอยู่รอดของตัวมัน สามารถเกิดขึ้นในประเทศไหนก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะประเทศจีน เราควรปฏิบัติกับนักท่องเที่ยวจีน ยินดีต้อนรับเขาเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ

“ถึงเวลาเราควรเลิกกลัวไวรัสโควิด เราต้องอยู่ร่วมกับโควิดอย่างมีสติ เตรียมตัวคนไทยเองให้ดี เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันโควิด ในอนาคตคงต้องฉีดวัคซีนหลาย ๆ สายพันธุ์ทุกปีเหมือนไข้หวัดใหญ่ สร้างสุขนิสัยที่ดี สวมหน้ากากอนามัย เวลาอยู่ในที่แออัดอากาศถ่ายเทไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวเองป่วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ” 

ต้องยอมรับว่า ถึงเราจะทำทุกอย่างก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ เพราะเชื้อไวรัสโควิดแพร่กระจายทางอากาศได้ง่ายกว่าไวรัสทุกชนิดในโลก ติดเชื้อหลัก ๆ ทางการหายใจ และหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าเกิดจากการได้รับวัคซีน หรือจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ เมื่อติดเชื้อก็รักษากันไป ข้อดีของการติดเชื้อคือ เกิดภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้มีภูมิคุ้มกันลูกผสม Hybrid Immunity ป้องกันโควิดได้ดียิ่งขึ้น

“หมอมานพ” แนะสุ่มตรวจ

ศ. นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล บอกว่า มาตรการบังคับหรือจำกัดการเดินทางนักท่องเที่ยวจีนเพื่อสะกัดการระบาดไม่สามารถทำได้ แต่การไม่ห้ามผู้เดินทางจากประเทศจีน ไม่ได้แปลว่าเราเปิดเสรีไปเลย ยังมีข้อที่เป็นห่วงกังวลสถานการณ์ในประเทศจีนไม่ค่อยดี ถ้ามองจากพื้นฐานที่อัตราการฉีดวัคซีนไม่เยอะโดยเฉพาะเข็มกระตุ้นวัคซีนที่ได้ประสิทธิภาพ รวมถึงลักษณะของการระบาดรอบนี้เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ซึ่งมีประชากรหนาแน่น

“มาตรการที่ดีควรจะเป็นมาตรการที่จะสุ่มตรวจมากกว่า ว่านักเดินทางที่มาจากประเทศจีนมีการติดเชื้อสักเท่าไหร่ ไม่จำเป็นต้องทุกราย แต่ว่าการสุ่มตรวจก็จะช่วยให้เราทราบว่าอัตราการติดเชื้ออยู่ที่เท่าไหร่ คนที่ตรวจเจอควรต้องมีการถอดรหัสเพื่อให้ทราบสายพันธุ์เพิ่มเติม จะช่วยสะท้อนเข้าคร่าว ๆ ว่าปัจจุบันจีนมีสายพันธุ์อะไรที่มีการระบาดอยู่” 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีผลบวกก่อน 48 ชั่วโมงที่ตรวจเชื้อจากประเทศต้นทางก็ตัดออกไปส่วนหนึ่ง แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นก็จะมีบางคนที่ผลตรวจ 48 ชั่วโมงก่อนหน้าอาจเป็นลบ แต่ว่าอาจจะมีการติดเชื้อช่วงก่อนที่จะเดินทางก็ได้ 

ศ.นพ.มานพ บอกว่าประโยชน์จากการสุ่มตรวจประการแรก ตัวนักท่องเที่ยวถ้าป่วยก็จะมีส่วนหนึ่งที่มีอาการและป่วยหนักนอนโรงพยาบาล ถ้าพอทราบสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาติดเชื้อเท่าไหร่ การรับมือในระบบสาธารณสุขก็คงจะต้องเฝ้าระวังว่า อาจจะมีท่องเที่ยวส่วนหนึ่งที่เจ็บป่วยแล้วก็เข้าใช้บริการ 

“สมมติอัตราการป่วยหนักของคนจีนอาจจะอยู่ประมาณ 1% ถ้าคนติดเชื้อ 100 คนก็เจอ 1 คน ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะสัดส่วนผู้ติดที่ติดเชื้อก็จะสูงขึ้นสัดส่วนคนไข้หนักก็จะสูงขึ้นไปด้วย”​ 

