‘โคทม อารียา’ มองว่า การขัดขวางขบวนเสด็จฯ ละเอียดอ่อน เสี่ยงขยายผลความรุนแรง และท่าทีฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม ที่ประกาศพร้อมใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม
วันนี้ (15 ต.ค. 2563) รศ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล เปิดเผยกับ The Active เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา โดยยอมรับว่า บทเรียนความสูญเสียจากการใช้แนวทางสลายการชุมนุมในอดีต เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ชุมนุม เลือกจะให้ความสำคัญกับการเจรจามากขึ้น และต่างฝ่ายต่างก็มีท่าทียืดหยุ่นกันมาตลอด เพราะถึงแม้สิทธิการชุมนุมจะถือเป็นเสรีภาพ แต่เมื่อฝ่ายภาครัฐยืนยันใช้กฎหมาย และผู้ชุมนุมเองก็ทราบดีว่าการมาปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แกนนำก็พร้อมที่จะผ่อนคลายสถานการณ์ ไม่ใช้วิธีการดึงดัน ยืนหยัดชุมนุมต่อไป
ส่วนสำคัญก็เพราะไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงที่ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน เป็นที่มาที่ทำให้ภาพการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่เมื่อช่วงเช้ามืด ผ่านไปได้ด้วยดี ไม่มีใครต้องบาดเจ็บรุนแรง หรือถึงขั้นเกิดความสูญเสีย
รศ.โคทม วิเคราะห์ด้วยว่า สิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เลือกสลายการชุมนุม รวมถึงการประกาศใช้ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ การขัดขวางขบวนเสด็จพระราชดำเนินของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ละเอียดอ่อนที่อาจเป็นชนวนขยายผลความรุนแรง อีกส่วนสำคัญ คือ ท่าทีของอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมามีความพยายามประกาศสู่สาธารณะมาโดยตลอด ว่าพร้อมจัดการหรือใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร ดังนั้น การยืนยันปักหลักพักค้างในพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยง น่าจะเป็นการประเมินของทั้งกลุ่มแกนนำผุ้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่รัฐแล้วว่า อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้
“เพราะทุกฝ่ายมีบทเรียนร่วมกัน จึงทำให้ไม่เกิดเหตุรุนแรงมากไปกว่านี้ ถ้าย้อนไปในปี 2553 การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เจ้าหน้าที่เลือกที่จะสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง มีการใช้อาวุธจากทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงแกนนำการชุมนุม และผู้ชุมนุมเองก็เลือกที่จะยืนหยัดต่อสู้ จนนำไปสู่เหตุความสูญเสีย แต่การชุมนุมครั้งนี้ เราได้เห็นการพูดคุยกันมากขึ้น ทุกฝ่ายมีเส้นแบ่งที่จะไม่ก้าวข้ามไปสู่ความรุนแรง ที่สำคัญคือต่างฝ่ายต่างแสดงให้เห็นกันว่าไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพกพาอาวุธ นี่คือหลักจิตวิทยาที่จะทำให้เกิดความเชื่อใจ ไว้วางใจ กันว่าถึงอย่างไรการปฏิบัติการก็จะใช้แต่มือเปล่า ไม่เป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตแน่นอน อีกประเด็นที่ต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ดี คือ การตัดสินใจของแกนนำการชุมนุมที่ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ เพราะถ้ายืนหยัดโดยผู้นำ แต่จะสูญเสียไปยังผู้ตาม นั่นหมายความว่าทุกฝ่ายพยายามเรียนรู้ และเลี่ยงความสูญเสียของประชาชนให้มากที่สุด”