ประธานวุฒิฯ แจงยกเลิก ส.ว.ต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ชี้ ทุกข้อเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญ ต้องทำตามขั้นตอน แนะเปิดประชุมร่วม 2 สภา อภิปรายหาทางออก ‘ไอติม’ เสนอเปลี่ยนใช้ระบบ “สภาเดี่ยว”

ยกเลิก ส.ว.ต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงข้อเรียกร้องกลุ่มนักศึกษาที่ให้ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ถึง 272 ภายในเดือนกันยายนนี้ ไม่เช่นนั้นจะยกระดับการชุมนุมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปตามที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนด และเป็นไปได้ยากหากจะให้ทันภายในเดือนกันยายนตามข้อเรียกร้อง

“ข้อเรียกร้องที่บอกให้คนนั้นคนนี้ออก หรือแม้กระทั่งข้าราชการตัวเล็ก ๆ ที่จะต้องให้ไปจากราชการ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ต้องทำความเข้าใจกับน้อง ๆ คือ บางครั้งเราก็อาจจะเข้าใจผิดบ้าง เช่น บ้านเรามีครอบครัว มีคนใช้ เราอยากให้เขาไป บางครั้งก็ไล่เขาไปไม่ได้ เพราะเขาก็มีสิทธิอะไรบางอย่าง”



เช่นเดียวกับ คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ย้ำว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งจำเป็นต้องใช้เสียง ส.ว.ร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 84 คน ไม่เช่นนั้นก็ต้องรัฐประหารอีกครั้ง หรือเกิดการปฏิวัติประชาชน และอาจจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง

จึงเห็นว่าควรใช้กลไกรัฐสภาเป็นเวทีแก้ไขปัญหา โดยเสนอช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา เพื่อหารือร่วมกันทั้งประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญและความขัดแย้งทางการเมือง

ขณะที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็ชี้ช่องทางว่า สมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าชื่อร่วมกันเพื่อเสนอชื่อต่อประธานได้ตามที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสมาชิกรัฐสภาเสนอชื่อมา ส่วนการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน นายชวนกล่าวว่า จะต้องมีการตรวจความถูกต้อง ก่อนจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม คาดว่าสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาได้ทันสมัยการประชุมสภานี้

ส่วนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ก็ทราบว่าจะรอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน สรุปผลการศึกษา และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน แต่น่าจะเข้าสู่การพิจารณาทันพร้อมกับญัตติฝ่ายค้าน

“ไอติม” เสนอ “สภาเดี่ยว”

พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตสมาชิก New Dem ของพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเสนอ “ยกเลิกวุฒิสภา” และใช้ระบบ “สภาเดี่ยว” ระบุว่า เป็นจุดร่วมที่ก้าวหน้ามากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงต่อโครงสร้างปัจจุบันที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นจุดร่วมที่มีโอกาสที่จะหาฉันทามติได้ในทุกกลุ่มคนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตย

พร้อมระบุว่า วุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ขัดหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานที่ทุกคนมี “1 สิทธิ 1 เสียง” เท่ากันในการกำหนดอนาคตประเทศ เป็นสถาบันที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ซับซ้อน และยังเป็นการเขียนกฎหมายเพื่อ ‘ล็อก’ ทุกส่วนของโครงสร้างของรัฐ ให้อยู่ในการควบคุมของตนเอง

โดยเหตุผลที่ควรยกเลิก ระบุว่า ต้นทุนทางการเงินของการมีวุฒิสภาเป็นเงินจำนวนไม่น้อย และมองว่าการมีองค์กรอย่างวุฒิสภา อาจเป็นรูปแบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐที่ล้าสมัยไปแล้ว เพราะบทบาททั้งสามอย่างที่วุฒิสภาเคยมีนั้น อาจมีส่วนอื่นของสังคมที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่า

Author

Alternative Text

The Active

กองบรรณาธิการ The Active