ผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม อัตราเสียชีวิต 1 ใน 10

กทม. ปรับจุดบริการฉีดวัคซีน 25 จุดในโครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย” เพิ่มช่องทาง “วอล์กอิน” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สุงอายุเข้าถึงได้ง่ายขึ้น หลังพบว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 64 ปี ประกอบกับตัวเลขผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนแล้วยังมีจำนวนน้อย คือ มีผู้สูงอายุได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด 2.5 ล้านคน แต่ฉีดครบ 2 เข็มเพียง 1.5 แสนคน จากประชากรสูงวัยในกรุงเทพฯ ราว 1.1 ล้านคน รวมทั้งประเทศ 12 ล้านคน (ข้อมูล ณ 22 ก.ค. 2564)

จากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุ มีอุปสรรคในการเข้ารับวัคซีน เนื่องจากไม่สะดวกในการเดินทาง โดยมีกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน ประมาน 240,000 คน ติดเตียง 24,000 คน ส่วนหนึ่งกลัวผลข้างเคียง และอีกส่วนไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน แม้ว่าสาธารณสุขจะพยายามอำนวยความสะดวก ด้วยการเปิดจุดบริการให้ผู้สูงอายุสามารถเดินทางไปฉีดวัคซีนในจุดบริการได้โดยที่ไม่ต้องนัดหมาย (Walk-in) แต่บางคนก็ยังไม่สามารถเดินทางมาได้ เนื่องจากไม่แข็งแรง หรือไม่มีลูกหลานพามา

นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ เสนอว่า สาธารณสุขในเขตพื้นที่ควรจัดให้มีรถรับ-ส่งผู้สูงอายุจากชุมชนถึงศูนย์ฉีดวัคซีน หรือสำหรับผู้สูงอายุติดเตียงหน่วยบริการควรจะจัดให้มีรถพยาบาลจัดฉีดถึงที่บ้าน-ในชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุทุกคนเข้าถึงบริการทางการแพทย์มากขึ้น

ผู้ติดเชื้อที่ทะลุ 10,000 คนต่อวัน ส่งผลให้ตัวเลขการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น หรือคิดเป็นราว ๆ 10% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด โดยมีผู้สูงอายุติดเชื้อสะสมทั้งหมด 32,595 คน (ข้อมูล ณ 23 ก.ค. 2564) และยังพบว่าผู้สูงอายุมีอัตราการป่วยวิกฤตและเสียชีวิต 10-20%

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มมีผู้ป่วยอาการหนักต้องการเตียงเพิ่มเป็น 3,000 เตียง แต่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีเตียง ICU เพียงแค่ ประมาณ 1,400 เตียงเท่านั้น จึงจำเป็นต้องเร่งป้องกันการติดเชื้อ อาการรุนแรง ของกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุด

ทั้งนี้ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ออกแนวทางปฏิบัติสำหรับการดูแลผู้สูงอายุในบ้านและในสถานพยาบาล กรณีที่ผู้สูงอายุอยู่บ้าน ให้เลี่ยงการออกไปพบปะผู้คน เลี่ยงการเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุ เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดเด็ก จัดให้แยกสำรับอาหาร และของใช้ส่วนตัว หากมีคนดูแลให้เป็นผู้ดูแลหลักแค่คนเดียว และผู้ดูแลต้องไม่เสี่ยงสัมผัสเชื้อจากที่อื่น

ส่วนผู้สูงอายุในสถานพยาบาล ให้งดการเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุ ญาติติดต่อผ่านสื่อออนไลน์แทน จัดให้มีการคัดกรองเจ้าหน้าที่/ผู้ดูแล ให้หมั่นตรวจเช็กสุขภาพผู้สูงอายุ และทำความสะอาดสถานที่ตามมาตรฐาน เพื่อช่วยกันป้องกันการติดเชื้อ และลดอัตราการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์