ม่านปิดลง ดอกบัวขาว ลาลับฉาก
ประเด็นมาก หลากรส ชวนสงสัย
ซอฟต์พาวเวอร์ คัลเจอร์ เริ่มที่ใคร
ก้าวต่อไป ไทยแลนด์ แดนภาพยนตร์
ปิดฉากลงไปอย่างสมบูรณ์แบบสำหรับ ซีรีส์ The White Lotus ซีซัน 3 ซีรีส์ระดับโลกที่ถ่ายทำ และเล่าความเป็นสังคมไทย ผ่านเรื่องราวของนักท่องเที่ยวและพนักงานโรงแรมหรู The White Lotus โรงแรมที่สมมติขึ้นบนเกาะสมุย จ.สุราษฏ์ธานี

Mike White นักเขียน ผู้อำนวยการสร้าง และผู้กำกับซีรีส์ มีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเสียดสี เชิงวิพากษ์สังคม ผ่านเนื้อหาของความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น รวมถึงสอดแทรกเนื้อหาความเป็นไทย อัตลักษณ์ของวัฒนธรรม และใช้คำสอนศาสนาพุทธเป็นธีมหลักของซีซันนี้อีกด้วย
The Active ชวนเจาะลึกความเป็นไทย ในซีรีส์ ชวนสังเกตุประเด็นไทย ๆ ว่า ตรงกับที่เราชาวไทยมองกันหรือไม่ ? ผู้ผลิตซีรีส์เขาคัดสรรความเป็นไทยอย่างไร ? และผู้ชมกว่า 16 ล้านคนต่อตอน จะอยากมาเยี่ยมชมบ้านของฉัน (ประเทศไทย) เพิ่มขึ้น หรือน้อยลง…?
ภาพสะท้อน ‘ความเป็นไทย’ ในซีรีส์ The White Lotus
จากการรวบรวมของ The Active ชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรมความเป็นไทยในแบบฉบับ The White Lotus ตั้งแต่ต้นจนจบ มีความเป็นวัฒนธรรมหลักของประเทศไทย (Dominant Culture) ที่นำเสนอความเป็นไทยตามขนบธรรมเนียมหลักที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย โดยอาจจะยังไม่ได้เผยให้เห็นวัฒนธรรมย่อยของเกาะสมุย หรือภาคใต้สักเท่าไร
ตามนโยบาย Soft Power ของประเทศไทย ได้แบ่งวัฒนธรรมที่มีศักยภาพออกเป็น 5F ได้แก่
- แฟชั่น
- ฟู้ด (อาหาร)
- ฟิล์ม (ภาพยนตร์)
- เฟสติวัล (เทศกาล)
- ไฟท์ติ้ง (มวยไทย)

ในซีรีส์ The White Lotus แสดงออกครบทุกสาขาของวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ (โดยนับตัวซีรีส์ The White Lotus เป็นสาขาภาพยนตร์)
และหากมองลึกลงไปถึงองค์ประกอบ 15 สาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ก็จะพบว่า มีองค์ประกอบที่เห็นบ่อย ๆ นั่นก็คือ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หรือ องค์ประกอบสถานที่ วิวต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบในทุกตอนของซีรีส์ ตามมาด้วยการออกแบบที่มีความเป็นไทย และศิลปะการแสดงที่มีให้ชมมากมาย
ทั้งหมดนี้สะท้อนความเป็นวัฒนธรรมหลักของประเทศไทย ที่ถูกสะท้อนผ่านซีรีส์ The White Lotus อย่างที่ พิชชากานต์ ช่วงชัย อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้มุมมองเอาไว้
อ่านเพิ่ม : ครึ่งทางซีรีส์ ‘บัวขาว’ (The White Lotus) เล่าประเด็นสังคมไทย ว่าไงบ้าง ?
“ซีรีส์ก็ยังคงนำเสนอภาพว่าคนไทยคือสงกรานต์ ต้มยำกุ้ง ขี่ช้าง เรายังไม่ได้เห็นวัฒนธรรมย่อย หรือ subset”
พิชชากานต์ ช่วงชัย
แต่สุดท้ายแล้วเมื่อซีรีส์เดินทางมาถึงตอนจบ ได้ฉายภาพความเป็นไทยออกมาในมิติใดบ้าง และจากนี้จะเกิดอะไรตามมาหรือไม่ The Active ชวน ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมวิเคราะห์
ซีซัน 3 วัฒนธรรมชัดกว่าซีซันก่อน
The White Lotus เป็นซีรีส์ที่มีรูปแบบการเล่าเรื่องในเชิงเสียดสีสังคม โดยเฉพาะเรื่องราวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในพื้นที่ท้องถิ่น ในซีซัน 3 นี้ ผศ.มรรยาท มองว่า ผู้สร้างพยายามทำความเข้าใจประเทศไทย วัฒนธรรม และมุมมองของคนในสังคมไทยได้ค่อนข้างดี
“ซีซันนี้ดูพยายามนำเสนอความเป็นไทยมากกว่าซีซัน 1 ที่เสนอความเป็นท้องถิ่นของฮาวายหรือซีซัน 2 ในอิตาลี”
ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ
ผศ.มรรยาท ยังตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากนโยบายส่วนลดภาษีของรัฐบาลไทย ที่มีต่อกองถ่ายต่างชาติ ทำให้ผู้สร้างมีความพยายามสอดแทรกภาพต่าง ๆ ที่แสดงความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นรำไทย โขนไทย หรือแม้แต่เทศกาลสงกรานต์ ที่หลายคนมองว่า ดูไม่เข้ากับบริบทของเนื้อเรื่องเท่าไร นำไปสู่คำถามว่า ตัวซีรีส์สะท้อนความเป็นไทยได้ดีหรือไม่

“The White Lotus มีเนื้อหาหลักเรื่องการเสียดสีสังคม เพียงแต่ในแต่ละซีซัน เขาเลือกสถานที่ก่อน แล้วจึงมาสู่รายละเอียดบท เพราะฉะนั้น บทมีการพยายามเล่าเรื่องจากสายตาคนนอก”
“Mike White พยายามทำความเข้าใจกับประเทศไทย ความคิดคนในสังคมไทยต่อเรื่องราวต่าง ๆ หรือมุกต่าง ๆ ที่คนต่างชาติมักชอบเข้าใจผิด เขาสามารถเก็บรายละเอียดเข้ามาใส่ได้ค่อนข้างดีและชัดเจน”
ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ
พร้อมทั้งเห็นว่า ประเทศไทยในซีรีส์ ถือเป็นสถานที่อิสระ “ทำอะไรก็ได้”
“คุณจะเห็นภาพประเทศไทยที่ถูกนำเสนอว่าเป็นที่ที่คุณสามารถทำอะไรก็ได้ตามความต้องการ เรามีความหลากหลายทั้งด้านเพศ การพักผ่อน เราไม่ตัดสินคุณ ไม่ว่าคุณจะหนีอะไรมา เรายินดีต้อนรับคุณ”
ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ
ผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย
เชิงบวก
- แสดงให้เห็นความหลากหลายของสังคมไทย โดยเฉพาะการยอมรับความหลากหลายทางเพศ
- นำเสนอความงดงามของสถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมไทย
- เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการแสดงของไทยสู่สายตาชาวโลก
โดย ผศ.มรรยาท ได้เชื่อมโยงการเล่าอัตลักษณ์ความเป็นไทยนี้ ว่า ไม่แน่ก็อาจจะมาจากผลประโยชน์เรื่องส่วนลดการถ่ายทำ
“พอได้ผลประโยนชน์ เขาเลยอาจจะมีความพยายามสอดแทรกภาพต่าง ๆ อย่างรำไทย โขนไทย หรือแม้แต่สงกรานต์ ก็ยังสามารถใส่เข้ามาเรื่องนี้ได้ มันงงมากเลยว่ามาอยู่ในเรื่องได้ยังไง เป็นแขกต่างชาติอยากลองออกไปเล่นข้างนอกแล้วเจอเล่นน้ำสงกรานต์”
ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ
เชิงลบ
- มีฉากปาร์ตี้ การใช้ยาเสพติด ผับบาร์ และอาจมีนัยยะถึงอาชีพบริการทางเพศ