ประการที่ 2 ทำให้ทราบว่าสัดส่วนของสายพันธุ์ต่าง ๆ มีการเคลื่อนย้ายอย่างไรโดยปกติทุกประเทศมีการรายงานขั้นต่ำตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และมีการส่งข้อมูลไปที่ฐานข้อมูลกลางก็คือ https://gisaid.org/  แต่ว่าประเทศจีนยกเลิกการตรวจพร้อมกับนโยบาย ZERO COVID  จึงไม่มีข้อมูลจากจีน ก็ทำให้เราไม่สามารถที่จะติดตามข้อมูลพวกนี้ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัย สุ่มตรวจคนขาเข้าคนที่เดินทางจากประเทศจีน

“จริง ๆ เราไม่ได้กลัวการผสมให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย แต่เรากลัวการนำเข้าสายพันธุ์ใหม่เข้ามา เราอยากรู้ว่าที่ประเทศจีนเป็นสายพันธุ์อะไร หากมีการย้ายถิ่นมันก็จะแข่งขันกับเจ้าตลาดเดิม ถ้าสายพันธุ์ใหม่มีการสามารถในการระบาดและหลบลีกภูมิได้ดีกว่า สายพันธุ์นั้นก็จะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลัก” 

การยกเลิกมาตรการ ZERO COVID ของจีนคาดการณ์ได้เลยว่าอัตราการระบาดจะเป็นแนวดิ่ง ในเมื่อผู้ติดเชื้อรายใหม่เยอะสถานการณ์ก็เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่อยู่แล้ว อาจจะเป็นสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนแต่ไม่มีใครรู้เพราะไม่มีการตรวจ ไม่มีการรายงาน เราก็จำเป็นที่ต้องมีการเฝ้าระวังที่ปลายทาง

“เรายินดีที่จะต้อนรับทุกคนอยู่แล้วฐานะเจ้าบ้านทุกคนก็ต้องช่วยกัน เพียงแต่ว่าเราก็ยังคงต้องระวังเรื่องของการติดเชื้อและการแพร่ระบาดอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตามควรจะใช้มาตรการเดียวกัน แต่ว่าในข้อมูลที่เราคิดว่าเรายังขาดอยู่ก็คงจะต้องมีมาตรการในการที่จะติดตาม” 

“หมอนิตยา” หยุดตีตราผู้ติดเชื้อ 

พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี ในฐานะเครือข่ายคอมโควิด บอกว่า การมีประเด็นให้ต้องถกเถียงขึ้นมาก ก็ทำให้นึกย้อนไปเมื่อสองปีก่อนที่ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าโควิดติดอย่างไรเราเลยเริ่มต้นด้วยความกลัว เมื่อเราไม่ใช้ความจริง เราจึงบอกว่าเชื้อมากับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่เสมอ ทำให้แยกเขาแยกเรา เกิดการตีตรา นั่นไม่ใช่มาตรการทางสาธารณสุขที่ได้ผลเลย ไม่ว่าจะกับการควบคุม HIV  วัณโรค จนมาถึงตอนนี้เราคงต้องตั้งคำถามว่า เราใช้ความจริงในการควบคุมโรคมากน้อยแค่ไหน  

ตอนนี้ที่เรากังวลเพราะเราคาดหวังว่าอาจจะมีคนติดเชื้อจำนวนมากเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเราไม่ควรบอกว่านี่คือคนจีน คนยุโรป คนอังกฤษ คนอเมริกาเพราะมันจะต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วในอนาคต ต่อแต่นี้ไปการที่จะไปนั่งกำหนดประเทศ ทวีปคงไม่ใช่วิธีที่ชาญฉลาดที่จะทำแบบนั้น ถ้าคนกำลังจะเข้ามาในประเทศเรามากขึ้น ซึ่งจะมีคนที่สัดส่วนคนที่ติดโควิดก็จะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยเวลานี้ก็มีสัดส่วนของคนติดเชื้อโควิดอยู่ประมาณหนึ่ง 

เราต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของประชาชนของ คนในชุมชนเอง จะตัดสินใจป้องกันตัวเอง หรือจะดูแลคนรอบข้างอย่างไร ในเมื่อทราบว่าหากอยู่ห่างกัน 2-3 เมตรจะติดเชื้อน้อยลง หรืออยู่ในที่ปิดอากาศไม่ถ่ายเทจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อ ทุกคนมีองค์ความรู้เดียวกัน แต่เราเลือกใช้ไม่เหมือนกัน บางคนใส่แมสก์บางคนไม่ใส่แมสก์ เราก็เคารพทั้งคนที่ใส่แมสก์ และไม่ใส่แมสก์เพราะเขารับความเสี่ยงได้ 

“มันเป็นการรับผิดชอบซึ่งกันและกัน อย่าหวังคนอื่นต้องรับผิดชอบเพื่อเรา ถ้าเราต้องการป้องกันโรค เราต้องรับผิดชอบตัวเอง นี่คือหลักการที่เราคิดว่าถ้าเราจะมีมาตรการเชื่อมั่นในศักยภาพของประชาชนที่รู้ข้อเท็จจริงแล้วตัดสินใจเอง ไม่เกี่ยวว่าจะมีคนเข้ามาเยอะมากน้อยแค่ไหนจากประเทศอะไร จะมีสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาอีกมากน้อยแค่ไหน” 

“หมอวีระศักดิ์” มั่นใจภูมิคุ้มกันหมู่คนไทย   

ศ. นพ.วีระศักดิ์  จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) บอกว่าการติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อขึ้นอยู่กับปัจจัยภายใน ปัจจัยนอกเป็นปัจจัยรอง ถ้าเรามีภูมิคุ้มกัน คนเข้ามาก็ทำอะไรเรามากไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่ต้องเข้ามาเยอะเพียงไม่กี่คน เชื้อก็จะระบาดเหมือนคราวที่แล้วที่มาจากอู่ฮั่น 

แต่ตอนนี้เรามีภูมิคุ้มกันแล้วจริง ๆ มีหลักฐานอยู่ว่าวิจัยติดตามผลการป้องกันด้วยวัคซีน ฉีดวัคซีนลำดับอย่างไรดีที่สุด คนที่ไม่มีภูมิต้านทานในประเทศไทยตอนนี้จึงมีน้อยมาก ตอนนี้เรามีภูมิต้านทานทั้งจากการฉีดวัคซีนและติดเชื้อแล้วที่จะป้องกันคนของเราแล้ว เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะระบาดหนักระบาดแรง น่าจะน้อยมาก 

มันจะมีบ้างถ้าเป็นเชื้อที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน แต่ว่ามันไม่มีเชื้อแบบนั้นเข้ามาในยุคนี้ เพราะวิวัฒนาการของเชื้อการที่มันจะแพร่ได้ต้องไม่ฆ่าคนมาก เพื่อให้เชื้ออยู่ไม่รอด  ทุกวันนี้จึงเหลือเชื้อแบบโอมิครอน ที่อาการไม่รุนแรง

“ผมคิดว่าให้เข้ามาเลย เรามีภูมิคุ้มกันมากแล้ว ต่อให้มีสายพันธุ์ใหม่ หากมีภูมิคุ้มกันแล้ว ข้ามสายพันธุ์อย่างแน่นอน ถ้าได้ฉีดวัคซีนไปแล้วและติดเชื้อบ้างไปแล้วผสมผสานกันก็พอแล้วไม่ต้องกลัว”​ 

ศ.วีระศักดิ์ ขยายความว่า สายพันธุ์ใหม่ไม่น่ากลัวเพราะหากมีภูมิต้านทานเรายังคงป่วย แต่เราไม่ได้ป่วยหนัก ไม่ได้ล้มตายจำนวนมากจนกระทั่งทำให้เราต้องปิดประเทศ ปรากฎการณ์แบบนั้นจะไม่เกิดขึ้นแล้ว ถึงแม้จะเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่ว่าถ้าเป็นเชื้อตัวใหม่ ไม่ใช่โคโรน่าไวรัส ไม่มีภูมิคุ้มกันอะไรเลยก็จะน่ากลัวกว่า ขณะที่โควิด มีสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งเดลต้าอัลฟ่าต่าง ๆ ซึ่งก็มีภูมิต้านทานระดับหนึ่งที่ทำให้เราไม่ป่วยไม่ตายมากคุ้มที่เราจะพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปเดินหน้าต่อไป 

ศ.วีระศักดิ์ เชื่อว่าหากจะกระทบระบบสาธารณสุข ส่วนใหญ่คนที่ป่วยจะเป็นประชากรไทย ขณะที่คนที่มาจากจีนซึ่งเป็นเขตการระบาดก็มีภูมิต้านทานอยู่เมื่อเขาหายแล้วถึงเดินทางมา คนที่ป่วยอยู่คงไม่มาท่องเที่ยว ไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้เตียงเต็ม

“แต่ควรจะบอกคนจีนว่าหากเป็นอะไร ต้องไปสถานบริการที่ไหน เข้าตรวจว่ามีเชื้อโควิดสายพันธุ์อะไรที่น่ากลัวไหม แล้วเขาไปแพร่คนอื่นไหม เราก็เฝ้าระวังตามปกติ ไม่ต้องกักตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดแล้ว แต่ถ้าสถานการณ์เร็วร้ายลงแล้วเดี๋ยวค่อยว่ากัน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์