มองซอฟต์พาวเวอร์ล้ำ จังแม่
โสตสดับซองไทยแท้ ล่องใต้
โอษฐ์เม้าท์เกาะ’หมุยแล อิชชู ร้อนฮอต
ชมแห่บัวขาวไวท์ กล่องแก้ว ทีวี
ชวนเปิดตามองหาความเป็นไทย พร้อมถามหา Soft power เปิดหูฟังดนตรีไทย เพลงไทยเดิม หรือ T-POP ยุคใหม่ และชวนมาเปิดปากเม้าท์ประเด็นสังคม ประเด็นร้อนในประเทศไทยที่ถูกถ่ายทอดอยู่ในซีรีส์ The White Lotus ซีซัน 3 ร่วมกับ กับ ดร.หลิว – พิชชากานต์ ช่วงชัย อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(บทความนี้พูดถึงเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ The White Lotus ซีซัน 3 ตอนที่ 1-4)
ซีรีส์จากช่อง HBO เรื่อง The White Lotus ซีซัน 3 ที่แปลตรงตัวเป็นภาษาไทยว่า บัวขาว นั้น ดำเนินเรื่องมาถึงครึ่งทางเป็นที่เรียบร้อย ผู้กำกับซีรีส์อย่าง Mike White ก็ได้เขียนเล่าเรื่องราว ประเด็นต่าง ๆ ในการมาเข้าพักในโรงแรมหรูบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฐ์ธานี ประเทศไทย หลังจากซีซันแรกได้พาผู้ชมไปเยือนเกาะฮาวาย และชมประเทศอิตาลีในซีซันที่ 2
ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ของประเทศไทย ด้วยความหวังว่า จะสามารถพาผู้ชมซีรีส์ชาวต่างชาติให้ไหลกรูกันเข้ามาเที่ยวไทย เหมือนกับความสำเร็จจาก 2 ซีซันแรกของซีรีส์ฮิตนี้
เพราะในตอนแรกนั้น ตัวซีรีส์ได้มีการวางแผนไปถ่ายทำและเล่าเรื่องราวจากญี่ปุ่น แต่ไทยแย่งตัวแย่งใจผู้กำกับ Mike White มาได้ด้วยนโยบายภาครัฐ นั่นคือการลดหย่อนภาษีกว่าเกือบ 150 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย
The Active ในฐานะผู้สื่อสารวาระทางสังคมประเทศไทย และโลกใบนี้ ขอพาผู้อ่านทุกคนมาดูกันว่า ภาพลักษณ์ของไทยในโรงแรมหรู The White Lotus เป็นอย่างไร ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

มองซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ล้ำ จังแม่
The White Lotus โชว์ประเทศไทยให้ทั่วโลกดู ว่ายังไงบ้าง ?… เอกลักษณ์หลัก ๆ ที่เห็นได้บ่อย ๆ เป็นซีนปลี่ยนฉาก ต้นเรื่อง และท้ายเรื่อง คือ วิวทะเลที่สวยมากของเกาะสมุย มีหลายฉากที่ถ่ายทำให้เห็นภาพกว้างของผืนน้ำทะเลประเทศไทย เกาะเล็กเกาะน้อย สนับสนุนความน่ามาเยี่ยมบ้านของคนไทยกันสักครั้ง
จากเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่มองเห็นได้จากในซีรีส์ จะเห็นได้ว่ามีการฉายให้เห็นภาพสิ่งของทางความเชื่อเป็นหลัก ทั้งศาลเจ้า ศาลพระภูมิ หรือฉากการถวายพวงมาลัยดาวเรืองให้ศาลพระภูมิเป็นการคุ้มครองและขอให้โชคดี อีกหนึ่งองค์ปรกอบที่แสดงความเป็นไทยได้ชัดเจนคือพรอพหมวด ข้าวของเครื่องใช้ ที่เลือกสรรค์อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีลวดลายความเป็นไทย อย่างฉากจัดโต๊ะอาหารบุฟเฟต์ยามเช้าที่ถ่ายภาพ slow motion ของผ้าปูโต๊ะที่มีลายภาพวาดแบบไทยดั้งเดิมให้ได้เห็น
อีกอย่างที่เด่นชัดคือ ลิง ที่เหมือนจะเป็นไอคอนหลักของโรงแรม The White Lotus เกาะสมุย มีทั้งลายที่อยู่บนเสื้อของมุก ตัวละครที่เล่นโดยศิลปินระดับโลก อย่าง ลิซ่า มีรูปปั้นตามพื้นที่ส่วนกลางของโรงแรม (หน้าทางเข้าโรงแรม ในห้องพัก หรือในบริเวณที่กินอาหารเย็น) จริง ๆ เดิมที The White Lotus จะได้ไปถ่ายทำที่ประเทศญี่ปุ่น จึงมีเอกลักษณ์ของลิงปิดหู ปิดตา และปิดปาก ที่ถูกนำมาใช้ต่อที่ประเทศไทย
เรื่องราวของ The White Lotus ที่เล่าผ่านลิงพวกนี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ PETA ออกมาเรียกร้อง และพูดถึงการใช้แรงงานลิงในประเทศไทยอีกครั้งในช่วงนี้ก็ได้
ข้าวของชิ้นสุดท้ายที่ออกมาให้เห็นในทุก ๆ ตอนคือ ดอกดาวเรือง กับ ของศักดิ์สิทธิ์ มีทั้งพระพุทธรูป พระพรหม ศาลพระภูมิ และทุกอย่างถูกทำให้โดดเด่น เชื่อมโยงกันด้วยดอกดาวเรืองสีเหลืองสด ถือเป็นพร็อพประกอบฉากที่มีความเป็นไทยสูง และมีฉากให้ได้เห็นสิ่งเหล่านี้บ่อยกว่าอย่างอื่น ก่อนจะตามมาด้วยข้าวของใช้ที่ดูเป็นของคนไทย และตามด้วยภาพและเสียงของสัตว์ชนิดต่าง ๆ
นอกจากข้าวของเหล่านี้ก็มีอีกหลายองค์ประกอบที่เป็นการพูดถึงประเทศไทยในแบบตลกขบขันหน่อย ทั้งตัวเงินตัวทองที่โผล่มาให้ชาวต่างชาติได้กรี๊ด หรือเสียงจิ้งจก ตุ๊กแกที่แทรกอยู่ตามฉากเวลากลางคืน และมีองค์ประกอบอื่น ๆ อย่างเทศกาลไทย เครื่องแต่งกายที่แสดงความเป็นไทย อาหารไทย รถตุ๊กตุ๊ก และการแสดงตามขนบไทยต่าง ๆ อย่างการรำและการร้องเพลงลำตัด
แล้วซีรีส์ The White Lotus นี้ ได้แสดงอำนาจนุ่มนวลของประเทศไทยจริงหรือไม่ ?…พิชชากานต์ ได้อธิบายว่า Soft Power หรือ อำนาจละมุน ต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
- ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้ว (เช่น ภาพวาดฝาผนัง อาหารไทย หรือความเป็นไทยในมิติต่าง ๆ)
- วิธีการละมุนละม่อมในการสื่อสารและส่งออกทุนทางวัฒนธรรม (เช่น ซีรีส์ The White Lotus) และ
- การติดตามวัดผลที่ชัดเจน
“ถ้ามองตามกรอบนี้ แม้แต่ หมูเด้ง ที่โด่งดังในปีที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถนับเป็น Soft Power ของไทยได้ เพราะไม่ได้ใช้ทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ยกเว้นแต่เขาจะนำเสนอในมุมของการอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย”
พิชชากานต์ ช่วงชัย
สำหรับซีรีส์ The White Lotus มีการใช้ทุนทางวัฒนธรรมจริง และมีวิธีการเล่าและแสดงวัฒนธรรมที่ละมุนละม่อม (ผ่านเรื่องราวในซีรีส์) แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีการติดตามวัดผลและรายงานผลที่ชัดเจนหรือไม่
นักวิชาการด้านวัฒนธรรม แสดงความเห็นว่า ตัวซีรีส์ภาคนี้ที่ถ่ายในประเทศไทย มีเอกลักษณ์และสัญลักษณ์ของความเป็นไทยที่เยอะกว่าประเทศอื่น ๆ ในซีซันก่อน ๆ อย่างการใช้เพลงโอเปราในประเทศอิตาลี ก็ไม่ได้มีเอกลักษณ์ที่เด่นชัดเท่าซีน ลำตัดแม่เล็ก หรือการควงกระบองไฟในฮาวาย ก็อาจจะเทียบกับฉากรำไทยของ ลิซ่า ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม พิชชากานต์ ยังสังเกตว่า วัฒนธรรมไทยที่ปรากฏใน The White Lotus ส่วนใหญ่เป็นวัฒนธรรมหลักหรือ Dominant Culture ของประเทศ อย่างเทศกาลสงกรานต์และชุดไทยที่มีความเป็นภาคกลาง และยังไม่ครอบคลุม วัฒนธรรมย่อย” ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย หรือที่น่าเสียดายคือวัฒนธรรมย่อยของภาคใต้ หรือที่เกาะสมุยเอง
“นโยบาย 5F ภายใต้ Soft Power ได้แก่ Fashion, Food, Fighting, Festival และ Film ถึงแม้จะมีครบทุกองค์ประกอบใน The White Lotus แต่ก็ยังถือว่าเป็นมุมมองที่แคบและไม่ครอบคลุมความหลากหลายของวัฒนธรรมไทย ซึ่งมันก็ไม่ใช่หน้าที่ของสื่อบันเทิงที่จะต้องนำเสนอวัฒนธรรมอย่างรอบด้าน เขาไม่ได้ทำหนังสารคดีซะหน่อย”
พิชชากานต์ ช่วงชัย
ในประเด็น Soft Power อื่น ๆ คงต้องรอติดตามในตอนต่อไป ว่าจะมีการฉายภาพเมืองไทยในมุมมองไหนบ้าง แน่นอนว่าเราจะได้เห็นการสนทนากับพระ (ที่แสดงโดย สุทธิชัย หยุ่น) หรือการไปร่วม Full Moon Party บนเกาะพะงัน…ถึงจะสรุปได้ว่า ภาพลักษณ์ของเมืองไทยที่ชาวต่างชาติได้ไปจะดีหรือไม่ ?

