ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอพยพกลับใจแผ่นดิน ยืนยัน ยังไม่กลับลงมา

ยื่น 3 ข้อเสนอ ผ่านเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ชุดติดตาม ขอระดับนโยบายลงพื้นที่รับฟังปัญหา

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2564 ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่อพยพขึ้นไปยังหมู่บ้านเดิมในป่าใจแผ่นดิน ได้ส่งคลิปการเจรจาระหว่างกลุ่มเจ้าหน้าที่ตัวแทนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นลูกหลานชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย และกลุ่มชาวบ้านที่อพยพขึ้นไป ให้กับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ โดยบรรยากาศพูดคุยเป็นไปด้วยดี

ในคลิปที่ชาวบ้านส่งมา มีการสัมภาษณ์ ประยูร แครจี ตัวแทนเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งระบุว่า “เป็นลูกหลานชาวบ้านบางกลอย และคนที่อยู่ข้างบน(ป่า) เป็นญาติพี่น้อง ผมได้รับนโยบายจากนายมานะ (มานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน) เพื่อเจรจา คือ 1. ขอให้พี่น้องลงไปเจรจากับภาครัฐ ว่าต้องการอะไร ขาดอะไร 2. ให้ทางผู้นำ (ชาวบ้าน) แจ้งกับตัวแทนเจ้าหน้าที่ 3. หากต้องการคุย ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เช่น อธิบดี ผู้อำนวยการ หรือรัฐมนตรี ขึ้นมาไม่ได้ ต้องขอทำลานจอดเฮลิคอปเตอร์”

เขากล่าวอีกว่า “ผลการเจรจาพี่น้องบอกว่าไม่ลง (ไปข้างล่าง) แต่ภาครัฐคาดเดาไว้แล้ว ทางชาวบ้านต้องการคุยกับอธิบดีและรัฐมนตรี โดยอยากให้มีตัวแทนพีมูฟและทนายความที่ยอมรับและเชื่อถือเข้าร่วมด้วย”

ชาวบ้านถามตัวแทนเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อีกว่า การเดินทางขึ้นมาเป็นอย่างไรบ้าง เขากล่าวว่า “ส่วนตัวผมกลับลงไปเรียนหนังสือตั้งแต่ปี 2532 นับเวลาที่ผมจากไป ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี ที่ได้ขึ้นมาที่นี่” เมื่อถามอีกว่าได้มาเห็นความเป็นอยู่ของพี่น้องที่นี่รู้สึกอย่างไร ประยูร กล่าวว่า “บริเวณที่ชาวบ้านอยู่ไม่ได้มีเพิงพักหรือเป็นแคมป์ มีแค่ปูผ้ายางเป็นที่นั่ง”

ชาวบ้านถามว่า “ได้รับทราบอยู่ใช่มั้ย ว่าพี่น้องของเราลำบากเรื่องการขาดแคลนที่ทำกิน” ประยูร กล่าวว่า “ได้รับทราบว่าเมื่อลงไปแล้วไม่มีทำกิน ผมคิดว่าภาครัฐน่าจะหาแนวทางออกที่ดีในงวดนี้ แม้งวดที่ผ่านมา ผมมอยากให้ลืมกันไป เราจะได้คิดหาวิธีกันใหม่ อยากบอกพี่น้องเราว่า อย่าหาว่าผมเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ผมเป็นลูกหลานจริง ทุกคนอาจไม่เชื่อ คิดว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หลอกอีกแล้ว ผมอาจเสนอหัวหน้าไป เพราะชาวบ้านก็โดนมาหลายครั้ง”

ชาวบ้านถามอีกว่า “เมื่อรู้ว่าพี่น้องไม่ยอมลงเจ้าหน้าที่มีแผนอย่างอื่นหรือไม่” ประยูรกล่าวว่า “คณะที่พวกผมมาไม่มีแผนอะไร แค่ขอทำที่จอดฮอ (ลานเฮลิคอปเตอร์) ถ้าพี่น้องอยากคุยกับคนระดับสูง ๆ ที่ตัดสินใจได้”

เมื่อชาวบ้านถามว่าจะยังไม่มีการดำเนินคดีใด ๆใช่หรือไม่ ประยูร กล่าวว่า ยังไม่มี หัวหน้า (อุทยานฯ) บอกว่า “ถ้าจะดำเนินคดี แกสั่งเป็นชุดใหญ่แล้ว แต่แกอยากประนีประนอมให้พี่น้องได้คุยกันหาแนวออกที่ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกัน”

ทั้งนี้ ในหนังสือที่ชาวบ้านเขียนด้วยลายมือ ที่ยื่นให้กับนายประยูร ระบุข้อเสนอไว้ 3 ข้อ คือ 1. ต้องการเจรจาในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2. ต้องการหนังสือยืนยันจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 3. ทุกอย่างต้องมีหนังสือรับรองจาก 4 ท่าน 1. วราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 2. ประยงค์ ดอกลำใย 3. เกรียงไกร ชีช่วง และ 4. สุรพงษ์ กองจันทึก

ชาวบ้านบางกลอยซึ่งอยู่ในเหตุการณ์และออกมาส่งข่าวแจ้งว่า คณะเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ขึ้นไปเจรจากับชาวบ้านครั้งนี้ มีด้วยกัน 17 คน โดยทั้งหมดได้ไปพักอยู่ในอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งไม่ไกลจากจุดที่ชาวบ้านบางกลอยพัก ทั้งนี้ การหารือได้มีขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยคณะอุทยานฯ ไม่ได้เข้าไปยังจุดที่ชาวบ้านอยู่ทั้งหมด แต่ได้ส่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และเจ้าหน้าที่ปิดทองหลังพระ ซึ่งเป็นลูกหลานชาวบางกลอยจำนวน 10 คนเข้าไปหารือ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