วัคซีนไม่ใช่คำตอบเดียว สำหรับการเปิดเรียน!

“แพทย์ – นักวิจัย” แนะรัฐควรวางมาตรการรองรับการเปิดเรียน เปลี่ยนความคิดที่ว่าตัวเลขต้องเป็นศูนย์ “นักการศึกษา” ห่วงเด็กนอกระบบเข้าไม่ถึงวัคซีน ควรดึงหน่วยงานรัฐและภาคีเครือข่ายเข้าร่วม

ทันทีที่หน่วยงานภาครัฐประกาศเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียน ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ มีประเด็นถกเถียงมากมายทั้งความกังวลของผู้ปกครองในการให้เด็กรับวัคซีน การบริหารจัดการของภาครัฐ ว่าควรฉีดให้ใครก่อน-หลัง ปัญหาการเข้าถึงวัคซีนของนักเรียนนอกระบบ ตลอดจนมาตรการรองรับเมื่อต้องเปิดเรียนว่าควรมีอะไรบ้าง

ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนของเด็กนอกระบบ

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แสดงความกังวลต่อแผนการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนว่า นอกจากจะช้าเกินไป เมื่อเทียบกับผลเสียที่นักเรียนต้องได้รับจากการเรียนออนไลน์แล้ว อาจทำให้เด็กบางกลุ่มมีโอกาสจะเข้าไม่ถึงวัคซีนอีกด้วย เพราะจากข้อมูลที่ได้รับนั้นกระทรวงศึกษาธิการมุ่งฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนในระบบเป็นหลัก แต่ยังมีนักเรียนนอกระบบที่เข้าไม่ถึงอีกมาก

“หลังจากนี้จะมีปัญหาความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงวัคซีน เพราะเร่งฉีดเด็กในโรงเรียนอย่างเดียว เพราะจะมีเด็กปีประมาณ 1 ล้านคน ไม่ได้ฉีด เด็กในระบบยังมีแบบฟอร์มมาสอบถาม แต่เด็กนอกระบบเขาไม่รู้ว่าจะเข้าถึงวัคซีนอย่างไร เด็กชาติพันธุ์ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ แล้วการเปิดโรงเรียนจะทำได้หรือไม่ ใครจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ?”

ศ.สมพงษ์ กล่าวว่าในฐานะที่ตนทำงานกับกลุ่มองค์กรการศึกษา และมีข้อมูลนักเรียนนอกระบบอยู่นั้นพบว่านอกจากตัวเลขที่ได้จากการหักลบจำนวนเด็กในระบบ ตามฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยนั้น อยู่ที่ประมาณ 500,000 คน แต่ยังมีเด็กกลุ่มชาติพันธ์ุที่ไม่มีบัตรประชาชน และลูกหลานของแรงงานข้ามชาติอีกมาก จึงคาดการณ์ว่าอาจมีตัวเลขถึง 1,000,000 คนที่อาจเข้าไม่ถึงวัคซีน

ข้อเสนอของเรื่องนี้ ศ.สมพงษ์ กล่าวว่าไม่สามารถพึ่งแต่เพียงกระทรวงศึกษาธิการได้เท่านั้น แต่เด็กกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ต้องมีหน่วยงานอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. เข้ามาช่วยดูแล สำรวจว่ามีเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีคนใดที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน สำหรับเด็กชายขอบหรือกลุ่มชาติพันธ์ุ นอกจากกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลอยู่แล้ว ควรมีการประสานกับเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อให้เข้าถึงเด็กกลุ่มนี้อีกทางหนึ่ง

“หมอมานพ” ยืนยันวัคซีน mRNA สามารถฉีดในเด็กได้

ศ. นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า เรื่องความกังวลของผู้ปกครองต่อการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ที่มีในบ้านเราอย่างวัคซีนของไฟเซอร์ จากข้อมูลการศึกษาทางคลินิกของวัคซีนชนิดนี้มีการทดลองในเด็กครบถ้วนแล้วทุกขั้นตอน และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปสามารถฉีดได้ และควรทำความเข้าใจเรื่องวัคซีนที่เทคโนโลยีใหม่ ไม่ได้หมายความว่าต้องอันตราย

“เทคโนโลยีเก่าไม่ได้แปลว่าปลอดภัย เทคโนโลยีใหม่ไม่ได้แปลว่าอันตราย แต่แปลว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ของเก่าเราอาจจะคุ้นเคยมากกว่า เพราะถ้าเราดูข้อมูลวัคซีนเชื้อตายที่ศึกษาในเด็ก ไม่เคยมีเผยแพร่ในการทดลองระยะ 3 ใช้ทันทีเลย มีเพียง mRNA เท่านั้นที่มีการทดลองทุกขั้นตอน”

