นักมานุษยวิทยา ชี้ สะท้อนการปลดปล่อยอคติทางเพศ และเรียกร้องประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน
ผู้หญิงชาวเมียนมา ร่วมจัดกิจกรรม ผ้าถุงปฏิวัติ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านการรัฐประหาร และยังเป็นการยกย่องบทบาทของผู้หญิงในการประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารเนื่องในวันสตรีสากล (8 มี.ค. 2564) โดยแชร์คลิปภาพการโบกสะบัดผ้าถุงผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ และมีการนำผ้าถุงมาแขวนเป็นแนวยาวในหลายพื้นที่
อรดี อินทร์คง นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยคอร์แนล โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก (7 มี.ค.) ระบุว่า การนำผ้าถุงและของใช้ส่วนตัวของผู้หญิงมาสร้างแนวกีดขวางนี้ มาจากความเชื่อในวัฒนธรรมเมียนมาที่ว่า เสื้อผ้าหรือของใช้ของผู้หญิงที่ใช้กับร่างกายในส่วนที่ต่ำกว่าเอวลงไปถือเป็น “ของต่ำ” และหากผู้ชายสัมผัสกับสิ่งของเหล่านี้ หรือเดินลอดใต้ราวตากผ้าถุงและชุดชั้นใน จะทำให้ “พลัง” หรือ “พง” ในภาษาเมียนมาที่มีในตัวเสื่อมลง โดยความคิดเรื่อง “พง” จำกัดอยู่เฉพาะในเพศชาย ซึ่งพลังหรืออำนาจนี้เกิดจากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ความเป็นผู้นำ, ความบริสุทธิ์ และคุณธรรม
“เพื่อนชาวเมียนมาเล่าว่า ทหารมีความเชื่อเรื่องโชคลางมาก บางคนก็สักยันต์ ทหารส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า การสัมผัสผ้าถุงหรือเดินลอดใต้ราวตากผ้าถุงจะทำให้ “พงเสื่อม” และจะทำให้เกิดโชคร้ายตามมา ในภาพข่าวจึงเห็นทหารไม่ยอมที่จะลอดใต้ราวแขวนผ้าถุงเพื่อเข้าไปปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมทันที แต่จะพยายามใช้ไม้เขี่ยผ้าถุงที่แขวนไว้ออกเสียก่อน”
แม้ว่ากลยุทธ์นี้จะใช้ได้ผล แต่ก็มีการตั้งคำถามในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยเช่นกันว่า นี่เป็นการผลิตซ้ำและเน้นย้ำอคติทางเพศหรือไม่ ความน่าสนใจสำหรับปรากฏการณ์นี้ คือ ผู้ชุมนุมรับรู้ว่าความเชื่อนี้เป็นอคติทางเพศ พวกเขาจึงพยายามที่จะตีความสิ่งที่ถูกมองว่าเป็น “ของต่ำ” ในแง่มุมใหม่ และใช้มันในทางที่สร้างสรรค์
อรดี กล่าวด้วยว่า นัยสำคัญของการรณรงค์ให้ผู้ชุมนุมนำธงผ้าถุงมาร่วมในการประท้วงในวันสตรีสากล คือ การชวนให้ผู้ชุมนุมทุกเพศ ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมกันทำลายความเชื่อของระบบเก่าที่เต็มไปด้วยอคติทางเพศ การที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาร่วมกันโบกธงผ้าถุง เท่ากับเป็นการช่วยปลดปล่อยอคติทางเพศและแสดงถึงจุดยืนในการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน และทิ้งให้ความเชื่อที่ว่าผ้าถุงเป็น “ของต่ำ” กลายเป็นเพียงความเชื่อล้าหลังของเหล่าเผด็จการทหาร
“เพื่อนชาวไทใหญ่ที่ตองจีเล่าว่า ตอนนี้ที่ตองจี และ ส.ส. ที่เมืองแสนหวีซื้อไอเดียนี้ และจะเข้าร่วมด้วย และเราน่าจะได้เห็นธงผ้าถุงหลากหลายสีสันและลวดลายของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ การต่อต้านรัฐประหารด้วยธงผ้าถุงจึงมีความหมายสำคัญ เพราะประชาชนกำลังสื่อสารถึงความต้องการประชาธิปไตย ที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศสภาพมากกว่าที่เคยเป็นมา”
ส่วนสถานการณ์การประท้วงต่อต้านรัฐประหารวันนี้ (8 มี.ค.) องค์กรแรงงาน 9 แห่ง ออกคำแถลงเรียกร้องให้ประชาชนชาวเมียนมาทุกคนหยุดงาน ในความพยายามที่จะยุติการยึดอำนาจของทหารที่โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ขณะที่ประชาชนเมียนมาหลายเมืองทั่วประเทศ ก็ยังคงออกมาประท้วงกันอย่างเนืองแน่น แม้จะถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามอย่างรุนแรง โดยล่าสุด เมื่อช่วงบ่ายมีรายงานว่า มีผู้ชุมนุมในเมืองมิตจีนา รัฐคะฉิ่น ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตอีก 2 คน