ขณะที่ “สปสช.” ทุ่มงบฯ รักษาโควิด-19 แล้วกว่า 2 แสนล้านบาท “อดีต รมว.สธ.” แนะเปลี่ยนเป้าหมายการใช้เงินบัตรทองเพื่อป้องกันโรค ห่วงหากยังทุ่มงบฯ เน้นรักษาเป็นหลักเสี่ยงล้มละลาย
วันที่ 26 มี.ค.2565 หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นวันที่ 1 ก.ค. 2565 ซึ่งหากพิจารณาการใช้งบประมาณในการรักษาโควิด-19 ของสำนักงานหลังประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2564 มีหน่วยบริการเบิกเงิน ค่ารักษามาแล้ว 2 แสน 1 หมื่นล้านบาท เป็นเงินที่รัฐบาลกู้มา เมื่อการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนก่อโรครุนแรงน้อยลง ก็ยอมรับว่าต้องลดค่าใช้จ่ายลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะที่ผ่านมารัฐทุ่มงบประมาณไปกับการรักษาโรคสูงมาก
เมื่อไม่นานนี้ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ระบบสุขภาพไทย เดินต่ออย่างไร” ซึ่งจัดขึ้นภายในงานประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 22 ระบุว่าประเทศไทยต้องปรับแนวคิดพัฒนาระบบสุขภาพ เน้นส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และมองโควิด-19 เป็นโอกาสของระบบสาธารณสุขไทย
โดยประเทศไทยมี อสม. 1 ล้าน 4 หมื่นคน เป็นระบบรากหญ้าดูแลประชาชน 1 ต่อ 60 ประชากร มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กว่าหมื่นแห่งครบทุกตำบล มีโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 798 แห่ง มีโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 96 แห่ง ทั่วประเทศอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และยังมีโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลสังกัดอื่นที่พอเกิดวิกฤติโควิด -19 ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล ย้ำว่าไทยมีระบบสุขภาพ 3 กองทุน คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งครอบคลุมคนไทย 99 % ทำให้ระบบสุขภาพไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก สิ่งเหล่านี้เป็นระบบที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า แต่จากนี้อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะสิ่งที่วางไว้ในอดีตก็เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น
“อย่างเช่น 30 บาท รักษาทุกโรคซึ่งเหมาะสมกับช่วงเวลานั้น แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นระยะที่เราต้องเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ไม่ให้คนเจ็บป่วย ไม่เช่นนั้นเติมเงินเข้าไปเท่าไหร่ก็คงไม่พอ จึงต้องเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค”
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แนะว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนเป้าหมายการใช้เงินในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง มาที่การส่งเสริม คุ้มครอง ป้องกัน และฟื้นฟู โดยเฉพาะขณะนี้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะเน้นการรักษาเป็นหลักไม่ได้เพราะเสี่ยงล้มละลาย