กทม. ฉีดวัคซีน​โควิด 5,000​ โดส ตัดวงจรระบาดคลัสเตอร์ตลาดบางแค

ฉีด 5 วัน วันละ 1,000 โดส​ เน้น กลุ่มเสี่ยงสูงย่านบางแค ทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ หลังสอบสวนโรคพบผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง​ ขึ้นบัญชีแล้วกว่า 4,000 คน

เมื่อวันที่​่​ 17​ มี.ค.​ 2564​ หน่วยบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่โควิด-19 ตลาดย่านบางแค พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และจะฉีดต่อเนื่องไปถึงวันที่ 21 ม.ค. เป็นเวลา 5 วัน โดยคาดการณ์ว่าจะฉีดได้ประมาณวันละ 1,000 โดส สำหรับวันนี้แบ่งเป็นรอบเช้า 480 โดส ช่วงบ่ายอีก 520 โดส เป็นการฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่ตลาดบางแคและพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด ทั้งคนไทยและแรงงานต่างชาติ ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบมีผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงขณะนี้ขึ้นบัญชีแล้วประมาณ 4,000 คน คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะมีผู้มีความเสี่ยงทั้งสิ้นประมาณ 6,000 คน ขณะเดียวกันได้ปิดตลาดเพื่อล้างทำความสะอาด 3 วัน (16 – 18 มี.ค.) และได้เชิญเจ้าของตลาดมาคุยเพื่อปรับปรุงนำสิ่งที่ปิดกั้นลมออกเพื่อให้อากาศถ่ายเท เปิดพัดลมดูดอากาศด้านบน ทำความสะอาดท่อระบายน้ำต่าง ๆ อย่างครบถ้วนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า การฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานครช่วงสัปดาห์นี้ เป็นการฉีดให้กับผู้มีความเสี่ยงสูงก่อน สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการฉีดหรือมีความเสี่ยงรองลงมาจะรออีกไม่นาน โดยวัคซีนชุดที่สองจะมาประมาณวันที่ 20 – 25 มี.ค. ซึ่งกรุงเทพมหานคร จะได้รับวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีกกว่า 200,000 โดส ผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจะได้รับการฉีดวัคซีนโดยทั่วถึง

ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้ว่า กทม. ไม่ได้ทอดทิ้ง จะทยอยฉีดให้ทุกคน โดยให้คนที่มีความเสี่ยงสูงก่อน ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขต และศูนย์บริการสาธารณสุขต่าง ๆ จะเป็นผู้ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมในมาตรการป้องกันเชิงรุกต่าง ๆ ในตลาดของกรุงเทพมหานครและของเอกชนทั่วกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิธีการเก็บตัวอย่างน้ำลาย (Pooled Saliva Samples) และการตรวจค้นหาเชื้อทางโพรงจมูก (SWAB)

สำหรับมาตรการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้รอแนวทางที่ชัดเจนจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งเบื้องต้นอยากให้ประชาชนคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทย เช่น การทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ รดน้ำดำหัว แต่อยากให้งดเว้นการเล่นสาดน้ำไปก่อน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

เปิดขั้นตอนฉีดวัคซีนโควิด-19 5 จุด

จุดที่ 1 ลงทะเบียน คัดกรอง ซักประวัติ โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุด จำนวน 10 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ช่วยงานสาธารณสุข 2 คน พยาบาล 8 คน จะให้คำแนะนำให้ผู้รับบริการวัดอุณหภูมิก่อนรับบริการ แจกบัตรคิว แนะนำให้ผู้รับบริการเตรียมบัตรประชาชนหรือประตัวต่างด้าวและพาสปอร์ตให้พร้อม เพื่อให้เจ้าหน้าที่จุดซักประวัติตรวจสอบและลงข้อมูลในใบประวัติ พร้อมจัดคิวให้ผู้เข้ารับบริการได้รับการซักประวัติตามคิว กรณีมีผู้รับบริการจำนวนมากจัดให้มีจุดนั่งรอและเรียกรับบริการตามคิว โดยพยาบาลซักประวัติ คัดกรองตามแบบรับบริการฉีดวัคชีนโควิด-19 และใบยินยอมรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังคัดกรองเสร็จให้ผู้รับบริการลงลายมือชื่อยินยอมในใบยินยอมรับการฉีดวัคซีน

จุดที่ 2 ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุด จำนวน 4 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ช่วยงานสาธารณสุข 2 คน พยาบาล 2 คน ตรวจสอบเอกสาร (บัตรคิว บัตรประชาชน ใบซักประวัติ ใบคัดกรอง และลายมือชื่อยินยอมรับวัคซีน) ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต และบันทึกข้อมูลตามแบบฟอร์ม ซึ่งผู้รับวัคซีนต้องมีความดันโลหิตไม่เกิน 140/90 มม.ปรอท

จุดที่ 3 ฉีดยา โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุด จำนวน 4 คน (พยาบาล 4 คน) เรียกผู้รับบริการฉีดวัคซีนตามคิว และตรวจสอบว่าผู้รับบริการไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนและลงนามในใบเซ็นยินยอมรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากนั้นพยาบาลจึงจะฉีดวัคซีนตามแนวทางที่กำหนด พร้อมลงลายมือชื่อผู้ฉีดวัคซีนและเวลาที่ฉีดวัคซีน

จุดที่ 4 สังเกตอาการหลังฉีด 30 นาที โดยจัดเจ้าหน้าที่พยาบาลประจำจุดจำนวน 5 คน จะรับส่งต่อผู้ที่รับการฉีดวัคซีนเข้าสู่จุดสังเกตอาการ แนะนำอาการไม่พึงประสงค์ที่ต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการ หลังสังเกตอาการครบ 30 นาที อาทิ ไม่มีแรง แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน มีไข้หรือปวดศีรษะ ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอกผื่นลมพิษ รวมถึงอาการอื่น ๆ เช่น ท้องเสีย ซึ่งหากมีอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว จะมีการบันทึกอาการในแบบรายงานการบันทึกอาการไม่พึงประสงค์ พร้อมบันทึกข้อมูลดังกล่าวในใบนัด ซี่งหากมีผู้รับวัคซีนมีอาการไม่พึงประสงค์ในจุดนี้ จะมีหน่วยบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินของศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ เตรียมพร้อมให้บริการนำส่งโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ และโรงพยาบาลใกล้เคียง พร้อมประสานกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ในกรณีฉุกเฉิน

จุดที่ 5 รับใบนัดและให้คำแนะนำ โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุด จำนวน 2 คน (พยาบาล 2 คน) จะแนะนำให้ผู้รับบริการฉีดวัคซีนสังเกตอาการต่อเนื่องที่บ้าน และให้บันทึกข้อมูลหลังฉีดวัคซีนในวันที่ 1 วันที่ 7 และวันที่ 30 หลังฉีดวัคซีน ลงในบัตรนัดรับวัคซีนโควิด 19 พร้อมแนะนำให้ความรู้/การปฏิบัติตัวในการป้องกันโควิด-19 (การล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง) กระตุ้นให้ผู้รับบริการเห็นความสำคัญของการรับบริการวัคซีนให้ครบในเข็มที่ 2 และแนะนำให้ผู้รับบริการนำใบนัดฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อเข้ารับบริการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS