ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพสื่อฯ ชี้ รัฐปิดกั้นสื่อสาร เหนื่อยเปล่า

บรรยงค์ สุวรรณผ่อง แนะรัฐ ใช้การสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจนถึงประชาชน แทนปิดกั้นการสื่อสาร ระบุ คนรุ่นใหม่มีจุดแข็งใช้เทคโนโลยีสื่อสาร

บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ชวนสังคมไทยมองปรากฏการณ์การสื่อสารระหว่างผู้ชุมนุม รัฐบาล และสื่อสารมวลชน

มองปรากฏการณ์ “รัฐ” กับ “การสื่อสาร”

เขาเปิดเผยกับ The Active ว่า หลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ภาครัฐพยายามปิดกั้นการสื่อสารของกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อให้เป็นอุปสรรคในการจัดการชุมนุม หรือการสื่อสารภายในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยระบุว่า พื้นที่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ เป็นช่องทางสื่อสารสาธารณะ แม้จะมีการจัดกลุ่มพูดคุยหรือเพจ ก็เป็นพื้นที่กลางที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อยู่แล้ว

เขามองว่า การห้ามสื่อสารมวลชนเผยแพร่ถ่ายทอดสดการขุมนุม ส่วนตัวมองว่า การสั่งห้ามในครั้งแรกไม่ได้ห้ามสื่อกระแสหลัก แต่ประกาศให้ครอบคลุมไว้ เพราะถ้าไม่ประกาศแบบนี้ จะไม่มีอำนาจบังคับใช้กับผู้คนที่ใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งครอบคลุมความผิดใน 2 ลักษณะ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการใช้อำนาจที่มีอยู่เดิม คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ขณะที่การใช้สื่อสังคมออนไลน์ ของกลุ่มผู้ชุมนุมในเวลานี้ คือ แอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) เป็นเพราะกลุ่มเด็ก เยาวชน และคนหนุ่มสาว รู้ว่ามีจุดแข็งตรงไหน เช่น การสามารถจัดกลุ่มเฉพาะตัวได้ จริงอยู่ว่าเมื่อใช้งานไประยะหนึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็จะสามารถแทรกซึมเข้าไปติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหว แต่ระหว่างการจัดการชุมนุม เขาสามารถใช้เครื่องมือนี้สื่อสารกันได้ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบดาวกระจาย ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ซึ่งกระจายไปทั่วทุกหัวระแหง

“เจ้าหน้าที่รัฐ ช่วยส่งเสริม Telegram ให้รัสเซีย ?…”

บรรยงค์ กล่าวติดตลก ก่อนเริ่มพูดถึงรายละเอียดของ Telegram ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสัญชาติรัสเซีย มีจุดแข็งที่เป็นเหมือนการผนวกระหว่าง Facebook และ Line เข้าด้วยกัน ซึ่งหากเป็นกลุ่มปิด ก็สามารถดึงเฉพาะแกนนำเข้ามาสื่อสารได้ โดยสามารถปิดกั้นการสำเนา คัดลอกข้อความได้ ยกเว้นว่ารัฐจะเข้าถึงด้วยวิธีซอร์สโค้ด (Source code) ได้

โดยระบุว่า จุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้ เกิดขึ้นเพราะรัสเซียเห็นหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สามารถเก็บรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลประชาชนภายในประเทศตัวเองได้ แต่รัสเซียยังไม่มี กระทั่งเห็นความโดดเด่นของ Line ที่ใช้วิธีการเชื่อมกับโทรศัพท์ และ Facebook ที่มี Source code เปิดกว้าง ขณะที่ Twiiter ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนคำ แต่มีการติดแฮชแท็ก ( # ) เป็นกุญแจสำคัญของการสื่อสาร ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกรวมไว้ใน  Telegram

Telegram ถูกทำให้ใช้อย่างแพร่หลายในเวลาอันรวดเร็ว หลังมีกระแสข่าวว่า “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” อยู่ระหว่างขอให้เฟซบุ๊ก ปิดเพจ “เยาวชนปลดแอก - FreeYOUTH” และ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เมื่อวันที่ 18 ต.ค.

ทางออกระหว่าง “รัฐ” กับ “ประชาชน”

“ไล่ปิด ปิดกั้นการสื่อสาร ภาครัฐคงเหนื่อยเปล่า แต่ใครทำผิดบนโลกดิจิทัล ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ภาครัฐต้องใช้การสื่อสาร ที่ให้ข้อมูลกลับไปถึงประชาชนมากกว่า เพราะที่ผ่านมา ข้อมูลที่มาจากระดับนโยบาย ไม่เอื้อต่อการสื่อสาร…”

นายบรรยงค์ มองว่า ภาครัฐอาจไม่สามารถสื่อสารถึงกลุ่มที่คัดค้านได้ เพราะเขาไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องสื่อสารกับประชาชนที่กำลังสับสน เช่น วันที่มีการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ปรากฏการณ์ที่ภาครัฐใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ทำให้มองว่าใช้ความรุนแรง แต่กลับไม่มีข้อมูลอีกด้านที่ช่วยสร้างความกระจ่างชัดให้เกิดขึ้น มีเพียงการใช้วิธีไล่ปิด ควบคุม ซึ่งไม่มีประโยชน์

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน