ทำไมผู้หญิง ถึงไม่อยากมีลูก ? คำถามที่เกิดขึ้นในวันที่ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมสูงวัยสุดยอด สวนทางกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลงเรื่อย ๆ และรัฐบาลผลักดันนโยบายเรื่องการส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ แต่การปรับสมดุลประชากร เพิ่มอัตราการเกิดเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ไม่สามารถคิดจากมิติเดียว โดยมองผู้หญิงเป็นโรงงานผลิตลูกหรือคิดแค่เรื่องการส่งเสริมการเจริญพันธุ์
แต่ปัจจุบันมีข้อจำกัดมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างครอบครัว และการมีลูก ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนค่าใช้จ่าย ความเสี่ยงด้านโอกาสการงาน มุมมองที่มีต่อความเป็นมารดา รวมถึงสวัสดิการดูแลเด็กเล็กต่อเนื่อง ซึ่งช่วงเป็นวัยที่สำคัญและต้องรีบลงทุนมากที่สุด สำหรับประเทศไทยที่ยังมีช่องว่าง และคำถามมากมายเกี่ยวกับสวัสดิการเด็กเล็กที่ยังไม่ถ้วนหน้า มีความตกหล่น และไม่สามารถดูแลต่อเนื่องตั้งแต่แม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงเด็กอายุ 6 ปี
เวที Policy Forum ครั้งที่ 4 : นโยบายสวัสดิการเด็กเล็ก เพื่อพัฒนาแนวคิด หลักการและความร่วมมือในระดับนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า และการดำเนินงาน ที่ไทยพีบีเอส และคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนกว่า 450 เครือข่ายร่วมจัดขึ้น เปิดข้อมูลจากงานวิจัย ระดมความคิด เสนอรัฐบาลเดินหน้าเงินอุดหนุนถ้วนหน้า ขยายสิทธิลาคลอด พัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ยืดหยุ่น หลากหลาย สอดคล้องบริบทพื้นที่ เสนอเปลี่ยน ‘การสงเคราะห์’ เป็น ‘การพัฒนามนุษย์’ รับมือโจทย์ใหญ่ในอนาคต
“เศรษฐศาสตร์ความเป็นมารดา” ลดภาระความเป็นมารดา สร้างรายได้มั่นคง
เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา นำเสนอข้อค้นพบจากงานศึกษาวิจัยสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ในประเด็น “ความเป็นมารดา” ที่ครอบคลุมทุกเพศสภาพ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่แม่เพียงคนเดียว แต่ “ใครก็เป็นมารดาได้” เช่น พ่อเลี้ยงเดี่ยว คู่แต่งงานที่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ
ขณะเดียวกัน ก็ชี้ให้เห็นโครงสร้างประชากรของไทยปัจจุบัน ที่ประชากรหญิงมีสัดส่วน ร้อยละ 51 ต่อประชากรชายร้อยละ 49 และผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหญิงมากกว่าชาย ขณะที่ประชากรวัยทำงานทั้งในและนอกระบบ ก็เป็นผู้หญิงถึงร้อยละ 51.7 เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 16,500 บาท สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงมีบทบาททั้งการกำหนดชะตากรรมบ้านเมือง และเป็นแรงงานขับเคลื่อนประเทศ ผลการศึกษาของ McKinsey Global Institute ระบุว่าการเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศในตลาดแรงงาน จะส่งผลให้ GDP ของประเทศสูงขึ้นร้อยละ 12-25
