ผลสำรวจ “แรงงานไทย” คุณภาพชีวิตติดลบ

นิยามหรือคำจำกัดความของค่าจ้างขั้นต่ำ (minimum wage) คือ “ค่าจ้างแรกเข้าทำงานซึ่งเป็นการประกันรายได้พื้นฐานตั้งอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดูแลตนเองได้แล้วต้องดูแลสมาชิกครอบครัวได้ โดยไม่อิงกับหลักเกณฑ์ทักษะหรือมาตรฐานฝีมือเนื่องจากเป็นอีกประเด็นที่ส่งเสริมให้แรงงานมีรายได้สูงขึ้นตามความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์”

คณะทำงานพิจารณาการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ศึกษาและสำรวจค่าครองชีพเพื่อยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า จากกลุ่มตัวอย่าง 1,225 คน พบข้อมูลที่น่าสนใจ ทั้งในเรื่องรายได้ของแรงงาน ค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สิน และตัวเลขรายได้ที่ควรได้รับเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีรายละเอียดดังนี้

แรงงาน

รายได้จากการทำงาน

กลุ่มตัวอย่างส่วนมากได้มากกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ร้อยละ 71.3 นั้นหมายความว่า อีกส่วนที่เหลือคือร้อยละ 28.7 ที่ได้รับเท่ากับและน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จากกลุ่มเป้าหมายที่สำรวจพบว่าเป็นผู้ที่ได้รับค่าจ้างมากกว่า 451 บาทขึ้นไปถึงร้อยละ 49.1

หากพิจารณาจากค่าล่วงเวลา พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีช่วงรายได้จากค่าล่วงเวลา 1,000-4,000 บาทต่อเดือน ถึงร้อยละ 46.1 อย่างไรก็ตามมีส่วนน้อยที่มีค่าล่วงเวลามากกว่า 10,000 บาทต่อเดือน หรือ ร้อยละ 1.7 อนุมานได้สองทางคือ ฐานค่าจ้างสูงหรือทำงานล่วงเวลาเกินมากกว่าชั่วโมงที่กฎหมายกำหนดไว้

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 84.7 ไม่มีอาชีพเสริมเป็นแหล่งรายได้อีกทางหนึ่ง และร้อยละ 85.1 ก็ไม่มีเงินรายได้อื่นที่ไม่ใช่จากการทำงาน แต่มีส่วนน้อยร้อยละ 14.3 มีเงินสวัสดิการจากบริษัท แสดงให้เห็นว่าแรงงานส่วนมากแล้วมีเพียงอาชีพเดียว และทำให้แหล่งรายได้ที่พึ่งพิงหลักคืองานประจำ 

รายได้จากการทำงานประจำช่องทางเดียวไม่เพียงพอค่าครองชีพขณะเดียวกันแรงงานไม่มีเวลานอกเหนือจากการทำงานประจำมาพัฒนาทักษะอาชีพอื่น แรงงานบางส่วนไม่สนใจการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแต่สนใจเปลี่ยนไปที่สถานประกอบการที่มีงานล่วงเวลา ปัญหานี้ทำให้อายุงานไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งไม่มีความมั่นคงทางรายได้ เพราะค่าจ้างล่วงเวลาไม่รับรองว่าจะต้องมีให้ทำตลอดตามความต้องการของลูกจ้าง”

‘ชั่วโมงการทำงาน’ และ ‘เวลาพักผ่อน’

จากการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากมีชั่วโมงการทำงาน 41-48 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ หรือ ร้อยละ 36 รองลงมา 49-60 ชั่วโมง ร้อยละ 20.2 และจำนวนชั่วโมงที่มากกว่า 60 ชั่วโมง มีถึงร้อยละ 11.9 ในจำนวนที่มากกว่า 49 ชั่วโมงขึ้นไป แสดงว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา ซึ่งรวมแล้วมีถึงร้อยละ 32.1

ถัดมาชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาต่อสัปดาห์ พบว่าระหว่าง 10-19 ชั่วโมง มีร้อยละ 49.7 แล้วส่วนที่ไม่มีการทำงานล่วงเวลามีร้อยละ 21.6 แต่พบว่ามีเพียงส่วนน้อยที่ทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือมากกว่า 36 ชั่วโมง ร้อยละ 3.2

ซึ่งการทำงานที่มากเกินไปอาจกระทบต่อปัญหาสุขภาพ ส่วนมากพบว่านอนหลับพักผ่อน 6 ชั่วโมง ร้อยละ 36.3 แต่สัดส่วนที่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงลงไปรวมแล้วมีถึงร้อยละ 30.6 ถือเป็นกลุ่มที่นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ

“ค่าจ้างจากการทำงานล่วงเวลาจึงทำให้ต้องทำงานหนักขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า รายได้ส่วนนี้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต แล้วยังทำให้แรงงานต้องสูญเสียเวลาส่วนตัว เวลาพักผ่อน เวลาพัฒนาตนเอง และเวลาร่วมกิจกรรมทางสังคมน้อยลง”

ภาระหนี้สิน

พิจารณาจากการชำระหนี้สินส่วนตัวในระบบ พบมากในสองช่วงของจำนวนเงิน ได้แก่ กลุ่มแรก 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 28.1 และกลุ่มที่สอง 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 21.5 ส่วนการเข้าถึงเงินกู้นอกระบบมีถึงร้อยละ 49.9 เป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม ในรายละเอียดพบว่ามีการกู้ยืมจากเพื่อนร่วมงานถึงร้อยละ 26.4 รองมาเป็นครอบครัวและญาติ ร้อยละ 20.6 ถัดมาเป็นเพื่อนบ้าน ร้อยละ 11.1 บริษัทปล่อยเงินกู้ ร้อยละ 10.6 และ ผู้นำชุมชน ร้อยละ 1.5

ค่าใช้จ่ายสินทรัพย์ต่างๆ ได้แก่ รถยนต์ บ้านและห้องอาคาร และอื่น ๆ กล่าวคือ สินทรัพย์เหล่านี้ พร้อมกับหนี้สินตามข้อมูลการสำรวจพบว่าร้อยละ 89.8 มีหนี้สินส่วนตัวในระบบ และร้อยละ 47.1 มีหนี้สินส่วนตัวนอกระบบ เป็นความสำคัญที่ภาครัฐไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหา

อีกประเด็นที่ผู้กำหนดนโยบายต้องทำความเข้าใจเรื่องของค่าจ้าง คือ ค่าเดินทางไปทำงานหรือกิจธุระ พบว่าไม่ใช่ทุกคนเข้าถึงขนส่งมวลชนสาธารณะเพราะไม่มีครอบคลุมทุกตรอกซอยและซอกมุมของกรุงเทพมหานครยิ่งกว่านั้นไม่ครอบคลุมเขตอุตสาหกรรมและแหล่งที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด จึงทำให้แต่ละคนมีหนี้สินรถยนต์ร้อยละ 54.4 และรถจักรยานยนต์ร้อยละ 28.5 นี่คือหนึ่งตัวอย่างของสภาพการดำรงชีวิตจริง ไม่ใช่ความฟุ่มเฟือยและขาดวินัยทางการเงิน”

ต้นทุนค่าครองชีพเฉลี่ยต่อเดือน

ค่าครองชีพส่วนใหญ่ ได้แก่ ค่าอาหารและค่าวัตถุสำหรับทำอาหารทานเอง ค่าสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ค่าเดินทางโดยสาร ค่าสนับสนุนครอบครัว ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าบริการโทรศัพท์ เครื่องนุ่งห่ม ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและเวชภัณฑ์ เช่น หน้ากากอนามัย ยารักษาโรค เก็บรวบรวมโดย แบ่งเป็น ครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกพึ่งพิงมีรายจ่าย 21,688.75 – 23,687.75 บาทต่อเดือน และครัวเรือนที่มีสมาชิกพึ่งพิง 2-3 คน มีรายจ่าย ​30,118 – 32,117 บาทต่อเดือน

หากให้ประมาณการค่าครองชีพของสมาชิกครัวเรือนให้ได้ค่าจ้างเพื่อดำรงชีวิตสุทธิ (net living wage) อาจนำค่าอาหารมาคำนวณตามจำนวนสมาชิกพึ่งพิงในครัวเรือน เพื่อให้ใกล้เคียงกับค่าครองชีพมากที่สุด ครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกพึ่งพิง ต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อคนไม่น้อยกว่า 723-789 บาทต่อวัน

ข้อมูลผลสำรวจที่มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 98.9 เห็นทางเดียวกันว่าค่าจ้างขั้นต่ำในเวลานี้ที่มีอัตราสูงสุดที่ 336 บาทนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตแล้ว แล้วพบว่าตัวเลือกที่ตอบมามากที่สุดคือ ต้องการมีค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่า 700 บาท ถึงร้อยละ 36.3

ส่วนครัวเรือนที่มีสมาชิกพึ่งพิง ต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อคนไม่น้อยกว่า 1,003-1,070 บาทต่อวัน (การประมาณการค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันใช้จำนวนรายจ่ายมาหาร 30 วัน)

