50,000 โดสแรกจากแอสตราเซเนกา พร้อมฉีดกลาง ก.พ. เน้น สมุทรสาคร บุคลากร สธ. อาสาฯ รับวัคซีน
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการประชุมทางไกล ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลรัฐและเอกชน ชี้แจงการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ระยะแรก
ภายหลังการประชุม นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีน ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการอาหารและยาขึ้นทะเบียนวัคซีนฉุกเฉินของบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยการเจรจาครั้งล่าสุด ประเทศไทยได้วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกจำนวน 150,000 โดส จากบริษัทแอสตราเซเนกา โดย 50,000 โดสแรก จะทยอยถึงประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยสมัครใจที่ทำหน้าที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาครเป็นหลัก จำนวน 6,000 - 7,000 คนและอีก 100, 000 โดส จะทยอยตามมาในเดือนมีนาคมและเมษายน ทั้งนี้ ล็อตแรก 150,000 โดสเป็นคนละล็อตกับกับ 26 ล้านโดส ซึ่งจะผลิตภายในประเทศโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
“สำหรับการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึง จะมีการใช้แอปพลิเคชัน LINE OA (LINE Official Account) หมอพร้อม ลงทะเบียน นัดหมายประชาชน เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาล โดยหากในระยะ 2 ระยะ 3 ของแผนการฉีดวัคซีนมีปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรรเพิ่มมากขึ้นก็จะขยายต่อไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสถานีอนามัยเพื่อความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง”
ส่วนกรณีผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา มีผลข้างเคียงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับวัคซีนของบริษัทอื่นด้วยเทคโนโลยี Viral vector vaccine ซึ่งต่างจากของซิโนแวค ประเทศจีนที่ใช้เชื้อตายจึงมีผลข้างเคียงไม่ต่างจากการฉีดบาดทะยักหรือไวรัสตับอักเสบบี ที่ทำให้มีอาการปวดและเป็นไข้ ส่วนวัคซีนของไฟเซอร์ที่มีผลข้างเคียงแรงที่สุด เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด mRNA ที่ไม่เคยทดลองมาก่อน
“การฉีดวัคซีนจะต้องฉีด 2 โดสขึ้นห่างกัน 4-6 สัปดาห์ และเป็นยี่ห้อบริษัทเดียวกันเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม ในคณะอนุกรรมการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 มีการจัดตั้งคณะกรรมการติดตามผลและยาวผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีน นายแพทย์โสภณ เมฆธน บอกว่า จะมีการติดตามผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 สัปดาห์- 1 เดือน กรณีเลวร้ายที่สุดหากมีผู้เสียชีวิต ก็จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยา โดยใช้เงินจากกองทุนสุขภาพ 3 กองทุน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีกรณีที่จะต้องได้รับการเยียวยา ไม่มาก