แม้ว่าในศตวรรษที่ 21 มีผู้หญิงทั่วโลกกว่า 1 พันล้านคนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงที่จากเดิมถูกกำหนดให้เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก ส่วนการทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเป็นบทบาทของผู้ชาย แต่ปัจจุบัน ผู้หญิงทำงาน หารายได้และมีสิทธิสร้างครอบครัว รวมถึงเลือกได้ว่าจะมีลูกหรือไม่ เพราะการมีลูก 1 คน จะส่งผลให้รายได้ลดลงร้อยละ 20 รวมถึงโอกาสในการทำงานก็ลดลง สวนทางค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน “ความเป็นแม่” ก็มีต้นทุน ที่ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ต้นทุนทางการเงิน ซึ่งพบว่าค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก 0-6 ขวบให้มีคุณภาพอยู่ที่ 1.2 ล้านบาทต่อคน, ต้นทุนค่าเสียโอกาส จากการมีลูก ทำให้มีเวลาในการทำงานน้อยลง หรือแม่บางคนต้องลาออกจากการทำงานประจำ และต้นทุนที่ไม่ใช่การเงิน เช่น ต้องใช้พลังกายและพลังใจอย่างสูง ความอดทนต่าง ๆ ดังนั้นเศรษฐศาสตร์ความเป็นมารดาจึงสะท้อนให้เห็นปัญหาและอุปสรรค เพื่อหาทางออก ลดภาระความเป็นมารดาในขณะที่ยังทำงานสร้างรายได้อย่างมั่นคง สร้างแรงจูงใจสำหรับคนที่ต้องการมีลูก ท่ามกลางความท้าทายของสถานการณ์ในสังคมปัจจุบันที่อัตราการเกิดลดลงเหลือแค่ 1.1 ขณะที่จำนวนผู้สูงวัยกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หมายความว่าเด็กรุ่นใหม่จะต้องเติบโตไปแบกรับภาระมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงในอนาคต
ทั้งหมดเป็นข้อค้นพบที่นำมาสู่ข้อเสนอเพื่อสร้างสถาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัว และการมีลูก โดยภาครัฐควรจัดกรอบงบประมาณเพื่อพัฒนาแม่และเด็กใหม่ด้านสวัสดิการภาครัฐและตลาดแรงงานในประเทศไทย ตั้งแต่การขยายวันลาคลอดของแม่แบบได้รับค่าจ้าง เป็น 180 วัน ส่งเสริมการลาของพ่อเพื่อช่วยภรรยาดูแลลูกหลังคลอด เพิ่มวันลาเพื่อดูแลบุตรทั้งในระบบราชการและสถานประกอบการทั่วไป เงินของขวัญเด็กกองทุนสำหรับที่มีความยากลำบาก และเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบาย มีนโยบายการลดภาษีสำหรับเอกชนที่มีนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวของพนักงานและกรณีบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาหรือศูนย์พัฒนาการให้กับเด็กปฐมวัย รวมถึงการเพิ่มบทบาทชุมชนท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ เช่น จัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวระดับชุมชน เพื่อให้คำปรึกษาดูแลคนทุกช่วงวัย
สถานการณ์ ความท้าทาย และแนวทางพัฒนา “ศูนย์เด็กเล็ก”
รศ.รัตพงษ์ สอนสุภาพ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต นำเสนอประเด็น สถานการณ์ ปัญหาศูนย์เด็กเล็ก และเงินอุดหนุน ที่พบว่าใน ปี 2565 มีจำนวนศูนย์เด็กเล็กในระบบจากทุกสังกัด ทั่วประเทศจำนวน 51,969 แห่ง มีเด็กปฐมวัยช่วงอายุ 0-6 ปี จำนวน 4,497,476 คน โดยมีเด็ก 52.8% หรือ 2.3 ล้านคน ที่ได้รับเงินอุดหนุน 600 บาทจากรัฐ และมีเด็กปฐมวัยอีก 47.2 % หรือ 2.1 ล้านคน ยังคงไม่ได้รับเงินอุดหนุน โดยไม่มีฐานข้อมูลว่าเด็กเหล่านั้นอยู่ไหน
จากสภาพดังกล่าวชี้ว่า การบริหารจัดการเด็กปฐมวัยทั้งระบบของประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อภาวะ “อสมมาตร” ของข้อมูลทำให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับปัญหาทั้งในระดับระดับพื้นที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงส่งผลต่อทั้งเชิงคุณภาพ ปริมาณ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาครัฐขาดการสร้างระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ระหว่างหน่วยงานส่วนกลางกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเพื่อนำประสบการณ์จาก ประเทศสวีเดน ญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ และออสเตรเลีย พบว่าทุกประเทศมีการให้สิทธิวันลาคลอดของแม่ดีกว่าประเทศไทยทั้งจำนวนวันลาและค่าตอบแทนในช่วงลาคลอด รวมถึงระบบส่งเด็กเล็กเข้าสู่การพัฒนาที่ทุกประเทศมีรองรับ แต่ไทยยังมีช่องว่างทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาถึง 1 ปี 9 เดือน
ข้อมูลจากการงานวิจัย ยังพบว่าหากรัฐบาลให้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปีแบบถ้วนหน้า ในปี 65 จำนวน 600 บาท จะใช้งบฯ 31,000 ล้านบาท หากขยับขึ้นเป็นเดือนละ 1,200 บาท จะใช้งบฯ 62,000 ล้านบาท และถ้าปรับเป็นเดือนละ 3,000 บาท จะใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนไม่ถึง ร้อยละ 1 ของ GDP หากรัฐต้องการก้าวข้ามความเป็นประเทศติดกับรายได้ปานกลาง การลงทุนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของแม่และเด็กปฐมวัยที่ดีและเหมาะสมต่อการพัฒนาเรียนรู้ จะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต
จึงมีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล ควรจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี ตามมติคณะกรรมการเด็กและเยาวชน (กดยช.) เพราะปัจจุบันมีช่องโหว่การดูแลสวัสดิการช่วงวัยต่าง ๆ ของสังคมไทยอย่างมาก รวมถึงการศึกษาปัญหา อุปสรรคเพื่อลดภาระความเป็นมารดา พัฒนาศูนย์ดูแลเด็กเล็กให้กระจายอย่างทั่วถึง ยืดหยุ่นเวลาเปิดปิด ให้สอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ และการสร้างระบบฐานข้อมูลที่เป็นเอกภาพของหน่วยงานรัฐ เร่งปรับปรุงการบริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงรัฐบาลควรดำเนินนโยบายสู่เป้าหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเน้นการทำงานกับเครือข่ายทุกภาคส่วนอย่างมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืน
งานวิจัยเชิงปฏิบัติการ 6 พื้นที่นำร่อง – เวทีเสวนา 4 ภาค สู่ข้อเสนอสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า
ข้อค้นพบจากการลงพื้นที่ปฏิบัติการศึกษาวิจัย 6 พื้นที่นำร่อง และวงเสวนาใน 4 ภูมิภาคของประเทศ นำเสนอโดย เกรียงไกร ชีช่วง คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ทำให้เห็นภาพความเข้มแข็งของพื้นที่รวมถึงอุปสรรคที่แตกต่างกัน
เริ่มจากพื้นที่ภาคเหนือ ที่ อบต.แม่วิน จ.เชียงใหม่ ประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่สูง เดิมมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการ แต่สามารถนำเด็กตกหล่นเข้าระบบได้ และขยายอายุรับเด็กเล็ก 2 ขวบ รองรับเด็กหลากหลายชาติพันธุ์โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก 17 แห่ง, อบต.ปลังเผล จ.กาญจนบุรี อยู่ติดพื้นที่ชายแดน ประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์ จึงต้องยุบศูนย์เด็กเล็กเดิม และแก้ปัญหาด้วยการจัดหารถรับส่งไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ปัจจุบันมีอยู่ 2 แห่ง จุดเด่นคือการรีบแก้ปัญหา และสามารถรองรับเด็กเล็กในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง แต่ถ้าในอนาคตมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่ม และมีการกระจายอำนาจก็จะช่วยอุดช่องโหว่ ให้การบริหารจัดการเต็มรูปแบบและมีคุณภาพมากขึ้น
ถัดมาที่เทศบาล ต.คูเต่า จ.สงขลา มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 4 แห่ง ใน 10 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม มีระบบข้อมูลและการติดตามที่ต่อเนื่อง สามารถแก้ปัญหาเด็กตกหล่นได้ครบ 100 % และมีระบบตรวจสอบติดตามที่มีคุณภาพ, เทศบาล ต.สังขะ จ.สุรินทร์ เทศบาลจัดระบบรองรับที่เพียงพอ มีการพัฒนาผู้ดูแลเด็กเล็ก เป็นชุมชนกึ่งเมืองมีท้องถิ่นข้างเคียงเห็นความสำคัญของปัญหาและช่วยดูแลแก้ปัญหาร่วมกันด้วย
ส่วนชุมชนคนไทยพลัดถิ่น มีเด็กเล็กที่ต้องรอสัญชาติ อยู่ในกระบวนการพิสูจน์สถานะ แต่มีจุดเด่นคือการออกแบบจัดกระบวนการช่วยเหลือและติดตามที่เครือข่ายช่วยกันแก้ไขให้ครอบครัวสามารถส่งลูกเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ได้ และสุดท้ายคือ ชุมชนรถไฟขอนแก่น / มักกะสัน อยู่ในพื้นที่รัฐที่มีความอ่อนไหว เปราะบาง มีปัญหาซ้ำซ้อนเนื่องจากเป็นชุมชนแออัด พ่อแม่ต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลา แต่มีภาคเอกชนและมูลนิธิเข้ามาช่วยออกแบบให้มีศูนย์รับเลี้ยงดูแลนอกเวลา และสามารถรับได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือน
โดยภาพรวมของปัญหา พบว่าเด็กเล็กยังมีปัญหาทุพโภชนาการ ครอบครัวยากจน มีหนี้สิน ระบบเศรษฐกิจทำให้วิถีของครอบครัวเปลี่ยนไป พ่อแม่ต้องปรับเวลาทำงาน ผู้ปกครองหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่รู้หนังสือ ขั้นตอนเอกสารที่ยุ่งยากจนเด็กหลายคนได้ช้าจนบางคนอายุเกินที่จะได้รับสิทธิ ท้องถิ่นมีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับเด็กเล็ก และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมถึงผู้ดูแลขาดระบบสวัสดิการที่เพียงพอ และต้องรับผิดชอบงานหลายด้าน
เมื่อเห็นรากของปัญหาคือความยากจน ความเหลื่อมล้ำ อำนาจการจัดการและงบประมาณท้องถิ่นยังมีข้อจำกัด แต่มีศักยภาพและความพร้อมในการดูแลเด็กเล็ก จึงเสนอให้รัฐมีระบบฐานข้อมูลเด็กเล็ก ครอบครัวทุกกลุ่มในประเทศไทย มีสวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า และการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มศักยภาพท้องถิ่น เป็นการลงทุนกับเด็กเล็กเพื่อให้เติบโตไปรับมือกับความเสี่ยงและความผันผวนในอนาคตทั้งเรื่องสังคมสูงวัย ความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและการเมือง และโครงสร้างประชากรที่มีเด็กเกิดใหม่น้อยลง สวนทางกับค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้น
การลงทุนกับเด็กเล็กยิ่งทำเร็วยิ่งคุ้มค่า ยิ่งช้ายิ่งเสียหาย
ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวถึงประเด็นความสำคัญ และจำเป็นของการลงทุนในเด็กเล็ก คือการลงทุนในมนุษย์ ที่ยิ่งทำได้เร็วยิ่งคุ้มค่า งานวิจัยในต่างประเทศชี้ชัดว่า การลงทุนในเด็กเล็กจะได้ผลตอบแทนร้อยละ 7-13 ต่อปี หรือแปลให้ง่าย คือลงทุน 1 บาท จะได้ผลตอบแทนทางสังคม 7-9 บาท เพราะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย พร้อมต่อยอดการเรียนรู้ มีผลิตภาพดีเมื่อทำงาน และเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมได้ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เด็กส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 70 อยู่ในครอบครัวรายได้น้อย และมีปัญหาซ้ำซ้อน ทำให้ยิ่งลงทุนยิ่งคุ้มค่า
แต่เมื่อพิจารณาจากการลงทุนในประเทศ พบว่า ไทยให้ความสำคัญกับเด็กเล็กน้อยเกินไปกว่าเส้นที่องค์การยูนิเซฟขีดไว้ให้ลงทุนกับเด็กเล็กที่ 1 % ของ GDP ขณะที่หลายประเทศรียกร้องให้ปรับเพิ่มเป็น 2% แต่วันนี้ไทยลงทุนกับเด็กเล็กแค่ 0.25 % เท่านั้น ซึ่งเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดแบบเจาะจง 600 บาทต่อเดือน ไม่เพียงพอกับต้นทุนในการเลี้ยงดูบุตรของกลุ่มยากจน 2,500 บาทต่อเดือน หรือกลุ่มเด็กทั่วไปอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท อีกทั้งการพิสูจน์ความจนทำให้มีเด็กใต้เส้นความยากจนถึง 433,245 คน หรือ 30% ตกลงเข้าไม่ถึงเงินส่วนนี้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงการให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า ไม่เป็นภาระงบประมาณอย่างที่คิด
ปัจจุบัน ไทยใช้งบประมาณเพื่อสวัสดิการเด็กเล็กแบบเจาะจงอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าปรับเป็นเงินอุดหนุนถ้วนหน้า เดือนละ 2,000 บาท จะใช้งบประมาณใกล้เคียงกับเงินที่ใช้จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท และถ้าขยับขึ้นไปเป็นเงินอุดหนุนถ้วนหน้า 3,000 บาท จะใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เท่ากับงบอุดหนุนเกษตรกรและน้อยกว่าเงินอุดหนุนภาษี BOI ที่ใช้ปีละ 2 แสนกว่าล้านบาท ข้อมูลเหล่านี้จึงชี้ชัดว่าการลงทุนกับเด็กเล็กมีความคุ้มค่า แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเราไม่ลงทุนในเด็กวันนี้ จะต้องสูญเสียอย่างมหาศาล ทั้งเด็กเกิดน้อยที่เสี่ยงด้านพัฒนาการ อัตราการพึ่งพิงจะเพิ่มขึ้นราว 56% ใน 20 ปี โดยเฉพาะต้องดูแลผู้สูงอายุ และปัญหาครอบครัวไม่มั่นคง ครอบครัวแหว่งกลางมากยิ่งขึ้น
การลงทุนกับเด็กเล็ก นอกจากการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า ยังมีปัจจัยอื่นในระบบนิเวศที่ต้องดูแลไปพร้อมกัน ทั้งเรื่องสุขภาพ อาหารและโภชนาการ การศึกษา รวมถึงการดูแลแม่ให้ดี และทำให้ครอบครัวมั่นคง ปลอดภัย และยังต้องปรับฐานความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการของเด็กปฐมวัย การดูแลและศูนย์เด็กเล็ก ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพ่อแม่ และเงื่อนไขเฉพาะในแต่ละพื้นที่
หากรัฐเข้ามาดำเนินการเพื่อเติมเต็มสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า นอกจากจะรับมือปัญหาใหญ่ในอนาคตที่จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลงเรื่อย ๆ และสังคมสูงวัยสุดยอดกำลังเดินทางมาถึง ซึ่งจะทำให้อัตราการพึ่งพิงต่อวัยแรงงานจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน การทำให้เด็กที่จะเติบโตเป็นวัยแรงงานมีผลิตภาพที่ดี เพื่อลดภาระในการแบกรับดูแลคนในสังคมจำนวนมากได้แล้ว ยังมีผลตามมาคือการทำให้แม่ยังอยู่กับงานได้ มีการสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากระบบการดูแลเด็กเล็ก มีเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจจากการจับจ่ายซื้อของ ทำให้การจัดเก็บภาษีดีขึ้น และเมื่อแม่มีความสบายใจ ก็จะเพิ่มผลิตภาพในการทำงาน และทำให้องค์กรสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการดูแลความเป็นมารดาไปด้วย