“หากพิจารณาตามลักษณะครัวเรือนร้อยละ 86.7 มีสมาชิกพึ่งพิงในครัวเรือน จำนวนนี้พบว่ามีร้อยละ 27.3 ที่มีจำนวนสมาชิกพึ่งพิง 2 คน หากรวมสมาชิกที่พึ่งพิงตั้งแต่ 1-4 คน เป็นร้อยละ 77.3 ดังนั้น การทำงานของสมาชิกในครัวเรือนนำเงินจากการทำงานมาดูแลสมาชิกพึ่งพิงในครัวเรือนส่งผลให้การจำกัดความค่าจ้างไม่ได้หมายถึงเฉพาะปัจเจกบุคคลแต่นับรวมสมาชิกในครัวเรือนอีกไม่น้อยกว่า 2 คน หากคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาต้นทุนของการดำรงชีวิต (cost of living) จริงแล้วจะทราบว่าค่าครองชีพของแต่ละปัจเจกบุคคลสูงมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเท่าตัว”

ข้อเสนอ

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ หัวหน้าคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ระบุว่า เมื่อจำนวนค่าครองชีพของกรณีคนที่ไม่มีสมาชิกพึ่งพิงในครัวเรือน เฉลี่ย 21,688.75 บาทต่อเดือน ประมาณการค่าครองชีพเท่ากับ 723 บาทต่อวัน หากรายได้น้อยกว่าค่าครองชีพหมายความว่าชีวิตติดลบ นอกจากแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ยังมองมาถึงคนทำงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 21,688.75 บาทต่อเดือน ฉะนั้น รัฐบาลควรมีนโยบายและมาตรการอุดหนุนรายได้สำหรับคนที่รายได้ไม่ถึงจำนวนข้างต้น ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว เช่น

1) การมีมาตรการจ่ายเงินส่วนต่างที่ไม่ถึงรายได้ข้างต้น เพื่อเป็นการอุดหนุนค่าจ้างโดยรัฐ จึงไม่ใช่เฉพาะการปรับอัตราค่าจ้าง เพราะมีเงื่อนไขของผู้ประกอบการที่มีหลายขนาดธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการหรือธุรกิจขนาดเล็กที่อาจจ่ายไม่ได้ หากอ้างอิงอัตราค่าจ้าง 492 บาทต่อวันตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำเสนอ ส่วนต่างอีก 231 บาทต่อวัน รัฐบาลต้องพิจารณามาตรการอุดหนุนค่าจ้าง ให้รายได้ต่อวันและเดือนไม่ต่ำกว่าการมีชีวิตติดลบ ข้อเสนอนี้จึงไม่ได้เฉพาะคนทำงานได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ครอบคลุมถึงคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 21,688.75 บาทต่อเดือน เพื่อให้การดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ เลี้ยงดูตัวเองได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในชีวิต

“นอกจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้สามารถดำรงชีวิตได้แล้ว รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐควรมีแนวทางอื่นที่บรรเทาค่าครองชีพ เช่น การลดค่าบริการไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าขนส่งมวลชนสาธารณะ แล้วบางบริการสาธารณะไม่ควรให้สัมปทานแล้วทำให้บริการราคาสูงขึ้นที่ไม่สอดคล้องกับการดำรงชีวิต อีกทั้งระบบสวัสดิการสังคมต้องครอบคลุมดูแลประชาชนทุกกลุ่มคนอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นบำนาญชราภาพควรยกระดับตามข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชน 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งประมาณการได้ว่าจะทำให้คนวัยทำงานลดภาวะพึ่งพิงได้บางส่วน”

2) การมีมาตรการสำหรับการบรรเทาค่าครองชีพที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตประชาชน โดยเฉพาะค่าวัตถุดิบอาหาร ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่งสาธารณะ ค่าเชื้อเพลิง ส่วนที่เป็นค่าสาธารณูปโภคที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของภาครัฐ ถ้ารัฐบาลผ่อนปรนกฎระเบียบและช่วยเหลือโดยใช้ค่าเฉลี่ยจากการสำรวจเป็นอัตราขั้นต่ำ เช่น ค่าใช้จ่ายครัวเรือนสองรายการ น้ำประปาเฉลี่ย 321.25 บาท และไฟฟ้า 1,221.50 บาท จะบรรเทาค่าครองชีพครัวเรือนลงได้ 1,542.75 บาท แล้วทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อ มีเงินลงทุนอื่น หรือเหลือเงินออมมากขึ้น

ส่วนของแรงงานนอกระบบก็ต้องพิจารณาเพิ่มเติม เช่น ผู้ขับรถจักรยานยนต์ แท็กซี่ ที่ขึ้นอยู่กับการกำหนดอัตราค่าบริการโดยกรมการขนส่งทางบก จะต้องปรับอัตราค่าโดยสาร เพราะกลุ่มนี้ไม่ได้ประโยชน์ทางตรงจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และแรงงานผู้รับงานไปทำที่บ้านและผู้ทำงานบ้านก็เป็นอีกกลุ่มที่ชั่วโมงการทำงานยาว ไม่มีวันหยุด และผู้จ้างงานมักจ่ายต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงเป็นอีกส่วนที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มคนอาชีพเหล่านี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์