โสตสดับซอง (Song) ไทยแท้ ล่องใต้
รวมเพลงไทยประกอบซีรีส์ The White Lotus โดยแบ่งประเภท ทำนอง และปีที่ปล่อย...ความหลากหลายของเพลง ที่เอามาทั้งเพลงเหนือ (พี่สาวครับ) เพลงอีสาน (ข้อยเว้าแม่นบ่) ไปจนถึงใช้เพลงไทยฟังก์จากวง Khruangbin ศิลปินชาวอเมริกันที่ผสมเอกลักษณ์ความเป็นไทยไปในบทเพลง
จากการสำรวจพบว่า เพลงที่ใช้ประกอบซีรีส์ The White Lotus ในประเทศไทย มีการเลือกใช้เพลงไทยมากกว่าเพลงต่างประเทศเป็นเท่าตัว และในรายชื่อเพลงไทยที่ใช้นั้นก็มีความหลากหลายของที่มาและแนวเพลงมาประกอบ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นเพลงที่มีอายุหน่อย
หลาย ๆ คนติดใจกับ Main Title Theme หรือเพลงประกอบหลักของซีรีส์ ที่มีการเปลี่ยนให้ไม่เหมือนกับ 2 ภาคแรกอย่างชัดเจน แต่กลายเป็นว่ากลุ่มผู้ชมต่างชาติติดใจและชอบเพลง เมด อิน ไทยแลนด์ โดย วง คาราบาว เป็นอย่างมาก ทำให้เพลงนี้กลับมาฮิต และดังอย่างกว้างขวางขึ้นในโลกออนไลน์ ทั้งจากอินฟลูเอนเซอร์ชาวไทย และทั่วโลก
หลาย ๆ เพลงสื่อถึงสัญญะ และความหมาย ล้อไปกับภาพ ในขณะที่หลาย ๆ เพลงก็อาจจะดูผิดที่ผิดทาง อย่างการใช้เพลงแห่ขันหมากในฉากธรรมดาทั่วไป (ที่ไม่มีงานแต่ง) หรือการใช้เพลง ชีวิตชาวนา ประกอบฉากของไก่ต๊อก ที่ทำอาชีพเป็นยามรักษาความปลอดภัยของโรงแรม ก็อาจจะต้องมาวิเคราะห์และจับสัญญะที่ผู้กำกับ Mike White อาจจะตั้งใจใส่ไว้ก็ได้
อย่างไรก็ตาม พิชชากานต์ ยังมองว่า ชาวต่างชาติที่รับชมอาจจะไม่ได้เอะใจกับการเลือกใช้เพลงที่หลากหลายเหล่านี้ และมองว่าเพลงเหล่านี้คือ เพลงไทย ส่วนคนที่จะเอะใจ และสนุกไปกับการรอฟังเพลงประกอบ น่าจะเป็นคนไทยด้วยกันเอง ที่ได้สนุกและตื่นเต้นไปกับเพลงที่จะปล่อยออกมาให้ฟังใน 4 ตอนสุดท้ายต่อจากนี้

โอษฐ์เม้าท์เกาะ’หมุยแล อิชชู (Issue) ร้อนฮอต
แม้จะเป็นเรื่องแต่ง แต่ตัวละครในซีรีส์เม้าท์เหตุการณ์ต่าง ๆ เสมือนอยู่ไทย ได้เจอกับปัญหาสังคมจริง และมาถกในซีรีส์
มาประเทศไทย สิ่งสำคัญก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ศาสนาพุทธ และวิธีการมองศาสนา การรักษาเยียวยาร่างกายและจิตใจผ่านศาสนา ที่มีชาวต่างชาติหลายคนที่เชื่อ และหลายคนที่มองว่างมงาย อย่างตัวละครแซกซอน ที่พูดว่า “ศาสนาพุทธมันสำหรับคนที่ต้องการกดทับชีวิตตัวเอง พวกเขากลัว แค่นั่งในท่าดอกบัวแล้วเอาหัวแม่มือยัดก้น”
เรื่อง เพศ กลายเป็นอีกประเด็นหลักของซีซันนี้ ที่ชูทั้งเรื่องของการบริการการนวดโดยหวังตอนจบดี ๆ (Happy Ending) และมีการพูดถึงกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศในเชิงที่ฟังดูไม่ค่อยดี เหมือนคำพูดไวรัลของแซกซอนที่ว่อนไปทั่วประเทศ คือ “เซ็กส์ในประเทศไทยก็เหมือนการกินช็อกโกแลตจากกล่อง คุณไม่มีทางรู้เลยว่าชิ้นไหนจะมีถั่ว”
