“ขอบคุณกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่เป็นเงื่อนไข”
“ยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เป็นข้อเรียกร้องต่ำที่สุดในระบอบประชาธิปไตย”
“ชัยชนะรายทาง คือ การผลักดันให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง”
“ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม”
“การปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข คือ บทพิสูจน์ว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย”
“ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ ยืนยันเดินหน้าตามแนวทางสันติวิธี”
ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่พวกเขาสื่อสารกับสังคมทันทีที่ก้าวเท้าออกจากเรือนจำ
เที่ยงคืน หลังเริ่มต้นวันใหม่ 3 พ.ย. 2563 ผู้ถูกคุมขัง 4 คนสุดท้าย จากคดีชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน
อานนท์ นำภา และสมยศ พฤกษาเกษมสุข จากข้อหายุยงปลุกปั่นตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาอื่น ๆ ในกิจกรรม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร”
เอกชัย หงส์กังวาน และสุรนาถ แป้นประเสริฐ จากข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ตามกฎหมายอาญา มาตรา 110 จากกรณีขบวนเสด็จฯ
ทั้ง 4 คนได้รับการปล่อยตัว โดย อานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร 2563 ระบุว่า เป็นการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องการห้ามชุมนุม เขากล่าวขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่เป็นเงื่อนไข และสะท้อนว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้น สังคมพิพากษาแล้วว่าสิ่งที่เดินมาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ผู้ใช้อำนาจต้องยอมรับสภาพว่าสังคมมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลง
เขาระบุถึงกรณีที่เกิดขึ้นข้างนอกระหว่างเขาถูกคุมขัง ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องว่า สิ่งนี้สะท้อนว่าทุกคนเป็นแกนนำในการต่อสู้อย่างแท้จริง
“เรามีอุดมการณ์ร่วมกันอย่างหนักแน่น ทั้งสิทธิเสรีภาาพ ความเสมอภาค และข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำที่สุดในระบอบประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องยังเหมือนเดิมทุกประการ”
เขาตอบคำถามสื่อมวลชน ถึงกรณีที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีหลายครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าตามข้อเรียกร้อง โดยระบุว่า หากมองเป้าหมายรายทาง ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่การจะเดินไปถึงเส้นชัย ต้องใช้พลังอีกมาก และเชื่อว่าตอนนี้ขบวนพร้อมจะเดินไปสู่เส้นชัย
“ชัยชนะรายทางเราบรรลุอย่างเต็มภาคภูมิ คือ การผลักดันให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมด ความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพ ปัญหาทางการเมือง และการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ เราประสบความสำเร็จเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ระหว่างทาง แต่การจะไปถึงเส้นชัย ยังต้องใช้กำลังอีกเยอะ ต้องใช้แรงอีกเยอะ”
อานนท์ ยังย้ำอีกว่า ไม่ว่าใครจะมองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ต้องจบด้วยความรุนแรง เขากลับมองว่า ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ และเชื่อว่าคนเห็นต่างก็จะเรียนรู้เช่นกันว่าความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ พร้อมยืนยันจะใช้สันติวิธี ความจริงใจ ความเป็นมนุษย์ในการต่อสู้
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายพยายามผลักดันการปรองดองหรือสมานฉันท์ อานนท์ มีความเห็นว่า หากคณะกรรมการดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ว่าบ้านเมืองมีปัญหาอย่างไร พวกเขาก็พร้อมรับฟัง และยืนยันว่าข้อเสนอทั้งหมดมีความชัดเจนมากเพียงพอ ทั้งแง่วิธีการและข้อเรียกร้อง
สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เป็นอีกคนที่คุ้นเคยกับการถูกดำเนินคดีทางการเมือง เขาบอกว่า การถูกคุมขังในรอบนี้ ยิ่งตอกย้ำว่าเรือนจำ คือ สุสานคนเป็น มีสภาพบีบคั้น กดดัน แต่ไม่มีผลใด ๆ ต่อการเคลื่อนไหวของตัวเขา พร้อมยังหวังให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ แม้กระทั่งการออกหมายจับ หรือการใช้กระบวนการแบบใหม่แทนการใช้ระบบกล่าวหา ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ได้เรียนรู้ ซึ่งต้องเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่จะเดินหน้า แม้เป็นประเด็นปลีกย่อยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม
“เรือนจำไม่ได้มีไว้แก้ไข แต่มีไว้แก้แค้น เพื่อบีบรัด กดดัน แต่ไม่มีผลใด ๆ ที่จะหยุดยั้งการต่อสู้ของประชาชน อยากให้รับรู้ว่าเสียงเรียกร้องจากข้างนอกได้ยินถึงห้องขัง เสียงนั้นสั่นสะเทือนจนเปิดประตูคุกออกมา ขอบคุณพลังของประชาชน เป็นความหวังที่จะแก้ไขทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ด้วยความยุติธรรม”
ด้าน เอกชัย หงส์กังวาน เขายืนยันปฏิเสธต่อข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง พร้อมลำดับเหตุการณ์ในวันที่ถูกควบคุมตัว ว่าตั้งใจจะเข้ารายงานตัวตามหมายจับ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเลือกจะเข้าจับกุมแทน ซึ่งท้ายที่สุด กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลเป็นบทพิสูจน์ว่าสิ่งที่เคลื่อนไหวนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย
“เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายที่ศาลไม่อนุมัติฝากขังผัดที่ 3 และปล่อยตัวออกมาโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัว ไม่มีเงื่อนไขอะไร ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่าไม่ได้ทำผิด หลังจากนี้ จะยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่ถูกดำเนินคดีจนถึงโทษจำคุก”
ช่วงท้ายของการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน มีการกล่าวถึงกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตอบคำถามสื่อต่างชาติ ว่า “ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม” อานนท์ นำภา เป็นผู้ตอบคำถามนี้ โดยบอกว่า นี่เป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่ต้องเคารพซึ่งกันและกัน
“เป็นเค้าลาง เป็นนิมิตรหมายที่ดี ต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมา พูดกันด้วยความเคารพ ผู้ชุมนุมเองก็ต้องเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันฯ ก็ต้องเคารพต่อผู้ชุมนุมในฐาะเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่งดงาม เราจะต้องใช้สันติวิธีแสวงหาจุดร่วมที่จะอยู่ร่วมกัน หาทางออกร่วมกัน ทางรัฐบาลก็ต้องสร้างบรรยากาศการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ไม่ใช่การระดมออกหมายเรียกหมายจับ เพราะพวกเรายึดมั่นหลักสันติวิธี การพูดคุย การปราศรัยทั้งหมด ชัดเจนมาตั้งแต่ต้น”