‘อนุสรณ์ อุณโณ’ กล่าวรำลึก 46 ปี 6 ตุลา เส้นทางการต่อสู้ที่ส่งต่อสู่ปัจจุบัน เป้าหมายการหลอมรวมคนทุกรุ่น สร้างการเปลี่ยนแปลง
วันนี้ (6 ต.ค. 2565) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดงานรำลึก 46 ปี 6 ตุลา ช่วงหนึ่งของการปาฐกถารำลึกโดย รศ.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้หัวข้อ “ฆ่าอย่างไร ก็ไม่ตาย : คนรุ่นใหม่ ในความขัดแย้งทางการเมืองไทยร่วมสมัย” กล่าวว่าการกลับมาของนิสิตนักศึกษา ได้สร้างความหวาดวิตกให้กับผู้ปกครองประเทศ เพราะการชุมนุมเคลื่อนไหวในยุคนี้ ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ประมาณ 400 ครั้ง กว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้การจัดของกลุ่มการเมืองและประชาชนกว่า 100 กลุ่ม เพียงแค่ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เท่านั้น และสิ่งที่สำคัญ คือ เป็นครั้งแรกที่การเคลื่อนไหว มีข้อเสนอโดยตรงต่อผู้ปกครองของประเทศนี้
อย่างไรก็ตาม รศ.อนุสรณ์ กล่าวว่า การชุมนุมใหญ่ที่เบาบางหลังการสลายการชุมนุมปี 2563 รวมถึงการใช้มาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงต่อผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการตั้งข้อหาและดำเนินคดีต่อแกนนำ รวมถึงผู้ร่วมชุมนุมจำนวนกว่า 1,800 คน ส่งผลให้ฝ่ายที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงนั้นท้อแท้และสิ้นหวัง วิตกกังวลว่านิสิต นักศึกษา กำลังจะถูกกดปราบให้ราบคาบเหมือนในเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือไม่
“อีกฝ่ายก็กำลังกระหยิ่มยิ้มย่อง ลำพองใจ ว่านิสิต นักศึกษาคงสร้างความระคายเคืองได้เพียงเท่านี้ แต่ไม่ว่าจะมองด้วยสายตาของฝ่ายใดก็ตาม อาจจะเร็วเกินไปที่จะตัดสินได้ เพราะเยาวชนคนหนุ่มสาวไม่ได้หายไปไหน พวกเขายังไม่ได้ตายไปจากสมรภูมิการเมืองไทยยุคใหม่นี้ แม้จะมีความพยายามฆ่าพวกเขาด้วยวิธีไหนก็ตาม…”
“สาเหตุที่ทำให้ยังไม่หายไปไหน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เหตุผลที่พวกเขาลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวนั้น ไม่ได้เกิดจากการชี้นำ หรือการจัดตั้งของกลุ่ม หรือองค์กรใด แต่เป็นของการปะทุขึ้นมาโดยธรรมชาติของปัจจัยต่าง ๆ ที่กดทับพวกเขาในสังคม และพวกเขาไม่ได้ขึ้นตรงต่อใครเป็นการเฉพาะ ไม่ได้ขึ้นต่อแกนนำคนใด แม้องค์กรการชุมนุมจะไม่ได้ถูกจัดตั้งเหมือนการเคลื่อนไหวในอดีต ทั้งในเดือนตุลา หรือการชุมนุมเสื้อสีต่าง ๆ ก็ตาม” รศ.อนุสรณ์ กล่าว
เงื่อนไขที่ยังทำให้พวกเขาขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าทางการเมือง การต่อสู้ คือ ความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจ ที่เริ่มจากเหตุการณ์การรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา เรื่องอื้อฉาวตลอดระยะเวลาการบริหารประเทศ ที่ทำให้พวกเขาประจักษ์ชัดว่าคนที่มักอ้างศีลธรรมความดี เข้ามายึดอำนาจ แล้วบงการพวกเขานั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่คนดีอย่างที่กล่าวอ้าง มิหนำซ้ำยังมีความด่างพร้อยและรอยมลทิน ยิ่งกว่าคนที่คนเหล่านี้เข้ามายึดอำนาจไปเสียอีก
ความพยายามของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการกำหนดอนาคตประเทศชาติ ผ่านการเลือกตั้งในปี 2562 นั้น ทำให้การใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง นำพรรคการเมืองที่เสนอแนวคิด และอุดมการณ์ใหม่ เป็นตัวแทนของพวกเขาในสภา แม้การเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเป็นอันดับสอง กลับสามารถเสนอชื่อคนที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร มาเป็นนายกรัฐมนตรีที่สามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้ ก็ยังไม่รุนแรงเท่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ทำให้คนหนุ่มสาวออกมาท้าทายอำนาจที่ไม่ชอบธรรมในที่สุด
องค์กร ข้อเรียกร้อง และกลวิธีการเคลื่อนไหว ต่อลมหายใจคนรุ่นใหม่
รศ.อนุสรณ์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ไม่หายไปไหน มาจากการจัดรูปองค์กร ข้อเรียกร้อง และกลวิธีการเคลื่อนไหวของพวกเขา เพราะแม้จะมีกลุ่มหลักในการชุมนุมใหญ่ ทั้งเยาวชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประชาชนปลดแอก หรือกลุ่มราษฎร แต่กลุ่มเหล่านี้ ก็ไม่ใช่องค์กรนำ อย่างเช่นขบวนการนักศีกษาช่วงทศวรรษ 2510
ในขณะที่ “ข้อเรียกร้อง” ที่ส่งผ่านการชุมนุมทุกครั้ง ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของข้อเรียกร้องนั้น แม้จะถูกการประกาศผ่านแกนนำ แต่เมื่อประมวลจากความต้องการ และความคิดเห็นของผู้ร่วมชุมนุมคนอื่น ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่เป็นเจตนารมณ์ร่วมกัน จึงทำให้ข้อเรียกร้องทั้งหลายยังคงหนักแน่น และใช้เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทุกคนเรื่อยมา และสุดท้าย คือ กลวิธีการเคลื่อนไหวที่ยืดหยุ่น หลากหลาย เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ และความสะดวกของผ้ชุมนุม
นอกจากนั้นแล้ว สาเหตุที่นักศึกษา คนรุ่นใหม่ยังคงเป็นพลังสำคัญในการเมืองร่วมสมัย เป็นเพราะการนำของพวกเขาได้รับการขานรับจากประชาชนกลุ่มอื่นด้วย ทั้งในส่วนของพรรคการเมือง และประชาชนรุ่นที่ต่างออกไป พรรคการเมืองนั้น สะท้อนผ่านการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร แม้ร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกนำเสนอโดยประชาชนจะถูกปัดตกทุกครั้งไป แต่ก็มีพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อย ที่ได้เสนอกฎหมายในหลักการเดียวกันเข้าไปด้วย และมีความพยายามเสนอเข้าไปอย่างต่อเนื่อง
และยังรวมไปถึงการขานรับของประชาชนในรุ่นที่แตกต่างไปจากพวกเขา สิ่งที่ยึดโยงคนแต่ละช่วงวัยเข้าด้วยกัน ในยุคของการเมืองร่วมสมัยนั้น รศ.อนุสรณ์ มองว่า เกิดจากประสบการณ์ที่พบเจอร่วมกัน โดยเฉพาะความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ความคับแค้นจากความอยุติธรรมที่ได้รับ และความโกรธเคืองจากการถูกลิดรอนเสรีภาพ ขณะที่อีกด้านพวกเขาถูกเชื่อมร้อยด้วยแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน นั่นคือ “ประชาธิปไตย” ที่ได้หลอมรวมเป็นคนรุ่นเดียวกันในทางการเมือง
“สังคมไทยได้เปลี่ยนไปมากแล้ว คำถามคือผู้ปกครองบ้านเมือง จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร จะพอใจกับการใช้กำลังหยิบหยาบ ปราบปรามประชาชนต่อไป หรือใช้กำลังนอกรีต เอาเจ้าหน้าที่ไปข่มขู่คุกคาม และใช้กฎหมายจัดการผู้เห็นต่างอย่างบิดเบี้ยวแบบนี้ต่อไปหรือ วิธีนี้แค่สยบความกระด้างกระเดื่องได้ชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถลบความขุ่นเคืองในระยะยาวได้…”
ก่อนที่ รศ.อนุสรณ์ จะทิ้งท้ายว่า อย่าลืมว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ประวัติศาสตร์ฉบับท้าทายได้กลายมาเป็นหนังสือยอดนิยม แทนที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ในอดีต และสื่อทางเลือกในโลกเสมือนที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย จนยากที่จะสามารควบคุมความคิดของคนทุกคนได้เช่นเดิมอีกต่อไป ทั้งหมดนี้ คือ กระแสความคิดที่จะไม่สามารถหยุดยั้งได้ ตามใจอีกต่อไป นี่เป็นจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยที่ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย แต่อย่างไรก็ตามนิสิต นักศึกษา ที่กำลังเคลื่อนไหว ยังต้องตระหนักว่า จะดำเนินการตามเจตนารมณ์ต่อไปได้อย่างไร จะขับเคลื่อนข้อเรียกร้อง โดยได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นอื่นเพิ่มเติมได้อย่างไร โดยเฉพาะ ด้วยการอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้เป็นฐานและแนวทางต่อไป…สู่การเปลี่ยนแปลงใน “วัฒนธรรม”