เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ ร้อง UN เหตุ รัฐบาลไทย ยังไม่มีความชัดเจนเพื่อคุ้มครองสิทธิชาวกะเหรี่ยง

เครือข่ายฯ รวมตัวหน้า UN ขอให้เรียกร้องไปยังรัฐบาลไทย ให้คุ้มครองและยอมรับสิทธิชุมชนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ย้ำ การผลักดันแก่งกระจานสู่มรดกโลก ต้องสอดคล้องหลักการสากล

วันนี้ (10 ก.พ. 2564) ตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และเครือข่ายกะเหรี่ยงและประชาชนผู้รักความเป็นธรรม รวมตัวกันที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ​ หรือ UN​ ประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือ​​ถึงผู้แทน UN ​เรียกร้องไปยังรัฐบาลไทย ให้คุ้มครองและยอมรับสิทธิชุมชนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จากกรณีปัญหาที่ชาวบ้านถูกกระทำจากนโยบายและมาตรการของเจ้าหน้าที่รัฐ จนเกิดเป็นข้อพิพาท กระทบต่อวิถีชีวิต และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

พรเพ็ญ คงขจรเกียติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องให้การรับรองกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง อีกทั้งยังสอดคล้องกับเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

“กฎหมายของไทย รวมถึงรัฐธรรมนูญไทย มีการคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมืองไว้อย่างกว้าง แต่กฎหมายย่อยยังไม่เพียงพอสำหรับการปกป้องคนของโลก อย่างชาวกะเหรี่ยง ที่มีวิถีชีวิตเป็นผู้รักษาธรรมชาติ หากรัฐบาลไทย ยังต้องการเสนอชื่อผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ทางธรรมชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของยูเนสโก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูเอ็น จะต้องหันมารับรองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองภายใต้หลักการสากล”

ข้อเรียกร้องสำคัญ 4 ข้อ เน้นย้ำ ให้รัฐบาลไทยรับรองสิทธิของชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 พร้อมขอให้เคารพหลักการสากล ที่ไทยเคยลงนามรับรองเอาไว้ นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐบาลไทยรับรองการอยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้านที่กลับไปอยู่บางกลอย (บน) และใจแผ่นดิน โดยรัฐต้องไม่บังคับอพยพ ข่มขู่ คุกคาม หรือดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พร้อมยังขอให้กระบวนการผลักดันผืนป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ต้องสอดคล้องกับหลักการสากล ต้องรับฟังความคิดเห็นและการตัดสินใจร่วมกันกับชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองในเขตพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานด้วย

รายละเอียดข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทย รีบหาทางแก้ไขปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างเร่งด่วน ดังนี้

1) รับรองสิทธิของชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง ตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 และเคารพในหลักการและกลไกของพันธกรณีระหว่างประเทศที่ได้ลงนามหรือได้รับรองไปแล้ว เช่น ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) และอนุสัญญาอื่น ๆ อีกหลายฉบับ

2) รัฐบาลต้องรับรองว่าสมาชิกชุมชนที่เดินทางกลับไปอยู่ที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ตามบรรพบุรุษได้ และต้องไม่มีการบังคับอพยพ ข่มขู่คุกคาม หรือดำเนินคดีโดยเด็ดขาด

3) ขอให้กระบวนการและขั้นตอนการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ให้สอดคล้องกับหลักการสากล และการรับฟังความคิดเห็นก่อนการตัดสินใจร่วมกันกับชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองในเขตพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน

และ 4) ยอมรับชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงในฐานะเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศและตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของพวกเขาในฐานะผู้พิทักษ์และการดูแลรักษาระบบนิเวศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