ไขข้อสงสัยแคมเปญ แบนธนาคาร

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ชี้กระทบต่อธนาคารหรือไม่ ขึ้นอยู่กับขนาดของเงินที่ถูกถอน แต่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแน่นอน

จากกรณีแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้สนับสนุน “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ระบุในวันนี้ (20 ก.ย. 2563) โดยเสนอให้แบนธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ด้วยการถอนเงินฝากออกจากธนาคารนั้น

The Active ได้พูดคุยกับ ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก แคมเปญดังกล่าว ถือเป็นสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคยุคนี้ต้องยอมรับว่า พวกเขามีสิทธิอยากให้ธุรกิจที่เขาใช้บริการทำตามวาระที่เขาสนใจ เช่น บริษัทที่ไปทำลายสิ่งแวดล้อม เขาก็อาจไม่ใช้บริการเพราะเขาต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะแบนธุรกิจหนึ่งด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ในกรณีนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลไม่ได้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของธนาคาร แต่เป็นเรื่องของความไม่พอใจของผู้บริโภคที่มีต่อผู้ถือหุ้น

ประเด็นที่สอง ธนาคารเป็นธุรกิจที่พิเศษกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น เพราะธนาคารเดินได้ด้วยความเชื่อมั่น “แค่ความคิดที่คนฟังแล้วเชื่อ” แล้วเกิดความตระหนก ก็จะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในระบบการเงิน อธิบายง่าย ๆ คือ ธุรกิจธนาคารเป็นการนำเงินฝากไปหาประโยชน์ ไปปล่อยกู้ ไปลงทุน ดังนั้น ส่วนหนึ่งของธุรกิจธนาคารขึ้นอยู่กับความน่าจะเป็นอยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีใครที่จะไปถอนเงินทั้งหมดพร้อมกันทีเดียว มันมีการเหลื่อมเวลากันอยู่ โดยแต่ละวันก็มีคนไปถอนเงินตามความคิดความต้องการเป็นปกติ แต่ไม่ได้ทำในระดับที่พร้อม ๆ กัน ที่เรียกว่า “การถอนอย่างเป็นระบบ” เพราะฉะนั้น การดำเนินธุรกิจโดยปกติ ธนาคารจะอาศัยช่วงเวลาที่เหลื่อมกัน นำเงินไปสร้างกำไร ไปปล่อยกู้ ไปลงทุนต่าง ๆ

การรณรงค์แบบนี้ ถ้าเกิดว่ามีคนฟังจำนวนมาก คนกลุ่มหนึ่งเขาอาจจะยังไม่ทำจริง แต่อีกกลุ่มหนึ่งอาจคิดว่ามันจะส่งผลกระทบต่อเขาก็เลยไปถอนเงินออก แบบนี้เรียกว่า “ความคิดที่กลายเป็นความจริง”

ดังนั้น ธนาคารเป็นธุรกิจที่คล้าย “กาว” ที่ดึงภาคเศรษฐกิจเอาไว้ เพราะฉะนั้น ถ้าธนาคารแห่งหนึ่ง เกิดสูญเสียความเชื่อมั่นในวงกว้างก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาจริง ๆ ได้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่าแคมเปญนี้ มีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยมากน้อยแค่ไหน

ส่วนกรณีมีข้อถกเถียงที่กล่าวว่า “ยิ่งไปถอนเงินมาก ๆ จะเป็นประโยชน์กับธนาคาร เพราะว่าเงินเป็นรายจ่ายด้านดอกเบี้ยของธนาคาร” นั้น สฤณี บอกว่า หากพูดในมุมที่มองว่าธนาคารต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก จึงเห็นว่าการไปถอนเงินออกมาทำให้ธนาคารไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ลักษณะนี้ฟังดูคล้ายจะเป็นประโยชน์ แต่สุดท้ายแล้วก็ยังขึ้นอยู่กับขนาดของจำนวนเงินที่ถอนออกเช่นกัน ซึ่งมุมมองนี้ก็ไม่ผิดเพียงแต่ไม่ได้มองภาพรวมทั้งหมด

นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ได้อธิบายถึงกระแสในทวิตเตอร์และข้อความที่ตนเองเขียนลงเฟซบุ๊กอีกว่า ยังมีความเข้าใจผิดว่าฝากเงิน 100 บาท จะเป็นของผู้ถือหุ้น 33 บาท ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะคนจะเข้าใจผิดว่าเงิน 100 บาท เมื่อไปถอนแล้วจะได้คืน 67 บาท ตนจึงเขียนชี้แจงโดยต้องการให้ความรู้ด้านการเงินการธนาคารที่ถูกต้องว่าตามหลักการแล้ว เวลาเราฝากเงินเท่าไรก็ตาม ธนาคารจะนำเงินฝากของลูกค้าไปสร้างกำไร แล้วธนาคารมีนโยบายในการจ่ายเงินปันผล โดยยกตัวอย่างว่าหากปันผลของธนาคารปีนั้น 100% ถ้าธนาคารได้กำไร 100 บาท ผู้ถือหุ้นก็ได้ปันผลไปตามส่วน ถ้าถือหุ้น 10% ก็จะได้เงินปันผล 10 บาท ถ้าถือหุ้น 23% ก็จะได้เงินปันผล 23 บาท เป็นต้น

จึงสรุปได้ว่า การฝาก-ถอนเงินนั้นเป็นคนละส่วนกับเงินของผู้ถือหุ้น ลูกค้าจึงได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องการถอน ซึ่งการแสดงความคิดเห็นลงเฟซบุ๊กครั้งนี้ ตนพยายามจะชี้แจงเป็นข้อเท็จจริง ไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแคมเปญดังกล่าว

สำหรับกำไรของธนาคารมีด้วยกัน 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ดอกเบี้ยส่วนต่างจากเงินกู้และเงินฝาก แต่เป็นสัดส่วนที่มีความสำคัญน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น รายได้หลัก ๆ ของธนาคารมาจากส่วนอื่น เช่น ค่าธรรมเนียมในการให้บริการต่าง ๆ อย่างการใช้บัตรเครดิตและการใช้วงเงิน ที่ถือว่ามีความสำคัญมากขึ้นกว่าส่วนต่างดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยังมีรายได้อีกบางส่วนมาจากการลงทุน อย่างการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS