255 คณาจารย์-ทนายความ ร้องศาลปล่อยตัวชั่วคราว 4 แกนนำราษฎร นักศึกษา-เยาวชน โดนเพิ่มอีก 3 คน รวมโดน ม.112 แล้วทั้งหมด 58 คน
วันนี้ (15 ก.พ. 2564) เยาวชนอายุ 18 ปี และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 112 เพิ่มอีก 3 คน ทำให้ล่าสุดตัวเลขผู้ดำเนินคดีในมาตรา 112 นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 หลัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไฟเขียวเพิ่มความเข้มข้นในการใช้กฎหมายทุกฉบับดำเนินการต่อผู้ชุมนุม จนถึงวันที่ 14 ก.พ. 2564 รวมทั้งหมด 58 คน
โดยในส่วนของนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ 2 คน เข้ารายงานตัวที่สถานีตำรวจภูธรห้างฉัตร จ.ลำปาง จากเหตุจัดชุมนุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 บริเวณหน้า ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ซึ่งมีภาพการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ฯ ในกิจกรรมดังกล่าวด้วย
ส่วนเยาวชนอายุ 18 ปี อีก 1 คน เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน กรุงเทพฯ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ในความผิดอาญามาตรา 112 จากกิจกรรมชุมนุมซ้อมต้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว
ขณะที่วันนี้ (15 ก.พ.) บริเวณด้านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเช้า มีความเคลื่อนไหวต่อกรณีการคุมขัง 4 แกนนำราษฎร ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ “หมอลำแบงค์” หลังศาลฯ ไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา
โดย ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับคณะอาจารย์และนักวิชาการ รวมถึงตัวแทนนักศึกษา เดินทางมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเข้าเยี่ยม 4 แกนนำ พร้อมกับนำหนังสือเรียนมามอบให้ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ด้วย และได้อ่านแถลงการณ์ของ 255 คณาจารย์ เรียกร้องให้ศาลได้พึงพิจารณาทบทวนคำสั่งไม่ให้ประกันตัว
ขณะที่กลุ่มทนายความจาก “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” ได้เดินทางมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อขอเข้าเยี่ยม 4 แกนนำราษฎร ที่ถูกคุมขังภายในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา พร้อมอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และประกันสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเรียกร้องให้ศาลพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวบนหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์
โดยทีมทนายได้เปิดเผยหลังการเข้าเยี่ยมว่า ทั้ง 4 คน ยังมีกำลังใจดีและไม่ได้วิตกกังวลอะไร เพราะคาดไว้แล้วจะถูกจับกุมในข้อหาต่าง ๆ และถึงแม้จะอยู่ในเรือนจำก็ยังพยายามดูแนวทางการเคลื่อนไหวที่สามารถทำได้ ส่วนปัญหาก็มีเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เพนกวินที่เป็นโรคหอบหืด ที่อาจเป็นปัญหาจากการที่ต้องถูกคุมขังรวมกันในห้องที่มีผู้ต้องหา 26 คน ส่วนสมยศมีอาการป่วยโรคไขข้อ
ส่วนแนวทางการต่อสู้คดีในเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากขณะนี้คดีอยู่ที่ศาลอาญาแล้ว ซึ่งตามกฎหมายคนที่ถูกฟ้องในกรณีนี้ จะต้องถูกขังในเรือนจำตลอดระยะเวลาที่พิจารณาคดี โดยคาดว่าคดีนี้จะใช้เวลาพิจารณาคดีไม่ต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งถ้าไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็จะถูกขังไม่ต่ำกว่า 3 ปี แต่ทั้ง 4 คนเข้าใจสถานการณ์และรับสภาพนี้ได้ ส่วนเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ได้ยื่นอุทธรณ์ไปตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีคำสั่งจากศาลว่าจะให้ประกันหรือไม่ ซึ่งทนายความ ระบุว่า โดยปกติแล้วควรจะต้องมีการพิจารณาโดยเร็วที่สุด แต่ขณะนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ถูกคุมขังมาถึง 4 วันแล้ว
ทนายความกล่าวด้วยว่า ทั้ง 4 คนยืนยันว่า สิ่งที่ปราศรัยที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เป็นการเรียกร้องที่ชอบด้วยกฎหมาย มีพยานหลักฐานที่จะนำสืบในชั้นศาล การที่ยังถูกขังในเรือนจำจะทำให้มีสมาธิในการเตรียมตัวต่อสู้คดี และยังมีความปลอดภัยมากกว่าการอยู่ด้านนอก หลังจากมีข่าวว่าจะมีการทำร้ายร่างกายแกนนำ
นอกจากนี้ ในวันที่ 17 ก.พ. นี้ อัยการได้นัดฟังคำสั่งฟ้องในส่วนของแกนนำคนอื่น ๆ และนักกิจกรรมอีกรวม 24 คน โดยมี 3 คน ที่เป็นคดีในมาตรา 112 ด้วย คือ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่งทั้ง 3 คน ได้เปิดเผยกับทนายว่า เตรียมตัวและเตรียมใจไว้แล้ว หากไม่ได้รับการประกันตัว เช่นเดียวกับแกนนำกลุ่มแรกทั้ง 4 คน และฝากถึงประชาชนว่า ถึงไม่มีพวกเขาอยู่นั้นก็มีคนอื่นๆ มาทำแทนต่อได้