ภัยพิบัติทางธรรมชาติยังหาทางเข้ามาเกี่ยวกับซีรีส์ได้เต็ม ๆ โดยในตอนที่ 3 ที่ชื่อตอนว่า ฝันบอกเหตุ ซึ่งพูดกลับไปถึงเหตุการณ์สึนามิ มหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 มีการพูดถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น มีฉากที่ ล็อคลัน เปิดวิดีโอของสึนามิ และพูดว่า “เขาไม่แม้แต่จะวิ่งหนี เขาแค่ยืนอยู่ตรงนั้น” และ “สึนามินั้นเกิดขึ้นที่นี่ แบบที่ชายหาดถัดไป” รวมไปถึงฉายภาพฝันของตัวละครหนึ่ง ที่ฝันเห็นสึนามิโถมเข้ามาใส่ชายหาดและบ้านของเขา
ตัวบทซีรีส์ยังมีการแซะธุรกิจการท่องเที่ยวสายสุขภาพ เหมือนโรงแรม The White Lotus ในซีรีส์ที่มีการมอบบริการทางสุขภาพกายและใจหลากหลาย และเป็นแนวทางของธุรกิจท่องเที่ยวหลายภาคส่วนในประเทศ โดยไพเพอร์ เรียกธุรกิจเหล่านี้ว่า “เหมือนดิสนีย์แลนด์สำหรับพวกโบฮีเมียนรวย ๆ จากมาลิบู ที่ใส่กางเกงโยคะลูลู่เลมอน”
ประเด็นสุดท้ายที่น่าจับตามอง คือเรื่องของ ธุรกิจสีเทา ในไทย ที่ทำโดยชาวต่างชาติ ซีรีส์ The White Lotus ก็พูดถึงกลุ่มชาวต่างชาติที่ย้ายมาอยู่ไทย และทำธุรกิจ หรือกิจกรรมบางอย่างที่อาจจะผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่งพูดถึงการที่ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยและกว้านซื้อที่ดินทำกินของคนไทยไปจนเกือบหมด เหมือนที่ตัวละคร ทิโมธี พูดว่า “ใครก็ตามที่ย้ายมาประเทศไทย ถ้าไม่ได้มองหาอะไรบางอย่าง ก็กำลังหลบหนีจากอะไรบางอย่าง”
พิชชากานต์ ยังชี้ให้เห็นว่า ซีรีส์ The White Lotus เป็นตัวอย่างของสื่อประเภท Criticized Culture หรือ การผลิตสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมของประเทศตัวเอง ซึ่งเป็นรูปแบบของการเผยแพร่วัฒนธรรมที่ค่อนข้างก้าวหน้า อย่างประเทศเกาหลี ที่เพิ่งได้มีการก้าวเข้าสู่ช่วงของ Criticized Culture จากก่อนหน้าที่เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านสื่อซีรีส์ K-Drama หรือวงการดนตรี K-POP
“ตัวอย่างที่ชัดเจนของ Criticized Culture คือภาพยนตร์ Parasite ของเกาหลี ที่กล้าที่จะนำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในประเทศของตัวเอง ประเทศเกาหลีถึงกับภาคภูมิใจในภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลออสการ์ จนนำโถส้วมจากในภาพยนตร์ไปจัดแสดงในงานต่างประเทศ ทำให้มีข้อถกเถียงภายในประเทศเกาหลีเองว่า มันทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ“
พิชชากานต์ ช่วงชัย
ฉากที่สะท้อนถึงการวิจารณ์วัฒนธรรมไทยได้ คือ ฉากที่มีตัวละครเดินเข้าร้านกัญชาที่ตั้งอยู่หน้าวัด และยืนสูบกัญชาอยู่ตรงนั้น ที่อาจจะทำให้คนไทยหลายคนกลัวว่าภาพลักษณ์ของประเทศไทยจะดูเป็นแหล่งมั่วสุมเล่นยาหรือไม่