ศ. นพ.มานพ กล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกันวัคซีนเชื้อตายนั้น ผลการศึกษาก็ยังไม่มีการเผยแพร่ผลการทดลองในระยะที่ 3 ที่ใช้ในเด็กออกมา ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลประเทศที่ใช้วัคซีนว่าอาจจะจำเป็นต้องใช้วัคซีน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนชนิดเชื้อตายจะอันตรายต่อเด็กเช่นกัน ควรมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างครบถ้วนโดยหน่วยงานภายในประเทศ

และหลักการในการพิจารณาใช้วัคซีนนั้น ไม่ได้แตกต่างจากการใช้วัคซีนในผู้ใหญ่ ต้องผ่านกระบวนการทดสอบ และพิสูจน์ว่าปลอดภัย รวมถึงประสิทธิภาพว่าดีจริงหรือไม่ เพราะมาตรฐานต้องเหมือนกันหมดไม่ว่าจะใช้กับเด็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ใหญ่ และยืนยันว่าวัคซีนที่ไทยกำลังจะนำมาใช้ผ่านการศึกษามาตรฐานทั้งหมดแล้ว และไม่ใช่ประเทศแรกที่มีการฉีดวัคซีนนี้ในเด็ก

ผลข้างเคียง ส่วนใหญ่หายเองทั้งหมด

กรณีของผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนนั้น ศ. นพ.มานพ กล่าวว่า มีข้อมูลของเด็กที่ได้รับผลข้างเคียงจริง อาการที่กังวลอย่างเช่นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่มีจำนวนน้อยมาก ๆ และที่สำคัญแทบทุกราย สามารถรักษาหายได้ ไม่ใช่โรคเรื้อรังอย่างที่มีความกังวลกันในตอนนี้

และในกรณีที่ว่าทำไมไม่สามารถฉีดให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีได้นั้น ศ. นพ.มานพ กล่าวว่าไม่ได้หมายความว่าการฉีดในเด็กอายุต่ำกว่านั้นจะอันตราย เพียงแต่ยังรอผลการศึกษา เนื่องจากการศึกษาจะเรียงลำดับจากกลุ่มอายุที่น่าจะพบความเสี่ยงต่ำที่สุดก่อน แต่จากข้อมูลของวัคซีนชนิด mRNA ในกลุ่มเด็ก 2 ช่วงวัย คือตั้งแต่ 5 – 12 ปี และ 6 เดือน – 5 ปี หากไม่มีอะไรผิดพลาดจะมีผลการศึกษาออกมายืนยันภายในปีนี้แน่นอน

นักวิจัยยกผลการศึกษา ควรฉีดแก่เด็กที่มีโรคประจำตัวก่อน

รศ.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย นักวิจัยอาวุโส และหัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า เรื่องความกังวลของการฉีดวัคซีนนั้นเป็นปัญหาทั่วโลก ก่อนหน้านี้ทาง HITAP ได้ทำวิจัยกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ แรงงานข้ามชาติ และประชาชนทั่วไป แต่ยังไม่ได้มีโอกาสถามผู้ปกครอง ถึงความลังเลในการฉีดวัคซีน ซึ่งพบว่าปัญหานี้สามารถแก้ได้ ด้วยการให้ “ข้อมูล” ที่ต้องสื่อสารให้เห็นถึงความปลอดภัย และผลดีของวัคซีน เพื่อให้กับประชาชนได้ตัดสินใจว่าควรจะฉีดวัคซีนหรือไม่

รศ.วรรณฤดี กล่าวถึง ผลวิจัยของวัคซีนว่า ตอนนี้มีหลายชนิด และได้มีการทบทวนวรรณกรรม ซึ่งดูวัคซีนแต่ละชนิด ว่าประสิทธิผลของวัคซีนในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร ปรากฏว่าสิ่งที่พบคือ 80% ของผลการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนที่พบเป็นแบบ mRNA จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าวัคซีนชนิดอื่น ที่ไม่มีผลการศึกษานั้นหมายความว่าวัคซีนไม่ได้ผล หรือยังไม่มีข้อมูลที่แท้จริงมาเผยแพร่

และสำหรับแนวทางบริหารจัดการวัคซีนว่าเด็กกลุ่มไหนควรได้รับก่อน-หลัง รศ.วรรณฤดี กล่าวว่าองค์การอนามัยโลก มีคณะผู้เชี่ยวชาญที่เคยแนะนำว่าวัคซีนที่ต้องให้กับเด็ก โดยอ้างอิงหลักฐานที่ใช้จริง นั้นพบว่า ในปัจจุบันเด็กที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อนนั้นคือ “เด็กที่มีโรคประจำตัว” เพราะมีโอกาสที่จะมีอาการหนักมากกว่าเด็กที่แข็งแรง

ขณะที่ ศ.สมพงษ์ กล่าวเสริมประเด็นดังกล่าว่า จากการติดตามเด็กที่ได้รับเชื้อ ซึ่งตนศึกษาประมาณ 150,000 คน พบว่า 80% เป็นเด็กกลุ่มเปราะบาง และเด็กในชุมชนแออัด รวมถึงกลุ่มที่เป็นเด็กยากจน ด้อยโอกาสที่อยู่ในแคมป์คนงาน เราพบประมาณ 15 กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงระบบการดูแลของสาธารณสุข จึงจำเป็นที่ต้องได้รับวัคซีนก่อน เพราะมีโอกาสที่จะติดเชื้อมากกว่าจากสภาพความเป็นอยู่

วัคซีนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ของการเปิดเรียน

ศ. นพ.มานพ กล่าวว่า ถึงแม้เด็กนักเรียนจะได้รับวัคซีนไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเปิดเรียนได้อย่างไร้กังวล เนื่องจากการฉีดวัคซีนไม่ได้หมายความว่าจะไม่ติดเชื้อ แต่สามารถลดอาการเจ็บตายได้ ในขณะเดียวกันควรเริ่มตั้งโจทย์ใหม่ของการเปิดเรียนว่าจะต้องมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ เท่านั้น เราควรต้องประเมินสถานการณ์จริงว่าสามารถติดเชื้อได้ในจำนวนเท่าไหร่

สอดคล้องกับ รศ.วรรณฤดี ซึ่งกล่าวว่า วัคซีนเป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้น ในการคุมการแพร่ระบาด เนื่องจากหลายประเทศที่ได้มีการเปิดเรียนไปแล้ว บางทียังไม่ได้ฉีดวัคซีนให้เด็กทุกคน หรือแม้แต่บุคลากรทางการศึกษาเองก็ยังไม่ได้รับวัคซีน แต่ก็สามารถเปิดได้โดยมีมาตรการอื่น ๆ รองรับทั้งด้านการลดผู้ติดเชื้อ ลดกิจกรรมที่ส่งผลต่อการติดเชื้อ และพฤติกรรมส่วนตัวของนักเรียน

“มีงานวิจัยจากหลายประเทศที่บอกกับเราว่า ถึงแม้เด็กทุกคนจะไม่ได้รับวัคซีน ก็สามารถเปิดโรงเรียนได้ ถ้าเรามีแผนรองรับ ในเรื่องของการเช็กอาการทุกวัน การตรวจหาเชื้อ หรือออกแบบกิจกรรมที่ปลอดภัย สิ่งสำคัญคือเมื่อเรามีแผนแล้ว ควรต้องมีระบบการติดตาม และประเมินมาตรการที่ทำด้วย ถ้าอะไรที่ไม่ได้ เราจะได้ไม่ต้องทำต่อไป”

รศ.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย

และสิ่งที่ ศ. นพ.มานพ และ รศ.วรรณฤดี เห็นตรงกันคือ “การตรวจหาเชื้อสำหรับเด็ก” ที่จะทำให้สามารถแยกเด็กที่ติดเชื้อออกจากเด็กที่ไม่ติดเชื้อได้ โดยอาจจะทำสัปดาห์ละสองครั้ง เป็นอย่างน้อย และควรมีการฝึกฝนให้เด็กสามารถเข้าใจและทำการตรวจได้ด้วยตนเอง ตัวอย่างจากหลายประเทศบ่งบอกว่าสามารถทำได้จริง และไม่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในโรงเรียนอีกด้วย

ศ.สมพงษ์ กล่าวว่าโรงเรียนในประเทศไทยมักมีความกังวล และจะละเอียดอ่อนกับการติดเชื้อภายในโรงเรียน มีนักเรียนติดเชื้อเพียงแค่ 1-2 คนก็ปิดโรงเรียนกันแล้ว ซึ่งการปิดโรงเรียนทำได้ง่าย แต่อยากให้มองถึงผลกระทบที่เกิดต่อเด็กด้วย สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้คือการสื่อสารให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองเข้าใจว่าเปิดเรียนไปแล้วสามารถติดเชื้อได้ วัคซีนที่ฉีดนั้นมีความปลอดภัย ผลข้างเคียงสามารถรักษาหายได้ แล้วต้องเตรียมาตรการรองรับควบคู่กันไปด้วย


Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้