ภาคประชาชน บุกกระทรวงคมนาคม เรียกร้องให้การรถไฟฯ ปรับแผน รถไฟทางไกล 52 ขบวน ย้ายไปเทียบชานชาลาที่ ‘สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์’ แทนหัวลำโพง 19 มกราคมนี้ ย้ำเป็นเพิ่มภาระให้กับประชาชน เสนอให้ชะลอนโยบายจนกว่าจะได้ข้อสรุปจากการเปิดรับฟังความคิดเห็น
วันนี้ (16 ม.ค. 2566) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) สภาองค์กรผู้บริโภค สมาพันธ์องค์กรรถไฟ และภาคี รวมตัวกันยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้มีการตรวจสอบและทบทวนการย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) จำนวน 52 ขบวน มาออกต้นทางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน
จากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีนโยบายแผนการดำเนินการกำหนดเปิดให้บริการขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) เข้าเทียบชานชาลา ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (หรือสถานีกลางบางซื่อ) ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยขบวนรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือทุกขบวน จะวิ่งบนโครงสร้างทางยกระดับเช่นเดียวกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – รังสิต) ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนถึงสถานีดอนเมือง จะไม่มีขบวนรถโดยสารวิ่งระดับพื้นดิน ขบวนรถในเส้นทางสายใต้จะวิ่งบนโครงสร้างทางยกระดับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีบางบำหรุ ยกเว้น ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถชานเมืองในเส้นทางสายใต้ จะเดินรถระดับพื้นดินตั้งแต่สถานีชุมทาง บางซื่อ – สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) สำหรับขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว) ที่จะเปลี่ยนสถานีต้นทาง – ปลายทาง มาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวน 52 ขบวน ประกอบด้วย สายเหนือ 14 ขบวน สายใต้ 20 ขบวน และสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน
กลุ่มขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยว ทุกสาย จำนวน 62 ขบวน ยังคงให้บริการต้นทาง ปลายทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตามเดิม ตั้งแต่กรุงเทพ สามเสน ชุมทางบางซื่อ และจะขึ้นทางยกระดับเดินรถร่วมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ยกเว้นขบวนรถธรรมดา และชานเมืองในเส้นทางสายใต้ จะเดินรถระดับพื้นดิน ตั้งแต่สถานีชุมทางบางซื่อไปตามเส้นทางเดิม เพื่อลดปัญหาการจราจรในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯตามวัตถุประสงค์ของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง
รสนา โตสิตระกูล สภาองค์ผู้บริโภค กล่าวว่า หากดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวผู้ใช้บริการรถไฟในช่วงเช้าจะได้รับผลกระทบมากเนื่องจากบริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์การจราจรหนาแน่น แม้จะมีการให้บริการรถรับส่งแต่ไม่เพียงพอ จึงเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนที่อาจต้องพึ่งพาบริการอื่น เช่น รถแท็กซี่ ซึ่งในวาระท้ายของรัฐบาล ขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ ขอให้กระทรวงคมนาคม โดยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม มีมติชะลอเรื่องนี้ไปก่อน หากเรื่องป้าย 33 ล้านบาทยังสามารถเลื่อนการดำเนินงานออกไปได้ เรื่องนี้ก็ควรจะมีความพร้อมก่อนเช่นกัน
สราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้สหภาพฯ รฟท.ได้ยื่นหนังสือต่อ นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ไปแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการย้ายรถไฟทางไกลมาที่สถานีกลางบางซื่อ หรือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เนื่องจาก ยังไม่มีความพร้อมในด้านการปฏิบัติการและให้บริการ เช่น รถโดยสารไม่พร้อมกับการบริการ และมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการหมุนเวียนให้บริการ ห้องน้ำยังเป็นระบบเปิด รถขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ไม่พร้อม อัตรากำลังบุคลากรไม่เพียงพอในการให้บริการ 2 แห่ง และงานเพิ่มมากขึ้น
และจากการสอบถามความเห็นของผู้ใช้บริการจริง พบว่า ประชาชนต้องการให้รถไฟยังคงเข้าถึงหัวลำโพง ไม่ใช่หยุดแค่สถานีกลางบางซื่อ แม้จะมีชัทเทิลบัสมาให้บริการแต่แผนงานดังกล่าวไม่มีความชัดเจน ประชาชนที่ต้องการลงสถานีสามเสน รพ.รามาธิบดี และยมราช ซึ่งเดิมเป็นสถานีตามเส้นทางรถไฟ ระหว่างบางซื่อ ถึงหัวลำโพง จะใช้บริการไม่ได้ และทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ
โดยขอให้เลื่อนการย้ายรถไฟทางไกลไปออกต้นทาง-ปลายทาง ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ออกไปก่อน จนกว่าจะเตรียมระบบการให้บริการจะพร้อมก่อน แต่ไม่เป็นผล วันนี้ภาคีเครือข่ายจึงมายื่นหนังสืออีกครั้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในวันนี้ พร้อมข้อเสนอ 3 ข้อ ดังนี้
1. ขอให้สั่งการตรวจสอบ และทบทวนกำหนดการเปิดสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อ และแผนการปรับย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ย้ายมาสถานีกลางบางซื่อ ที่จะดำเนินการในวันที่ 19 มกราคม 2566 โดยเร่งด่วน
2. ในระหว่างการตรวจสอบ สำหรับขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ ขอให้ยังคงสถานีต้นทาง – ปลายทางอยู่ที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไว้ก่อน
3. ขอให้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยเร่งด่วน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงจากผู้บริโภค และประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่ใช้บริการ ตามนโยบายของกระทรวง และข้อเสนอแนะของสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศอย่างยั่งยืน
ด้าน สุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับหนังสือแทน กล่าวว่า ไม่สามารถหยุดการเดินรถทางไกลในส่วนของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้ แต่จะมีการนำเรื่องนี้เรียนให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต่อไป อย่างไรก็ตามขอบคุณที่มีความห่วงใยต่อประชาชน ซึ่งทางกระทรวงฯ ก็ห่วงใยประชาชนไม่ต่างกัน
โดย สหภาพฯ และภาคี รับข้อเสนอดังกล่าว พร้อมระบุว่า วันที่ 19 มกราคม จะมาติดตามฟังผลการพิจารณาอีกครั้ง