ยกอาหารทะเลจากการทำประมงยั่งยืน ผลผลิตเกษตรปลอดสาร ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคกลางเมือง ใต้แนวคิด “กินอย่างปลอดภัย รับผิดชอบต่อสังคม”
เครือข่ายประมงพื้นบ้าน และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จัดงาน “มหาส้มมุทร” ขนอาหารทะเลปลอดภัยและพืชผลเกษตรปลอดสารเคมี ถึงมือผู้บริโภคในกรุงเทพฯ วันที่ 18-19 ธ.ค. นี้ ที่สวนครูองุ่น ทองหล่อซอย 3
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวถึงที่มาของชื่องานว่า มาจากความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายประมงพื้นบ้าน และเครือข่ายด้านเกษตรอินทรีย์ ที่จะร่วมกันนำอาหารทะเลสด ๆ และผลผลิตเกษตรที่ปลอดสารเคมีมาขายให้แก่ผู้บริโภค ภายใต้แนวคิด “กินอย่างปลอดภัย รับผิดชอบต่อสังคม”
โดยอาหารทะเลที่จะนำมาขายนั้น ต้องมาจากการประมงอย่างยั่งยืนด้วยวิธีการแบบไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ไม่ผิดกฎหมาย และที่พิเศษคือ อาหารทะเลเหล่านี้ผ่านการรับประกันด้วยมาตรฐานของกรมประมงแล้ว
“ก่อนหน้านี้ มีเพียงมาตรฐานที่สมาคมชาวประมงพื้นบ้านคนรับรองเอง แต่ปีนี้ทางเครือข่ายได้คุยกับกรมประมงว่าอยากให้มีมาตรฐานที่ออกโดยรัฐด้วย และเมื่อต้นเดือนตุลาคมก็มีระเบียบกรมประมงออกมา มีเนื้อหาข้อกำหนดว่าด้วยมาตรฐานสินค้าประมงพื้นบ้านยั่งยืน งานนี้ก็เลยเอาผลผลิตที่จะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ได้มาตรฐานดังกล่าวมาขาย”
โดยระเบียบดังกล่าว คือ “ระเบียบว่าด้วยการขอและการออกใบรับรองมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน และการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน พ.ศ. 2563” โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563
วิโชคศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ปีนี้ไฮไลท์จะอยู่ที่ “ปูทะเล” เพราะจากความพยายามอนุรักษ์ของชาวบ้าน โดยเฉพาะการทำธนาคารปูในหลายพื้นที่ ทำให้ปีนี้ปูทะเลที่มาจากการจับด้วยวิธียั่งยืนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็จะส่งผลต่อราคา “ปูนึ่ง” ที่จะนำมาขายในงานด้วยมีราคาถูกลง โดยเทียบกับราคาปูนึ่งที่เคยขายช่วงปีแรก ๆ อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 750 บาท ปี 2562 ราคาเริ่มลดลงอยู่ที่ 650 บาท และปีนี้ราคาก็จะลงมาอีกอยู่ที่ 550 บาทต่อกิโลกรัม
“ยิ่งผู้บริโภคซื้อปูที่มาจากการจับด้วยวิธียั่งยืนไปกิน ชาวประมงก็จะยิ่งทำตามมาตรฐาน ทำประมงอย่างรับผิดชอบ ทำให้โอกาสที่ผู้บริโภคทั่วไปเข้าถึงปูนึ่งราคาไม่สูงยิ่งมีมากขึ้น แต่ถ้าเรายังไปสนับสนุนปูตัวเล็ก ๆ ราคาถูก เราก็ยังจะวนอยู่กับปัญหาเหมือนเดิม และชาวประมงที่ทำดีก็จะหมดกำลังใจไปเรื่อยๆ”
วิโชคศักดิ์ กล่าวตอนท้ายว่า อยากเชิญชวนผู้บริโภคไปหาซื้ออาหารทะเลในงาน พร้อมย้ำว่า ไม่อยากให้เร่งตัดสินว่าชาวประมงเอาของแพงมาขาย แต่อยากให้ผู้บริโภคอดทนไปด้วยกันเพื่อช่วยกันสร้างยั่งยืนให้เกิดขึ้น เพราะถ้าเริ่มจากขายถูก ชาวบ้านก็เจ๊ง คนที่จะทำงานอนุรักษ์ก็หมดกำลังใจ ทุกอย่างก็กลับไปที่เดิม
ดูรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมที่ งาน Fisherfolk X Dear Consumer มหาส้มมุทร