อุตุฯ ประกาศไทยเข้าสู่ ‘ฤดูฝน’ 15 พ.ค.นี้ – นักวิชาการ เตือนเก็บน้ำ หวั่นแล้งต้นปีหน้า

คาดภาพรวมปีนี้ฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ช่วง ส.ค.-ต.ค. ฝนชุกที่สุด เหนือ-อีสาน มีโอกาสเจอพายุ 1-2 ลูก ขณะที่ นักวิชาการด้านภัยพิบัติ เตือนเก็บน้ำในเขื่อนให้มาก เพราะต้นปี 2569 ไทยเสี่ยงเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญ เผชิญภัยแล้ง น้ำน้อย  

วันนี้ (13 พ.ค. 68) สุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ คาดภาพรวมปีนี้ฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ช่วงต้นฤดู กลาง ก.ค. ไทยตอนบนรับฝนเพิ่มร้อยละ 5 – 10 ครึ่งหลังฤดู ภาคใต้ฝนน้อย ขณะที่ช่วง มิ.ย. – กลาง ก.ค. เหนือ – อีสาน – กลางตอนบน จะเกิดฝนทิ้งช่วง จากนั้น ส.ค. – ต.ค. ฝนชุกที่สุด เหนือ – อีสานมีโอกาสเจอพายุ 1-2 ลูก

สุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

เกณฑ์เข้าสู่ฤดูฝน

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปีนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยา 3 องค์ประกอบ ได้แก่

  1. ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่และต่อเนื่อง

  2. ลมชั้นบนที่ระดับความสูงประมาณ 1.5 กิโลเมตร เปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้

  3. ลมชั้นบนที่ระดับความสูงประมาณ 10 กิโลเมตร เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก

ภาพรวมฝน 2568 ท่วม หรือ แล้ง ?

ปริมาณฝนรวมปีนี้มากกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5 โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูถึงเดือนกรกฎาคม ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนชุกกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5–10 ส่วนช่วงครึ่งหลังของฤดู (สิงหาคม-ตุลาคม) ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออก คาดว่าจะมีฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 10 ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกลางกรกฎาคม อาจเกิดฝนทิ้งช่วงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ขอให้ประชาชนวางแผนการใช้น้ำอย่างเหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางการเกษตร

“ขณะเดียวกัน ช่วงสิงหาคมถึงตุลาคม เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีความเสี่ยงต่อพายุหมุนเขตร้อน ที่อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยปีนี้คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 1–2 ลูก โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ”

สำหรับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ่-ลานีญ่า (ENSO) ขณะนี้ได้เข้าสู่สภาวะเป็นกลาง และมีแนวโน้มจะคงอยู่เช่นนี้ไปจนถึงช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ส่งผลให้ฤดูฝนปีนี้มีแนวโน้มกระจายตัวดีและมีปริมาณฝนใกล้เคียงหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย

ห่วงแล้งปลายปี ถึงต้นปี 2569

ขณะที่ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เปิดเผยว่า ปีนี้แนวโน้มน้ำท่วมใหญ่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่จะเป็นน้ำท่วมขังรอการระบายเป็นส่วนใหญ่ เพราะจังหวัดอาจเกิดปรากฏการณ์ เรนบอม (Rain Bomb) เป็นปรากฏการณ์ฝนตกหนักอย่างฉับพลันและรุนแรงในระยะเวลาสั้น ๆ คล้ายกับการทิ้งระเบิดของฝนลงมา ระยะนี้ ต้นเดือนพฤษภาคม ฝนจะมีมีตกเพิ่มมากขึ้น แต่จะทิ้งช่วง เดือนมิถุนายน -กรกฎาคม ส่วน สิงหาคม ถึงตุลาคม เป็นช่วงที่ไทยฝนตกมากขึ้น ช่วงจังหวะนี้ต้องเป็นช่วงกักเก็บน้ำให้มากที่สุดเพราะ ปลายปีจะเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งน้ำน้อย

คาดว่าปี 2568 จะเป็นปีเอลนีโญ่ น้ำน้อย ต้องวางแผนล่วงหน้าเพราะบ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม หน่วยงานด้านน้ำต้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์แล้งอนาคตไว้ให้ดี ส่วนกรุงเทพมหานครปีนี้ ต้องจับตาในแต่ละเดือน ถ้าคาดการณ์ในระยะยาวอาจยังบอกคาดการณ์น้ำได้ไม่แม่นยำเท่ากับระยะสั้น แต่พอเข้าสู่ช่วงฤดูฝนมากประมาณ กันยายน ตุลาคม อาจต้องเตรียมพร้อมระบบระบายน้ำล่วงหน้าเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังในเมืองใหญ่”

รศ.เสรี ศุภราทิตย์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active