“หมอประสิทธิ์” ยัน แพทยสภาดูแลทุกคน ไม่เลือกข้าง เหตุ #ม็อบ13กุมภา

“ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” ในฐานะอุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 ระบุ ไม่ยุ่งการเมือง เตรียมคัดกรอง–ฝึกอมรมอาสาทีมแพทย์ ย้ำ ใช้สัญลักษณ์ กากบาทสีเขียว

วันนี้ (15 ก.พ. 2564) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 เปิดแถลงข่าวกรณีอาสาแพทย์ได้รับบาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อคืนวันเสาร์ (13 ก.พ.) ที่ผ่านมา ระบุว่า กรรมการบริหารแพทยสภา ในฐานะองค์กรวิชาชีพทางด้านสุขภาพ ขอแถลงจุดยืน 4 ข้อ ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้

1. ขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เป็นการยั่วยุ การละเมิดกฎหมาย และการใช้กำลังที่เกินความเหมาะสมของทุกฝ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลต่อสุขภาวะของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในบริเวณ หรือสัญจรผ่านพื้นที่ใกล้เคียง

2. ขอให้ทุกฝ่ายให้เกียรติและระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายใด ๆ ต่อบุคลากร และอาสาสมัครทางการแพทย์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรถพยาบาล ตามหลักกาชาดสากล

3. ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดให้มีระบบการให้การดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม มีการติดสัญลักษณ์ที่ระบุว่าเป็นบุคลากรหรืออาสาสมัครทางการแพทย์ที่ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างปลอดภัย ตามหลักสากลที่สำคัญ คือ ไม่เลือกปฏิบัติ ยึดถือความเป็นกลาง มีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด

4. ขอแสดงความชื่นชมต่อบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ทุกท่าน ที่เสียสละและมีจิตอาสาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมต่าง ๆ โดยมิหวังผลตอบแทนใด ๆ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า หน้าที่หลักของแพทยสภาในฐานะองค์กรวิชาชีพ คือ การดูแลสุขภาพของประชาชนไทย ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเกิดด้วยเหตุผลอะไรหรือไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน หน้าที่ที่ทำมาเสมอคือทำให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ นั้น เป็นไปด้วยสภาวการณ์ที่ไม่สุมเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพ

ซึ่งในช่วงสถานการณ์นี้อยากให้คนไทยแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่สร้างสรรค์ ไม่ยั่วยุและทำให้เกิดการกระทบกระทั่ง เพราะเมื่อไหร่เริ่มเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น ก็จะมีแนวโน้มเกิดความรุนแรงขึ้น และเมื่อขึ้นแล้วมันไม่ได้เกิดผลเฉพาะผู้ที่ไปแสดงความคิดเห็นหรือเจ้าหน้าที่ แต่รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย ขอให้ทุกฝ่ายระมัดระวังที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อบุคคลหรือสิ่งของ โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางด้านการแพทย์ เพราะเมื่อมีการทำลายอุปกรณ์การแพทย์ การช่วยเหลือทางการแพทย์ก็จะทำได้ยาก

โดยหลังจากนี้ จะส่งสัญลักษณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ให้แก่สื่อมวลชน เพื่อจะได้ทราบอย่างเป็นทางการ และจะมีการคัดกรองและการอบรม เพื่อให้แน่ใจว่าคนเหล่านี้ไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทและจรรยาบรรณของวิชาชีพที่จะดูแลให้เกิดความปลอดภัยและไม่เลือกปฏิบัติ

“นี่เป็นหลักการที่อนุกรรมการบริหารแพทยสภาอยากนำเสนอเพื่อทำความเข้าใจ ย้ำว่าหน้าที่ของแพทยสภาคือการดูแลสุขภาพของคนไทยและสังคมไทย ไม่ยุ่งเรื่องการเมือง มีหน้าที่สำคัญคือ ทำให้ทุกคนที่เข้าร่วมปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ”

ส่วนที่จะมีการประสานกับทีมอาสาของกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่นั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า น่าจะมีการคุยกัน เพราะหลักการใหญ่ คือ การให้เกียรติผู้ที่อาสาเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัย และสำหรับแพทย์นั้น ถือว่าสุขภาพของทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ก็คือสุขภาพของคนไทยที่แพทยสภามีหน้าที่ต้องดูแล จึงอยากให้ดำเนินการให้เป็นระบบ ส่วนจะแต่งชุดแบบไหนก็จะคุยอีกครั้ง แต่ย้ำว่ากลุ่มอาสาที่แพทยสภาจะรับรองนั้น ต้องผ่านการอบรมและมีสัญลักษณ์ที่ชัดเจน

“ขณะนี้สังคมไทยมีความระแวงกันมาก การทำให้เป็นระบบก็เพื่อให้รู้ว่า คนที่จะเอาสัญลักษณ์ทางการแพทย์ไปใช้นั้นคือใคร ไม่ใช่ใครก็ใช้ได้ ระบบก็จะเสีย วันนี้กำลังจะวางระบบนี้โดยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขที่อาจจะใช้ทั่วประเทศ”

ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อุปนายกแพทยสภา คนที่ 2 กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการดูแลแบบฉุกเฉินในช่วงที่มีการชุมนุม มี กทม. โดยศูนย์เอราวัณ เป็นหน่วยหลัก โดยแบ่งพื้นที่ทำงาน 9 โซน และมีโรงพยาบาลหลัก เช่น โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลวชิระ หรือโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ ร่วมกับทีมฉุกเฉินที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าไปร่วมกับรถพยาบาล และมีกำลังเสริม เช่น มูลนิธิร่วมกตัญญู ซึ่งเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกับอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรม โดยมีหลักการทำงานที่สำคัญคือ ผู้ปฏิบัติงานต้องอยู่ในเซฟโซน เพื่อป้องกันการถูกปะทะโดยตรง เพราะถ้าบุคลากรทางการแพทย์บาดเจ็บจะไม่สามารถช่วยคนอื่นได้

ส่วนที่กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งทีมอาสาเข้ามาดูแลกันเอง ซึ่งก็ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มที่ไม่ใช่บุคลากรแต่มีจิตอาสานั้น นพ.ฉันชาย กล่าวว่า กลุ่มนี้ก็จะต้องมีสัญลักษณ์ที่ชัดเจน โดยขณะนี้ใช้ กากบาทสีเขียว เพื่อแสดงว่าเป็นกลุ่มที่มีจุดประสงค์เพื่อจะเข้ามาช่วยดูแลเสริมกับกลุ่มหลักที่มีอยู่แล้ว และต้องยึดหลักการเดียวกันคือ ช่วยคนที่ได้รับบาดเจ็บโดยไม่เลือกข้าง และทำทุกอย่างตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ ส่วนกากบาทแดงใช้ไม่ได้ เพราะเป็นของสภากาชาด

ขณะที่ พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องกลับมาคิดเรื่องระบบที่จะช่วยให้กลุ่มอาสาที่เข้าไปในพื้นที่ได้รับความปลอดภัยด้วย ซึ่งตอนนี้ทางแพทยสภากำลังประสานกับกระทรวงสาธารณสุขว่าจะทำอย่างไรที่จะแสดงตัวให้ชัดเจนว่า คนนี้เป็นผู้เสียสละที่จะเข้าไปดูแลตรวจรักษาคนเจ็บจริง ๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว