หลัง เป็นเหยื่อขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ‘กรมอุทยานฯ’ ขับเคลื่อน Thailand-WED บังคับใช้กฎหมายแก้ปัญหาลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า
วันนี้ (17 ธ.ค. 2563) ประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย Mr. Dicky Komar รักษาราชการอุปทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ร่วมส่งมอบ-รับมอบลิงอุรังอุตัง สายพันธุ์สุมาตรา เพศเมีย จำนวน 2 ตัว คือ อุ๋งอิ๋ง และ นาตาลี อายุ 4 ปี ซึ่งเป็นลิงอุรังอุตังของกลางที่สิ้นสุดคดีแล้ว และอยู่ในความดูแลของศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (เขาประทับช้าง) จังหวัดราชบุรี กลับประเทศถิ่นกำเนิดเพื่อนำกลับสู่สภาพธรรมชาติ และเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตในโอกาสครบรอบ 70 ปี ราชอาณาจักรไทย – สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ณ หน้าอาคารคลังสินค้าการบินไทย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ
“อุ๋งอิ๋ง” และ “นาตาลี” เป็นลูกลิงที่ถูกขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ลักลอบขนมาจากเมืองกะงะ รัฐเปอร์ลิส มาเลเซีย ถูกยึดได้ที่ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2560 และขณะนี้คดีดังกล่าวสิ้นสุดแล้ว จึงเห็นชอบให้ส่งคืนลิงอุรังอุตังของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 2 ตัว กลับถิ่นกำเนิด ประเทศอินโดนีเซีย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ (รัฐบาลต่อรัฐบาล) และเพื่อภาพลักษณ์ในการร่วมมือกันต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ
โดยลิงอุรังอุตังทั้งสองได้ผ่านการกำจัดพยาธิ การกักกันเฝ้าระวังโรค ทำประวัติทางการแพทย์ ตรวจเลือดรายตัวเพื่อกำจัดโรค และถูกทดสอบความคุ้นเคยกับกรงย้ายที่มีมาตรฐาน ผ่านการฆ่าเชื้อจากเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของลิงระหว่างการขนย้ายให้น้อยที่สุด
ด้าน Mr. Dicky Komar อุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย กล่าวว่า อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทั้งพืชและสัตว์รวมถึงเป็นถิ่นที่อยู่ของชนิดเฉพาะถิ่น (Endemic Species) มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกด้วย ปัญหาการลักลอบค้าลิงอุรังอุตังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญสำหรับอินโดนีเซีย การทำงานร่วมกันอย่างจริงจังระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ การส่งอุ๋งอิ๋งและนาตาลีกลับคืนถิ่นกำเนิดในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และความต่อเนื่องระหว่างประเทศอินโดนีเซียและไทยในการต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ตามแนวที่ CITES กำหนด ซึ่งการส่งลิงอุรังอุตัง คืนกลับถิ่นกำเนิดครั้งนี้ เป็นความร่วมมือ ครั้งที่ 5 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2549
ทส. ขับเคลื่อน Thailand-WED
จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าแห่งประเทศไทย (Thailand Wildlife Enforcement Network : Thailand–WEN) เพื่อให้ทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีขอบเขตการประสานงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายกว้างขวางขึ้น
สำหรับหน้าที่ของคณะกรรมการเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าแห่งประเทศไทย (Thailand Wildlife Enforcement Network : Thailand–WEN) มีดังนี้
- กำหนดและควบคุมนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ และปฎิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าของประเทศไทย ให้เป็นไปตามพระราชบัญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และอนุสัญญา CITES
- สนับสนุนและกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และองค์กรเอกชนในประเทศไทย ในการดำเนินงานเครือข่าย Thailand–WEN
- สนับสนุนและกำหนดแนวทางความร่วมมือ จุดยืน ตลอดจนท่าทีการเจรจา ในการประสานและร่วมดำเนินงานระหว่างประเทศ ของเครือข่าย Thailand–WEN ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
- สนับสนุนกิจกรรมการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติเกี่ยวกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าและการทำป่าไม้ที่ผิดกฎหมาย (SOMTC) และการบังคับใช้กฎหมายเพื่ออนุวัติอนุสัญญา CITES
- พิจารณารับรองแผนงานและงบประมาณประจำปีของเครือข่าย Thailand–WEN
- ติดตามผลการดำเนินงานและให้ข้อเสนอแนะการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าของประเทศไทย ภายใต้เครือข่าย Thailand–WEN
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และที่ปรึกษา เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
ในการประชุมครั้งนี้ ยังได้รับทราบการจัดตั้งสำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผลการดำเนินงานเครือข่าย Thailand–WEN ให้เข้มและมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน SOMTC และอนุสัญญา CITES และการดำเนินงานโครงการ Combatting Illegal Wildlife Trade, focusing on Ivory, Rhino Horn, Tiger and Pangolins in Thailand (โครงการ GEF-6) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยเน้นที่ประเด็นของงงาช้าง นอแรด เสือ และลิ่น เน้นการเสริมสมรรถนะและสร้างความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย มุ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสัตว์ป่าในกลุ่มเป้าหมาย โดยในระหว่างปี 2562-2563