กสศ. จับมือ “สมุทรสาคร” เปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กเยาวชนรับมือการเรียนรู้ถดถอย

“COVID-19” ระลอกใหม่ ใน จ.สมุทรสาคร แม้มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต้องประเมินสถานการณ์รายวัน ด้าน “ศธ.” สั่งปิดโรงเรียนมาตั้งแต่ 19 ธ.ค. 2563 ส่งผลกระทบนักเรียนบางกลุ่มที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์เทคโนโลยี

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ประสานจังหวัดสมุทรสาคร นำกลไก “ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา หรือ Smart refer” ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ในคณะกรรมการบริหาร กสศ. เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมุนษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข เข้าไปสนับสนุนการช่วยเหลือเด็กยากจนด้อยโอกาสที่ประสบภาวะวิกฤตทางการศึกษา

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบการปิดโรงเรียนที่ยาวนานในจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า กลุ่มเด็กนักเรียนยากจนด้อยโอกาสกำลังเผชิญวิกฤตทางการศึกษา 2 ด้าน คือ 1. ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในช่วงล็อกดาวน์เพราะขาดอุปกรณ์ จึงส่งผลให้เกิดภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)  2. มีแนวโน้มที่เด็กและเยาวชนยากจนด้อยโอกาสเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 

“การทำงานของศูนย์ Smart refer แบ่งเป็น 2 ระยะ 1. ระยะวิกฤต จะประคับประคองเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ให้ได้รับการช่วยเหลือตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทันสถานการณ์ และ 2. ระยะฟื้นฟู  ได้จัดทำโปรแกรมการช่วยเหลือดูแลรายคนให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะวิถีปกติทางการศึกษา หรือได้รับการศึกษาตามสภาพปัญหาของแต่ละคนต่อไป โดยสามารถแจ้งความช่วยเหลือได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 079 5475 ต่อ 8”

นพ.สุภกร เพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ กสศ. ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนักเรียนกลุ่มที่ยากลำบาก ผ่านโครงการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาคของ กสศ. ซึ่งดูแลเด็ก ๆ ตั้งแต่ระดับชั้น อนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยในภาคเรียนที่ 2/2563 จัดสรรคนละ 1,000 บาท เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยช่วยเหลือแล้ว 932,162 คน การที่ กสศ. ริเริ่มศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา หรือ Smart refer ขึ้น ตั้งเป้าหมายเพื่อปิดช่องว่างไม่ให้เด็กที่อยู่ในภาวะวิกฤตทางการศึกษาคนใดตกหล่นในสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยเริ่มต้นที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่แรก เพื่อพัฒนาให้เป็นสมุทรสาครโมเดล ก่อนขยายการทำงานต่อไป

ธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงสถานการณ์การปิดเรียนของจังหวัดว่า สมุทรสาครยังคงเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ต้องพิจารณาหลาย ๆ ส่วนร่วมกัน ทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และเรื่องการศึกษาก็เป็นส่วนสำคัญ ขณะนี้ให้มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยมอบหมายศึกษานิเทศก์คอยติดตามประเมินว่าการเรียนออนไลน์ได้ผลมากน้อยอย่างไร ตอนนี้บุคลากรทางการศึกษาทั้งหมดรับทราบสถานการณ์ แต่ยังมีความจำเป็นไม่ให้เด็กเจอกัน เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาการระบาดของโรค 

“ทางจังหวัดสมุทรสาครได้เตรียมประชุมร่วมกันกับหน่วยงานทางการศึกษาทั้งหมด เพื่อรับทราบข้อมูลและลงทำงานในพื้นที่เพื่อให้ครอบคลุมถึงเด็กทุกคน เป็นเรื่องดีที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเข้ามาร่วมช่วย ฉะนั้นเด็กนักเรียนยากจนพิเศษก็จะได้รับการดูแลจากจังหวัด ต้องขอขอบคุณ กสศ. และทุกฝ่ายที่ให้ความสนใจเรื่องการศึกษาในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งช่วยให้สามารถชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปสำหรับกลุ่มเด็กด้อยโอกาสให้ได้มีสิทธิและความเท่าเทียมกับเด็กคนอื่น ๆ เพราะอย่างไรก็ตามพวกเขาคือต้นกล้าต้นหนึ่งในการพัฒนาประเทศ”

ด้าน รัฐวิทย์ ทองนวรัตน์ ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบถึงระบบการศึกษาในจังหวัดสมุทรสาครอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในเบื้องต้นการปิดโรงเรียนทำให้การนำเทคโนโลยีถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยรวมถือว่าช่วยให้การศึกษาเดินต่อไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการเข้าถึง ค้นหาให้พบ เพื่อมอบความช่วยเหลือให้เป็นกรณีพิเศษ นั่นคือกลุ่มที่ขาดปัจจัยพื้นฐานไม่มีความพร้อมทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่หรือเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งหากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แม้การจัดการศึกษาในภาพรวมจะไปต่อได้ แต่เด็กกลุ่มนี้จะค่อย  ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และหลุดออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด

“เบื้องต้นเราได้นำเทคโนโลยีหลากหลายช่องทางมาใช้ ทั้งการใช้ DLTV ถ่ายทอดสดการสอนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งพบว่าประสบปัญหาน้อยในโรงเรียนที่มีศักยภาพ และในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาแต่สำหรับเด็กเล็กและกลุ่มเด็กด้อยโอกาสในที่ห่างไกล เขาไม่มีเครื่องมือสื่อสาร เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตโรงเรียนใช้วิธีทำใบงานแล้วให้ผู้ปกครองเด็กเข้ามารับงานจากโรงเรียนไปทำแล้วกลับมาส่ง บ้างให้ครูลงพื้นที่เข้าไปหาเด็ก โดยจัดเป็นกลุ่มย่อย ๆ ในกลุ่มเด็กที่อาศัยอยู่ใกล้กัน  นี่คือเราแก้ปัญหาคนละครึ่งทาง เพราะบางคนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงครูเข้าไปหาที่บ้านไม่ได้ ก็ต้องหาพื้นที่ส่วนกลางที่ปลอดภัย หมายถึงเราต้องบูรณาการปัญหาด้านการศึกษาและสาธารณสุขเข้าด้วยกันตั้งแต่ในการวางแผนงาน ขณะที่บางโรงเรียนใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการจัดหาเครื่องมือสื่อสารสำหรับเด็กด้อยโอกาสให้เขาได้ใช้เรียนชั่วคราว โดยเป็นนโยบายที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้สำรวจข้อมูลว่าเด็กคนไหนขาดแคลนและสามารถช่วยได้”

รัฐวิทย์ ทองนวรัตน์ ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร

ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า การปิดเรียนที่ยาวนานอาจส่งผลต่อภาวะความรู้ถดถอย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่เสี่ยงซึ่งไม่ได้ขาดแคลนแค่การเข้าถึงการศึกษา แต่ยังรวมไปถึงความปลอดภัยทางสาธารณสุข และคุณภาพชีวิตรอบด้าน เด็กกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกลุ่มที่ด้อยโอกาส อาศัยในพื้นที่โรงงานพ่อแม่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง เด็กกลุ่มนี้ได้มอบหมายให้ทางโรงเรียนต้นสังกัดแจ้งจำนวนและข้อมูลพื้นฐานเข้ามาแล้วจะจัดให้ได้รับการเฝ้าระวังพิเศษ มีทีมงาน ศธจ. ลงพื้นที่เยียวยา พร้อมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.), สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด ที่จะเข้าไปช่วยเก็บข้อมูล ตรวจสอบ และดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต รวมถึงการประสานหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อหาทางสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษาเฉพาะราย  

“ในระยะยาว ผลกระทบจากการที่โรงเรียนปิดจะทำให้เด็กกลุ่มนี้อาจต้องออกจากระบบการศึกษา เพราะเขามีปัญหาอื่น ๆ ที่รุนแรงกว่า  ศธจ. สมุทรสาคร เราจึงมีหน้าที่เชื่อมโยงหน่วยงานทุกหน่วยที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยกันหาทางแก้ปัญหา เบื้องต้นคือมอบสิ่งของจำเป็น ให้ความรู้ในการดูแลตนเองและครอบครัวตามมาตรการสาธารณสุข หน้ากากอนามัยหรือเจลแอลกอฮอล์ต้องมี 100% และใช้ให้ถูกวิธีเพื่อลดการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด ก่อนจะไปสู่การแก้ปัญหาระยาว คือการหาทางให้กลุ่มเป้าหมายยังอยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป”

ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำนวัตกรรมทางการเรียนเข้าไปมอบให้กลุ่มเด็กที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี สามารถเรียนได้จากที่บ้านด้วยสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองที่พัฒนาขึ้นในช่วงโรงเรียนปิด นอกจากนี้ยังคุยถึงความเป็นไปได้ในการเดินตามโมเดลการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ ที่ กสศ. จะเข้ามาช่วยประสานความร่วมมือด้านการระดมงบประมาณช่วยเหลือโดยทาง ศธจ. มีข้อมูลของเด็กที่ขาดแคลน ซึ่ง ศธจ. สมุทรสาคร มองว่างบประมาณสนับสนุนจะช่วยเด็กด้อยโอกาสได้จริง ซึ่งตอนนี้มองไปถึงว่าหากหลังจากนี้บางพื้นที่ยังเปิดเรียนไม่ได้ การจัดการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ต้องพัฒนาระบบให้ไหลลื่นยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์พื้นฐานที่ช่วยให้การเรียนรู้เดินต่อไปได้ เป็นความร่วมมือที่ทุกหน่วยในสังคมจำเป็นต้องเชื่อมต่อกัน และขยายออกไปให้ทั่วถึงทุกหน่วยงานในวงกว้างให้ได้มากที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม