มท. 1 สั่งการทุกจังหวัดเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เน้นย้ำ แผนจัดหาน้ำให้เพียงพอแก่ประชาชน
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น และตั้งแต่เดือนมีนาคมจะมีอากาศร้อนอบอ้าวและแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย และมีอากาศร้อนจัดเป็นบางวัน โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งอาจส่งผลกระทบการเกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำเติมกับภาวะน้ำต้นทุนในเขื่อนน้อย
วันนี้ (22 ม.ค. 2564) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากการคาดการณ์ผลกระทบด้านภัยแล้งที่มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากหลายหน่วยงาน ขณะนี้ได้วางมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 จึงได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการ 7 ด้าน
- การใช้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์ตามกฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มอบหมายภารกิจให้หน่วยงานรับผิดชอบ 3 กลุ่มภารกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มพยากรณ์ โดยตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ทำหน้าที่ติดตามสภาพอากาศสภาพน้ำท่าและระดับน้ำในแหล่งเก็บน้ำขนาดต่าง ๆในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุนและความต้องการใช้น้ำในด้านต่าง ๆ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ โดยดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ/คณะทำงานของจังหวัดทำหน้าที่วางแผนการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ ทั้งการอุปโภคบริโภคการรักษาระบบนิเวศเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน รวมทั้งกำหนดแนวทางในการระบายน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ซึ่งขณะนี้กลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยจัดเตรียมกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย โดยบูรณาการฝ่ายพลเรือนหน่วยทหารภาคเอกชนเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา กรณีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนเป็นลำดับแรก พร้อมทั้งกำหนดแบ่งพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบและมอบหมายหน่วยงาน/ภารกิจหน่วยสนับสนุนให้ครอบคลุมแต่ละพื้นที่และพร้อมเผชิญเหตุตลอด 24 ชั่วโมง
- สำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ถึงระดับหมู่บ้าน/ชุมชน พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแผนรองรับ เช่น แหล่งสำรองน้ำดิบแผนการวางท่อน้ำประปาแผนรับน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำโดยตรง และแผนจัดสรรน้ำดิบเพื่อให้การผลิตน้ำประปาเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่
- ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลผลการสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำของจังหวัด บทเรียนจากการปฏิบัติงาน ปัญหาอุปสรรคจากปีที่ผ่านมา ประกอบการวางแผนบูรณาการและแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ในส่วนของการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ให้ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมกำหนดมาตรการรองรับในพื้นที่โดยเฉพาะพืชสวนไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษกิจ และให้พิจารณาดำเนินการปฏิบัติการเติมน้ำโดยประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจัดทำฝนหลวงในพื้นที่เกษตร และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย
- เฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำคูคลอง หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ และส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมจัดการน้ำเสียตามหลัก 3R (Reduce ลดการใช้ Reuse การใช้ซ้ำและ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่) รวมทั้ง มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบเส้นทางคมนาคมที่มีแนวติดคลองลำน้ำหรือแม่น้ำต่าง ๆ สำรวจและกำหนดมาตรการรองรับกรณีเกิดการพังทลายของตลิ่ง
- ให้ฝ่ายปกครองร่วมกับฝ่ายทหารในพื้นที่ สอดส่องทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะกรณีการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรระมัดระวังมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งจากกรณีการแย่งชิงน้ำ
- สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ตลอดจนมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้น้ำอย่างประหยัด และเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ ร่วมซ่อมสร้างบำรุงรักษาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กเพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