เวทีสาธารณะ “รถด่วนขบวนสุดท้าย: ปลายทางหัวลำโพง…?” ชวนสังคมร่วมกำหนดอนาคต “หัวลำโพง” จากคุณค่าด้านต่าง ๆ ก่อนลดบทบาทให้บริการ ปี 2565 เมื่อ สถานีกลางบางซื่อ เปิดให้บริการ
The Active ร่วมกับ โครงการ การศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และองค์กรภาคี เปิดเวทีสาธารณะออนไลน์ “มโนทัศน์หัวลำโพง จากคุณค่ากว่า 100 ปี สู่อนาคตของประเทศไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายหน่วยงานเพื่อร่วมออกแบบหัวลำโพงในฝัน ที่สร้างประโยชน์สาธารณะ หลังจากการรถไฟมีแผนที่จะลดบทบาทในการให้บริการขนส่ง หลังจากที่สถานีกลางบางซื่อแล้วเสร็จและคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565
“สถานีรถไฟหัวลำโพง” สถาปัตยกรรมที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ผังเมืองไทย
รณฤทธิ์ ธนโกเศศ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ระบุว่า คุณค่าของสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ที่เป็นแก่นความรู้คมนาคมที่สำคัญและควรที่จะรักษาเอาไว้ ย้อนไปในประวัติศาสตร์รถไฟในประเทศไทย ริเริ่มจากรถไฟจำลองขบวนเล็ก ๆ ซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการจากอังกฤษ ถวายรัชกาลที่ 4 ก่อนรัชกาลที่ 5 จะมีพระดำริเรื่องการรถไฟ เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ต่าง ๆ ของสยาม เพื่อ ความมั่นคงของประเทศในยุคล่าอาณานิคม เพื่อสะดวกแก่การปกคอรง ตรวจตรา บำรุงรักษา ป้องกันอาณาเขต มีการบุกเบิกพื้นที่รุกร้างสร้างสถานีรถไฟให้เกิดประโยชน์ ตั้งแต่สถานีกรุงเทพ หรือสถานีหัวลำโพง ถึงสถานีต่างจังหวัด เป็น การพัฒนาพื้นที่จากส่วนกลางครั้งแรงของไทย หรือ TOD และกลายเป็นเส้นทางขนส่ง เปิดมิติการคมนาคมระบบราง หลังจากนี้ก็มีแนวคิดการพัฒนาระบบราง เกี่ยวพันเรื่องโครงสร้างของเมือง และป้อมปราการต่าง ๆ
การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเมือง คือ ผลพวงจากการจัดตั้งสถานีรถไฟกรุงเทพ เป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาเมือง พัฒนาย่านชุมชนที่อยู่อาศัย มีการวางตำแหน่งมหาวิทยาลัย เช่น ใกล้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรายล้อมด้วยที่อยู่อาศัย นับเป็นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ในลักษณะของเครือข่าย คือ มีสถานีย่อยโดยรอบ รวมถึงสถานนีรถไฟในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งบ่งบอกถึงวิสัยทัศน์ ที่จะ กระจายการพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ ส่วนสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคาร ทั้งภูมิสถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์ ในพื้นที่ของสถานี และสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงกับเมือง คลองผดุงกรุงเกษม และสะพานเจริญสวัสดิ์ พบว่ามีการประดับตกแต่งคล้ายคลึงกันกับบางส่วนของสถานีรถไฟหัวลำโพง ยังบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงต่อผังชุมชนเมือง
ดังนั้น จึงมองว่า ภาพจำของหัวลำโพง ควรจะยังคงอยู่ และคุณค่าต้องไม่ไปอยู่ในมือของผู้ใดผู้หนึ่ง จึงจำเป็นต้องจัดกระบวนการ ให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นถึงอนาคตของหัวลำโพง แต่โดยส่วนตัวมองว่า แม้พื้นที่จะมีการปรับเปลี่ยนไปจากในอดีตแล้ว ก็ควรอนุรักษ์ให้พื้นที่นี้ยังคงมีชีวิต
เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติการ เป็นมรดกรถไฟ สร้างพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ข้อมูล คลังความรู้ที่พร้อมนำไปสร้างสรรค์เพื่อต่อยอด มีโรงซ่อมบำรุง ซ่อมเอาหัวจักรเก่ามาวิ่งระยะสั้น จัดให้มีจักรยานรางรถไฟในอดีตสมัยสงครามโลกกลับมา เป็นพื้นที่ทางศิลปะเกี่ยวกับระบบราง พื้นที่สร้างสรรค์จากองค์ประกอบของสถานีรถไฟ
ลดบทบาทการเดินรถ เพิ่มประโยชน์สาธารณะ
ระพีพัฒน์ เกษโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ มองว่าสถานีรถไฟหัวลำโพงมีศักยภาพในการเป็นประตูเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในพื้นที่สำคัญต่าง ๆ เช่น สามารถเชื่อมโยงไปสู่ ย่านตลาดน้อย ย่านยศเส ย่านมหานาค ย่านนางเลิ้ง ย่านเทเวศน์ เนื่องจากได้เปรียบเรื่องตำแหน่งที่ตั้งซึ่งมีความโดดเด่นด้านคมนาคมสัญจร มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่คนมักมองข้ามไป หรืออาจให้บริการ ในการเป็นจุดประชาสัมพันธ์ สินค้าบริการ และกิจกรรมที่ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว
เพียงแค่วัด 9 วัด ในแถบคลองผดุงกรุงเกษมก็มีมากมายแล้ว จะเห็นว่ามีโอกาสมากมายที่จะทำให้หัวลำโพงเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่ดี ทั้งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ หรือท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามยังอยากให้เห็นความสำคัญกับการเดินรถอยู่ โดยเฉพาะรถไฟชานเมือง หากวันหนึ่งไม่มีรถไฟวิ่ง จะเหมือนสถานีหัวลำโพงขาดอะไรไปสักอย่าง
สอดคล้องกับ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ที่มองว่า หัวลำโพงมีโอกาสที่จะพัฒนาทั้งด้านประโยชน์เชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์และประโยชน์สาธารณะไปพร้อม ๆ กัน พร้อมเสนอว่าหากจะทำให้ที่นี่เป็นจุดดึงดูดผู้คนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น จะต้องสร้างพื้นที่เชิงประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แตกต่างจากพื้นที่อื่น
เช่น การส่งเสริมสุขภาพที่ดีในอนาคต ทั้งเรื่องของอาหารการกิน พื้นที่สีเขียว และเรื่องความบันเทิง อาจไม่ได้หมายถึงโรงภาพยนตร์ แต่เป็นอย่างอื่นที่หลากหลายได้ เช่น สเก็ตบอร์ด รวมถึงเรื่องที่ตอบโจทย์โลกอนาคต ซึ่งกำลังเป็นสิ่งที่สำคัญ ตอบโจทย์ผู้คนในปัจจุบัน และเป็นพื้นที่รองรับความต้องการในอนาคตได้อีกด้วย
พื้นที่ตรงนี้หากประเมินราคาคร่าว ๆ น่าจะมีมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หากพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่ประโยชน์สาธารณะคือสิ่งที่ควรนำมาคิดร่วมด้วย เพราะมันคุ้มค่าหากสามารถให้บริการในสิ่งที่ประชาชนสมควรได้รับ ถามว่าวันนี้ทำไมสวนสาธารณะแต่ละแห่งในกรุงเทพฯ ถึงแน่นไปหมด เพราะโครงสร้างพื้นฐานตรงนี้เรายังไม่สามารถจัดสรรได้เพียงพอ คิดว่ามีส่วนที่เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นสวนแล้วทำให้ใครก็ได้มีสิทธิเข้ามาเดินทุกวัน ผมว่าคุ้ม
เช่นเดียวกับ อภิชาติ ประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) ที่ระบุว่า การกำหนดอนาคตของหัวลำโพงควรมาจากความต้องการของประชาชน คนในพื้นที่และผู้คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย จึงต้องทราบว่าผู้คนต้องการอะไรจากพื้นที่นี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญ ขนาดใหญ่ใจกลางเมือง เช่น ปัจจุบันคนต้องการพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะที่คนในเมืองหรือนักท่องเที่ยวจะเข้ามาใช้บริการด้านต่าง ๆ ได้
ความสำเร็จ คือการจัดสรรให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสมและสมบูรณ์ เช่น พื้นที่ความรู้ พัฒนาทักษะ ปล่อยพลัง พื้นที่พาณิชย์ พื้นที่สีเขียว สิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงต้องเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างคนกับคน มีกิจกรรมหรือบริการที่คนจะมาใช้ร่วมกัน เชื่อมโยงคนกับสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรให้เป็นพื้นที่รื่นรมย์ สามารถใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนได้ เพราะเมื่อคนเข้ามาแล้ว การพัฒนาด้านต่างๆ จะตามมา เช่น ด้านเศรษฐกิจ
หากมองเรื่องการอนุรักษ์ หนึ่ง เรื่องประวัติศาสตร์แน่นอน ต้องส่งเสริมการตระหนักถึงความเป็นไทย สอง คงเอกลักษณ์ของความทันสมัยในปัจจุบัน และ สาม ชวนมองไปถึงอนาคต อาจเกี่ยวกับคมนาคม รถไฟ หรือเศรษฐกิจ… สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการหาทุนสร้าง คือการบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพ และคนในพื้นที่รอบนอกเองจะต้องมีส่วนร่วม
กลไกการขับเคลื่อน จากความฝัน สู่ความจริง
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการภารกิจ การจัดทำแผนงบประมาณ กลุ่มภาครกิจ การบริหารงบประมาณ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ระบุว่า หลังจากนี้ ผลงานวิจัยในโครงการ การศึกษาเพื่อวางกรอบในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) จะรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อสรุปเป็นผลงานวิจัย โดยจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้แผนพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพง มีโอกาสที่จะนำไปเป็นนโยบาย และนำมาสู่การปฏิบัติจริง
ในการทำวิจัยครั้งนี้ จะมีการนำเสนอผลงานวิจัย และนัดหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป้าหมายในการพัฒนา ซึ่งหัวใจสำคัญคือการอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสต์ อาคารทรงคุณค่า ถูกกำหนดเป็นนโยบาย ยุทธศาสตร์ และไม่ทำให้เป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง