ย้อนรอย สึนามิ 2547 คลื่นยักษ์ซัดไทย เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

วันที่ 26 ธันวาคม 2547 เวลา 07.58 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดแผ่นดินไหวใต้น้ำขนาด 9.1 บริเวณประเทศอินโดนีเซียทำให้เกิดคลื่นน้ำ ‘สึนามิ’ ขนาดใหญ่

แรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดรอยแยกยาวเกือบ 1,300 กิโลเมตร และคลื่นสึนามิที่แผ่กระจายออกไปทุกทิศทาง สึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547 เป็นสึนามิที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้

The ActivePolicy Watch Thai PBS ย้อนสำรวจเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ของประเทศไทย ในวันที่คนไทยยังไม่รู้จักกับภัยที่ชื่อ ‘สึนามิ’

จุดเริ่มต้น แผ่นดินไหว รอยเลื่อน สู่มวลน้ำ

สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ปี 2004 เกิดจากแผ่นดินไหวซึ่งเป็นผลมาจากการชนกันของ แผ่นอินโด-ออสเตรเลีย (Indo-Australian Plate) กับ แผ่นเล็กพม่า (Burma Microplate) แรงขับเคลื่อนแผ่นมาจากการพาความร้อน เป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวระดับลึกที่ยกพื้นมหาสมุทรขึ้น จนก่อให้เกิดสึนามิ 

แรงดันที่สะสมมาหลายทศวรรษ ทำให้พื้นมหาสมุทรเคลื่อนตัวฉับพลัน 15 เมตร โดยมุดตัวลงใต้แผ่นเล็กพม่าและยกแผ่นดังกล่าวขึ้นมา วารสาร Nature อธิบายว่า “แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากการสะสมแรงดันเกือบ 200 ปี ที่แผ่นอินเดียกดแผ่นเล็กพม่า ซึ่งเป็นพื้นของปลายสุดเกาะสุมาตรา หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์”

“การเคลื่อนที่นี่ไม่ได้ราบรื่น การไม่มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในแนวรอยเลื่อนนี้มาตั้งแต่ปี 1833 ทำให้แผ่นดินไหวครั้งนี้มีพลังมหาศาล การเลื่อนตัวอย่างรุนแรงของแผ่นอินเดียทำให้แผ่นเล็กพม่าเด้งตัวขึ้นอย่างรุนแรง”

มวลน้ำกระทบฝั่ง กระทบชีวิต ร่วม 18 ประเทศ

สึนามิกระทบฝั่งของ 3 ทวีปรอบมหาสมุทรอินเดีย ซัดร่วม 18 ประเทศ

  • 07:58 น. ศูนย์ธรณีฟิสิกส์บันทึกแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ต่อมา ข้อมูลถูกแก้เป็นแผ่นดินไหวขนาด 9.3 รุนแรงที่สุดของโลกในรอบ 40 ปี
  • 08:30 น. สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวถล่มเกาะสุมาตรา
  • 09:30 น. ชายหาดทางใต้ของไทย ตอนใต้สุดของเมียนมาและบังกลาเทศถูกคลื่นยักษ์ซัดถล่ม 
  • 10:00 น. คลื่นซัดศรีลังกา และกวาดผ่านชายฝั่งอินเดียยาว 800 กิโลเมตร มาเลเซีย ได้รับผลกระทบน้อย ส่วนใหญ่บนเกาะท่องเที่ยวปีนัง
  • 11:00 น. คลื่นยักษ์ไปถึงหมู่เกาะมัลดีฟส์ สองในสามของเมืองหลวงถูกน้ำท่วม 
  • 14:00 น. คลื่นถึงชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก โซมาเลีย แทนซาเนีย และเคนยา
  • 16:00 น. คลื่นแรงพัดถึงเกาะมอริเชียสและเกาะโรดริเกส

ประเทศไทยสูญเสียอันดับสี่ จาก 18 ประเทศ

09:30 น. เวลาประเทศไทย ชายหาดทางใต้ เช่น ภูเก็ต เขาหลัก และเกาะพีพี แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมถูกคลื่นยักษ์ซัดถล่ม มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน ครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติจาก 37 สัญชาติ และมีผู้บาดเจ็บเกือบ 8,500 คน

