ระบบไต่สวนคืออะไร ? ทำไมศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับฟังพยานในคดี ‘ล้มล้างการปกครอง’

“การไม่เบิกตัวพยานมาไต่สวนนั้น เป็นการสั่งตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยไต่สวนตามพยานหลักฐานที่ได้รวบรวมมา และจะไม่รับฟังคำให้การ เพราะควรกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่พูดปากเปล่าเท่านั้น”

เป็นคำชี้แจงของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการพิจารณาตัดสินคดี กรณีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563โดยร้องว่า การกระทำดังกล่าว เป็นข้อเรียกร้อง ที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีนายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1 นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3

ในช่วงแรกของการอ่านคำวินิจฉัย กฤษฎางค์ นุตจรัส ผู้รับมอบฉันทะ จาก อานนท์ นำภา ได้แถลงต่อศาลเพื่อขอนำพยานเข้ามาไต่สวน แต่ไม่ได้รับการอนุญาตจากศาล โดยศาลได้มีการชี้แจงถึงความแตกต่างของกระบวนพิจารณาคดีระบบไต่สวน ที่ใช้ในคดีรัฐธรรมนูญ ตลอดจนย้ำว่าพยานหลักฐานที่ได้มาก่อนหน้านี้ เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ตามคำร้องแล้ว

The Active หยิบยกประเด็นนี้มาอธิบายเพื่อทำความเข้าใจกระบวนพิจารณาคดีในศาลทั้ง 2 ระบบ ระหว่างระบบไต่สวน และระบบกล่าวหา ซึ่งทั้งสองระบบนี้ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาคดีของศาลไทย แตกต่างกันไปตามรูปแบบของคดี โดย ระบบกล่าวหา (Adversarial system) ถูกใช้ในการพิจาณาคดีของศาลยุติธรรม ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา และ ระบบไต่สวน (Inquisitorial system) ถูกใช้ในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

1. เรื่องการแสวงหาข้อเท็จจจริง หมายถึง การนำพยานหลักฐาน เอกสาร หรือข้อเท็จจริงอื่นใดเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลนั้น มีความแตกต่างกันที่ “บทบาทเชิงรุกของศาล” โดยการพิจารณาในระบบกล่าวหานั้น คู่ความจะมีบทบาทในการนำเสนอข้อเท็จจริง ไม่ใช่บทบาทของศาล ในขณะที่ระบบไต่สวน ให้อำนาจศาลแสวงหาข้อเท็จจริงอื่นได้ เพื่อประโยชน์ของการพิจารณาคดี

2. ความผูกพันของศาลต่อการพิจารณาข้อเท็จจริง หมายถึง เมื่อมีการนำเสนอข้อเท็จจริงมาแล้ว ในระบบไต่สวนนั้นศาลจะรับไว้พิจารณา หรือจะนำมาเพื่อประกอบการตัดสินชี้ขาดหรือไม่ก็ได้ โดยอาจใช้เพียงข้อเท็จจริงที่ศาลหามาก็ได้เช่นเดียวกัน แต่ในขณะที่ระบบแบบกล่าวหานั้น ศาลต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้รับจากคู่ความเท่านั้น

3. อำนาจสอบสวน และอำนาจตัดสินชี้ขาด หมายถึง ทั้งสองระบบจะมีความแตกต่างกันตรงที่ว่า ศาลได้มีการแยกอำนาจหน้าที่นี้กันอย่างชัดเจนหรือไม่ ซึ่งในส่วนของระบบกล่าวหานั้น จะเห็นได้ว่าอำนาจในการสอบสวน หรือแสวงหาข้อเท็จจริง ก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทนายความ แต่ในระบบแบบไต่สวนนั้น ศาลสามารถหาข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเอง และในขณะเดียวกันยังใช้อำนาจในการตัดสินชี้ขาดคดีด้วย

4. การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล ประเด็นนี้เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา คือ “การนำกระบวนพิจารณาคดีของศาล” หมายความว่าโดยปกติแล้วขั้นตอนการพิจารณาคดีในศาลจะกำหนดไว้อย่างชัดเจน เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย และเป็นไปตามหลักการ “ฟังความสองฝ่าย” ซึ่งระบบแบบกล่าวหานั้นต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุไว้ แต่ในระบบไต่สวนนั้นศาลมีอำนาจที่จะไต่สวนพยาน หรือให้ผู้ร้อง หรือผู้ถูกร้องให้การในประเด็นใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับ “ดุลพินิจของศาล”

ซึ่งโดยเหตุผลแล้วที่ระบบไต่สวนต้องให้อำนาจศาลไว้เช่นนี้ เนื่องจากการจัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่อยู่ในคดี โดยเฉพาะศาลกับคู่กรณีที่ต้องทราบว่าตนมีอำนาจและหน้าที่อะไรบ้าง ซึ่งในระบบไต่สวน ศาลเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการใช้ดุลพินิจเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง และการใช้ดุลพินิจของศาลต้องใช้อย่างเป็นธรรม ไม่ลำเอียงเพื่อประโยชน์ของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วย อีกทั้งคำนึงว่ากรณีที่คู่กรณีมีอำนาจไม่เท่ากัน อีกฝ่ายอาจเป็นผู้ถืออำนาจรัฐ และอีกฝ่ายอาจเป็นประชาชนทั่วไป การที่ศาลมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริง และกำหนดกระบวนพิจารณาได้ อาจะเป็นการช่วยให้ผู้ที่เสียเปรียบได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมนั่นเอง

ในขณะที่ประเด็นการควบคุมกระบวนการพิจารณาในศาลนั้น ศ.(พิเศษ) วรรณชัย บุญบำรุง กรรมการกฤษฎีกา เคยให้ความเห็นในงานเสวนา การพิจารณาคดีแบบไต่สวน : หลักการและทางปฏิบัติที่เป็นอยู่ จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยให้ความเห็นว่า ศาลจะใช้วิธีพิจารณาความแบบระบบไต่สวน ศาลก็ต้องเปิดโอกาสให้คู่ความสามารถใช้สิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ระบบไต่สวนที่ศาลมีบทบาทเชิงรุกในการแสวงหาข้อเท็จจริงไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักการฟังความสองฝ่าย (เป็นคนละประเด็นกัน) ศาลไม่ควรควบคุมกระบวนการพิจารณาให้ไปกระทบถึงหลักการฟังความสองฝ่ายของคู่กรณี ซึ่ง ศ.(พิเศษ) ดร.วรรณชัย มีความเห็นว่าหลักฟังความสองฝ่ายมีความสำคัญยิ่งกว่าการพิจารณาความแบบระบบไต่สวน เพราะเป็นเรื่องของนิติธรรมและเป็นสิทธิของคู่ความที่พึงมีในกระบวนยุติธรรม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์