สำหรับประเทศไทย ผลงานในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักเน้นนำเสนอวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเชิงบวกเป็นหลัก แต่ในระยะหลังเริ่มมีการผลิตผลงานเสียดสีปัญหาสังคม อย่างเช่นซีรีส์ สาธุ และ อนาคต ที่ผลิตโดย Netflix ซึ่งก็ทำให้เกิดการถกเถียงในสังคมไทย เช่นเดียวกับเกาหลี อย่างไรก็ตาม พิชชากานต์ ก็ชี้ให้เห็นว่า ข้อวิพากษ์วิจารณ์สื่อ Criticized Culture ส่วนใหญ่นั้นจะเกิดและจบภายในประเทศที่ผลิตสื่อนั้นเอง ผู้ชมคนต่างชาติไม่ได้มองเรื่องปัญหาสังคมหรือความเหลื่อมล้ำนี้เป็นปัญหา

วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชมแห่บัวขาว (The White Lotus) ไวท์ กล่องแก้ว ทีวี
The White Lotus เป็นสื่อวิจารณ์วัฒนธรรม ?… พิชชากานต์ มองว่า The White Lotus Effect หรือ การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวไทยหลังชมซีรีส์ เป็นโอกาสทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
“เราสามารถจัดทำทัวร์ตามรอยซีรีส์ที่เกาะสมุย โดยสอดแทรกการเล่าเรื่องราวความเป็นมา และวัฒนธรรมท้องถิ่นไปพร้อมกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นได้ขายสินค้าพื้นบ้านตามวัฒนธรรมของตนเอง เพื่อให้รายได้กระจายตัวไม่กระจุกอยู่แค่ในธุรกิจหรู”
พิชชากานต์ ช่วงชัย
แม้ความสำเร็จของ The White Lotus จะสะท้อนความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยในสาขาภาพยนตร์ แต่ พิชชากานต์ ยังกังวลว่า ต้องติดตามว่าซีรีส์นี้ได้ให้เครดิตผู้ร่วมสร้างสรรค์ที่เป็นคนไทยมากน้อยเพียงใด และจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในระยะยาวได้จริงหรือไม่
โดยยกตัวอย่าง ประเทศมาเลเซียที่มีนโยบายด้านภาพยนตร์คล้ายคลึงกัน น้อยคนที่รู้ว่าทีมเอฟเฟกต์ของภาพยนตร์ ‘Life of Pi’ เป็นคนมาเลเซียทั้งหมด มาเลเซียได้กลายเป็น Content Factory หรือ โรงงานผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์ ไปแล้ว และต้องพิจารณาว่าประเทศไทยกำลังเดินไปสู่เส้นทางเดียวกันหรือไม่
จากตัวอย่างซีรีส์หรือบทสนทนา รายละเอียดที่เกิดขึ้นในเรื่อง อาจจะทำให้หลาย ๆ คนตั้งตารอฉาก ปาร์ตี้ฟูลมูนบนเกาะพะงัน หรือการเดินทางมาที่กรุงเทพฯ ก็อาจจะคาดเดาได้ว่าจะมีฉากปาร์ตี้ริมชายหาดสุดเหวี่ยงเหมือนความจริงให้ได้เห็น
ที่ผ่านมาหลาย ๆ ตอน เนื้อเรื่องหลักของ The White Lotus ได้พาเราถลำลึกไปกับธุรกิจสีเทา ความไม่ปกติระหว่างกลุ่มคนรวยผู้เข้าพักในโรงแรมกับพนักงานบนเกาะ และกำลังค่อย ๆ พาเราไปสู่บทสรุปว่า มีคนเสียชีวิตภายในสัปดาห์ที่พักอยู่ที่โรงแรมแห่งนี้
ลองจับตามองความเป็นไทยและปัญหาสังคมไทย ที่ถูกเล่าในซีรีส์ The White Lotus พร้อมกับผู้ชมทั่วโลก และรอติดตามว่า ประเทศไทย จะถูกพูดถึงว่าอย่างไรอีกบ้างนับจากนี้…