สนามบินในภูมิภาค เช่น กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่พยายามเดินทางกลับบ้าน รัฐบาลต่าง ๆ เริ่มระดมความช่วยเหลือให้พลเมืองของตน

เย็นวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตครั้งแรกทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 5,400 คน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวันต่อ ๆ มา 

วันที่ 30 ธันวาคม มีรายงานยอดผู้เสียชีวิต 120,000 คน วันที่ 5 มกราคม 2548 เพิ่มเป็น 146,000 คน และในวันที่ 13 มกราคม 2548 ยอดผู้เสียชีวิตทะลุ 160,000 คน จนกระทั่งยอดสุดท้ายมากกว่า 220,000 คนทั่วโลก

อาเจะห์ อินโดนีเซีย หลังโดนคลื่นซัดเมือง

สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวถล่มเกาะสุมาตรา จังหวัดอาเจะห์ ถูกคลื่นยักษ์สูงเกือบ 35 เมตร ซัดถล่มในบางพื้นที่ หมู่บ้านหลายสิบแห่งถูกลบหายจากแผนที่ เป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด

สึนามิทำลายจังหวัดอาเจะห์อย่างกว้างขวางตามแนวชายฝั่งที่ยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร

หนึ่งปีหลังเหตุการณ์สึนามิ รัฐบาลอินโดนีเซียประเมินยอดผู้เสียชีวิต 129,775 คน ผู้สูญหาย 38,786 คน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพลัดถิ่นจากสึนามิในอาเจะห์มีจำนวน 504,518 คน

คลื่นยักษ์บางจุด สูงถึง 19 เมตร

จากการเก็บข้อมูลความสูงของคลื่นสึนามิที่ซัดฝั่งไทยของคณะนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยและชาวญี่ปุ่นในงานวิจัย The 2004 Indian tsunami in Thailand: Surveyed runup heights and tide gauge records สำรวจ 37 จุดตลอดแนวชายฝั่งและ 4 เกาะด้านอันดามัน ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2548

พบว่า แม้ส่วนใหญ่คลื่นสูงน้อยกว่า 10 เมตร บางจุดสูงน้อยกว่า 5 เมตร เช่น จ.ภูเก็ต แต่ จ.พังงา มีจุดคลื่นสูงหลายจุด คลื่นที่เข้าเขาหลักมีความสูงมากกว่า 10 เมตร และจุดที่สูงสุดถึง 19.6 เมตร คือ ที่บ้านทุ่งดาบ เกาะพระทอง ซึ่งพังงาเป็นจังหวัดที่มีความสูญเสียมากที่สุดด้วย

กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า แรงคลื่นนี้ทำให้น้ำทะเลทะลักไปไกลตั้งแต่ 100 เมตรถึงมากกกว่า 1 กิโลเมตร พื้นที่ชายฝั่งได้รับผลกระทบมากกว่า 475,000 ไร่

คลื่นยักษ์คร่ากว่า 8,000 ชีวิต พังงาเสียหายหนักสุด

สึนามิ นำมาซึ่งความสูญเสียของ 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ พังงา กระบี่ ภูเก็ต ระนอง ตรัง และสตูล สรุปตัวเลขความสูญเสียเบื้องต้น มีผู้เสียชีวิต 5,309 ราย ผู้บาดเจ็บ 8,457 ราย และผู้สูญหาย 3,370 ราย นอกจากนี้มีบ้านเรือนเสียหาย 5,506 หลัง เรือเสียหาย 5,985 ลำ (มติคณะรัฐมนตรี 18 ม.ค. 2548) ครอบคลุม 29  อำเภอ 161 ตำบล 502 หมูบ้าน 20,178 ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน (มติคณะรัฐมนตรี 5 เม.ย. 2548)

จ.พังงา นับเป็นจังหวัดที่มีความสูญเสียมากที่สุด มีผู้เสียชีวิตและสูญหายคิดเป็น 70.53% ของจำนวนผู้เสียชีวิตและสูญหายทั้งหมด ความเสียหายครอบคลุม 6 อำเภอ 18 ตำบล 66 หมู่บ้าน 4,394 ครอบครัว/ประชาชน 19,509 ได้รับความเดือดร้อน โดย อ.ตะกั่วป่า มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของพังงา

เด็ก 1,090 คนต้องกำพร้า

คลื่นยักษ์เปลี่ยนแปลงชีวิตเด็ก 1,090 คนในชั่วพริบตา เมื่อต้องสูญเสียพ่อแม่กลายเป็นกำพร้าอย่างไม่ทันตั้งตัว โดย 882 คนเป็นเด็กใน 6 จังหวัดที่ประสบเหตุ ในจำนวนนี้ 367 คนพ่อเสียชีวิต, 398 คนแม่เสียชีวิต, 90 คนทั้งพ่อแม่เสียชีวิต และ 27 คนผู้อุปการะเสียชีวิต นอกจากนี้เด็กกำพร้าอีก 208 คนที่มีภูมิลำเนาจากจังหวัดอื่น ๆ ที่ครอบครัวอาจมาเป็นแรงงานในพื้นที่หรือมาท่องเที่ยว

สึนามิทำลายชุมชนหลายแห่ง บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ผู้คนในชุมชนผู้เสียชีวิตและสูญหายไปกว่าครึ่ง และยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายแทบทั้งหมด หลายชีวิตต้องสูญหาย พลัดพราก อพยพ และไม่อาจมีวิถีชีวิตได้ดังเดิม

เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ ระบุว่าหมู่บ้านประมง 50 แห่ง 5,500 ครัวเรือน ได้รับความเสียหายมาก ส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวเลหรือชาติพันธุ์ ยากจนและหลายคนไม่มีหลักฐานแสดงตน รวมถึงเอกสารถือครองที่ดิน แม้จะมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่บรรพบุรุษก็ตาม 

หลังสึนามิได้เกิดข้อพิพาทที่ดินระหว่างชาวบ้าน เอกชน และหน่วยงานรัฐหลายกรณี หลายชุมชนถูกกีดกันไม่ให้กลับไปอาศัยในพื้นที่เดิม ต้องย้ายไปอยู่ที่พักอาศัยที่ไกลจากทะเลอันเป็นแหล่งปากท้อง

สึนามิสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย 12,258.32 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.17 ของ GDP)

สึนามิสร้างความเสียหายในทุกมิติ ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ ประเมินเมื่อปี 2548 ว่าสึนามิสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยมากถึง 12,258.32 ล้านบาท คิดเป็น 0.17% ของ GDP

โครงสร้างพื้นฐานมีมูลค่าความเสียหาย 1,057.39 ล้านบาท เป็นท่าเทียบเรือ 38 แห่ง 56.18 ล้านบาท, สะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 12 แห่ง 0.52 ล้านบาท, ถนน/ท่อระบายน้ำ 92 แห่ง 186.85 ล้านบาท, ทำนบ/เหมือง/ฝาย 1 แห่ง 0.52 ล้านบาท, ระบบประปา 19 แห่ง 24.0 ล้านบาท, โทรศัพท์ 16 แห่ง 53.62 ล้านบาท, ศาลา/อาคารริมหาด 3 แห่ง 0.42 ล้านบาท, อื่น ๆ 110 แห่ง 363.29 ล้านบาท

ศาสนสถานเสียหาย 27 แห่ง มูลค่า 24.79 ล้านบาท เป็นวัด 20 แห่ง 20.0 ล้านบาท, มัสยิด 3 แห่ง 0.48 ล้านบาท, กุโบร์ 4 แห่ง 4.31 ล้านบาท

อาชีพและรายได้พัดหายไปกับน้ำ

ประชาชนต้องขาดรายได้เมื่อน้ำพัดเครื่องมือทำมาหากิน สัตว์เลี้ยง และทำลายพืชผลทางการเกษตร พื้นที่การเกษตรเสียหาย 15,809.85 ไร่ มูลค่า 6.63 ล้านบาท เป็นพืชสวน 6,710.25 ไร่, พืชไร่ 2,141.6 ไร่, นาข้าว 262.5 ไร่  และการเกษตรอื่น ๆ 6,695.50 ไร่

กระทบผู้ประกอบอาชีพประมง 6,275 ราย เป็นผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง 5,987 ราย, โรงเพาะเลี้ยง 277 ราย และบ่อเลี้ยง 11 ราย 

เรือเสียหาย 5,985 ลำ เป็นเรือขนาดเล็ก 4,783 ลำ เรือขนาดใหญ่ 1,202 ลำ ส่วนเครื่องมือประมงที่เสียหาย ได้แก่ อวน 3,632 ราย, ลอบ 2,161 ราย และโป๊ะ 875 ราย รวมมูลค่าความเสียหายของเรือประมงและเครื่องมือประมงสูงถึง 1,808.89 ล้านบาท

การปศุสัตว์เสียหาย 17.63 ล้านบาท เป็นโค-กระบือ 448 ตัว 7.42 ล้านบาท, สุกร 2,105 ตัว 7.98 ล้านบาท, แพะ-แกะ 926 ตัว 1.87 ล้านบาท และสัตว์ปีก 10,011 ตัว 0.35 ล้านบาท

ระดับความเสียหายแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น แหล่งเพาะฟักลูกกุ้งขาวที่สำคัญของ จ.พังงา ภูเก็ต และกระบี่ เสียหายเกือบทั้งหมด

สถานประกอบการเสียหาย 13,010.25 ล้านบาท

ความเสียหายของสถานประกอบการมูลค่า 13,010.25 ล้านบาท นำมาซึ่งการไร้งานจำนวนมาก กิจการโรงแรมเสียหายมากที่สุด นอกจากโรงแรมที่พังเสียหายจากคลื่นแล้ว โรงแรมที่เหลือรอดหลายแห่งก็ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้และต้องปิดตัวในที่สุด

โดยผู้ประกอบการโรงแรมได้รับความเสียหาย 328 ราย 122,530 ล้านบาท, ร้านอาหาร 345 ราย 98.68 ล้านบาท, ร้านค้า 258 ราย 187.82 ล้านบาท และแผงลอย 4,306 ราย 12,152 ล้านบาท

ผลกระทบยังส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่น ๆ เช่น การขนส่ง การค้า และบันเทิง ยิ่งทำให้มีผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้น

ผลกระทบทรัพยากรธรรมชาติ

คลื่นยักษ์ส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก พื้นที่แนวปะการังที่เสียหายเล็กน้อย 3,146 ไร่ เสียหายมาก 1,175 ไร่, พื้นที่ชายหาดเสียหายมาก 6,200 ไร่, พื้นที่ป่าชายเลนเสียหายเล็กน้อย 1,860 ไร่ เสียหายมาก 555 ไร่, พื้นที่ป่าไม้เสียหาย 4,000 ไร่, บ่อน้ำตื้น 136 บ่อ, บ่อบาดาล 149 บ่อ, แหล่งน้ำผิวดิน 122 แห่ง, ระบบบำบัดน้ำเสีย 2 แห่ง และพื้นที่เสื่อมโทรมเนื่องจากน้ำเค็ม 3,957.5 ไร่

นอกจากนี้ยังเกิดหลุมยุบกว่า 50 แห่งหลังสึนามิ ถ้ำเกิดการยุบทรุดตัวและหินร่วง ชายหาดมีอัตราการกัดเซาะรุนแรง และบางพื้นที่เสี่ยงดินถล่มสูง

เงินช่วยเหลือไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท

สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานกลาง ร่วมกับกระทรวง ทบวง กรม ในการจัดทำโครงการในการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัย โดยผ่านกลไกคณะกรรมการต่าง ๆ เพื่อพิจารณาอนุมัติค่าใช้จ่ายให้แก่แผนงาน/โครงการตามที่หน่วยงานเสนอ

โดยอาศัยงบประมาณจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ อาทิ งบกลาง กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย เงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ รวมจำนวนเงินช่วยเหลือไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท (ไม่รวมสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ 59,500 ล้านบาท) ช่วยเหลือไม่น้อยกว่า 500,000 ราย

มีเงินบริจาคเข้ากองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำหรับเหตุสึนามิ (27 ธ.ค. 2547 – 31 พ.ค. 2549) มากกว่า 1.35 ล้านบาท ขณะที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลาง ปีงบประมาณ 2548 จำนวน 5.97 พันล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัย

การฟื้นฟูและความช่วยเหลือ

รัฐบาลให้การช่วยเหลือทั้งผู้ประสบภัยทั้งชาวไทยและต่างชาติ ผู้ได้รับผลกระทบอาชีพต่าง ๆ ผู้ประกอบการ ผ่านมาตรการต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการบูรณะฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่มีเอกชนหลายภาคส่วนให้ความช่วยเหลือประชาชนในหลายด้านเช่นกัน อาทิ การยังชีพ สิ่งของอุปโภคบริโภค สร้างที่พักอาศัย เครื่องมือประมง เรือ การประกอบอาชีพ เงินทุน ทุนการศึกษา เป็นต้น

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุครั้งสำคัญที่ทำให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ หน่วยงานและอาสาสมัครทั่วประเทศไทยและนานาประเทศหลั่งไหลเข้าให้การช่วยเหลือทันทีที่เกิดเหตุ ทั้งการค้นหา รักษาพยาบาล การพิสูจน์อัตลักษ์ผู้เสียชีวิต ตลอดจนการเยียวยาฟื้นฟูทุกมิติ

5 ประเทศเอเชีย คลื่นกระทบแรงที่สุด

คลื่นสึนามิเคลื่อนตัวด้วยความเร็วสูงถึง 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้แพร่กระจายจากจุดเริ่มต้นในเอเชียไปยังภูมิภาคอื่น ๆ โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ประชากรตามแนวชายฝั่งถูกคลื่นยักษ์ซัดอย่างรุนแรง 

8 ประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์ลูกนี้ โดยประเทศในเอเชียที่มียอดผู้เสียชีวิตมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย ไทย และมัลดีฟส์ ตามลำดับ

หลายครอบครัวที่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการประมงสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง สึนามิได้กวาดล้างชุมชนจำนวนมากจนหมดสิ้น การฟื้นฟูและเยียวยาทรัพย์สิน อาชีพทำกิน และความเป็นอยู่ จึงเป็นความท้าทายที่ตามมา

มูลค่าความเสียหาย และทุนช่วยเหลือเพื่อไปต่อ

เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียปี 2004 สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ความเสียหายโดยตรงสูงถึง 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลกระทบทางเศรษฐกิจรวมกว่า 18.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทิ้งร่องรอยแห่งความสูญเสียไว้ในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบ

เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตนี้ มีการระดมทุนช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 13.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากความร่วมมือของนานาชาติ บุคคลทั่วไป องค์กรการกุศล มูลนิธิ และภาคธุรกิจ การสนับสนุนจากภาคเอกชนครั้งนี้นับเป็นหนึ่งในความช่วยเหลือฉุกเฉินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในยามที่โลกต้องการมากที่สุด

ช่วงเวลาการเกิดสึนามิเฉลี่ยอยู่ที่: ~ 550 ปี

จากการศึกษาชั้นทรายล่างบนเกาะพระทอง จังหวัดพังงา พบข้อมูลสำคัญที่ช่วยควบคุมการระบุช่วงเวลาการเกิดสึนามิขนาดใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียในช่วงปลายยุคโฮโลซีน ผลการวิเคราะห์ OSL (Optically Stimulated Luminescence) ชี้ให้เห็นว่าระยะเวลาการเกิดซ้ำของสึนามิขนาดใหญ่ อยู่ในช่วง 350 – 1,100 ปี 

ช่วงเวลาการเกิดสึนามิขนาดใหญ่อยู่ที่ค่าเฉลี่ยประมาณ 550 ปี ข้อมูลนี้ไม่เพียงช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ในอดีต แต่ยังเป็นกุญแจให้เตรียมพร้อมลดความเสี่ยงในอนาคต  

ชั้นทรายล่างซ้อนกันเป็นเครื่องเตือนใจถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อม รับมือ และการป้องกันภัยพิบัติ

ภัยอื่น ๆ รุนแรงขึ้น บนโลกที่เดือดขึ้น

ความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลก จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลก (ทุกประเภท) ตั้งแต่ปี 1900 ถึง 2023 ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 4.41 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลกในแต่ละปี วัดในหน่วยดอลลาร์สหรัฐปัจจุบัน (US$) ครอบคลุมภัยพิบัติประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ภัยแล้ง น้ำท่วม สภาพอากาศรุนแรง อุณหภูมิสุดขั้ว ดินถล่ม การเคลื่อนตัวของดินแห้ง ไฟป่า ภูเขาไฟปะทุ และแผ่นดินไหว  

ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติทั่วโลกในระยะยาว และอาจนำไปสู่คำถามว่า เราควรอะไรคือทางเอาตัวรอดในโลกที่แปรปวนและผันผวนขึ้นเรื่อย ๆ การป้องกัน ฟื้นฟู เยียวยา หรือมาตรการอะไรกันแน่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active