เครือข่ายการศึกษาทางเลือก ยื่นรายชื่อค้านเปลี่ยนคู่มือการศึกษาฯ “บ้านเรียนและศูนย์การเรียน” หวั่นส่งผลต่อสิทธิเด็กและสถาบันสังคม
ค้านเปลี่ยนคู่มือการศึกษา “บ้านเรียนและศูนย์การเรียน”
วันนี้ (13 ส.ค. 2563) สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายศูนย์การเรียนไทย ,เครือข่ายบ้านเรียน (Home School) ,ตัวแทนเด็กและเยาวชนบ้านเรียน/ศูนย์การเรียน และศูนย์ประสานสิทธิการศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียน (ศปส.) เดินทางมาที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ‘ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ’ จากการได้รับผลกระทบกรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคู่มือการจัดการศึกษาตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บ้านเรียนและศูนย์การเรียน) ซึ่งขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีผู้อำนวยการสำนักรัฐมนตรี ประจำกระทรวงฯ เป็นผู้แทนรับมอบ
เครือข่ายฯ ยังร่วมกันอ่านจดหมายเปิดผนึก ถึงคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษา เกี่ยวกับคุณสมบัติผู้เรียน กำหนดให้ผู้เรียนในศูนย์ต้องเป็นผู้ขาดโอกาสในการเข้าเรียนในระบบโรงเรียนปกติ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเด็กที่มีความต้องการเรียนรู้ที่หลากหลาย
ครอบครัวของอนัตตา คงธนะ ให้ลูกทั้ง 2 คน ออกจากระบบการศึกษาด้วยเหตุผลเรื่องการจัดการเรียนการสอนไม่ตอบโจทย์ และไม่สามารถแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนได้ ภายหลังจัดการเรียนแบบโฮมสคูลพบว่าทั้งคู่มีความสุขกับการเรียน และผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ปกติของ สพฐ. แต่เมื่อไม่เข้าข่ายบุคคลขาดโอกาส จะเป็นการตัดโอกาสของเด็กหรือไม่
“สงสัยว่าเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาคือลักษณะไหน แบบลูกเราหรือเปล่าที่แค่ต้องการอิสระที่ต้องการจะเลือกเรียนในระบบก็ได้ หรือตามความชอบของเขาก็ได้ บางทีพ่อแม่บางคนไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญ ถ้ามีภาคีเครือข่ายมาเป็นตัวกลางระหว่างผู้ปกครอง และพื้นที่เขตการศึกษาให้เข้าใจตรงกันก็จะทำให้การศึกษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ราบรื่น”
ด้านคณะกรรมการศูนย์ประสานสิทธิบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย สำรวจพบว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้แนวโน้มการจดทะเบียนบ้านเรียนเพิ่มขึ้น เฉพาะพื้นที่เขตการศึกษา กทม. มีมากกว่า 400 ครอบครัว เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่อาจขัดโอกาสทางการศึกษา
แต่เนื่องจากเป็นการศึกษาทางเลือกจึงจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงที่คอยให้คำปรึกษา แต่คู่มือการจัดการศึกษาฉบับใหม่ กลับตัดการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายออกไปทั้งหมด จึงยื่น 4 ข้อเรียกร้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ มีมาตรการแก้ไขโดยเร่งด่วน
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังเดินทางไปยื่นหนังสือถึงสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยกเลิกบัญชีการแก้ไขคู่มือฉบับดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 12 แห่ง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
ตัดข้อความ ส่งผลกระทบต่อเด็ก ผู้จัดการศึกษา และสถานศึกษา
ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลัง ‘อำนาจ วิชยานุวัติ’ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ลงนามในหนังสือส่งถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งระดับประถมศึกษา (สพป.) และระดับมัธยมศึกษา (สพม.) เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542” พร้อมแนบบัญชีเปลี่ยนแปลงแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยตัดข้อความที่ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อเด็ก ผู้จัดการศึกษา และสถานศึกษาของสถาบันสังคม
คุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียน เดิมระบุว่า “ผู้เรียนในศูนย์การเรียนต้องเป็นผู้ขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ หรือผู้ที่ต้องการเข้าเรียนในศูนย์การเรียน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ” ได้แก้ไขเป็น ” ผู้เรียนในศูนย์การเรียนต้องเป็นผู้ขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ” โดยตัดข้อความ “หรือผู้ที่ต้องการเข้าเรียนในศูนย์การเรียน” ออก ซึ่งเป็นการตัดสิทธิ์ของผู้ที่ต้องการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับศูนย์การเรียน
และในส่วนโครงสร้างการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวสำหรับบ้านเรียน (Home School) ได้ “ยกเลิกบทบาทของภาคีเครือข่ายบ้านเรียน/ภาคเครือข่ายการศึกษาทางเลือก” ออกจากการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพิจารณาหรือให้คำปรึกษาต่าง ๆ กับครอบครัวหรือผู้จัดการศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในการจัดทำแผนการจัดการศึกษาโดยครอบครัว การจัดกระบวนการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ การวัดและประเมินผล
การเปลี่ยนแปลงนี้ กพฐ. ให้เหตุผลว่า ภาคีเครือข่ายบ้านเรียน/ภาคเครือข่ายการศึกษาทางเลือก ไม่ควรเข้ามาอยู่ในระบบการทำงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เนื่องจากมิใช่ผู้มีส่วนได้เสีย และมีความเกี่ยวข้องกับผู้เรียนและการจัดการศึกษาโดยตรง ถือเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ชอบด้วยกฏกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547