- การสร้างภาพว่าเป็น “สวรรค์ของอาชญากร” ที่สามารถหาอาวุธหรือซ่อนตัวได้ง่าย
- อาจทำให้เกิดภาพจำว่าชาวต่างชาติที่มาประเทศไทยเป็นพวก “ฝรั่งขี้เซ่อ พยายามหาผู้หญิงไทยสวย ๆ มาเป็นคู่ชีวิต”
อย่างไรก็ตาม ผศ.มรรยาท ยังมองว่า เรื่องราวความดำมืด เรื่องเพศ และยาเสพติด เป็นสิ่งที่ปรากฏในทุกซีซั่นของ The White Lotus ไม่ใช่เพิ่งมาปรากฏในซีซันที่ถ่ายทำในประเทศไทย “ที่ไหน ๆ ก็อาจจะมี”
วิเคราะห์เพลงไทยในซีรีส์ The White Lotus
ยังมีมุมมองจาก สรัญรัตน์ แสงชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีเชิงพาณิชย์ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่วิเคราะห์ถึงการใช้เพลงไทยในซีรีส์ The White Lotus ซีซัน 3 ได้เผยให้เห็นแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของดนตรีไทยในสื่อระดับโลก
โดยอธิบายถึงการใช้เพลงในภาพยนตร์หรือซีรีส์ มีหน้าที่หลายรูปแบบ แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละภาพยนตร์ และแต่ละบทเพลงที่ถูกใช้ และได้ยกตัวอย่างหน้าที่ของเพลงประกอบหนังเหล่านี้ นั่นคือ :
- การสร้างบรรยากาศ (mood)
- การเพิ่มความดรามา (dramatic effect)
- การบ่งบอกสถานที่ (sense of location)
- การสะท้อนอารมณ์ (character emotion/identification)
- การเสริมฉากแอคชั่น (action)
- การบอกใบ้เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น (foreshadowing)
จากข้อมูลการสัมภาษณ์ Gabe Hilfer ผู้ทำหน้าที่ Music supervisor ของซีรีส์นี้ แม้เขาจะไม่เข้าใจภาษาไทย แต่เขาเลือกเพลงประกอบจาก ไวบ์ และ มู้ด หรืออารมณ์ที่เข้ากับแต่ละฉาก โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้สึกถึงสถานที่ (sense of location) หรือสะท้อนลักษณะตัวละคร
สรัญรัตน์ ยังยกตัวอย่างเพลง “ขึ้น ๆ ลง ๆ” ของสรวงสันติ ที่มีลักษณะเป็นเพลงไทยฟังก์ และเนื้อหาสื่อถึงผู้ชายที่มีความเจ้าเล่ห์ เจ้าชู้ ซึ่งถูกใช้ในฉากที่ตัวละครชายกำลังทำกริยาประมาณว่า “ฉันหล่อฉันเท่” สอดคล้องกับเนื้อหาเพลงที่มีความหมายสองแง่ สองง่าม การขึ้นลงอาจมีความหมายแฝงได้ ถือเป็นตัวอย่างการใช้เพลงประกอบที่ไม่เพียงแต่จะบอกอารมณ์ของซีน แต่ยังสอดคล้องไปกับความหมายของเพลงได้

เพลงไทยในซีรีส์ ตอกย้ำภาพจำไทยในสายตาชาวตะวันตก
สรัญรัตน์ ยังมองว่า การเลือกใช้เพลงไทยในซีรีส์สะท้อนถึงภาพจำของชาวตะวันตกที่มีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำนองเพลงจากยุค 1970 – 1980 ที่มีความเชื่อมโยงกับช่วงสงครามเย็น และสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดแนวเพลงไทยฟังก์ขึ้นในแถบภาคอีสาน
“มันเป็นภาพจำสายตาตะวันตกที่มองคนตะวันออกเฉียงใต้ว่ามันเป็นความ exotic (แปลกประหลาด)”
สรัญรัตน์ แสงชัย
ทั้งยังมองว่า ซีรีส์เลือกใช้เพลงที่มีความ Very Thai หรือ ไทยมาก ๆ ในมุมมองของชาวตะวันตก แต่ไม่ได้นำเสนอวัฒนธรรมดนตรีไทยร่วมสมัย
“ไม่ได้เสนอเพลงร่วมสมัยที่เกิดในปัจจุบัน อย่างทำไมถึงไม่เอา Safe Planet หรือ เขียนไข และเพลงอื่น ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันมา ก็อาจจะเป็นเพราะภาพจำ”
สรัญรัตน์ แสงชัย
ใช้เพลงแห่ขันหมาก แต่ไม่มีฉากแต่งงาน ?
ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี ยังชี้ให้เห็นว่า ในบางกรณี การใช้เพลงไทยในซีรีส์ก็ไม่สอดคล้องกับบริบทดั้งเดิมของเพลง เช่น การใช้เพลง แห่ขันหมาก หรือ A Thai Wedding ซึ่งโดยปกติเป็นเพลงที่ใช้ในพิธีแต่งงาน แต่ในซีรีส์อาจถูกเลือกใช้ประกอบฉากทั่วไป เพราะให้ความรู้สึก Spiritual เชิงจิตวิญญาณ หรือ Psychedelic ศิลปะแนวไซคีเดลิก
“ถ้าฟังเฉย ๆ ไม่ได้คิดว่ามันเป็นขันหมาก ชาวต่างชาติก็จะได้ sense of spiritual หรือ psychedelic แต่พอเพลงมันมีเนื้อ มีฟังก์ชั่น มันยากที่คนไทยจะตัดบริบทตรงนั้นออก เราดูก็อาจจะรู้สึกว่า เพลงนี้เราใช้ในงานแต่งนี่หว่า ใครกำลังจะแต่งงานรึเปล่า”
สรัญรัตน์ แสงชัย
อีกตัวอย่างการใช้เพลงไทยแบบที่น่าสนใจคือเพลง “พี่สาวครับ” ของศิลปิน จรัล มโนเพชร ที่ประกอบด้วยกลิ่นอายภาคเหนืออย่างชัดเจน แต่ถูกนำมาใช้ประกอบฉากโรงแรมในภาคใต้ หรืออย่างบทเพลง “เธอคือความฝัน” ของ พราว ที่เคยถูกใช้ประกอบหนังต่างชาติ Only God Forgives มาแล้ว
“เราไม่แน่ใจว่า เหมือนเขาอ่านคำแปลแล้วเห็นว่าตัวละครหลับอยู่ แล้วก็ใช้เพลงที่เกี่ยวกับความฝัน แค่นี้หรือเปล่า”
สรัญรัตน์ แสงชัย
เพลงประกอบ ‘ฮ่วย อะบานิบี’ นี่เพลงไทยหรือเปล่า ?
ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกมุมมองคือ เพลงไทยที่ถูกเลือกมาใช้หลายเพลง เป็นเพลงที่มีอิทธิพลจากเพลงตะวันตก หรือเป็นการ S ample เพลงหรือทำนองที่มีอยู่แล้ว เช่น
- ขึ้น ๆ ลง ๆ – สรวงสันติ มีความคล้ายคลึงกับ “Black Sabbath – Iron Man”
- ฮ่วยอะบานิบี – หงษ์ทอง ดาวอุดร ได้รับอิทธิพลจาก “Ishtar Cohen – A-Ba-Ni-Bi”
- Made in Thailand – คาราบาว มีความคล้ายคลึงแนวเพลงของ Santana ซึ่งมีเพลงดังอย่าง “Black Magic Women”
สรัญรัตน์ จึงเสนอว่า นี่อาจเป็นกลยุทธ์การเลือกเพลงเพื่อให้ “คนต่างชาติที่มาดู พอเก็ทไวบ์ที่เขาคุ้นเคย” ช่วยให้ผู้ชมทั่วโลกเชื่อมโยงกับดนตรีไทยได้ง่ายขึ้น
“เพลงที่ถูกนำมาใช้คือเพลง Pop ที่ดังอยู่แล้ว จริง ๆ เพลงไทยมีเยอะแยะที่ร่วมสมัยแบบนี้ แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ เราเชื่อว่าทีม Music Supervisor มีคนแปลเนื้อเพลงแน่นอน และมีคนที่รู้บริบทด้วย คงไม่ได้ใส่ ChatGPT แล้วแปลให้ จริง ๆ เขามีข้อมูลทุกอย่าง อะไรทำให้เขาเลือกเพลงเหล่านี้ ก็เพราะมันดังอยู่แล้ว มันใช้ได้ มันคุ้นหู”
สรัญรัตน์ แสงชัย

ต่างชาติได้ฟังเพลงไทย วงการเพลงไทยจะโตจากซีรีส์หรือไม่ ?
สรัญรัตน์ ยังมองว่า แม้ The White Lotus จะเป็นสื่อระดับโลก แต่อาจไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อวงการดนตรีไทย
“ถึงแม้ว่า White Lotus เป็นซีรีส์โดย HBO MAX ระดับโลก เรามองว่ามันไม่ได้มีผลต่อวงการดนตรีไทยโดยตรง แต่ถ้ามองในอุตสาหกรรมหนัง มันเวิร์ค…The White Lotus ไม่ได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมเพลงไทยโดยตรง หรือถึงมี ก็ไม่ได้ยั่งยืน”
สรัญรัตน์ แสงชัย
เนื่องจากเพลงที่เลือกมาใช้ในซีรีส์ส่วนใหญ่มาจากยุค 70 – 80 จึงเป็นการนำมาสร้างบรรยากาศมากกว่าการส่งเสริมศิลปินร่วมสมัย
อีกปัจจัย คือ ตัวซีรีส์ก็ไม่ได้มีการพูดถึงศิลปินเจ้าของเพลงที่นำมาประกอบ และไม่ได้เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเชิงลึกของไทยในปัจจุบัน
“ถ้าสื่อความเป็นไทย ก็คงเป็นตามแบบของสำนักพระราชวัง มันมีความรวมศูนย์ประมาณนึง ถ้ามองในมุมผู้ชมต่างชาติ คงมองไทยเป็นแค่ความงามแบบ exotic มันน่าตื่นเต้นมากกว่าการพยายามจะเข้าใจวัฒนธรรม”
สรัญรัตน์ แสงชัย
เพลงแนว สรวง สันติ แนวไทยฟังก์ อย่างเพลงจากวง Khruangbin เป็นตัวอย่างเพลงที่ สรัญรัตน์ เชื่อว่า ชาวต่างชาติ ฟังกันอยู่แล้ว
“ตลาดหรือกระแสเพลงไทยมันขับเคลื่อนของมันอยู่แล้ว มีศิลปินเติบโต ศิลปินอินดี้เติบโต ศิลปินเก่งขึ้นอยู่แล้ว The White Lotus คงไม่ได้ทำให้วงการเพลงไทยเก่งเร็วขึ้น”
“มันอาจจะกระตุ้นให้ชาวต่างชาติที่ทำหนัง มีเพลย์ลิสท์เพิ่มมากขึ้น กระตุ้นให้คนกลับมาสำรวจเพลงไทยมากขึ้นได้”
สรัญรัตน์ แสงชัย
ดังนั้นการจะผลักดันเพลงไทยสู่สื่อระดับโลกอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและต้องมีการพัฒนาคุณภาพของเพลงอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นสังคมที่ถูกพูดถึง ใน The White Lotus
จุดเด่นของ The White Lotus คือการนำเสนอ วัฒนธรรมแบบวิพากษ์วิจารณ์ (criticized culture) ที่ไม่ได้มองเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่พยายามนำเสนอทั้งแง่บวกและแง่ลบของสังคมไทย ซึ่งเป็นมุมมองที่อาจแตกต่างจากสื่อที่ผลิตโดยคนไทยเอง
การที่ซีรีส์นี้ผลิตโดยทีมงานต่างชาติทำให้มีอิสระในการนำเสนอประเด็นที่อาจเป็นข้อห้ามหรือถูกเซ็นเซอร์ หากเป็นการผลิตโดยคนไทย เนื่องจากมีอำนาจต่อรองกับทางการไทยมากกว่า อย่างไรก็ตาม ซีรีส์ยังคงพยายามสร้างความสมดุลด้วยการแสดงให้เห็นว่าตัวละครที่มีอคติต่อคนไทยมักจะถูกท้าทายหรือโต้กลับโดยตัวละครอื่น ๆ

“ถ้าไม่ใช่ Mike White เป็นคนทำ ไม่ใช่กองถ่ายต่างประเทศ แต่เป็นคนไทยเล่าเรื่องนี้ มีคำถามเลยว่าทำได้รึเปล่า เพราะด้วยความที่ซีรีส์เขามีอิทธิพลสูงอยู่ เขาก็มีพาวเวอร์ต่อรองกับทางการไทยที่อาจจะไม่ได้ต้องนำเสนอทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็อาจจะประนีประนอม อย่างสงกรานต์ที่ใส่เข้ามา”
ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ
Wellness Tourism : มากกว่าแค่การพักผ่อน
ประเทศไทยถูกนำเสนอเป็นสวรรค์แห่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไม่เพียงแค่ภาพทะเลสวย หาดทรายขาว และธรรมชาติอันงดงาม แต่ยังรวมถึงการบำบัดทางจิตใจและจิตวิญญาณ ซีรีส์นำเสนอภาพของการนวดแผนไทย การดูแลสุขภาพแบบตะวันออก และการเชื่อมโยงกับมิติทางศาสนาและความเชื่อที่แตกต่างจากซีซันก่อน ๆ
ไทยถูกวาดภาพเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวสามารถมาพักผ่อนได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการพักฟื้นร่างกาย การฟื้นฟูจิตใจ หรือการแสวงหาความหมายทางจิตวิญญาณ ซึ่งสะท้อนจุดแข็งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่มีความหลากหลายและตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่ม
Diversity : ไทยแลนด์ในฐานะดินแดนแห่งความหลากหลาย
หนึ่งในประเด็นที่ซีรีส์นำเสนออย่างชัดเจน คือ ภาพของประเทศไทยในฐานะสังคมที่เปิดกว้างและยอมรับความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของ LGBTQ+ ที่ถูกนำเสนอว่าไทยเป็นประเทศที่มีการยอมรับที่หลากหลายกว่าหลายประเทศ เป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถแสดงตัวตนได้อย่างอิสระ
การนำเสนอภาพความหลากหลายนี้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางที่เหมาะสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเพื่อปาร์ตี้ ผู้ที่ต้องการค้นหาตัวเองทางจิตวิญญาณ หรือกลุ่มผู้เกษียณอายุที่ต้องการใช้ชีวิตบั้นปลายในสภาพแวดล้อมที่สงบและเป็นมิตร
Foreigners : มุมมองของชาวต่างชาติต่อไทย
ซีรีส์ยังนำเสนอภาพของชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยด้วยเหตุผลที่หลากหลาย บางคนมาเพื่อการพักผ่อน บางคนมาเพื่อหลบหนีจากปัญหาชีวิต หรือแม้แต่มาเพื่อ ซ่อนตัว จากบางสิ่งในประเทศของตน
ภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ถูกนำเสนอผ่านสายตาชาวต่างชาติมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ในด้านบวกคือการเป็นสถานที่ที่สวยงาม มีความหลากหลาย และเปิดกว้าง แต่ในขณะเดียวกันก็มีภาพลบที่แสดงถึงปัญหาสังคม เช่น การเข้าถึงยาเสพติดได้ง่าย การซื้อขายบริการทางเพศ หรือการเป็น สวรรค์ของอาชญากร ที่สามารถหลบหนีมาอยู่ได้
นอกจากสามประเด็นเหล่านี้ ตัวซีรีส์ก็ได้มีการพูดถึงประเด็นทาง ศาสนา ที่ชาวต่างชาติหลายคนมองว่า ศาสนาพุทธเป็นลัทธิ ที่อาจจะทำอะไรไม่ดีข้างในกันก็ได้ หรือมองว่าศาสนาพุทธเป็นเรื่องของการยอมแพ้ ไม่เอาของทางวัตถุนิยม ที่ตรงกันข้ามกับวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยมของชาวตะวันตก
และอีกประเด็นคือเรื่องของ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างการเอ่ยถึงเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2004 ที่พัดถล่มประเทศไทย สะท้อนถึงความกังวลที่ยังหลงเหลืออยู่ในกลุ่มชาวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศไทย แม้เวลาจะผ่านมาร่วม 20 ปีแล้วก็ตาม

The White Lotus Effect : ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังการฉาย
“สิ่งที่เกิดได้รวดเร็วคือ คนจะรู้สึกว่า มันสวยจังเลย ถ้าเรามีเงิน อยากหาที่พักผ่อน ท่องเที่ยวซักหน่อย ค้นหาชีวิตเชิงจิตวิญญาณ มันจะเห็นผลค่อนข้างชัด”
ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ
จากประสบการณ์ของซีซันก่อน ๆ พบว่าหลังจากการฉาย The White Lotus ยอดการจองโรงแรม การท่องเที่ยว และการจ้างงานในพื้นที่ถ่ายทำเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อรวมกับ ลิซ่าเอฟเฟกต์ อาจยิ่งส่งผลให้การท่องเที่ยวในเกาะสมุยของประเทศไทยบูมมากขึ้น
ทั้งนี้ ผศ.มรรยาท ยังเตือนว่า การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวอาจนำมาซึ่งความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยและเกาะสมุย ได้แก่
- ต้องเตรียมรับมือกับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
- ต้องระวังไม่ให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดความเสียหาย
- ต้องพิจารณาว่ารายได้จากการท่องเที่ยวกระจายสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผศ.มรรยาท ยังชี้ให้เห็นว่า นี่คือโอกาสที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อและการท่องเที่ยวของไทย
“ผู้ผลิตเมืองไทยควรมีอิสระในการเล่าเรื่องต่างๆ มากขึ้น จริงๆ แล้ว กองถ่ายในเมืองไทย แรงงานที่มีฝีมือ มีคุณภาพมาก งานฮอลลีวูดหลายเรื่องมาทำโปรดักชั่นในไทย เรามีผู้กำกับฝีมือดี แต่ดันต้องไปทำงานให้บริษัทต่างชาติ”
ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ
เพราะเหตุนี้ ผศ.มรรยาท จึงเสนอให้มีการสนับสนุนผู้ผลิตสื่อไทยอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่เปิดประตูให้กองถ่ายต่างชาติเข้ามา แต่ควรสนับสนุนให้คนไทยสามารถผลิตเนื้อหาที่มีทั้งความเป็นไทยและความเป็นสากล เพื่อสามารถออกสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น

The White Lotus ไม่ได้เป็นเพียงซีรีส์เสียดสีสังคมหรือวิจารณ์วัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อมุมมองของชาวต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย และมีผลต่อการท่องเที่ยวในอนาคต แม้จะมีทั้งแง่มุมเชิงบวกและเชิงลบ
แต่สิ่งสำคัญ คือ การที่ประเทศไทยจะสามารถรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่น รวมถึงภาพลักษณ์ และความสนใจต่อวัฒนธรรมประเพณีไทย ท่ามกลางกระแสการท่องเที่ยวที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการเกิดขึ้นของซีรีส์นี้ได้หรือไม่ ?